Skip to main content
sharethis
‘คสช.’ปัดข่าวบุคคลเสนอประโยชน์ แลกนั่ง สนช.-สภาปฎิรูป ด้านแหล่งข่าวใน คสช.เผยร่างธรรมนูญการปกครองชั่วคราวแล้ว ระบุที่มา สนช. 200 คน -สภาปฏิรูป 250 คน จากคณะกรรมการสรรหา คาดแต่งตั้งใน ส.ค.นี้
 
‘คสช.’ปัดข่าวบุคคลเสนอประโยชน์ แลกนั่ง สนช.-สภาปฎิรูป

19 มิ.ย. 2557 ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก และทีมโฆษก คสช.กล่าวกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีบุคคลบางคนพยายามร้องขอมายัง คสช.เพื่อขอมีตำแหน่งหน้าที่ในสภานิติบัญญัติ (สนช.) และสภาปฏิรูป โดยเสนอผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ว่า ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการในเรื่องใดทั้งสิ้น
 
ส่วนการเรื่อง สนช.และสภาปฏิรูป จะอยู่ในขั้นตอนดำเนินการระยะที่สอง โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ ไม่ใช่ คสช. ดังนั้นข่าวที่ออกมาเป็นการสร้างข่าวเพื่อให้สังคมสับสน  สำหรับการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ก็จะเกิดขึ้นในช่วงที่มีรัฐบาลแล้วเช่นกัน
 
 
เปิดสเปคสภาปฏิรูป ‘คสช.’ เลือกเอง 250 คน
 
ในวันเดียวกัน (19 มิ.ย.) Nation channel และ โพสต์ทูเดย์ รายงานข่าวว่า คสช.ได้เปิดเผยจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูป แล้ว โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมี 200 คน และสภาปฏิรูปการเมืองจะมี 250 คน โดยจะมีการแต่งตั้งในเดือน ส.ค.นี้
 
 
คสช.เปิดเผยว่า ขณะนี้ คสช. ได้ร่างธรรมนูญการปกครองชั่วคราวเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีประเด็นสำคัญ อาทิ ที่มาของสภานิติบัญญัติ และสภาปฏิรูปนั้น กำหนดให้มาจากคณะกรรมการสรรหาตามที่ คสช.ตั้งขึ้น ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากข้อเสนอเดิมที่กำหนดให้ที่มาของสภาปฏิรูป มาจากสาขาอาชีพต่างๆ เลือกกันเอง 150 คน
 
สำหรับสภาปฏิรูปนั้นจะให้ทำทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการวางกรอบปฏิรูปประเทศ โดยจะกำหนดให้มีคณะกรรมการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 35 คน แยกเป็นสัดส่วนจากสภาปฏิรูป 20 คน และคณะรัฐมนตรี 5 คน สนช. 5 คน และจาก คสช. 5 คน ทำหน้าที่เป็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเมื่อยกร่างเสร็จก็ให้ส่งไปให้สภาปฏิรูปลงมติ ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ โดยไม่ต้องจัดให้ประชาชนลงประชามติว่าจะรับร่างหรือไม่รับร่างรัฐธรรมฉบับใหม่เหมือนธรรมนูญชั่วคราวปี 2549
 
อย่างไรก็ตาม หากสภาปฏิรูปประเทศไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าว ก็ให้ คสช.มีอำนาจหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งที่เคยบังคับใช้มาก่อนหน้านี้ มาประกาศใช้ต่อไป
 
ขณะที่การตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีนั้นก็ยังคงเป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า น่าจะมีรัฐบาลได้ช่วง ก.ย. หรือต้นเดือน ต.ค.นี้ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง โดยที่บรรดาบิ๊กนายทหารจะตบเท้าเข้ามาเป็นรัฐมนตรีด้านความมั่นคงและสังคม
 
 
ยันคุมอำนาจเพื่อจัดการปัญหาประเทศ จำเป็นต้องทิ้งประชาธิปไตยสักระยะหนึ่ง
 
บ้านเมือง รายงานว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวชี้แจงการทำหน้าที่ของ คสช.ว่า คสช.เคารพทุกความคิดเห็น แต่ต้องเป็นความคิดเห็นที่ไม่นำไปสู่ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
 
ทั้งนี้ คสช.ไม่มีความคิดต้องการยึดอำนาจตามคำพูดของสื่อ แต่ตนเองขอใช้คำว่าควบคุมอำนาจหรือขออำนาจเพื่อจัดการแก้ปัญหาประเทศให้คน 60 ล้านคน ตามที่ควรได้รับการดูแลจากผู้บริหารประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมากฎหมายหรือระเบียบไม่เคยจัดการหรือนำมาใช้บังคับมีผลกับรัฐมนตรีได้ ขณะที่เราเคารพแนวคิดของ กปปส.ที่ต้องการปฏิรูปประเทศ แต่ไม่ได้เคารพเรื่องที่ กปปส.ทำผิดกฎหมาย
 
นอกจากนี้ ในการจัดการเลือกตั้งใช้เงินงบประมาณถึง 4 พันล้านบาท แต่ประสบความล้มเหลว ซึ่งเงินจำนวนนี้มีประโยชน์ต่อการนำมาใช้แก้ปัญหาให้ชาวนา หรือสร้างประโยชน์ให้คนในประเทศ ขณะที่รัฐบาลรักษาการเป็นคนที่มาจากการเมืองก็ไม่ยอมออก เพราะเกรงว่าจะเสียมวย จึงทำให้ปลดล็อคแก้ปัญหาให้กับประเทศไม่ได้
 
 
ย้ำ ส.ค.ตั้งสภาปฏิรูป
 
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า คสช.ไม่ใช่มนุษย์ผู้วิเศษบันดาลอะไรก็ได้ แต่เป็นองค์กรที่มีพลัง ยืนยันว่างานนี้ไม่ใช่งานของคนเก่ง แต่เป็นงานของคนกล้า เพราะหากทำไม่สำเร็จก็จะส่งผลกระทบครอบครัว ทั้งนี้ คณะทำงานของ คสช.ไม่ได้บอกว่าเสียสละเพื่อเรียกร้องความเห็นใจ เพราะสิ่งที่ทำถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ในขณะที่สถานการณ์ประเทศไทยจำเป็นต้องแก้ปัญหาซึ่งสำคัญกว่าประชาธิปไตย ดังนั้น จำเป็นต้องทิ้งประชาธิปไตยสักระยะหนึ่ง
 
แต่ทั้งนี้ คสช.จะไม่สามารถปฏิรูปประเทศแก้ปัญหาที่คาราคาซังมาหลายปีได้ หากขาดความร่วมมือจากคนในบ้านเมืองนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ให้คนมาปรองดองกัน การแก้ไขปัญหาประเทศวิธีนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับสถานการณ์ประเทศไทยในขณะนี้
 
อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาบริหารประเทศ 1 ปีเศษนั้น เริ่มจากเมื่อมีการกำหนดกติกาบ้านเมือง หรือรัฐธรรมนูญชั่วคราว จากนั้นก็จะมีนักการเมืองกลุ่มหนึ่งเข้ามาบริหารประเทศ โดยภายในเดือน ส.ค.นี้ คสช.จะพยายามเร่งรัดให้มีสภานิติบัญญัติ หรือสภาปฏิรูปประเทศ จำนวน 200-250 คน จากคนทุกกลุ่มอาชีพ รวมทั้งที่มีคนเห็นต่างทางการเมืองทั้ง 2 ขั้ว มาระดมความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนจะเลือกคณะผู้บริหารประเทศ โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว คสช.จะผลักดันให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เช่น เลือกตั้ง อบต.โดยจะพยายามให้มีประชาธิปไตยมากที่สุด แต่ไม่ให้กระทบต่อการแก้ปัญหาประเทศตามวิถีทางที่ คสช.ปฏิบัติหน้าที่
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net