Skip to main content
sharethis

เลขาธิการ คสช. พบสื่อ 46 แห่ง ยืนยันไม่จำกัดเสรีภาพสื่อ แต่ให้ใช้วิจารณญาณอันเหมาะสมเสริมสร้างความรักสามัคคีและประโยชน์ส่วนรวม คัดกรองข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ-ร่วมกันนำเสนอข้อเท็จจริงของสถานการณ์ในประเทศต่อสายตาชาวโลกด้วย ด้านรองหัวหน้า คสช. ชี้แจงสมาคมนักข่าวว่าไม่มีนโยบายส่งทหารไปคุมสื่อ

เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (27 มิถุนายน 2557) เวลา 10.00 น. ณ สโมสรทหารบก (วิภาวดี) กรุงเทพฯ พลเอก อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พร้อมด้วย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะผู้บริหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชน ได้ร่วมพบปะหารือกับผู้บริหารสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ จำนวน 46 สำนัก ทั้งนี้ เลขาธิการ คสช. ได้กล่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่เข้าใจในสถานการณ์และให้ความร่วมมือกับ คสช. เป็นอย่างดี ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลและสร้างความเข้าใจต่อประชาชน พร้อมทั้งได้ย้ำถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเข้าควบคุมการบริหารประเทศของ คสช. แผนการบริหารประเทศใน 3 ระยะ ที่ คสช. มีความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขและทำให้ประเทศมีความสงบสุข ซึ่งทำให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าและขับเคลื่อนประเทศภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่าย

ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะ (คตข.) นั้น การทำงานของ คตข. จะเป็นการเสริมการทำงานของสื่อ โดยเป็นเพียงการนำข้อมูลที่ถูกนำเสนอต่อสาธารณะ และประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ มาพิจารณาเพื่อการชี้แจงและกำหนดหรือปรับทิศทางการทำงานของ คสช. ให้ตรงกับความต้องการของสังคม

ในขณะเดียวกัน ได้ยืนยันในบทบาทของ คสช. ต่อการดูแลสื่อต่างๆ นั้น เป็นการทำงานในลักษณะตัวกลาง เชื่อมการทำงานของสื่อกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบ ในเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างแท้จริง โดยสื่อมวลชนยังคงสามารถนำเสนอข่าวสารได้ตามบทบาทที่เคยเป็น ภายใต้วิจารณญาณอันเหมาะสมต่อการเสริมสร้างความรักสามัคคีและประโยชน์ส่วนรวม มิได้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อแต่อย่างใด

นอกจากนี้ เลขาธิการ คสช. ยังได้กล่าวในตอนท้ายของการหารือด้วยว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันในการนำเสนอข่าวสารสู่สาธารณะ โดย คสช.ไม่ขอให้สื่อมายืนเคียงข้าง แต่ขอให้สื่อได้ยืนเคียงข้างประเทศไทยและคนไทย คสช. เคารพหลักการทำงานของสื่อที่คงไว้ซึ่งจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ พร้อมทั้งขอให้สื่อทำหน้าที่อย่างสบายใจในการคัดกรองข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและขอให้ร่วมกันนำเสนอข้อเท็จจริงของสถานการณ์ในประเทศต่อสายตาชาวโลกด้วย

 

นายกสมาคมนักข่าวสอบถามเรื่องการคุมสื่อ รอง คสช. ยืนยันไม่มีนโยบายส่งทหารไปตรวจสอบ

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานด้วยว่า เมื่อเวลา 10.45 น. ณ บริเวณหน้าห้องรับรอง ชั้น 1 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่ายกิจการพิเศษ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ รับจดหมายเปิดผนึก จากนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคณะ ที่ขอให้ มีการจัดทำแนวทางการปฏิบัติของคณะกรรมการเพื่อติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะให้มีความชัดเจน รวมทั้ง แนวทางการกำกับดูแล การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบนำไปปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมแก่สภาพการณ์ และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการแสดงออกถึงการเคารพต่อวิจารณญาณของประชาชนคนไทยโดยส่วนใหญ่

โอกาสนี้ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้กล่าวชี้แจงถึงแนวทางการปฏิบัติดังกล่าวว่า เป็นไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 14 และ 18 ในเรื่องเกี่ยวกับการติดตามข่าวสารที่อาจจะทำให้เกิดความแตกแยกกัน จึงได้มีการกำหนดแนวทางขั้นตอนของการติดตาม การเฝ้าระวังหากมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ในลักษณะที่สร้างความไม่เข้าใจกันก็จะได้มีการหารือและหาทางแก้ไข พร้อมกล่าวย้ำว่า ทาง คสช. ไม่มีนโยบายที่จะให้ทหารเข้าไปตรวจสอบหรือก้าวก่ายการทำงานของสื่อมวลชน โดยเฉพาะกองบรรณาธิการสื่อแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net