Skip to main content
sharethis

งาน "เติมกำลังใจคนข่าวภาคสนาม" นักข่าวภาคสนามเสนอข้อเรียกร้อง 9 ข้อ วอนสื่อแต่ละสำนักดูแลความปลอดภัยช่างภาพ ผู้สื่อข่าวในสังกัด แนะนักข่าวภาคสนามรุ่นใหม่อย่าปั่นกระแสความขัดแย้งสร้างราคาข่าวตัวเอง และอย่าใช้บทบาทสื่อเพิ่มความขัดแย้งให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม

4 ก.ค. 2557 ที่สมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบ ถ.สามเสน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย จัดงานเติมกำลังใจครั้งที่ 2 เพื่อให้สื่อมวลชนภาคสนามได้มีโอกาสผ่อนคลาย หลังจากตรากตรำทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง และบางครั้งเมื่อมีเหตุรุนแรงก็ต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสูญเสีย เพื่อรายงานข่าวข้อเท็จจริงการชุมนุมทางการเมืองจากกลุ่มต่างๆอย่างต่อเนื่องให้ประชาชนได้รับทราบ ตลอดในช่วงกว่า 8 เดือนที่ผ่านมา โดยมีสื่อมวลชนภาคสนามจากทุกแขนงมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก

บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ภายในงาน กลุ่มนักข่าวภาคสนามยังได้ร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องถึงสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และกองบรรณาธิการของสื่อแต่ละสำนัก ให้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลความปลอดภัยของช่างภาพ ผู้สื่อข่าวในสังกัด อาทิ การประกันชีวิต เบี้ยเสี่ยงภัย และอุปกรณ์ป้องกันในการทำข่าวที่มีสถานการณ์รุนแรง และมลพิษจากสารเคมี รวมถึงให้มีการกำหนดฐานค่าตอบแทนให้เป็นมาตรฐานกลางในประเทศไทยและสอดคล้องกับสภาพสังคมที่เป็นจริง

โดยข้อเรียกร้องของนักข่าวภาคสนามมีดังต่อไปนี้

ความขัดแย้งทางการเมืองที่สะสมในสังคมไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา ไม่เพียงสร้างความเสียหายใหญ่หลวงทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินกระทบความรู้สึกของผู้คนในวงกว้าง โดยในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา ในการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาล-รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เกิดการปะทะ จลาจลกันเป็นระยะ มีประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ขณะที่ช่างภาพ ผู้สื่อข่าว ซึ่งทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์เพื่อรายงานต่อประชาชนต้องเผชิญกับสภาวะการทำงานที่เลวร้ายเป็นครั้งสอง นับจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในปี พ.ศ.2553 โดยมินับรวมถึงการบาดเจ็บล้มป่วยจากรายงานข่าวในสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นดินแดนที่ไม่มีความปลอดภัยสำหรับนักข่าวติดอันดับต้นๆของโลก

ผู้สื่อข่าวภาคสนามที่ผ่านการทำงานและต้องเผชิญเหตุการณ์ความรุนแรงดังที่กล่าวมา จึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและได้รวบรวมมาเป็นข้อเสนอแนะต่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และกองบรรณาธิการของสื่อแต่ละสำนัก เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลความปลอดภัยของช่างภาพ ผู้สื่อข่าวในสังกัด ดังนี้

1. เรียกร้องให้แต่ละสำนักพิมพ์ สำนักข่าว มีเบี้ยเลี้ยงพิเศษ อาทิ เบี้ยเสี่ยงภัย ให้กับทีมข่าวภาคสนามที่ทำงานในสถานการณ์ที่มีความฉุกเฉินและเสี่ยงต่อการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินและสุขภาพ

2. เรียกร้องให้แต่ละสำนักพิมพ์ สำนักข่าว จัดทำประกันชีวิตหมู่ให้กับบุคลากรในกองบรรณาธิการทั้งหมด เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงาน นอกเหนือจากการใช้สิทธิ์ประกันสังคมตามปกติ

3. เรียกร้องให้แต่ละสำนักพิมพ์ สำนักข่าว จัดหาอุปกรณ์ทำข่าวที่เหมาะสมในการทำข่าวที่มีสถานการณ์รุนแรง รวมทั้งสถานที่ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเนื่องด้วยมลพิษจากสารเคมี อาทิ เสื้อเกราะ หมวกนิรภัย หน้ากากป้องกันแก๊สพิษ ที่สามารถป้องกันได้จริง

4. เรียกร้องให้แต่ละสำนักพิมพ์ สำนักข่าว อนุญาตให้บุคลากรในกองบรรณาธิการมีโอกาสในการเข้าอบรม สัมมนา เพื่อพัฒนาทักษะและศักยภาพในการทำงาน ตามที่มีหน่วยงาน องค์กรวิชาชีพเปิดให้มีการอบรม

5. เรียกร้องให้หัวหน้าข่าว บรรณาธิการข่าว ไม่กดดันให้ทีมข่าวภาคสนามตั้งจุดถ่ายทอดสด หรือรายงานข่าวอยู่ในจุดที่มีสถานการณ์เสี่ยง

6. อยากให้สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย กำหนดโร้ดแมพในการทำงานเพื่อช่วยเหลือ เพื่อนสื่อมวลชนที่ทุกข์ร้อนในด้านต่างๆ เช่น การช่วยเหลือด้านสวัสดิการ การเคลื่อนไหว เสนอข้อเรียกร้องต่างๆ เพื่อความถูกต้องและยุติธรรมต่อสื่อมวลชน อยากให้เปิดกว้างเพื่อรับเพื่อสื่อมวลชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้มากขึ้นได้อย่างแท้จริง และอยากให้มีการกำหนดฐานค่าตอบแทนสื่อฯ ให้เป็นมาตรฐานกลางในประเทศไทย โดยให้สอดคล้องกับสภาพสังคม ที่เป็นจริงในยุคนั้นๆ อีกทั้ง

7. จากกรณีปลอกแขนของสื่อ ถูกกลุ่มผู้ชุมนุม หรือกระทั่ง จนท.ตำรวจ นำโทนสี (เขียว) ไปใช้ทำปลอกแขนของตัวเอง จะประโยชน์ด้านใดด้านหนึ่ง จนเกิดความสับสนเมื่อเกิดปัญหาในพื้นที่ระหว่างนักข่าวภาคสนาม ผู้ชุมนุม หรือ จนท.ตำรวจ อยากเห็นสมาคมประสานทำความเข้าใจไปยังแกนนำหรือผู้บังคับบัญชาตำรวจ "ให้เลิกใช้" ปลอกแขนที่สีเดียวกันกับของสมาคมโดยเด็ดขาด ไม่มีข้อยกเว้น หากแกนนำหรือ จนท. ยังไม่ทำตามจุดยืนของสมาคม ขอให้สมาคมวิชาชีพสื่อออกแถลงการณ์ "บอยคอต" ทันที เพื่อสร้าง "บรรทัดฐาน" การทำหน้าที่สื่อภาคสนามของทุกสำนักให้มี"เอกภาพ"กว่าเดิม และหากพบว่าว่านักข่าวคนใดนำปลอกแขนไปให้บุคคลอื่นใช้ไม่ว่ากรณีใดๆ หากสมาคมทราบเรื่อง อยากเห็นสมาคมออกมาตักเตือนหรือมีมาตรการลงโทษบุคคลคนนั้นทันที

8. อยากเห็นสมาคมวิชาชีพสื่อช่วยเตือนเด็กๆนักข่าวภาคสนามรุ่นใหม่ อย่าปั่นกระแสข่าวความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อสร้าง Profile ข่าวของตัวเอง อย่าใช้บทบาทสื่อเข้าไปเพิ่มความขัดแย้งให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม

9. อยากเห็นสมาคมวิชาชีพสื่อ มีช่องทางติดต่อสื่อสารกับนักข่าวภาคสนามทางโซเซียลเน็ตเวิร์ค หรือ "แอพลิเคชั่น" ในสมาร์ทโฟน เพื่อความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

ขณะเดียวกัน นางดวงใจ ธรรมวงษา มารดาของนายชัยภัทร ธรรมวงษา ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้าประจำกระทรวงแรงงาน ที่เสียชีวิตจากโรคแผลในลำไส้และเบาหวาน ได้มอบเงินจำนวน 230,000 บาท ให้ทางสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย จัดตั้งกองทุนชัยภัทรเพื่อเพื่อน สนับสนุนช่วยเหลือสื่อมวลชนภาคสนามที่ทุกข์ร้อนในด้านต่างๆ

นอกจากนี้ในงานยังมีการตัดสินการประกวดภาพถ่าย “ชีวิตนักข่าวภาคสนาม” โดยรางวัลชนะเลิศได้แก่ภาพ "หนีตาย" ของสุรเชษฐ์ วัชรวิศิษฎ์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และรางวัลชมเชยมี 2 รางวัลคือ ภาพของธานี แกมวณิชกุล ผู้สื่อข่าวและช่างภาพ กองบรรณาธิการ แผนกอาชญากรรม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และภาพของธิติ วรรณมณฑา ช่างภาพ กอง บก.หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

 

รางวัลชนะเลิศ

เจ้าของภาพ : สุรเชษฐ์ วัชรวิศิษฎ์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ชื่อภาพ : หนีตาย

“ช่างภาพนอนหมอบลงกับพื้นหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊ซน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อจะสลายม็อบ กปปส.ที่เข้ากดดันบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ”

 

รางวัลชมเชย

เจ้าของภาพ : นายธานี แกมวณิชกุล ผู้สื่อข่าวและช่างภาพ กองบรรณาธิการ แผนกอาชญากรรม นสพ. ไทยรัฐ

“ที่บริเวณ สะพานชมัยมรุเชฐ แยกพานิชยการ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลวันที่ 2 ธ.ค.56 เจ้าหน้าตำรวจเริ่มยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำผสมพริกไทยใส่กลุ่มผู้ชุมนุมทำให้นายสุเมธ สมคะเน ผู้สื่อข่าวและช่างภาพ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ยืนอยู่ฝั่งกลุ่มผู้ชุมนุมถูกฉีดน้ำผสมพริกไทยเข้าอย่างจังในระหว่างที่ทำการถ่ายภาพและสืบหาข่าวทำให้เพื่อนสื่อมวลชนที่ตกสถานการเดียวกันต้องช่วยกันหิ้วปีกมาหาที่ปลอยภัยและนำน้ำเกลือมาล้างตาแล้วทุกคนต้องแยกย้ายเพื่อไปทำหน้าที่ในฐานะสื่อสารมวลชนต่อไปไม่หยุดยัง”

 

เจ้าของภาพ : นายธิติ วรรณมณฑา ช่างภาพ กองบก.หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

ชื่อภาพ : ปีนข้ามประตู

“ผู้สื่อข่าวกำลังปีนเข้าไปทำข่าวภายในสนามกีฬาศูนย์เยาวชนกรุงเทพฯ ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมอยู่ภายนอก เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการจับสลากเลือกตั้ง ภายหลังได้มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net