Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

มีนักเขียนและกวีอีกมากมายบนโลกที่กลายสภาพเป็นบุคคลต้องห้ามเข้าประเทศ ถูกขับออกนอกประเทศจาก หรือแม้แต่ถูกไล่ล่าเอาชีวิต เพราะ ‘ความคิด’ บางอย่างที่เขาได้พูด หรือแสดงไว้ออกผ่านบทกวี นวนิยาย ความเรียงหรือพูดง่ายๆ ก็คือ ‘ผลงาน’ ของพวกเขา

วรรณกรรมกับการเนรเทศกลายเป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญหลังแนวคิดเรื่องรัฐชาติ-พรมแดนมีความเข้มข้นจริงจังขึ้น นักเขียนผู้ถูกเนรเทศ ผู้จำต้องอพยพออกมา (เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน) และมีบทบาทความเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มแรกๆ ก็เช่น Exilliteratur กลุ่มนักเขียนผู้ใช้ภาษาเยอรมันที่ต่อต้านแนวคิดแบบนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ประกอบด้วย แบร์โทลด์ เบรคท์, แฮร์มันน์ บรอค, แอร์นส์ บลอค, ฮันนาห์ อาเรนดท์, ไฮน์ริค มันน์, โธมัส มันน์, เคลาส์ มันน์, ธีโอดอร์ อดอร์โน เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่า หลายคนในนี้ไม่ได้มีความจำเป็นต้องอพยพ เพราะมีคำสั่งหรือต้องข้อหาภัยต่อความมั่นคงโดยตรง แต่พวกเขาต้องหลบหนีลี้ภัยออกมาก็การแสดงความคิดเห็น และการที่พวกเขามีเชื้อสายยิวนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าการขับไล่นักเขียน-นักคิดให้ออกนอกประเทศนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ได้แปลกใหม่อะไร และมันจะทวีความเข้มข้นรุนแรงขึ้นก็ในยุคสมัยที่รัฐชาติมีอุดมการณ์ชาตินิยมแบบเข้มข้นรุนแรง ซึ่งแน่นอนว่า การผลักไสไล่ส่งนี้ยังคงถูกใช้แม้ผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สองมาแล้ว ดังตัวอย่างที่ปรากฏในปาฐกถาที่โรแบร์โต โบลาโญ่ (Roberto Bolaño) กวี-นักเขียนนวนิยายชาวชิลีได้กล่าวไว้

โบลาโญ่เริ่มต้นกล่าวปาฐกถาอย่างชวนให้สะดุดใจว่า “ผมคิดว่า ผมถูกคาดหวังให้พูดเกี่ยวกับการเนรเทศ วรรณกรรมกับการเนรเทศ แต่กระนั้นก็อาจเป็นไปได้ว่าผมอาจเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง ทั้งความคิดเกี่ยวกับมัน หรือจะเป็นสิ่งที่ผมได้เปรียบคนอื่น ด้วยเพราะผมไม่เชื่อในเรื่องการเนรเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่คำดังกล่าวถูกนำมาวางไว้เคียงกับคำว่า ‘วรรณกรรม’”

ด้วยเพราะโบลาโญ่เองเห็นว่าหนังสือหรือผลงานของนักเขียนคือบ้านที่แท้จริง ไม่ว่ามันจะตั้งวางอยู่บนชั้น หรือกระทั่งอยู่ในความทรงจำของใครสักคน แต่ถึงแม้เขาจะไม่เชื่อ หากเขาก็ไม่ใช่นักเขียนที่ไม่เข้าใจความหมายของการถูกเนรเทศ เพราะเขาได้ยกกรณีตัวอย่างของมาริโอ ซานเทียโก (Mario Santiago) กวีชาวเม็กซิกันที่ถูกขับออกจากประเทศออสเตรีย โบลาโญ่เล่าว่า

“ในปี 1978 หรืออาจจะเป็น 1979 กวีชาวเม็กซิกัน มาริโอ ซานเทียโกได้ใช้เวลาพำนักอยู่ที่นี่หลายวันก่อนจะเดินทางไปอิสราเอล ตามคำบอกเล่าของเขา ตำรวจได้เข้าจับกุมเขาในวันหนึ่ง ก่อนจะมีคำสั่งให้เขาเดินทางออกนอกประเทศ คำสั่งเนรเทศนั้นระบุไว้ด้วยว่า เขาจะไม่สามารถกลับเข้าประเทศออสเตรียจนกว่าถึงปี 1984 ซึ่งเป็นปีที่สร้างความฉงนใจให้แก่มาริโอ เพราะมันมีทั้งนัยยะสำคัญและเป็นเรื่องน่าขัน (…) เป็นปีที่สำหรับหลายๆ คนเป็นสัญลักษณ์แห่งความน่าอัปยศ ความมืดมน และเป็นความล่มสลายของจริยธรรมแห่งมนุษยชาติ”

แน่นอนว่ามาริโอ ซานเทียโกไม่ได้รู้สึกเศร้าโศกเสียใจอะไร เขาได้จับรถไฟไปกรุงปารีสและพำนักอยู่ที่นั่นหลายเดือนก่อนจะเดินทางกลับเม็กซิโก และเมื่อถึงปี 1984 เขาก็ไม่ได้มีความประสงค์จะกลับไปออสเตรียอีกครั้ง เขาใช้ชีวิตอยู่ที่เม็กซิโก เขียนบทกวีที่ไม่มีใครอยากตีพิมพ์ ออกท่องเที่ยวเดินทาง มีความรัก แต่งงานมีครอบครัว มีชีวิตทั้งดีและเลว ในที่ที่ไกลห่างจากอำนาจบารมี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1998 เขาได้ประสบอุบัติเหตุถูกรถยนต์ชนเสียชีวิต

“มาริโอนอนตายเพียงลำพังบนถนนยามค่ำคืนตรงย่านชายขอบของตัวเมืองเม็กซิโก เมืองที่ ณ จุดหนึ่งของประวัติศาสตร์เคยเป็นสรวงสวรรค์และมาถึงวันนี้มันกลายเป็นขุมนรก ไม่ใช่นรกทั่วๆ ไป แต่เป็นนรกของพี่น้องตระกูลมาร์กซ์ นรกของกี เดอบอรด์ นรกของแซม เพคกินพาห์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นนรกที่มีทุกอย่างพร้อมสรรพ และนี่คือที่ซึ่งมาริโอได้ตาย บนวิถีทางเดียวกับที่กวีทั้งหลายได้ตายไป โดยไม่ทันรู้สึกตัว และไม่สามารถระบุยืนยันความเป็นตัวตนได้ นั่นหมายความว่าในตอนที่รถพยาบาลมาพาร่างที่แหลกสลายของเขาไปนั้นไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นใคร และร่างนั้นก็ต้องอยู่ที่ห้องเก็บศพเนิ่นนานหลายวัน โดยไม่มีญาติพี่น้องคนใดมาแสดงตัว”

สิ่งที่โบลาโญ่ตระหนักรับรู้ได้ (ผ่านการพินิจดูชีวิตของเพื่อนกวี) ก็คือภาวะของการถูกเนรเทศนั้นสามารถเกิดขึ้นได้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน การตายอย่างคนแปลกหน้าของมาริโอ ซานเทียโกก็ไม่ต่างจากการถูกอัปเปหิไปอยู่ในดินแดนที่ไม่มีใครรู้จัก นี่คือความเป็นจริงที่หุ้มห่อร่างไร้ชีวิตนี้เอาไว้ (ซึ่งอาจไม่ต่างกับที่ฟรันซ์ คาฟคาสามารถรู้สึกได้ในทุกเมื่อเชื่อวัน) ในขณะที่ตัวของเพื่อนเขาเองนั้นกลับไม่เคยใส่ใจกับพรมแดนในชีวิตจริงๆ “นอกเหนือไปจากพรมแดนระหว่างความฝัน พรมแดนอันคลุมเครือระหว่างความรักและความเมินเฉย ความกล้าหาญและความกลัว”

ต่อประเด็นนี้โบลาโญ่ได้หยิบยกเอาปัญหาสำคัญที่ดูจะมีความเกี่ยวข้องกับนักเขียนอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องหลีกลี้หนีภัยออกจากประเทศที่ตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ นั่นคือภายใต้ภาวะการดังกล่าวเราที่ต้องหลบหลี้หนีภัยออกมาจะสามารถถวิลหาประเทศดังกล่าวได้จริงหรือ?

“เราจะรู้สึกถวิลหาในดินแดนที่เราเกือบสิ้นชีวิตได้จริงหรือ? เราจะรู้สึกถวิลหาความยากไร้ การขาดความขันติธรรม ความเย่อหยิ่ง ความอยุติธรรมได้จริงหรือ? บทเพลงที่ถูกขับขานโดยชาวละตินอเมริกา และจากนักเขียนในภูมิภาคอื่นๆ ที่ยากไร้ และเต็มไปด้วยบาดแผลฝังใจ ยังคงดึงดันที่จะหวนหาอดีต และย้อนกลับไปยังมาตุภูมิ สำหรับผมแล้วมันฟังเป็นคำโกหก เพราะหนังสือคือบ้านเกิดเพียงแห่งเดียวของนักเขียนที่แท้จริง หนังสือที่อาจตั้งวางอยู่บนชั้น หรือในความทรงจำ”

ยิ่งเมื่อเราก้าวเข้าสู่โลกที่พรมแดนค่อยๆ กลายสภาพไปสู่โลกไร้พรมแดนผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ การเนรเทศนักเขียน-นักคิดที่มีอิทธิพลทั้งหลายคงทำได้แค่การจำกัดที่อยู่ทางกายภาพของเขา แต่โลกของความคิดนั้นอาจเรียกได้ว่ามันยังคงมีที่อยู่และไม่มีวันสาปสูญไปจากที่ที่ไล่พวกเขาออกมา

การเนรเทศอาจมีความหมายต่อผู้ถูกเนรเทศ แต่สำหรับการจำกัดและควบคุมผลงาน ข้อเขียน หรือสิ่งใดๆ ที่ผู้ถูกเนรเทศสร้างขึ้นคงไม่สามารถกระทำได้ง่ายๆ อีกแล้ว นี่จึงเป็นโลกใหม่ที่ท้าทายของเราทุกคน

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: facebook.beingandtime

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net