Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
หมายเหตุ: เมื่อเวลา 17.57 น. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เล่าเหตุการณ์การถูก "เชิญตัว" โดย คสช. เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ซ้ำ
ที่มา: เฟซบุ๊ก พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

 

สำหรับคนที่ได้รับข่าวหรือข้อมูลเรื่องผมถูกเรียกตัวโดย คสช. นะครับ

ผมขอยืนยันว่า คสช. ไม่ได้เรียกตัวผมให้ไปรายงานตัว แต่ระดับสูงของคสช.ได้รับทราบเรื่องการ "เชิญตัว" ผมไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น ที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ที่สนามเป้า และการเชิญตัวก็เกิดขึ้นในวันนี้ตั้งแต่เวลา 9.30 น ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง โดยการเอารถตู้มารับผมจากที่คณะ ภายหลังจากที่ได้โทรประสาน แล้วตกลงกันว่าจะไปวันไหน โทรศัพท์เข้ามาเมื่อวานซืน แต่เมื่อวานผมติดต้องไปหาหมอตอนเย็น ซึ่งทางผู้ติดต่อก็เข้าใจเป็นอย่างดี และในวันนี้เมื่อมีการมารับที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มี คณบดี ผู้ช่วยคณบดี และ หัวหน้าภาควิชาการปกครองมาส่ง ที่หน้าคณะ

หนึ่งในคณะซักถามบอกว่าการเชิญตัวแบบนี้ดีกว่าการเรียกให้ไปรายงานตัว เพราะว่าการรายงานตัวนั้นหากไม่ไปจะมีความผิด

ใครเชิญตัวผม: ผู้เชิญคือนายทหารจากกรมทหารม้าที่ ๑ กองพลทหารม้าที่ ๒ ซึ่งใช้สถานที่ที่กองพลในการพูดคุย กองพลนี้อยู่ที่สนามเป้า ทางเข้าคือบันไดรถไฟฟ้าสนามเป้า

ใครคุยกับผม: เป็นชุดซักถาม ที่ประกอบด้วย "ฝ่ายความมั่นคงหลายฝ่าย" บางฝ่ายก็แนะนำตัว บางฝ่ายก็ไม่แนะนำตัว และเขาเล่าว่าจะส่งข้อมูลไปที่ คสช. อีกที

เหตุผล: เพราะผมเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นนักวิชาการ อยากจะขอทราบความเห็นและขอความร่วมมือ

ท่าทีในการพูดคุย: ไม่ได้ตั้งข้อหา เป็นการชี้แจงจากทีมซักถามมากหน้าหลายตาที่นั่งที่โต๊ะและนั่งข้างหลัง และฟังความเห็นจากผม ไม่มีการให้เซ็นเอกสารใดๆ

เรื่องที่พูดคุย: มีหลายเรื่องใหญ่ๆ

1. ซักถามประวัติผมในส่วนที่ยังไม่กระจ่าง เช่น การเรียน การทำงานสื่อต่างๆ และกิจกรรมทางการเมือง

2. ชี้แจงว่าผมเคยให้ข้อมูลที่ผิดๆ กับประชาชน เมื่อสมัยที่ผมทำรายการเวคอัพไทยแลนด์ ตอนหนึ่งที่ผมแสดงทัศนะที่ไม่ถูกต้องในเรื่องที่มาของทุนอานันทมหิดล ซึ่งผมมีความเข้าใจผิดว่าเป็นทุนที่มาจากเงินของประชาชนด้วย ทั้งนี้ทีมข้อมูลได้ชี้แจงว่าทุนนี้เป็นทุนจากราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ผมก็ขอรับผิดไว้ ณที่นี้ ส่วนในรายละเอียดในคลิปว่าผมได้พูดผิดอย่างไร และผมมีการแก้ไขอย่างไรนั้น ต่อไปผมจะนำมาเสนอต่อไป

3. เรื่องต่อไปคือเรื่องของ 112 ซึ่งผมก็ได้ชี้แจงไปถึงมุมมองของผมที่ต่อเรื่องราวต่างๆ และได้รับฟังประเด็นที่ทางฝ่ายความมั่นคงห่วงใยและมุ่งมั่นในการทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องนี้ ผมเข้าใจว่าทางฝ่ายข้อมูลและผมมีความเข้าใจที่ตรงกันว่าทางฝ่ายข้อมูลอยากจะฝากผมไปถึงนักวิชาการและการเคลื่อนไหวต่างๆ
สิ่งที่ทางทีมข้อมูลพยายามชี้แจงคือ การล้มเจ้านั้นกระทำอย่างเป็นขบวนการอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือมีพวกที่เป็นพวก "ปลุกปั่นยุยง" (เขาใช้คำว่า instigator) ผมควรจะทราบว่ามีสิ่งเหล่านี้ซึ่งมิใช่แค่เรื่องเครือข่ายหลวมๆ นอกจากนั้นข้ออ้างในการแก้ 112 นั้นเป็นข้ออ้างที่นักวิชาการที่รณรงค์เรื่องนี้ไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ (อย่างไรก็ดี มีความชัดเจนว่าทางทีมข้อมูลพยายามอธิบายให้ผมฟังว่า นักวิชาการที่รณรงค์เรื่องนี้อย่าง อจ. วรเจตน์ อจ.สาวตรี และ อจ.พวงทอง อาจไม่มีความเข้าใจในกระบวนการดำเนินคดีอย่างถ่องแท้ แต่อย่างน้อยเท่าที่ผมจับ sense ได้นั้นเขาไม่ได้คิดว่าอาจารย์เหล่านี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังในแง่ของขบวนการ หรือเป็น instigator)

4. ทางทีมซักถามแสดงความห่วงใยในเรื่องของการแสดงการต่อต้านต่อการทำรัฐประหารในครั้งนี้ และต้องการส่งสารว่าการทำรัฐประหารคร้ังนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ควรจะทำร่วมกันคือ การมองไปข้างหน้า ผมได้แลกเปลี่ยนในเรื่องนี้กับทีมซักถามอยู่นาน และทางทีมซักถามเองตอนหลังก็พยายามปรับคำว่าควรจะมองให้เป็นการคัดค้านหรือเห็นต่างอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่จะห้ามไม่ให้มีการคัดค้านเอาเสียเลย แต่ต้องระวังพวก instigator ที่อาจแทรกตัวเข้ามาแทรกแซงในการเคลื่อนไหว และยังไงก็ขอให้รอเวลาสักหน่อย ถ้ายังไงหลังจากมีรัฐบาลก็จะดีกว่า

ส่วนตัวผมก็เสนอข้อเสนอแนะว่า การดูแลเรื่องการต่อต้านนั้นก็จะต้องละเอียดอ่อนด้วย เช่น เวลาจับกุมผู้ต่อต้านก็ควรแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบหรือการแสดงตน ไม่อย่างงั้นข่าวมันจะออกมาในแบบที่ไม่รู้ว่าใครจับใครไปไหน ทางทีมซักถามก็รับทราบ

5. อีกเรื่องหนึ่งที่ทางทีมซักถามฝากผมมาถึงทุกคนในแง่ที่ผมเป็นบุคคสาธารณะ นั้นก็คือ การพยายามที่จะร่วมมือกันในการไม่ใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ผ่านมาทางหน่วยความมั่นคงประสบปัญหาเรื่องของความรุนแรงดังกล่าวมาก ทั้งที่พยายามนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปยังรัฐบาลมาตลอด การจับอาวุธได้นั้นเป็นการจับจริงๆไม่ใช่จัดฉาก เรื่องนี้เองผมก็ขอถ่ายทอดมายังผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยนะครับ เพราะผมเองก็ไม่ได้สนับสนุนในเรื่องของความรุนแรง

6. สำหรับประเด็นในการเดินหน้าของสังคมนี้ ผมเห็นว่ามีสองเรื่องที่สำคัญ คือ

6.1 การสร้างการสนทนากันในระดับชาติ ในแบบที่สิงคโปร์ได้ทำ คือมีการนำเสนอประเด็นต่างๆ โดยทีมที่จะออกไปนั่งฟังประชาชนหลายๆ ฝ่าย เพื่อให้ได้ประเด็นที่เราจะทำในระยะเปลี่ยนผ่าน และในระยะยาว ที่เรียกว่า national conversation ซึ่งผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้แล้วในมติชนรายวัน (หาอ่านได้)

6.2 ผมมีความหวังในทางบวกกับทีมซักถาม เพราะผมคิดว่าทีมซักถามไม่ได้มองว่าประชาชนนั้นไร้การศึกษาหรือไม่รู้เรื่องรู้ราว แต่เขาพยายามจะหาทางออกให้กับสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วที่จะเกิดความรุนแรงในช่วงนั้น ความหวังในข้อนี้ที่ผมเชื่อว่าพวกเขามีก็คือ เขาไม่ได้คิดว่าประชาชนนั้นไม่ควรจะมีการเลือกตั้ง แต่เมื่อไหร่นั้นมันอีกเรื่อง เพราะเขาห่วงว่าประโยชน์จากประชาธิปไตยมันจะไม่ถึงประชาชน

ดังนั้นโจทย์เรื่องการปฏิรูปจึงสำคัญ แต่เขายืนยันว่าการปฏิรูปนี้จะไม่เหมือนกับแบบสุเทพแน่นอน ซึ่งเขาก็เข้าใจว่าเขาอยู่ในห้วงขณะที่ลำบากอยู่มากในการขับเคลื่อนสังคม ที่จะไม่ถูกมองว่าอยู่ข้างใคร ผมเองคิดว่าเรื่องปฏิรูปก็สำคัญ มันเป็นโจทย์ใหญ่ในแง่ที่จะต้องสะท้อนว่ารัฐสภาและรัฐบาลจะละเลยเรื่องแบบนี้ไม่ได้ แต่สภาปฏิรูปก็จะต้องมีที่มาจากประชาชน และมีลักษณะที่ฝ่ายร่วมเป็นเจ้าของด้วย แต่ผมเองขอขยายความที่ผมอยากจะเสนอเพิ่มว่ามันไม่จำเป็นต้องทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง มันอาจจะทำควบคู่ไปก็ได้

7. หลังจากที่มีการพูดคุยกัน 2 ชั่วโมงในห้องประชุม พร้อมต้อนรับด้วยเครื่องดื่ม (มีแซนด์วิชด้วยนะ แต่ผมไม่กล้าทาน กลัวจะโดนข้อหาทำความผิดซึ่งหน้า) ก็มาถึงการรับประทานอาหารกลางวัน มีข้าวหมูแดง ข้าวหน้าเป็ด ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า มีผลไม้ และขนม เราย้ายห้องมาคุยกันต่อ มีการซักถามถึงนักวิชาการคนอื่นๆ ผมก็ตอบเท่าที่ผมทราบหรือรู้จัก และประเด็นต่อเนื่องจากในห้องที่เรานั่งคุยกัน

ในตอนจบทางทีมบอกว่า ถ้าทีมมีอะไรอาจจะเชิญผมมาใหม่ ผมก็เสนอว่าอาจจะมาพูดคุยที่คณะก็ได้ จะได้ได้ความรู้สึกที่ดีต่อกัน ทางทีมก็รับฟัง และเสนอว่าอาจจะเจอกันในสถานที่ที่เป็นกลางกว่าในหน่วยทหาร

8. บทเรียนหนึ่งที่ผมอยากแบ่งปัน ก็คือ ทีมซักถามก็เป็นคนที่อยู่ในสังคมนี้เหมือนผม เหมือนอีกหลายคน เขาก็เคยอยู่ในสถานศึกษาเดียวกับเรา หรือร่วมประสบการณ์เดียวกัน เราไม่ใช่คนที่อยู่คนละโลก ในแง่นี้ก็เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจว่าในสังคมนี้มีคนที่เห็นต่างกัน และบางทีก็อาจจะมีข้อมูลที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้าต่างฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนกันด้วยข้อมูลและความเห็นที่เชื่อว่าอีกฝ่ายหนึ่งก็มุ่งมั่นตั้งใจในแต่ละเรื่องในทิศทางเดียวกัน ผมว่าเราก็สามารถสร้างบรรยากาศที่คุยกันได้ ว่าแต่ว่าเราจะใช้วิธีอะไรในการสร้างบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและรู้จักกันมากขึ้น ตรงนี้ก็ค่อนข้างยาก

ผมกลับถึงคณะอย่างปลอดภัย ประมาณก่อนบ่าย 2 เล็กน้อย จาก การสนับสนุนของ ม. พัน 1 รอ. ซึ่งเป็นหน่วยย่อยในพื้นที่นั้น ก็อดนึกถึงอดีตไม่ได้ว่าสมัยมัธยมน่าจะเคยฝึก รด. ตอนปี 2 ที่หน่วยนั้น และยังจำได้ว่าเป็นปีที่สนุกสนานมากที่สุดในการเรียนและฝึก เสียดายลืมขอไปสำรวจร้านค้าใน ม. พัน 1 ว่ายังมีไอศกรีมรสเผือกแท่งละ 2 บาทขายอยู่ไหม

ท้ายสุดขอมอบภาพประกอบเป็นโดเรเอม่อนให้กับแฟนนานุแฟนทุกท่าน ใครจะเชื่อที่ผมเขียนก็เชื่อ ใครจะอ่านระหว่างบรรทัดก็อ่าน ใครไม่เชื่อก็ไม่ว่าอะไร

เอาเป็นว่าพิมพ์ข้อความลงเฟซบุคมากตอนนี้ มือเริ่มคล้ายมือโดราเอม่อนไปแระ อิอิ ...

ป.ล. กรุณาอย่าแสดงทัศนะห้าวเป้งอะไรบนหน้าวอลผมนะครับ แชร์ไปว่ากันที่อื่นแล้วกันนะครับ

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net