บัวหลวงติวเข้มลงทุนพม่า-ผู้เชี่ยวชาญระบุ กม.ฉบับใหม่จะเอื้อลงทุนมากขึ้น

ธนาคารกรุงเทพเสวนาแนะนำการลงทุนในพม่า “วิรัตน์ ศิริขจรกิจ” เผยแนวโน้มพม่าเตรียมผ่านกฎหมายลงทุนฉบับใหม่ที่เอื้อต่อการลงทุนต่างชาติมากขึ้น ขณะที่ภาพรวมต่างชาติเน้นลงทุนด้านพลังงาน ภาคการผลิต โดยไทยลงทุนเป็นอันดับสองรองจากจีน เผยมาตรการพิเศษยกเว้นภาษี 5 ปีแรก เป็นโอกาสดีลงทุนช่วงเปิดประเทศ แถมมีปัจจัยหนุนคนพม่านิยมแบรนด์ไทย

เสวนา “เมียนมาร์: ไปอย่างไรไม่ตกขบวน” แนะนำข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในประเทศพม่า เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2557 ที่ห้องประชุมชั้นสามสิบ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม (ที่มา: ประชาไท)

คนงานกำลังทำงานโรงงานทอผ้าขนาดย่อมแห่งหนึ่ง ที่มัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองทางตอนเหนือของพม่า (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

18 มิ.ย. 2557 – เมื่อวานนี้ (17 มิ.ย.) ที่ห้องประชุม ชั้นสามสิบ สำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ถ.สีลม มีการเสวนา “เพื่อนคู่คิด มิตรคุ่ AEC” ครั้งที่ 1 ในหัวข้อเสวนา “เมียนมาร์: ไปอย่างไรไม่ตกขบวน” โดยเป็นการเสวนาเกี่ยวกับข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในประเทศพม่า ช่วงหนึ่งโดยมีการบรรยายพิเศษโดย วิรัตน์ ศิริขจรกิจ กรรมการบริหาร บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด ในหัวข้อเรื่อง “ภาพรวมการลงทุนในเมียนมาร์ : มุมมองด้านกฏหมายและภาษี”

โดยวิรัตน์ อธิบายถึงภาพรวมของเศรษฐกิจในพม่าหลังจากเตรียมเปิดเสรีทางการเงิน โดยกล่าวว่า พม่าเองเริ่มพิจารณาร่างกฎหมายลงทุนฉบับใหม่ที่เป็นมิตรกับนักลงทุนมากขึ้น โดยมีรูปแบบของการลงทุนได้แก่ หนึ่ง นักลงทุนต่างชาติจัดตั้งธุรกิจเองได้ ในรูปแบบที่ต่างชาติเป็นเจ้าของร้อยละ 100 (100% foreign-owned) สอง รูปแบบของการร่วมลงทุนกับนักลงทุนท้องถิ่น (Joint Venture) ทั้งแบบ ธุรกิจส่วนตัว บริษัทส่วนตัว ร่วมทุนกับองค์กรต่างๆ หรือ รัฐกับผู้ประกอบการ โดยนักลงทุนต่างชาติจะต้องร่วมทุนอย่างน้อยร้อยละ 35 ของเงินลงทุนทั้งหมดโดยมีทางเลือกในการจดทะเบียนการลงทุนภายใต้กฎหมาย The Union of Myanmar Foreign Investment Law หรือ The Myanmar Companies Act

สำหรับประเทศที่มีบทบาทมากที่สุดในการเข้ามาลงทุนโดยตรงในประเทศพม่า ส่วนใหญ่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ จีน ไทย เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และสิงค์โปร์ ตามลำดับ โดยเข้ามาลงทุนในภาคธุรกิจ5 อันดับแรก ประกอบด้วย น้ำมันและก๊าซ ร้อยละ 38 พลังงานร้อยละ 37 อุตสาหกรรมการผลิตร้อยละ 8 เหมืองแร่ร้อยละ 6 และสาขาการโรงแรมและการท่องเที่ยวร้อยละ 4

ในด้านสิทธิพิเศษการลงทุน การลงทุนจากต่างประเทศจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 5 ปี ถ้ามีการนำกำไรมาลงทุนต่อจะได้รับการยกเว้นภาษีรายได้ในส่วนนั้น 1 ปี

การลงทุนเพื่อการส่งออก จะเสียภาษีรายได้ในส่วนของกำไรเพียงร้อยละ 50 ส่วนการนำเข้าเครื่องจักร อะไหล่ ส่วนประกอบ วัตถุดิบที่จำเป็นต้องนำเข้าในช่วงการก่อสร้างโครงการจะได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร ภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้สำหรับการผลิตเมื่อเริ่มโครงการแล้วจะได้รับยกเว้น 3 ปี หลังจากที่ก่อสร้างโครงการเสร็จแล้ว การขอยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับเครื่องจักร อะไหล่ ส่วนประกอบหรือวัตถุดิบระหว่างที่เดินเครื่องทำการผลิตแล้วสามารถทำได้โดยการขออนุญาตจากคณะกรรมการเป็นการเฉพาะ การผลิตเพื่อการส่งออกจะได้รับการยกเว้นภาษีการค้า

สิทธิในการเช่าที่ดิน นักลงทุนต่างประเทศมีสิทธิใช้ที่ดินในประเทศพม่าโดยการเช่า ไม่ว่าจะเช่าจากหน่วยงานของรัฐหรือจากเอกชน ได้นานถึง 50 ปีขึ้นอยู่กับประเภทและขนาดของการลงทุน และสามารถต่อสัญญาได้ครั้งละ 10 ปี 2 ครั้ง รวมระยะเวลาเช่าซื้อที่ดินได้นานที่สุดถึง 70 ปี

ในช่วงเปลี่ยนผ่านของประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ที่มีการเปิดประเทศมากขึ้น ถือเป็นการสร้างโอกาสทางการลงทุนทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์อันยาวนานกับพม่าอย่างมากเพราะชาวพม่ามีค่านิยมในการบริโภคสินค้าที่ยึดถือเครื่องหมายการค้า โดยเฉพาะเครื่องหมายการค้าของสินค้าไทย โดยมีความเชื่อมั่นว่าเป็นสินค้าคุณภาพดี ทั้งนี้ในพม่าการซื้อขายส่วนใหญ่จะใช้เงินสด เนื่องจากระบบการเงิน การธนาคารในพม่ายังไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท