Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

                                                      

ทุกคนคงเคยฟังเพลงปลุกใจกันมาบ้างแล้ว ตั้งแต่เด็กจำได้ว่าเมื่อฉันอายุราวๆ 9 ขวบอยู่ชั้นประถมปีที่ 4 ตอนนั้นคุณครูเปิดเพลงปลุกใจให้ฝึกซ้อมออกท่าทางกับเพื่อนๆ ในงานแสดงของโรงเรียน แถมยังได้ยินเพลงปลุกใจทางวิทยุกรมประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทยและโทรทัศน์เป็นประจำ พอได้ฟังแล้วขนลุกด้วยพลังของเสียงเพลง บางครั้งซึ้งจนน้ำตาไหลเพราะจินตนาการถึงภาพชายชาติทหารที่คอยปกป้องบ้านเมืองจากข้าศึกศัตรู รู้สึกว่าทหารของชาติช่างน่าเห็นใจ พวกเขารักชาติรักแผ่นดิน ยอมตรากตรำลำบาก แม้กระทั่งพลีชีพเพื่อชาติเพื่อให้คนในชาติได้อยู่อย่างร่มเย็นผาสุก ไม่ยอมให้ศัตรูต่างชาติมาแย่งเอาแผ่นดินไทยไป ฉันไม่รู้หรอกว่าชาติไหนบ้างที่เข้ามารุกรานประเทศไทยแบบที่ในเพลงกล่าวถึง รู้เรื่องจากประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อนที่ฉันจะเกิด ไทยเราเสียดินแดนให้ต่างชาติไปหลายครั้ง บรรพบุรุษไทยได้เสียเลือดเนื้อเพื่อรักษาแผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงยุคลัทธิล่าอาณานิคม เพลงปลุกใจจึงมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความฮึกเหิมให้แก่ทหารซึ่งเป็นเสมือนรั้วของชาติ และยังสร้างความเป็นเอกภาพให้แก่คนในชาติ เมื่อได้ยินเพลงครั้งใดก็นึกถึงภาพทหาร คนไทย และผู้รุกรานจากต่างชาติทุกครั้งไป

เพลงเหล่านี้อยู่ในความทรงจำตั้งแต่วัยเด็ก ได้ยินครั้งใดก็จดจำเนื้อร้องและทำนองได้  หลายสิบปีผ่านไปก็ยังจำได้ไม่ลืมเลือน ทั้งๆ ที่ไม่เคยคิดที่จะเปิดเพลงเหล่านี้ฟังในยามว่างแต่อย่างใด  ไม่ว่าผู้เปิดเพลงทางวิทยุและโทรทัศน์จะเป็นใคร หน่วยงานใด เปิดในโอกาสใดหรือสถานการณ์ใดของบ้านเมืองก็ตาม เขาก็คงมีจุดประสงค์เพื่อปลุกใจคนไทยทั้งชาตินั่นเอง  แม้ในยามนั้นจะไม่มีศึกแต่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกซึ้งในความดีของเหล่าทหารหาญที่ปกป้องบ้านเมืองจากอริราชศัตรู  ซึ้งด้วยความรักแผ่นดินไทย ซึ้งด้วยความรู้สึกสมัครสมานสามัคคี ซึ้งอย่างจับจิตจับใจ แต่ทว่าก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าผู้รุกรานต่างชาตินั้นเป็นใคร หน้าตาเป็นอย่างไร เอาเป็นว่าไม่ใช่คนไทยก็แล้วกัน  หลายปีในช่วงหลังก็ไม่ค่อยได้ยินเพลงปลุกใจเท่าไรนัก ได้แต่ฟังเพลงยอดนิยมตามสมัยเรื่อยมา

เช้าของวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ฉันได้ยินเพลงเหล่านั้นอีกหลังจากที่ไม่ได้ยินมาหลายปี ได้ยินทั้งวันหลังจากที่มีการประกาศกฎอัยการศึกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีเพลงบรรเลงสลับกับการประกาศฉบับต่างๆ ของคสช. เริ่มตั้งแต่ประกาศฉบับที่ 10 ให้อำนาจหน้าที่นายกฯ เป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช. จนกระทั่งถึงประกาศฉบับที่ 21/2557 เรื่องห้ามบุคคลเดินทางออกนอกราชอาณาจักรรวม 155 รายชื่อ และให้เข้ารายงานตัว หากไม่มารายงานตัวจะถูกจับดำเนินคดี

เพลงปลุกใจที่เคยฟังตั้งแต่เด็กก็เข้ามากระทบใจอีกครั้ง แต่คราวนี้เกิดความรู้สึกแปลก ทำไมจึงเกิดความรู้สึกแปลกออกไปเช่นนั้น ความพยายามทีจะหาคำตอบทำให้อยากอ่านเนื้อร้องและแนวคิดของเพลงปลุกใจที่เปิดในวันนั้น ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราทุกท่านคงทราบดีอยู่แล้วจึงขอละเว้นที่จะเอ่ยถึง แต่จะกล่าวเฉพาะเนื้อร้องซึ่งจำแนกได้สองส่วนคือ เนื้อร้องที่ไม่สัมพันธ์กับสถานการณ์ เนื้อร้องที่สัมพันธ์กับสถานการณ์ ทั้งนี้จะขอยกตัวอย่างไว้พอสังเขป

เนื้อร้องที่ไม่สัมพันธ์กับสถานการณ์เช่นเพลง ต้นตระกูลไทย ทหารพระนเรศวร มาร์ชสามัคคีสี่เหล่า  ราชนาวี ถิ่นไทย แผ่นดินของเรา  ถามคนไทย  รักเมืองไทย  บ้านเกิดเมืองนอน  เกิดเป็นไทย  ตื่นเถิดไทย (คำร้องและทำนองโดยหม่อมหลวงอัศนี ปราโมช) ตื่นเถิดชาวไทย (คำร้องและทำนองโดยพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ) เนื้อร้องในกลุ่มนี้จะมีมากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง จะขอยกตัวอย่างพอสังเขปดังนี้

ต้นตระกูลไทย ประพันธ์คำร้องและทำนองโดยหลวงวิจิตรวาทการ เมื่อปีพ.ศ. 2497 เพื่อประกอบละครเรื่องอานุภาพพ่อขุนรามคำแหง เนื้อร้องกล่าวถึงบรรพบุรุษของไทยไม่ว่าจะเป็นพระยาราม พระราชมนู เจ้าพระยาโกษาเหล็ก สีหราชเดโช เจ้าคุณพิชัยดาบหัก ชาวบางระจัน พระสุริโยทัย ท้าวเทพสตรี ท้าวศรีสุนทร ท้าวสุรนารี ต่างล้วนกล้าหาญช่วยกันรักษาแผ่นดินไทยไว้ให้คนไทย ขอให้คนไทยช่วยรักษาบ้านเมืองให้รอดพ้นจากข้าศึกเหมือนดั่งบรรพบุรุษไทย    (คำสำคัญ ต้นตระกูลไทย รักษาดินแดนไทย ถนอมบ้านเมือง ลุกขึ้นเถิด รักชาติเหมือนดังพงศ์เผ่า รบป้องกัน ต่อตีศัตรู ไว้ลายเลือดไทย สละพระชนม์เพื่อชาติ)

ทหารพระนเรศวร ประพันธ์ทำนองโดยท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ เนื้อร้องกล่าวถึงทหารกล้าที่อุทิศตนเพื่อชาติโดยการออกต่อสู้ข้าศึกอย่างห้าวหาญเพื่อปกป้องแผ่นดิน ประชาชน พระมหากษัตริย์ (คำสำคัญ ชีวิตอุทิศเพื่อชาติ  ต่อสู้เพื่อราษฎร์ เปรี้ยง เปรี้ยง โครม โครม ลูกปืนกระเด็น ดัสกรกระเด็น สิ้นชาติ สิ้นแผ่นดิน สิ้นกษัตริย์ ป้องกัน ให้สุดฤทธิ์)

มาร์ชสามัคคีสี่เหล่า ประพันธ์โดยนาวาตรีพยงค์ มุกดา ประพันธ์ขึ้น เพื่อเป็นการปลุกใจ และสร้างความสามัคคีระหว่างทหารสามเหล่าทัพ และตำรวจ ในฐานะที่เป็นผู้ที่มีหน้าที่ปกป้องอธิปไตย และความมั่นคงของชาติ ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร เพลงนี้ประพันธ์ขึ้นโดยการนำเอาวรรคแรกของเพลงชาติไทย และบางส่วนของเพลงมาร์ชของทั้งสามเหล่าทัพและตำรวจมาดัดแปลงรวมกันเป็นเพลงเดียว เนื้อร้องของเพลงกล่าวถึงความสามัคคีของทหารสี่เหล่า หากศัตรูบุกจู่โจมก็พร้อมที่จะปกป้องแผ่นดินไทย ทหารบกยอมพลีชีวิตเพื่อเป็นรั้วปกป้องดินแดนไทย ทหารเรือยอมสู้ตายเพื่อปกป้องไม่ให้ศัตรูมาลุกล้ำฝั่งทะเลไทย ทหารอากาศยอมพลีชีพเพื่อปกป้องอธิปไตยเหนือน่านฟ้าไทย ส่วนตำรวจไทยคุ้มครองประชาชน ปราบปรามการทุจริต พวกมิจฉาชีพ และอันธพาลให้หมดไป ความสามัคคีจะเป็นเกราะกำลังผองภัยทั้งปวง (คำสำคัญ สามัคคี สี่เหล่าไทย ศัตรู จู่โจม โรมรบรันทหารบกไทย รั้ว คุ้มครอง แดนไทย ผีเฝ้าปฐพี ราชนาวี ฝั่งทะเล  รุกล้ำ สู้ตาย เหนือนภา ฟ้าไทย ใครรุกใครรานอธิปไตย  ทัพอากาศของไทย พลีชีพ ตำรวจไทย พิทักษ์ไทย  ปราบปราม พวกทุจริตมิจฉา   อันธพาล สามัคคี พร้อมเพรียง เสมือนเกราะแก้ว กำบังผองภัย คุ้มครองไทย ให้ยิ่งยง)

ราชนาวี ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองโดย น.อ. ภิญโญ พงษ์สมรวย เนื้อร้องของเพลงกล่าวถึง ข้าศึกจากทิศใดก็ตามหากเข้ามาโจมตีน่านน้ำไทย ทหารเรือมีหน้าที่ต่อสู้เพื่อป้องกันอาณาเขตของทะเลไทย ไม่ปล่อยให้ศัตรูล้ำเขตแดนเข้ามาหรือรุกรานอธิปไตยไทย (คำสำคัญ หนึ่งพันห้าร้อยไมล์ทะเลไทย ราชนาวี ข้าศึกฮึกระดมโจมตี ศึกเสือเหนือใต้  ศัตรู ล้ำอธิปไตย รบรับ สู้กัน ฟาดฟัน ยามศึก ชิงชัย ไม่ขลาด กล้าหาญ รบเพื่อชาติ)

ถิ่นไทย ประพันธ์โดยพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2481 เป็นเพลงประกอบในละครเรื่อง มหาเทวี เพื่อให้คนไทยช่วยกันรักษาผืนแผ่นดินไทยให้คงอยู่ เนื้อร้องต้องการให้รักษาดินแดนซึ่งเปรียบเสมือนการล้อมรั้วบ้าน ต้องต่อสู้กับศัตรูไม่ให้ใครมาแย่งแผ่นดินของเรา และไม่ยอมเป็นทาสของศัตรู ต้องแสดงความกล้าหาญฝากไว้ให้ประจักษ์แก่ชาติอื่น (คำสำคัญ ล้อมรั้วบ้าน ศัตรู แย่งแผ่นดิน สิ้นชาติ สิ้นแผ่นดิน อย่าเป็นทาสของศัตรู ไว้ลายชาติไทย)

ส่วนเนื้อร้องที่พอจะกล่าวได้ว่าสัมพันธ์กับสถานการณ์เช่นเพลง เดินเดินเดิน  อธิษฐาน  ใต้ร่มธงไทย  เลือดไทย รักกันไว้เถิด (ประพันธ์คำร้องและทำนองโดยนคร ถนอมทรัพย์) เนื้อหาโดยรวมกล่าวถึง ความสมัครสมานสามัคคี การรวมเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกลมเกลียวกัน การฟันฝ่าอุปสรรค ความห่วงใยประทศ เนื้อร้องของเพลงในกลุ่มนี้จะมีน้อยกว่ากลุ่มข้างต้น ดังจะยกตัวอย่างไว้พอสังเขปดังนี้

เดิน เดิน เดิน ประพันธ์คำร้องโดยพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2482 เป็นเพลงประกอบละครเรื่องน่านเจ้า เนื้อร้องกล่าวว่า ไทยจะเจริญก้าวหน้าคนในชาติต้องร่วมใจกันฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ อย่าท้อถอยหรือยอมแพ้ (คำสำคัญ ชาติไทย ต้องเดิน  เจริญ ก้าวหน้า ร่วมใจ สมานฉันท์ อย่ายอมแพ้ อย่าท้อ พบเสือ พบป่า พบแม่น้ำ ฟันฝ่าอุปสรรค ชนะ ปลอดภัย)   

อธิษฐาน ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองโดยหลวงวิจิตรวาทการ เมื่อปี พ.ศ. 2497 ใช้ประกอบบทละครเรื่อง อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง เนื้อร้องกล่าวถึงคำอธิษฐาน ขอให้กุศลผลบุญทั้งหลายจงบังเกิดแก่ผู้ทำประโยชน์ ขออย่าให้มีการคิดร้าย ปลุกใจให้คนไทยรักสมัครสมานสามัคคีกลมเกลียวกัน (คำสำคัญ อธิษฐาน ขอกุศล ผู้ทำคุณประโยชน์ การคิดร้าย ทำลาย ห่วงใย  เมืองทอง ไทยรักไทย การยุแยก ร่วมสามัคคี กลมเกลียว)

ใต้ร่มธงไทย ประพันธ์ทำนองและคำร้องโดยพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ เนื้อหากล่าวถึง ภายใต้ธงไทยผืนเดียวกันประเทศไทยร่มเย็นสงบสุข ขอให้สมัครสมานสามัคคีกัน (คำสำคัญ ใต้ร่มธงไทย ร่มเย็น ร่มโพธิ์ ร่มไทร แสงจันทร์ พวกพ้องพี่น้อง สมานฉันท์ ชาติเชื้อ สายเดียวเกี่ยวพัน)

เนื้อร้องของเพลงตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นนั้นใช้เปิดสลับกับการประกาศของ คสช. ที่ประกาศเกี่ยวกับการ  งดรายการปกติของโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงทุกแห่ง รวมทั้งโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและเคเบิล ให้ถ่ายทอดแต่สถานีของกองทัพบก ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ยกเว้นหมวด 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ แต่ให้วุฒิสภา ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ประกาศขอให้สื่อออนไลน์ งดการนำเสนอข้อความเชิงยั่วยุ ปลุกระดม สร้างความรุนแรง และต่อต้านการปฏิบัติงานของ คสช. โดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะถูกสั่งระงับการให้บริการ  ให้รัฐมนตรีรักษาการจำนวน 18 คน เข้ารายงานตัวต่อ คสช. ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมผู้มีบทบาทในรัฐบาลยิ่งลักษณ์รวม 23 คน มารายงานตัวต่อ คสช. ประกาศการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของ คสช.  คำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ขอให้สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ ห้ามสัมภาษณ์บุคคลในเรื่องที่ทำให้เกิดการต่อต้านการทำงานของ คสช. หากฝ่าฝืนจะถูกสั่งระงับการให้บริการ  คำสั่งระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ดิจิตอล และสถานีวิทยุชุมชน เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ไม่บิดเบือนจนทำไปสู่การเข้าใจผิด ห้ามสื่อทุกชนิดทั้งวิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ เผยแพร่ข่าวสารที่บิดเบือน หมิ่นประมาท หรือวิจารณ์การทำงานของ คสช.

ไม่ทราบว่าคนส่วนใหญ่ฟังเพลงทั้งเนื้อร้องและทำนองหรือไม่  สำหรับฉันฟังเนื้อร้องเป็นหลักส่วนทำนองนั้นเป็นจังหวะของดนตรีที่ผู้ประพันธ์ทำให้เกิดความสุนทรีย์ เพลงที่เปิดบรรเลงขับกล่อมสลับไปกับประกาศของ คสช. บอกตามตรงเลยว่า เหมือนลิเกหลงโรง เหมือนกำลังดูภาพยนตร์สืบสวนที่นักสืบกำลังสืบหาเบาะแสแต่เพลงในเรื่องกลับเป็นเพลงลั่นกองรบ เหมือนโจรบุกเข้าบ้านแล้วพยายามจะบอกเจ้าของบ้านว่าเขาเข้ามาในบ้านเพื่อช่วยจับผู้ร้ายที่อยู่นอกบ้าน ฉันพยายามตอบคำถามตัวเองว่าทำไมจึงรู้สึกเช่นนั้น ความรู้สึกซาบซึ้งแบบเมื่อก่อนหายไปไหน มนต์เพลงปลุกใจไม่จับจิตใจ ไม่ซึมลึกแบบที่เคยรู้สึกแต่ก่อนๆ วันนั้นฉันตกอยู่ในอารมณ์ขัดแย้งทั้งเครียดทั้งขำ จากสถานการณ์การเมืองในประเทศที่สับสนเรื่องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนในชาติ โหมประโคมด้วยจังหวะที่รุกเร้า ราวกับจะเปิดศึกแล้วจับดาบออกรบกับศัตรู เนื้อหาของเพลงที่คลุมเครือเมื่อมาปะทะกับความคิดก็เกิดคำถามพลั่งพรูเข้ามามากมาย เพลงปลุกใจเหล่านั้นปลุกเรื่องอะไร? ปลุกใคร? ปลุกให้ทำอะไร? ศัตรูเป็นใคร? ใครรุกรานแผ่นดิน?  ใครรุกรานอธิปไตย? ใครเป็นศัตรูของคนไทย? คนไทยเป็นศัตรูกับใคร? ท่านเป็นศัตรูกับใคร? ศัตรูของท่านหรือของคนไทย? ท่านกำลังจะปราบศัตรูจากทิศไหน?       ทั้งเครียดทั้งขำ...บอกตามตรงว่า มันไม่โดน เปิดเพลงของป๋าเบิร์ด (ธงไชย แมคอินไตย์) ยังดีกว่า จริงจริงนะ

หากคิดว่าก็เปิดเพลงปลุกใจไปอย่างนั้นละ พอเอาทำนองปลุกเร้าเข้าว่าไว้ก่อน  ไม่ต้องสนใจเนื้อร้องหรอก มนต์เพลงปลุกใจจะมีประโยชน์อะไรเล่า เพราะมันไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ในการปลุกเร้าอารมณ์ร่วมได้เลย เป็นได้แต่เพียงหน้ากากสวมเฉพาะหน้า ปะไว้พอให้ตื่นเต้น  แต่ขอกระซิบสักนิดว่า ไม่เปิดเสียยังดีกว่านะจะบอกให้ สำหรับท่านที่คิดจะประกาศกฎอัยการศึกหรือปฏิวัติในครั้งต่อๆ ไป น่าจะได้เตรียมเนื้อร้องดีๆ ไว้ล่วงหน้าสักปีสองปีเลยนะ....เผื่อว่าจะโดน

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เพลงไทยรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์. เข้าถึงเมื่อ 24-25 พฤษภาคม 2557.

วิกิพีเดียเพลงปลุกใจ. เข้าถึงเมื่อ 24-25 พฤษภาคม 2557.  

รวมคำสั่ง-ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คสช. มีอะไรบ้าง. เข้าถึงเมื่อ 24-25 พฤษภาคม 2557.  

          

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net