DSI ปรับทัพใหม่ ยุบศูนย์คดีซ้ำซ้อน เตรียมรื้อคดีก่อความไม่สงบปี 53

รองผบ.ตร. ปฏิบัติหน้าที่อธิบดีดีเอสไอ มอบนโยบายผู้บริหาร-เจ้าหน้าที่แบ่งงาน 4 ด้าน เน้นรับคดีพิเศษตามเหตุของคดี ไม่ใช่อัตโนมัติตามพระราชบัญญัติแนบท้าย ปรับทัพให้เป็นมืออาชีพ ไม่ยึดปัจจัยการเมือง
 
12 มิ.ย. 2557 พลตำรวจเอกชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหาร ว่า ได้มอบนโยบายการทำงานอย่างเป็นทางการกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ โดยแบ่งการทำงานเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย งานบริหาร งานด้านคดีพิเศษ งานคดีพิเศษภาค 1-9 เดิมขึ้นอยู่กับอธิบดีโดยตรงเปลี่ยนเป็นให้ขึ้นกับสำนักคดีพิเศษภาคแทน และงานสนับสนุนคดีพิเศษ สำหรับศูนย์หรือกลุ่มงานที่ไม่เป็นตามโครงสร้างดีเอสไอมีการทำงานซ้ำซ้อนให้ยุบไปขึ้นกับสำนักคดีตามโครงสร้างสำนัก
 
ส่วน 3 หน่วยงานคือศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักบริหารคดีพิเศษ และ ศูนย์สืบสวนสะกดรอย ให้อยู่ภายใต้อำนาจอธิบดีดีเอสไอโดยตรง และมีแนวคิดผลักดันศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ขึ้นเป็นสำนักต่อต้านการค้ามนุษย์
 
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้การรับคดีใดเป็นคดีพิเศษให้ยึดเหตุของคดีพิเศษเป็นตัวตั้งไม่ใช่เป็นโดยอัตโนมัติตามพ.ร.บ.แนบท้ายการสอบสวนคดีพิเศษ และไม่ยึดปัจจัยทางการเมืองเข้ามามีส่วนในการพิจารณารับคดี เพื่อให้ดีเอสไอเป็นมืออาชีพ เช่น คดีการพนันหากมีผู้มีอิทธิพลหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องจึงจะเข้าเป็นคดีพิเศษ เน้นมาตรฐานการทำงานคดีที่ต้องสืบสวนสอบสวนเป็นหลัก
 
“สำหรับการทำคดีความมั่นคงจะมีการรื้อสำนวนคดีก่อความไม่สงบในปี 2553 โดยจะมีการทบทวนว่ามีผู้ใดเข้าไปเกี่ยวข้อง และข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้กระทำผิด ส่วนกรณีที่ในอดีตเคยมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการในพื้นที่ต่าง ๆ นับจากนี้ต้องไม่มี และผมจะเชิญผู้ประกอบการที่มีข้อมูลระบุว่าถูกเรียกเก็บเงินมาให้ข้อมูลด้วย”
 
พลตำรวจเอกชัชวาลย์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้จะยังไม่มีการโยกย้ายภายใน แต่จะให้เป็นไปตามวาระปกติ ส่วนตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติครบเกณฑ์ 213 คน แต่ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญมีเพียง 16 ตำแหน่ง จะสั่งการให้ทบทวนและวางหลักเกณฑ์การคัดเลือกใหม่ให้เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่มีนโยบายให้ดีเอสไอเป็นซุปเปอร์กรม
 
สำหรับคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) บางคนหมดวาระไปตามตำแหน่ง โดยเฉพาะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษที่กำหนดให้นายกรัฐมตรีเป็นโดยตำแหน่งจะนำเรื่องดังกล่าวไปปรึกษากับกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่วนบอร์ด กคพ.บางคนที่ไม่มีคุณสมบัติต้องพิจารณาตนเองด้วยการลาออก แต่หากไม่ตัดสินใจต้องให้เป็นคำสั่งของ คสช.
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท