Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จุดจบของสงครามนโปเลียนเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ด้วย หลังสงครามนโปเลียนกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมันมีการรวมตัวกันเป็นสมาพันธรัฐเยอรมัน (German Confederation) และรัฐที่เป็นอำนาจของแกนกลางจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อย่างออสเตรียก็โดนท้าทายโดยรัฐที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจใหม่ตั้งแต่ด้านการทหารยันศิลปวัฒนธรรมอย่างปรัสเซีย ซึ่งนี่ก็เป็นจุดเริ่มของการพยายามทำให้ลิขสิทธิ์เป็นกฎหมายที่รัฐต่างๆ ยึดถือร่วมกันด้วย

ปรัสเซียเป็นรัฐเกิดใหม่ที่ประกาศเอกราชกลายๆ ตอนต้นศตวรรษที่ 18 ในตอนแรกมันเป็นรัฐหนึ่งในจักรวรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ปกครองโดยขุนนาง แต่ในที่สุดตอนต้นศตวรรษที่ 18 ปรัสเซียก็ขยายตัวขึ้นและขุนนางผู้ปกครองก็ตั้งตัวเป็น “กษัตริย์ในปรัสเซีย” กล่าวคือเป็นกษัตริย์แค่ในปรัสเซียเท่านั้น แต่หลังจากนั้นไม่นานปรัสเซียก็ไปช่วยออสเตรียรบในสงครามสืบราชสมบัติสเปนและก็สถานะการเป็นรัฐอิสระแลกมา และหลังจากนั้นก็กลายมาเป็นรัฐที่รุ่งเรืองในสารพัดด้านภายใต้การปกครองของพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชในช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 18

ปรัสเซียตลอดศตวรรษที่ 18 ก็เป็นรัฐที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ และมีอำนาจไม่น้อยกว่าออสเตรียและทั้งสองรัฐก็เป็นไม้เบื่อไม้เมาที่แย่งชิงการเป็นมหาอำนาจในโลกภาษาเยอรมันกันมาโดยตลอด และประเด็นหนึ่งที่สองรัฐนี้เป็นไม้เบื่อไม้เมาเพราะมีนโยบายต่างกันอย่างสุดขั้วก็คือประเด็นเรื่องการเคารพอภิสิทธิ์ในการผูกขาดการพิมพ์วรรณกรรมของรัฐอื่นๆ

ปรัสเซียเป็นหนึ่งในรัฐโปรเตสแทนท์ทางเหนือที่เป็นบ้านของนักเขียนชื่อดังในโลกภาษาเยอรมันจำนวนมากส่งออกหนังสือจำนวนไม่น้อย และในรัฐก็มีการบังคับใช้อภิสิทธิ์ทางวรรณกรรมที่เหล่าพ่อค้าหนังสือไปซื้อมาจากราชสำนักอย่างแข็งขัน แต่ในทางกลับกันทางออสเตรียที่เป็นรัฐแคธอลิคนั้นแม้ว่าจะมีกรุงเวียนนาอันเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกภาษาเยอรมันในช่วงศตวรรษที่ 18 (อันดับสองก็คือเบอร์ลินของปรัสเซีย [1]) แต่การผลิตนักเขียนและหนังสือในออสเตรียกลับสู้ปรัสเซียไม่ได้

ความด้อยกว่าของตลาดหนังสือของออสเตรียทั้งๆ ที่มีประชากรมากกว่านั้นดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกพิสดารอะไรนักในบริบทของรัฐทางใต้ในโลกภาษาเยอรมันที่ถือนิกายคาธอลิค เพราะสุดท้ายสิ่งที่เรียกว่า “การปฏิวัติการอ่าน” ในโลกภาษาเยอรมันในศตวรรษที่ 18 ที่สถาปนาให้โลกภาษาเยอรมันมีวรรณกรรมเป็นของตัวเองอย่างเป็นล่ำเป็นสันนั้นก็ดูจะเป็นเรื่องของรัฐที่ถือนิกายโปรเตสแทนท์ทางเหนือมากกว่าซึ่งโดยรวมมันจะมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจการเมืองที่เหมาะกว่าในการทำให้เกิดงานเขียนขึ้นตั้งแต่การขยายตัวของระบบราชการและมหาวิทยาลัยไปจนถึงมาตรการเซ็นเซอร์งานเขียนที่ไม่เข้มงวดเท่าทางใต้

การขยายตัวของตลาดหนังสือของรัฐทางเหนือนั้นทำให้ธรรมเนียมเก่าแก่ในการ “แลกหนังสือ” กันที่งานหนังสือไลป์ซิกในรัฐแซกซันเริ่มมีปัญหา ดั้งเดิมงานหนังสือไลป์ซิกเป็นงานหนังสือที่พ่อค้าหนังสือทั้งโลกภาษาเยอรมันและอาณาบริเวณใกล้เคียงกันจะมาพบปะกันเพื่อเอาหนังสือที่ตนพิมพ์ไปแลกกันกับหนังสือพ่อค้าหนังสือของรัฐอื่นๆ ในราคาขายส่ง นี่เป็นระบบชั่นดีที่ช่วยระบายหนังสือในการพิมพ์แต่ละครั้ง และเป็นระบบที่ป้องกันไม่ให้เกิดการพิมพ์หนังสือเถื่อนด้วยเพราะมันจะทำให้พ่อค้าหนังสือทั่วโลกภาษาเยอรมันสามารถได้มาซึ่งหนังสือราคาถูกไปขายในท้องถิ่นของตนได้โดยไม่ต้องลงทุนพิมพ์หนังสือเถื่อนเองที่ยังไงก็มีความเสี่ยง

อย่างไรก็ดีเมื่อตลาดหนังสือในรัฐทางเหนือขยายตัวและเต็มไปด้วยงานวรรณกรรมใหม่ๆ อันต่างไปจากหนังสือทางศาสนาแบบยุคเก่าที่ทางใต้ยันผิดเป็นหลักอยู่ก็ทำให้พวกพ่อค้าหนังสือทางเหนือเริ่มไม่อยากจะแลกหนังสือกับพ่อค้าหนังสือทางใต้อีก เนื่องจากหนังสือทางใต้ขายไม่ดีอีกต่อไปแล้วในทางเหนือ นี่ทำให้ระบบแลกเปลี่ยนดั้งเดิมหยุดชะงักไป และจูงใจให้พ่อค้าหนังสือทางใต้ที่ไม่สามารถนำหนังสือของตนไปแลกหนังสือจากรัฐทางเหนือในราคาถูกมาขายได้อีกหันมาพิมพ์หนังสือของรัฐทางเหนือซ้ำเพื่อขายเองในทางใต้เลย ซึ่งในแง่นี้ “หนังสือเถื่อน” จากทางใต้ก็ดูจากเกิดจากการละเมิดข้อตกลงทางการค้าตามจารีตของรัฐทางเหนือเอง [2] นี่เป็นมูลเหตุสำคัญของหนังสือเถื่อนในโลกภาษาเยอรมันซึ่งปรากฏดาษดื่นในรัฐทางใต้ตั้งแต่รัฐเล็กๆ ยันรัฐใหญ่ๆ อย่างออสเตรีย อาจจะต่างเล็กน้อยก็ตรงที่นอกจากทางราชสำนักออสเตรียจะไม่ได้มีนโยบายที่จะยับยั้งหนังสือเถื่อนแล้ว ทางราชสำนักออสเตรียก็ยังขายอภิสิทธิ์ให้พ่อค้าหนังสือออกเตรียได้ผูกขาดพิมพ์หนังสือของรัฐอื่นซึ่งมันก็สร้างรายได้ให้แก่รัฐอย่างเป็นล่ำเป็นสันด้วย ซึ่งมาตรการนี้ในรัฐที่มีการควบคุมการพิมพ์อย่างเข้มงวดอย่างออสเตรียมันก็เป็นมาตรการการควบคุมการพิมพ์หนังสือและหารายได้เข้ารัฐไปพร้อมๆ กัน

ในสายตาของพ่อค้าหนังสือรัฐอื่นๆ ที่เป็นถิ่นกำเนิดหนังสือ สิ่งที่ออสเตรียขายอภิสิทธิ์ให้พลเมืองพิมพ์หนังสือจากรัฐอื่นโดยไม่ขออนุญาติไม่ได้แตกต่างจากการร่วมมือกับโจร แต่ก็ไม่มีรัฐไหนไปท้าทางแนวทางการสนับสนุนการพิมพ์หนังสือเถื่อนรัฐที่เป็นแกนหลักของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อย่างออสเตรียได้ จนกระทั่งปรัสเซียลุกขึ้นมาท้าทายในที่สุด ณ ที่ประชุมสหพันธรัฐเยอรมันภายหลังสงครามนโปเลียน

สหพันธรัฐเยอรมันตั้งขึ้นมาในปี 1815 ภายหลังจากการประชุมเวียนนาคองเกรสหลังสงครามนโปเลียน การรวมกลุ่มครั้งนี้เป็นการสร้างความร่วมมือในทางเศรษฐกิจกลุ่มชาติที่ใช้ภาษาเยอรมัน ซึ่งความร่วมมือหนึ่งที่ทางปรัสเซียต้องการตั้งแต่การประชุมเวียนนาคองเกรสก็คือการที่แต่ละรัฐในสหพันฐรัฐนั้นมีการเคารพในอภิสิทธิ์ทางวรรณกรรมที่ราชสำนักรัฐอื่นๆ ออกมา พูดง่ายๆ คือถ้าความร่วมมือนี้สำเร็จ สำนักพิมพ์ได้อภิสิทธิ์ในรัฐปรัสเซียแล้ว ก็ไม่ต้องไปขออภิสิทธิ์ซ้ำในรัฐแซกโซนี หรือรัฐไวมาร์ให้วุ่นวาย ดังที่ต้องปฏิบัติกันมาตลอดในช่วงศตวรรษที่ 18

อันที่จริงออสเตรียก็ไม่ได้มีปัญหากับการเคารพอภิสิทธิ์กับปรัสเซียและบรรดารัฐทางเหนือ แต่ปรัสเซียมีปัญหากับเสรีภาพในการพิมพ์ของรัฐทางเหนือมากกว่า เพราะสิ่งที่ปรัสเซียต้องการให้ออสเตรียยอมรับอภิสิทธิ์ของปรัสเซียนั้นก็หมายถึงการยอมรับด้วยว่างานที่มีอภิสิทธิ์/ลิขสิทธิ์นั้นผ่านเซ็นเซอร์ของออกเตรีย นี่ไม่ใช่แนวทางที่ออสเตรียต้องการ เพราะออสเตรียยังต้องการการควบคุมการพิมพ์ที่เข้มงวดอยู่ สิ่งที่ออสเตรียเสนอก็คือการตั้งหน่วยงานควบคุมหนังสือและออกอภิสิทธ์ทั่วโลกภาษาเยอรมันที่เป็นทั้งกลไกในการสอดส่องเซ็นเซอร์งานพิมพ์และกลไกในการออกอภิสิทธิ์ไปพร้อมๆ กัน กล่าวง่ายๆ คือออสเตรียต้องการให้ระบบควบคุมหนังสือของทั้งโลกเยอรมันเป็นแบบอังกฤษและฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติที่มีลักษณะรวมศูนย์และ เข้มงวด [3] ปรัสเซียซึ่งเป็นรัฐที่มีเสรีภาพของสิ่งพิมพ์น่าจะสูงที่สุดในโลกภาษาเยอรมันตอนนั้นไม่สามารถรับข้อเสนอนี้ซึ่งดูมีลักษณะถดถอยมากๆ ได้ และการประชุมเวียนนาคองเกรสก็ได้ยุติลงพร้อมๆ กับการสถาปนาสมาพันธรัฐเยอรมันซึ่งไม่มีมาตรฐานการคุ้มครองอภิสิทธิ์และลิขสิทธิ์ร่วมกัน

การที่ไม่สามารถหาข้อยุติในการตั้งระบบลิขสิทธิ์ร่วมกันได้ในการประชุมเวียนนาคองเกรสส่งผลให้ตั้งแต่ปี 1815 ปรัสเซียต้องไปไล่ทำสนธิสัญญากับรัฐต่างๆ ในสมาพันธรัฐเยอรมันกว่า 30 รัฐเพื่อให้แต่ละรัฐยอมรับอภิสิทธิ์ทางวรรณกรรมที่ออกโดยราชสำนักปรัสเซียในแง่ที่รัฐอื่นๆจะยอมรับว่าตีพิมพ์ซ้ำงานที่ได้รับอภิสิทธิ์มาแล้วในปรัสเซียนั้นถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และกว่าออสเตรียจะยินยอมร่วมมือกับข้อตกลงในการที่แต่ละรัฐในสหพันธรัฐเยอรมันจะไม่ทำการละเมิดอภิสิทธิ์ผูกขาดการตีพิมพ์ของกันและกันให้ก็ล่วงเลยไปปี 1835 แล้ว แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้เกิดกฎหมายลิขสิทธิ์ที่จะคุ้มครองการผูกขาดการพิมพ์ทั้งโลกภาษาเยอรมันใต้มาตรฐานเดียวอยู่ดี เพราะภายใต้ข้อตกลงแบบนี้ การคุ้มครองอภิสิทธิ์งานของแต่ละรัฐก็ยังมีลักษณะที่แตกต่างหลากหลายไปตามที่อภิสิทธิ์ที่แต่ละรัฐออก

จุดหักเหคือสงครามออสโตร-ปรัสเซียนหรืออีกชื่อหนึ่งคือ “สงครามเจ็ดสัปดาห์” ในปี 1866 ที่ปรัสเซียและออสเตรียพร้อมพันธมิตรของแต่ละฝ่ายได้ห้ำหั่นกัน ผลของสงครามทำให้เกิด “สหพันธรัฐเยอรมันเหนือ” ขึ้น ซึ่งในภาพรวมก็คือสมาพันธรัฐเยอรมันเดิมที่ปราศจากออสเตรียนั่นเอง ภาพใต้สหพันธรัฐใหม่ ปรัสเซียก็ได้เป็นรัฐที่มีอำนาจเหนือรัฐอื่นโดยสมบูรณ์ และก็ได้ผลักดันกฎหมายลิขสิทธิ์ของตน (ที่ออกมาในปี 1837) ให้กลายมาเป็น กฎหมายลิขสิทธิ์แห่งสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือในปี 1870 ซึ่งมีผลบังคับใช้ทุกรัฐและพอสหพันธรัฐเยอรมันเหนือได้กลายร่างมาเป็น จักรวรรดิเยอรมัน (German Empire) ภายใต้การรวมชาติของ Otto Von Bismark กฎหมายดังกล่าวก็ได้กลายมาเป็นกฎหมายลิขสิทธิ์แห่งจักรวรรดิ์เยอรมันไปในปีต่อมา และกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกแห่งประเทศเยอรมันก็มีที่มาแบบนี้นี่เอง

ดังนั้นประวัติของกฎหมายลิขสิทธิ์เยอรมันน่าจะเรียกได้ว่าเป็นประวัติของการดิ้นรนให้อภิสิทธิ์ทางวรรณกรรมและกฎหมายลิขสิทธิ์ของปรัสเซียถูกใช้เป็นมาตรฐานทั้งโลกภาษาเยอรมันโดยมีศัตรูตัวร้ายคือออสเตรียซึ่งสุดท้ายหายไปจากสารบบในที่สุดหลังการรวมชาติเยอรมัน อย่างไรก็ดีการสถาปนาลิขสิทธิ์ของเยอรมันก็ไม่ได้เป็นแค่การสถาปนาการยอมรับลิขสิทธิ์ร่วมกันในโลกภาษาเยอรมันเท่านั้น เพราะก่อนหน้านั้น ในสมัยที่ปรัสเซียยังต้องตระเวนทำสนธิสัญญาเพื่อให้มีการยอมรับ “ลิขสิทธิ์/อภิสิทธิ์” ทั่วโลกภาษาเยอรมัน ปรัสเซียก็ไม่ได้ทำสนธิสัญญาด้านลิขสิทธิ์กับแค่ในโลกภาษาเยอรมันเท่านั้น แต่ปรัสเซียก็ได้ทำสนธิสัญญายอมรับลิขสิทธิ์ร่วมกันกับอังกฤษในปี 1846 ด้วย ซึ่งเป็นสนธิสัญญาแรกของปรัสเซียนอกโลกภาษาเยอรมัน ที่มีผลสืบเนื่องมาตอนเยอรมันรวมชาติไปแล้วภายหลัง และที่สำคัญกว่านั้นมันเป็นสนธิสัญญาลิจสิทธิ์ฉบับแรกของอังกฤษด้วย

สนธิสัญญานี้ดูจะเป็นก้าวสำคัญมากๆ ของอังกฤษที่สามารถจะทำให้ชาติอื่นๆ ยอมรับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ของตนได้ โดยไม่ต้องไปจับชาติอื่นๆ มาเป็นอาณานิคมและบังคับใช้ระบบกฎหมายของอังกฤษ พูดง่ายๆ นี่คือครั้งแรกที่อังกฤษไม่ต้องเผยแพร่ลิขสิทธิ์ด้วยอาณานิคม ซึ่งการยินยอมพร้อมใจของเยอรมันและอังกฤษนี้ก็กรุยทางให้ชาติต่างๆ เริ่มทำสนธิสัญญายอมรับลิขสิทธิ์ของกันและกันอย่างต่อเนื่องในศตวรรษที่ 19 และนำไปสู่ข้อตกลงด้านลิขสิทธิ์ระดับนานาชาติฉบับแรกอย่างอนุสัญญาเบิร์นในที่สุด

อ้างอิง:

  1. ในปี 1800 เวียนนามีประชากรราว 247,000 คน ส่วน เบอร์ลินมีประชากรราว 172,000 คน ดู Barry S. Brook, "Piracy and Panacea in the Dissemination of Music in the Late Eighteenth Century", Proceedings of the Royal Musical Association, Vol. 102 (1975 - 1976), p. 15 note 4
  2. Martin Vogel, "From privilege to modern copyright law" in Global Copyright: Three Hundred Years Since the Statute of Anne, from 1709 to Cyberspace, Lionel Bently, Uma Suthersanen & Paul Torremans (eds.), (Cheltenham: Edward Elgar Publishing, 2010), pp. 117-118
  3. Gunnar Petri, "Transition from guild regulation to modern copyright law (Sweden)" in Global Copyright: Three Hundred Years Since the Statute of Anne, from 1709 to Cyberspace, Lionel Bently, Uma Suthersanen & Paul Torremans (eds.), (Cheltenham: Edward Elgar Publishing, 2010), p. 114

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net