Skip to main content
sharethis
สื่อลือสะพัด คสช. จ่อยุบพรรคการเมือง-องค์กรอิสระ หลังหัวหน้าส่วนงานกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. เรียกถก ด้าน “สมชัย” แจงไม่มีการยุบองค์กรอิสระ เผย คสช.เชิญไปสอบถามถึงการทำหน้าที่หลังยกเลิกรัฐธรรมนูญ และให้เสนอความเห็น "วิษณุ" ยันไม่เคยได้ยิน คสช.จะยุบองค์กรอิสระ-ชี้แม้ไม่มี รธน.ยังทำหน้าที่ต่อได้ 
 
ลือสะพัด คสช. จ่อยุบพรรคการเมือง-องค์กรอิสระ
 
6 มิ.ย. 2557 มติชนออนไลน์รายงานว่า รายงานข่าวจาก คสช.เปิดเผยว่า ขณะนี้ คสช.กำลังเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาในหลายๆ ด้าน โดยยึดหลักความเป็นกลางสำหรับทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งให้จบสิ้นจริงๆ สำหรับประเด็นที่กำลังเร่งลงมือขณะนี้ได้แก่ การพิจารณาปิดสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมที่เป็นขั้วการเมืองทั้งเสื้อแดง เสื้อเหลืองหรือกลุ่มพันธมิตร เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือสร้างกระแสอันนำไปสู่การแตกแยกทางความคิดอย่างสุดขั้วขึ้นอีก โดยสถานีที่อยู่ในข่ายพิจารณา เช่น สถานีโทรทัศน์บลูสกาย เอเอสทีวี และเอเชียอัพเดท นอกจากนี้ ภายใน 1-2 วันนี้จะประกาศแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจสำคัญๆ โดยผู้จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในบอร์ดจะเฟ้นจากมืออาชีพ ผู้มีความรู้ ตัดคนที่มีเส้นสายเชิงผลประโยชน์ออกไป โดยเฉพาะบอร์ดของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่จะต้องเร่งลงมือก่อน ได้แก่ท่าอากาศยานไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)
 
รายงานข่าวเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้คณะทำงานกำลังเร่งศึกษาข้อกฎหมายเพื่อดำเนินการยุบพรรคการเมืองที่มีอยู่ในขณะนี้ทั้งหมด พร้อมๆ กับจะยุบองค์กรอิสระบางส่วนด้วย เนื่องจากมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไปแล้ว โดยเฉพาะกกต. ศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช.เป็นต้น สำหรับมาตรการนี้จะทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกในทางที่ดี เนื่องจากเป็นการตัดสินใจโดยไม่เอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สำหรับธรรมนูญการปกครองชั่วคราวนั้นขณะนี้นายวิษณุ เครืองาม ได้ร่างแล้ว เตรียมส่งให้คณะที่ปรึกษา คสช.พิจารณา เพื่อเร่งประกาศใช้ คาดว่ารัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นในต้นเดือน ก.ค. คนที่มาเป็นนายกฯ คาดว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.
 
'ไพบูลย์' ถก 7 องค์กรอิสระ ลดผลกระทบหลัง คสช.ยึดอำนาจ
 
วันเดียวกันนี้ (6 มิ.ย.) ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าที่บ้านรับรองเกษะโกมล พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าส่วนงานกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเชิญตัวแทน 7 องค์กรอิสระ ประกอบด้วย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน องค์กรอัยการ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาประชุมเพื่อหารือและรับฟังข้อคิดเห็นหลังจาก คสช. เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน
 
ซึ่งที่องค์กรเหล่านี้ไม่ทราบว่า จะประสานงานกับใคร เพราะไม่มีรัฐบาลและรัฐสภา ซึ่งการหารือครั้งนี้เป็นการเปิดช่องทางประสานให้ใกล้ชิดมากขึ้น รวมถึงได้หารือถึงผลกระทบจากการยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 เพราะบางองค์กรได้รับผลกระทบ
 
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนองค์กรที่ได้รับผลกระทบจะต้องหารืออีกครั้ง คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากจะต้องจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในระยะเวลาอันใกล้นี้ หลังจากเลื่อนเป็นปลายเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งหากครบกำหนดและยังมีประกาศบางฉบับที่อาจกระทบต่อการจัดการเลือกตั้ง จึงหารือกันว่า คสช.จะพิจารณาออกประกาศหรือคำสั่งอนุญาตให้หาเสียงได้ในบางพื้นที่ หรือจะให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกหรือไม่ ซึ่งจะพิจารณาตามความจำเป็น เพราะบางเรื่องหากรอได้ก็ขอให้รอสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อน แต่หากมีผลกระทบจริง ก็จะดำเนินการออกประกาศหรือคำสั่งตามความเหมาะสม
 
“สมชัย” ปัด คสช.ยุบองค์กรอิสระ
 
ด้านสำนักข่าวไทยรายงานวันเดียวกันนี้ (6 มิ.ย.) ว่านายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารการเลือกตั้ง เปิดเผยถึงผลการหารือระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับองค์กรอิสระว่า ทราบจากเลขาธิการ กกต. ที่คสช. เชิญไปหารือว่า ได้เชิญองค์กรอิสระต่าง ๆ ไปสอบถามว่ามีปัญหาติดขัดในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย อันเนื่องจากการยุบเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่ ซึ่งเป็นการหารือเพื่อให้กลับมาทำความเห็นเสนอไปให้ คสช. ทราบ โดยไม่ได้มีการพูดถึงการยุบ เลิกหรือปรับเปลี่ยนองค์กรอิสระตามที่มีกระแสข่าวแต่อย่างใด
 
“ไม่ได้ยินว่ามีการพูดถึงการยุบ ปรับองค์กรอิสระ ไม่ทราบข่าวนี้ว่ามาจากไหน ต้องไปถามแหล่งข่าวที่ให้ข่าวมา”  นายสมชัยระบุ
 
ผู้สื่อข่าวรายว่า การหารือของ คสช.กับฝ่ายประจำขององค์กรอิสระ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญรวม 9 องค์กรนั้น เพื่อหารือถึงข้อขัดข้องจากการดำเนินการยกเลิกรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการออกประกาศของ คสช. แต่ละฉบับว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งให้เสนอแนวทางแก้ไขกลับไปยัง คสช. ในวันพรุ่งนี้. (7 มิ.ย.) เวลา 12.00 น. พร้อมกันนี้ในที่ประชุมทาง คสช. ยังระบุว่าให้องค์กรต่าง ๆ ทำหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอำนาจอยู่ต่อไป  เพื่อบริการประชาชนอย่างเท่าเทียบ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานโดยอ้างแหล่งข่าว คาดว่า กกต. จะทำข้อเสนอไปยัง คสช. ขอให้พิจารณาถึงสถานภาพการคงอยู่ของ กกต. จะมีส่วนช่วยในการปฏิรูปอย่างน้อย 3 ส่วน คือในส่วนของการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นที่ กกต. ยังคงต้องทำหน้าที่อยู่นั้น แต่ละปีจะมีการครบวาระและต้องเลือกตั้งใหม่อยู่ระหว่าง 1,000-3,000 องค์กร ซึ่งจะมีคดีการเลือกตั้งท้องถิ่นต้องเข้ามาสู่การพิจารณาของ กกต. รวมทั้งประกาศของ คสช. ให้ศาลอุทธรณ์ภาครับต่อคดีที่ส่งไปจาก กกต.  เสนอให้คดีการทุจริตการเลือกตั้ง ที่มีโทษทั้งการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองและคดีอาญา การยุบพรรค  ที่ยังค้างอยู่จำนวนมาก  ยังคงต้องเดินหน้าทำต่อไป
 
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่มีประโยชน์ เช่น กฎหมายการทำประชามติควรให้มีผลต่อไป เนื่องจากมีโอกาสที่ต้องนำมาใช้ระหว่างกระบวนการปฏิรูปประเทศ กฎหมายพรรคการเมือง อาจจะรอการออกแบบใหม่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ขอให้คงสภาพพรรคการเมืองที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ไว้ก่อน แต่ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองไว้ชั่วคราว ส่วนกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ก็ให้คงไว้ในส่วนที่เป็นบทลงโทษในการทุจริตการเลือกตั้งต่อไป นอกจากนี้ กกต. ยังคงมีส่วนที่จะช่วยเสนอความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการเลือกตั้งต่อไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ มีข่าวลือแพร่สะพัดทางเว็บไซต์ว่า ทาง คสช. จะมีการยุบองค์กรอิสระบางส่วนจึงเรียกให้ไปหารือนั้น  ทำให้เจ้าหน้าที่และพนักงานของ กกต. พากันสอบถามข้อเท็จจริงจากสื่อมวลชนกันอย่างมาก จนกระทั่งล่าสุด ผอ.ฝ่ายกิจการเลขาธิการ กกต. ได้แจ้งผ่านไลน์กรุ๊ปของผู้บริหารและพนักงาน กกต. ทั่วประเทศ  มีข้อความว่า “ท่านเลขาธิการ กกต. เรียนผู้บริหาร พนักงาน เจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. ให้ทุกท่านทราบว่า ตามที่ได้มีข่าวปรากฏทางสื่อว่า จะมีการยุบองค์กรอิสระนั้น เป็นเพียงข่าวที่ไม่มีมูล จึงขอให้พนักงานทุกท่านตั้งใจปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบอย่างเต็มความสามารถ”
 
"วิษณุ" ยันไม่เคยได้ยิน คสช.จะยุบองค์กรอิสระ-ชี้แม้ไม่มี รธน.ยังทำหน้าที่ต่อได้ 
 
วันเดียวกันนี้ (6 มิ.ย.) เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่านายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาิต (คสช.) ในฐานะฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าคสช.เตรียมพิจารณายุบองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ว่า ตนยังไม่เคยได้ยินกระแสข่าวดังกล่าวจึงไม่เชื่อว่าจะเป็นข้อเท็จจริง เพราะคสช.ออกประกาศชัดเจนแล้วว่าให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและองค์กรศาลยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อ เพราะในแต่ละองค์กรยังมีคำร้องหรือคดีความที่ค้างอยู่ระหว่างการพิจารณา 
 
คสช.จึงต้องให้องค์กรเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ ส่วนกรณีที่คสช.ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วทำให้องค์กรอิสระมีข้อจำกัดด้านกฎหมายในการทำงานนั้นก็เห็นว่าเรื่องนี้ไม่น่าเป็นปัญหาเพราะแต่ละองค์กรก็มีกฎหมายลูกไว้คอยรองรับในการทำหน้าที่อยู่ ส่วนประเด็นใดที่เป็นปัญหาทางข้อกฎหมายก็ส่งมาให้คสช.พิจารณาเพื่อให้เกิดความชัดเจน ที่ผ่านมาเราก็ได้มีการพิจารณาไปหลายกรณีแล้ว ส่วนที่จะมีข้อขัดข้องมากที่สุดน่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะต้องพิจารณาวินิจฉัยกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่หากมีธรรมนูญปกครองชั่วคราวทุกอย่างก็น่าจะเรียบร้อยมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net