Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

กรุง Kyiv แลดูเงียบสงบลงภายหลังการสิ้นสุดของรัฐบาล Viktor Yanukovych และการยุติการชุมนุมประท้วง ณ จัตุรัสเอกราช (Maidan Square) หรือเป็นที่รู้จักกันในนามของการประท้วง Euromaidan (21 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013 - 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014) แต่ในภาคตะวันออกของยูเครนแล้ว ความวุ่นวายโกลาหลดูเหมือนจะเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น ในเมืองต่างๆ ในบริเวณภูมิภาค Donbas ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมถ่านหินและเหล็กที่สำคัญ เช่น Donetsk และ Luhansk ประชาชนจำนวนมากเป็นชาวรัสเซียหรือชาวยูเครนที่พูดภาษารัสเซีย ไม่พอใจรัฐบาลรักษาการที่กรุง Kyiv ซึ่งมาจากผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ทั้งนี้เนื่องมาจากรัฐสภาได้ลงมติยกเลิกไม่ให้ภาษารัสเซียเป็นภาษาทางการ ในเมืองทางใต้ของประเทศอย่าง Crimea (ซี่งมีเมืองหลวงคือ Simferopol และเมืองสำคัญคือ Sevastopol อันมีฐานทัพเรือรัสเซียตั้งอยู่) ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวรัสเซีย ก็ไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลรักษาการ ซึ่งพวกเขามองว่าไม่มีความชอบธรรมทางการเมือง


อำนาจและการต่อต้าน

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ประชาชนทั้งสองบริเวณออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลรักษาการ และเรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นไม่รับรองอำนาจรัฐบาลที่กรุง Kyiv โดยสภาท้องถิ่นได้แต่งตั้งผู้ว่าการและนายกเทศมนตรีของเมืองขึ้นมาเอง ใน Crimea สภาท้องถิ่นได้ประกาศขอเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย โดยจัดให้มีการลงประชามติในวันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 2014 โดยประชาชนร้อยละ 96.8 สนับสนุนการแยก Crimea ไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และต่อมารัสเซียได้ลงนามในสนธิสัญญารับ Crimea เข้ามาเป็นจังหวัดหนึ่ง (Oblast) ของรัสเซีย ซึ่งยูเครน สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาไม่ยอมรับการแบ่งแยกดินแดนดังกล่าว และได้คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อชนชั้นนำชาวรัสเซียที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนเป็นต้นมา ประชาชนที่นิยมรัสเซียในยูเครนภาคตะวันออก ประมาณสิบกว่าเมือง (เช่น Donetsk Luhansk Slovyansk เป็นต้น) ได้ออกมาประท้วงรัฐบาลรักษาการ โดยประกาศเอกราชจากยูเครน จัดตั้ง "สาธารณรัฐประชาชน” และเรียกร้องให้มีการจัดการลงประชามติ รวมทั้งขอความช่วยเหลือจากรัสเซีย รัสเซียแม้ว่าจะเห็นอกเห็นใจผู้ชุมนุม แต่ก็ปฏิเสธที่จะเกี่ยวข้อง ในขณะที่รัฐบาลยูเครนได้ส่งกองกำลังมาปราบปรามกลุ่มที่ถูกเรียกว่า "ผู้ก่อการร้าย” ในภาคตะวันออก วิกฤตการณ์ในยูเครนภาคตะวันออกดำเนินไป โดยมีการเผชิญหน้าและการปะทะกันระหว่างทั้งสองฝ่าย รายงานของสหประชาชาติ ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 356 คน ในยูเครนภาคตะวันออก (ตั้งแต่เดือนเมษายน - มิถุนายน ค.ศ. 2014) ฝ่ายยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวประณามรัสเซียว่ามีส่วนสนับสนุนผู้ชุมนุมและกองกำลังติดอาวุธ ในขณะที่รัฐบาลรัสเซียก็ประณามการใช้ความรุนแรงโดยรัฐบาล ซึ่งไม่มีความชอบธรรมมาตั้งแต่ต้น


Crimea vs. ยูเครนภาคตะวันออก

ทำไมท่าทีของรัสเซียจึงแตกต่างกันในกรณีของ Crimea กับกรณียูเครนภาคตะวันออก? ทำไมรัสเซียจึงสนับสนุนให้ Crimea ลงประชามติแยกมารวมกับรัสเซีย ในขณะที่ไม่สนับสนุนยูเครนภาคตะวันออก? ในมุมมองของรัสเซียแล้ว Crimea มีผลประโยชน์แห่งชาติที่สำคัญมากกว่ายูเครนภาคตะวันออก กล่าวคือ ประการแรก Crimea มีคนเชื้อสายรัสเซียเป็นส่วนใหญ่ และมากกว่ายูเครนภาคตะวันออก รัสเซียอ้างสิทธิในการปกป้องชาวรัสเซียซึ่งอยู่ในบริเวณติดพรมแดนหรือ near abroad ของรัสเซียในหลักนิยมนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงมาโดยตลอด โดยเฉพาะภายหลังสงครามรัสเซีย-จอร์เจียในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2008 Dmitry Medvedev ประธานาธิบดี (ในขณะนั้น) ได้ประกาศให้บริเวณติดพรมแดนรัสเซีย เป็น "เขตผลประโยชน์ที่มีอภิสิทธิ์” (sphere of privileged interests) และประการต่อมา ซึ่งสำคัญมากที่สุด คือ ผลประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์ โดยรัสเซียขอเช่าฐานทัพเรือที่ Sevastopol ในคาบสมุทร Crimea เป็นฐานทัพเรือของรัสเซียตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็น แต่รัฐสภา ซึ่งฝ่ายค้านครองอำนาจนำในช่วงหลังการประท้วง Euromaidan ได้ลงมติยกเลิกการให้รัสเซียเช่าฐานทัพเรือดังกล่าว ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่รัสเซีย


ยูเครนหลังเลือกตั้ง

สถานการณ์ในยูเครนภาคตะวันออกดูเหมือนปรับตัวดีขึ้นภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2014 ซึ่ง Petro Poroshenko นายทุนผู้ทรงอิทธิพลและเจ้าของบริษัทช็อกโกแลต ได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ Poroshenko ไม่มีช่วงเวลา "ฮันนีมูน” มากนัก เมื่อเผชิญกับยูเครนที่เศรษฐกิจกำลังล้มละลาย สังคมการเมืองที่แตกแยก รวมทั้งปัญหาด้านการต่างประเทศกับมหาอำนาจ ในปัญหายูเครนภาคตะวันออก Poroshenko พยายามแสวงหาทางออกด้วยการเจรจาและวิธีการแบบสันติ โดยในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ได้ประกาศแผนการสันติภาพ และหยุดยิงชั่วคราวเป็นเวลา 1 สัปดาห์ (20 - 27 มิถุนายน) เพื่อให้กองกำลังติดอาวุธในยูเครนภาคตะวันออกวางอาวุธ ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมและกองกำลังติดอาวุธปฏิเสธ แต่ก็ยอมเข้าสู่กระบวนการเจรจากับฝ่ายรัฐบาล รัฐบาลรัสเซียประกาศสนับสนุนท่าทีของ Poroshenko โดยสัญลักษณ์สำคัญประการหนึ่งคือ การที่ Vladimir Putin ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ยกเลิกสิทธิแทรกแซงทางการทหารในยูเครน ซึ่งรัฐสภารัสเซียได้ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีเอาไว้เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมก่อนหน้านี้


ยูเครนในมุมรัสเซีย

ในมุมมองของรัสเซีย ปัญหายูเครนภาคตะวันออกจะไม่สามารถหาทางออกได้เลย ถ้าหากไม่สามารถบรรลุประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้ คือ หนึ่ง การเคารพและยอมรับสิทธิและเสรีภาพของคนพูดภาษารัสเซียในยูเครน สอง ยูเครนควรจะเป็นสหพันธรัฐ ที่มีการกระจายอำนาจเพิ่มมากขึ้น โดยเพิ่มอำนาจและรับฟังท้องถิ่นมากขึ้น การพยายามคงรูปแบบรัฐเดี่ยวต่อไปจะไม่อาจแก้ไขปัญหาพหุสังคมของยูเครนได้ และอาจมีแนวโน้มที่จะเกิดการแบ่งแยกดินแดนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย สาม ยูเครนควรมีนโยบายต่างประเทศที่เป็นกลาง ไม่เข้าไปอยู่ข้างตะวันตกมากจนเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ NATO ซึ่งรัสเซียมองว่าเป็นภัยคุกคามโดยตรงที่ค่อยๆ สยายปีกเข้ามาในบริเวณติดพรมแดนของรัสเซียมากขึ้นทุกทีๆ และสี่ ยูเครนควรร่วมมือกับรัสเซียในด้านพลังงาน ทั้งนี้นื่องจากยูเครนเป็นรัฐทางผ่าน (transit state) หรือรัฐที่มีท่อของรัสเซียซึ่งส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังตลาดยุโรปและโลก โดยมีการส่งออกผ่านยูเครนคิดเป็นร้อยละ 80 ของการส่งออกก๊าซทั้งหมดของรัสเซีย นอกจากนี้ ยูเครนยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียจำนวนมหาศาล ซึ่งก็ทำให้ยูเครนเป็นหนี้สาธารณะต่อรัสเซีย ล่าสุด การเจรจาระหว่างยูเครนกับ Gazprom บริษัทพลังงานของรัฐรายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ล้มเหลว โดยยูเครนไม่สามารถจ่ายหนี้คืนให้แก่ Gazprom ได้ Gazprom จึงตัดก๊าซธรรมชาติให้แก่ยูเครนในวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 2014 ซึ่งนับว่าเป็นวิกฤตการณ์พลังงานรอบใหม่ (ก่อนหน้านี้ เคยมีการตัดก๊าซธรรมชาติในเดือนมกราคม ค.ศ. 2006 และค.ศ. 2009 ในสมัยรัฐบาล Viktor Yushchenko ซึ่งนิยมสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา) โดยสรุป รัสเซียเชื่อว่า สงครามจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ หากรัฐบาลยูเครนยินยอมปฏิบัติตามข้อเสนอดังกล่าว


อนาคตยูเครน สันติภาพยุโรป?

กระบวนการเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มต่อต้านในภาคตะวันออก ได้เริ่มต้นขึ้น และดูเหมือนจะเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยการปะทะกันระหว่างทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินต่อไป ทั้งๆ ที่มีการประกาศหยุดยิงก็ตาม แม้ว่ารัสเซียจะสนับสนุนข้อเสนอของประธานาธิบดี Poroshenko แต่หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นจนนำไปสู่การเสียชีวิตของชาวรัสเซียในยูเครน แนวโน้มของการแทรกแซงทางการทหารของรัสเซียย่อมมีความเป็นไปได้ไม่มากก็น้อย ในขณะที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลที่ Kyiv ก็คงกดดันรัสเซียด้วยมาตรคว่ำบาตรต่างๆ ต่อไป ปัญหาของยูเครนอาจสื่อสะท้อนได้จากชื่อประเทศ "ยูเครน” ซึ่งในภาษาสลาฟแปลว่า พื้นที่ชายแดน (borderland) นั่นคือ ยูเครนอยู่ ณ ชายแดนหรือชายขอบของ/ระหว่างมหาอำนาจต่างๆ ปัญหายูเครนภาคตะวันออกจึงไม่เพียงแต่ท้าทายอนาคตของรัฐยูเครน แต่ยังสั่นสะเทือนเสถียรภาพและสันติภาพของการเมืองระหว่างประเทศในยุโรปในอนาคตอันใกล้อีกด้วย

 


เอกสารอ่านประกอบ

- จิตติภัทร พูนขำ, "ยูเครนบนทางแพร่งความรุนแรง การเมืองภูมิภาคนิยม และการต่างประเทศกับมหาอำนาจ”, ประชาไท, 22 กุมภาพันธ์ 2557.
- จิตติภัทร พูนขำ, "การประท้วง Euromaidan: ยุโรป-รัสเซียในการเมืองยูเครน ยูเครนในการเมืองยุโรป-รัสเซีย”, รัฐศาสตร์สาร (อยู่ระหว่างการตีพิมพ์).


ขอขอบคุณภาพประกอบบทความจาก:

Lystopad (http://en.wikipedia.org/wiki/2014_pro-Russian_conflict_in_Ukraine#mediaviewer/File:Russian_spring_(Luhansk_01.03.2014)_01.JPG)

Okorok (http://en.wikipedia.org/wiki/2014_pro-Russian_conflict_in_Ukraine#mediaviewer/File:Moscow_Peace_March_2014-03-18_15.39.42.jpg)


เผยแพร่ครั้งแรกใน www.polsci.tu.ac.th/nw

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net