Skip to main content
sharethis

ศูนย์วิจัยพิวได้สำรวจทัศนคติของประชาชนในหลายประเทศซึ่งมีชาวมุสลิมอยู่เป็นส่วนใหญ่ พบว่าคนส่วนมากก็มีทัศนคติในแง่ลบต่อกลุ่มติดอาวุธที่อ้างศาสนาเช่นกลุ่มไอซิส กลุ่มฮามาส กลุ่มทาลีบัน กลุ่มโบโกฮาราม ฯลฯ นอกจากนี้ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยว่าการระเบิดฆ้่าตัวตายมีความชอบธรรม

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (1 ก.ค.)โครงการศึกษาทัศนคติคนทั่วโลกของศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Global Attitudes Project) เปิดเผยงานวิจัยซึ่งระบุว่าประชาชนในกลุ่มประเทศที่มีคนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมก็มีความกังวลต่อเรื่องกลุ่มลัทธิสุดโต่งอย่างมาก การวิจัยชิ้นนี้นำเสนอในช่วงที่ทั่วโลกกำลังกังวลเกี่ยวกับกลุ่มติดอาวุธไอซิส (ISIS) ที่ทำการยึดครองพื้นที่ของประเทศอิรักกับซีเรียและพยายามประกาศจัดตั้งรัฐเคาะลีฟะฮ์ (caliphate)

การวิจัยดังกล่าวสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 14,000 คน จาก 14 ประเทศ ตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. ถึง พ.ค. ที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์รุกรานของกลุ่มติดอาวุธไอซิส แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าประเทศที่มีกลุ่มชาวมุสลิมเป็นคนส่วนมากของประเทศก็รู้สึกกลัวและโกรธแค้นกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้เพราะพวกเขาเองก็ต้องเผชิญกับอันตรายจากกลุ่มติดอาวุธ ตั้งแต่กลุ่มโบโกฮารามในไนจีเรีย กลุ่มตาลีบันในปากีสถาน มาจนถึงกลุ่มไอซิส

ศูนย์วิจัยพิวระบุว่ากลุ่มประชาชนในประเทศตะวันออกกลางอย่างเลบานอน, ตูนีเซีย, อียิปต์, จอร์แดน และตุรกี มีความเป้นห่วงเรื่องภัยจากกลุ่มสุดโต่งมากกว่าเดิมเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (2556) และประชากรโดยทั่วไปก็มีทัศนคติในแง่ลบกับกลุ่มติดอาวุธอย่างอัลเดคา, ฮามาส และฮิซบอลเลาะห์

ผลสำรวจระบุอีกว่าในประเทศไนจีเรีย ทั้งชาวมุสลิมและชาวคริสต์ต่างก็มีความเห็นในทางลบต่อกลุ่มติดอาวุธโบโกฮาราม ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้ทำการลักพาตัวเด็กผู้หญิงหลายร้อยคน ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ในปากีสถานก็มีความเห็นด้านลบต่อกลุ่มตาลีบัน

การสำรวจระบุอีกว่ามีชาวมุสลิมแค่ไม่กี่คนที่คิดว่าการระเบิดฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรมในบางครั้งถ้าหากเป็นการปกป้องศาสนาจากศัตรู แต่ก็มีคนสนับสนุนวิธีการนี้น้อยลงเรื่อยๆ ในหลายประเทศ

ประเทศที่มีความกังวลมากที่สุดในการสำรวจคือประเทศเลบานอนซึ่งมีผู้กังวลเรื่องกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงร้อยละ 92 โดยประเทศเลบานอนอยู่ติดกับซีเรียซึ่งมีปัญหาความขัดแย้ง ในรายละเอียดของผู้มีกังวลในเรื่องนี้มีชาวคริสต์ร้อยละ 95 ชาวมุสลิมนิกายชีอะร้อยละ 95 และชาวมุสลิมนิกายซุนนีร้อยละ 86

ประเทศที่แสดงความกังวลรองลงมาคืออิสราเอลอยู่ที่ร้อยละ 84 ทางด้านตูนีเซียมีกลุ่มตัวอย่างแสดงความกังวลร้อยละ 80 ส่วนประเทศอียิปต์มีผู้แสดงความกังวลร้อยละ 75 ส่วนในประเทศไนจีเรียซึ่งมีกลุ่มโบโกฮารามมีผู้แสดงความกังวลร้อยละ 72

ในกลุ่มประเทศแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ประเทศที่มีความกังวลมากที่สุดคือบังกลาเทศร้อยละ 69 ประเทศมาเลเซียมีผู้กังวลในเรื่องนี้ร้อยละ 63 ขณะที่อินโดนีเซียมีเพียงร้อยละ 39

การสำรวจระบุอีกว่าทุกประเทศในกลุ่มตัวอย่างคนส่วนใหญ่มองอัลเคดาในแง่ลบ กลุ่มโบโกฮารามก็ถูกชาวไนจีเรียร้อยละ 79 มองในแง่ลบอย่างมาก ชาวปากีสถานร้อยละ 59 ก็ไม่ชอบกลุ่มตาลีบันที่มีอีกร้อยละ 33 บอกว่าไม่ทราบความคิดเห็น

ทางด้านกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่มีฐานอยู่ในเลบานอนและมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลอิหร่านก็ถูกชาวตะวันออกกลางส่วนใหญ่มองในแง่ลบ ส่วนกลุ่มติดอาวุธฮามาสที่ยึดครองพื้นที่ฉนวนกาซ่าก็ถูกมองในแง่ลบเป้นส่วนใหญ่แม้กระทั่งจากชาวปาเลสไตน์เองรวมถึงผู้ที่อาศัยในพื้นที่ฉนวนกาซ่า

เรียบเรียงจาก

Concerns about Islamic Extremism on the Rise in Middle East, Pew Reserch Global Attitudes Project, 01-07-2014

Study: Muslims hate terrorism, too, The Washington Post, 01-07-2014
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net