การเหลือมหามิตรแค่จีนแผ่นดินใหญ่คือหายนะต่อสวัสดิการของประชาชนทั่วไป

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

นับแต่การยึดอำนาจของ คณะ คสช.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  ได้มีกระแสตอบรับในทางลบจากหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย แม้การต่อต้านจะเป็นไปในเชิงสัญลักษณ์เช่น ชะลอการสนับสนุนงบประมาณทางการทหาร ความร่วมมือการซ้อมรบ หรือในกรณีออสเตรเลียที่ไม่อนุญาตให้ผู้นำคณะรัฐประหารไทยเข้าประเทศ ก็เป็นการปฏิบัติเชิงสัญลักษณ์ทั้งสิ้นยังไม่มีมาตรการจริงจังด้านการคว่ำบาตรหรือลดปริมาณการลงทุนแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้การเคลื่อนไหวที่สำคัญคือปฏิกริยาของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งมีท่าทีเป็นมิตรต่อการทำรัฐประหารในไทยมากที่สุดโดยเปรียบเทียบกับชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่น โดยมีจุดยืนสำคัญที่ว่า “พร้อมให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหารเพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองชาติ” ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งมองว่าการมีจีนแผ่นดินใหญ่เป็นมิตรประเทศย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่เข้าใจบริบทของสังคมไทย จีนในฐานะประเทศที่มีประชากรและอัตราการเติบโตเศรษฐกิจมหาศาลยังสามารถเป็นที่พึ่งได้ยามชาติตะวันตกบีบบังคับรัฐบาลทหาร ในบทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงข้อที่น่าห่วงกังวลซึ่ง คสช.และผู้สนับสนุนจำเป็น ต้องพิจารณา

1.การมองว่าชาติตะวันตกในท้ายสุดแล้วจะมองเห็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องการเลือกตั้งและประชาธิปไตยสุดท้ายแล้วกลุ่มทุนก็จะลงทุนต่อไป แม้จะเป็นความจริงที่ว่าปัจจัยสำคัญสำหรับกลุ่มทุนคือกำไร โครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนภาครัฐ หากรัฐบาลไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการลงทุนก็จะไม่มีกลุ่มทุนใดถอนตัว...การกล่าวเช่นนี้เป็นการพิจารณาผ่านโลกทัศน์แบบสงครามเย็นซึ่งพ้นสมัยไป นอกจากรัฐบาลทหารจะไม่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของชาติมหาอำนาจที่ต้องการรัฐบาลที่มีความสามารถในการจัดการผลประโยชน์ที่มีความซับซ้อนมีความเกี่ยวพันของกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย ปัจจัยสำคัญคือพลังประชาสังคมในประเทศมหาอำนาจที่มีข้อเรียกร้องด้านประชาธิปไตยที่สูงและซับซ้อนมากขึ้น ตัวอย่างเช่นการที่ ผู้ส่งออกสินค้าประมงแช่แข็งของไทยประสบปัญหาการถูกกีดกันสินค้าจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่องจากปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ หรือแรงงานที่ปราศจากสิทธิหรือการคุ้มกัน จริงอยู่ว่ากลุ่มทุนต้องการสินค้าราคาถูก อันเป็นผลมาจากการจ้างแรงงานค่าจ้างถูก แต่ในปัจจุบันการนำเข้าสินค้าราคาถูกอาจเพิ่มต้นทุนที่สามารถคำนวณได้ เช่นการจ่ายค่าปรับ การถูกต่อต้านจากองค์กรภาคประชาชนทั้งในประเทศและระดับระหว่างประเทศ เงื่อนไขเหล่านี้กดดันให้บริษัทคู่ค้าวางเงื่อนไขให้ประเทศผู้ทำการผลิตต้องพัฒนาเงื่อนไขคุ้มครองแรงงานตามมาด้วย ดังนั้นหากสภาพเงื่อนไขการเมืองและสังคมไทยยังคลุมเครือ และไม่สามารถมีคำอธิบายด้านเสรีภาพที่ชัดเจนภายใต้การนำของ คสช.สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อ การลงทุนทางเศรษฐกิจโดยอ้อม เพราะข้อเท็จจริงคือมีประเทศผู้ผลิตจำนวนมากในตลาดสินค้าเดียวกับไทยที่มีเงื่อนไขภายในที่เสี่ยงต่อการถูกต่อต้านจากประชาสังคมต่ำกว่า และมีต้นทุนการผลิตไม่ต่างกันนัก

2.การที่ประเทศต้องถูกผูกขาดความต้องการกับผลประโยชน์ชาติมหาอำนาจชาติเดียวเป็นทางเลือกที่ไม่ดีนักในการดำเนินกิจการระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทยช่วงสงครามเย็น 1950-1970 ที่ดำเนินนโยบายขึ้นตรงกับสหรัฐอเมริกาตามลำพัง อันนำผลสู่การพัฒนาที่บิดเบี้ยว สงครามกลางเมืองภายในประเทศ รวมถึงความสัมพันธ์อันเลวร้ายกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว กัมพูชา และเวียดนาม หากในปัจจุบันการดำเนินนโยบายภายใต้เงื่อนไขพึ่งพิงจีนก็จะเป็นภาพฉายซ้ำ ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ถูกโดดเดี่ยวในโลกสมัยใหม่อยู่ภายใต้การวางเงื่อนไขของจีนที่มีการพัฒนาทุนนิยมที่เลวร้ายที่สุดในโลก ปัจจุบันประเทศบริวารของจีนแผ่นดินใหญ่เป็นตัวอย่างที่ รัฐไทยควรพิจารณา เช่น เกาหลีเหนือ และกลุ่มประเทศในแอฟริกา การลงทุนของจีนนำสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธ และห่างไกลจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

3.จีนไม่สามารถทดแทน อุปสงค์มหาศาลที่จะลดลงจากประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย จีนคือประเทศส่งออกสินค้าที่มีราคาถูก คุณภาพต่ำ ซึ่งไม่สามารถก้าวเข้ามาเป็นลูกค้าของไทยได้ยกเว้นสินค้าเกษตรกรรม อันเป็นภาคการผลิตที่รัฐไทยอยู่ใต้ “กับดักแห่งประเทศยากจน-ปานกลาง”มาอย่างยาวนาน สินค้าเกษตรกรรมใช้กำลังผลิตมหาศาล การอุดหนุนจากภาครัฐมหาศาล หากแต่ได้รับผลประโยชน์ในแง่กำไรในสัดส่วนที่ต่ำ การที่รัฐไทยถูกวางเงื่อนไขให้ให้เป็น”ครัวของจีน” อย่างเข้มข้นย่อมเป็นการย้อนเข้าสู่วังวนสำคัญของความด้อยพัฒนาไม่จบสิ้น สังคมภายในจีนเองก็เป็นตัวอย่างของความเหลื่อมล้ำและยากจนของชนชั้นล่างที่ไทยควรศึกษาและหลีกเลี่ยง

4.แม้วิกฤตข้างต้นจะไม่ทำให้รัฐภายใต้ คสช.ล่มสลาย โครงสร้างการลงทุนแบบใหม่ (จีนเพิ่ม ตะวันตกลด) เพียงพอต่อการดำเนินกิจการพื้นฐานในประเทศ เช่นเงินเดือนข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือการเสริมสร้างกองกำลังอาวุธ แต่มันไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนเพื่อสร้างสวัสดิการและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนตามความปรารถนาของ คสช.ตามที่ประกาศไว้ รัฐจำเป็นต้องมีมิตรประเทศที่หลากหลาย เพื่ออำนาจในการต่อรอง และ การสร้างความร่วมมือสู่การพัฒนารูปแบบสังคมร่วมกัน สังคมโลกได้ดำเนินมาไกลเกินกว่าที่มีชาติใดชาติหนึ่งสามารถเลือกที่จะอยู่ลำพังไม่ข้องเกี่ยวกับชาติอื่น

ข้อเสนอแนะสำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นการวางกรอบที่กระชับและเป็นไปได้ในการเลือกตั้ง เพื่อสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยเพื่อลดการต่อต้านจากนานาประเทศภายใน 1 ปีเพื่อให้ทั่วโลกมีความมั่นใจว่าการลงทุนในไทยจะไม่มีต้นทุนการต่อต้านที่สูงขึ้น และเพื่อเสริมสร้างสวัสดิการของคนในประเทศอย่างแท้จริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท