Skip to main content
sharethis
คนลุ่มน้ำชีเตรียมยืนหนังสือผ่านค่าทหาร ร้อง คสช. แก้ไขปัญหาจากการสร้างเขื่อนในโครงการโขง-ชี-มูล จวกรัฐบาลที่ผ่านๆ มาเพียงตั้งคณะกรรมการแล้วยื้อเวลา กระบวนการแก้ไขปัญหาไม่สามารถเดินหน้าให้บรรลุเป้าหมาย
 
 
9 ก.ค. 57 เมื่อเวลา 09.00 น. ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร – พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ในลุ่มน้ำชี กว่า 70 คน ได้จัดประชุมที่วัดบ้านอีโก่ม ต.เทอดไทย อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด โดยสรุปกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาสองรัฐบาลว่า ยังไม่มีความคืบหน้าจากการแก้ไขปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ซึ่งการรวมตัวกันในครั้งนี้ มีกลุ่มชาวบ้านจากพื้นที่ อ.ทุ่งเขาหลวง อ.อาจสามารถ อ.เสลภูมิ อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด และอ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ได้รวมตัวกันเพื่อประชุมและหามติในการกำหนดมาตรการเตรียมยื่นหนังสือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านค่ายทหารในจังหวัดนั้นๆ
 
นางอมรรัตน์ วิเศษหวาน ชาวบ้านลุ่มน้ำชี  อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า กระบวนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รวมตัวกันเรียกร้องสิทธิ ความเป็นธรรม จากปัญหาการสร้างเขื่อนมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ยังติดที่กระบวนการแก้ไขปัญหาซึ่งไม่สามารถลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่รัฐยังไม่แก้ไขปัญหาให้ พื้นที่ทำการเกษตรในลุ่มน้ำชีก็ยังเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมขัง ในวันนี้พวกเราได้มารวมตัวกันเพื่ออยากจะหามติ และจัดทำข้อเสนอเพื่อเตรียมยื่นหนังสือกับ คสช. โดยผ่านค่ายทหารในจังหวัดร้อยเอ็ด
 
นายบัว สาโพนทัน กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน กล่าวว่า ในเมื่อกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมายังไม่ตอบสนองต่อความต้องการของชาวบ้าน พวกเราจึงได้มีความเห็นต่อที่ประชุมว่า เห็นควรที่จะนำปัญหาไปเสนอต่อ คสช. ผ่านการยื่นหนังสือ ซึ่งตามข้อเสนอของกลุ่มพวกเราคือ 1. ให้รัฐแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชี 2. ให้รัฐจ่ายค่าชดเชยจากผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชี 3.ให้รัฐฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิต ของคนลุ่มน้ำชี โดยข้อเสนอดังกล่าวนี้ ทางกลุ่มได้ประชุมและมีมติเห็นพ้องต้องกันว่า มีความจำเป็นที่จะต้องยื่นหนังสือต่อทุกรัฐบาล เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
 
ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่กำลังสร้างความสมานฉันท์ ปรองดอง และคืนความสุขให้กับประชาชน คงเป็นอีกช่วงหนึ่งของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชี จะได้นำเสนอปัญหา และข้อเสนอของชาวบ้านให้ คสช. ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
 
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลุ่มชาวบ้านได้ทำการเรียกร้องสิทธิ์ เพื่อให้รัฐบาลทุกรัฐบาลได้เล็งเห็นปัญหาที่หมักหมมมายาวนานได้ถูกแก้ไข แต่กระบวนการเหล่านั้น รัฐก็เพียงแต่งตั้งคณะกรรมการแล้วยื้อเวลา ทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาไม่สามารถที่จะเดินหน้าให้บรรลุเป้าหมายของชาวบ้านที่ตั้งไว้ ซึ่งในช่วงนี้เป็นเวลาคืนความสุขให้กับประชาชน ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจึงอยากเห็นการคืนความสุขให้กับชาวบ้านโดยการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมตามที่ชาวบ้านได้เสนอ”      นายสิริศักดิ์ กล่าว
 
ทั้งนี้ โครงการโขง-ชี-มูล เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของรัฐที่สร้างเขื่อนร้อยเอ็ด และเขื่อนยโสธรพนมไพร เสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โครงการดังกล่าวมีการสร้างเขื่อนและพนังกันน้ำเพื่อควบคุมทิศทางการไหลของน้ำและเพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บน้ำและยังมีการสร้างประตูระบายน้ำบริเวณลำห้วยต่างๆ ขึ้นมาอีกด้วย ดั้งนั้น จากการก่อสร้างสิ่งเหล่านี้จึงทำให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อน น้ำได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกตษร พื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง และที่อยู่อาศัยของชุมชนที่อยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำชี ซึ่งระยะเวลาที่น้ำเข้าท่วมนั้นกินเวลา 3 – 4 เดือน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนภายในชุมชนโดยตรง อาทิเช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมวัฒนธรรม และด้านทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นแหล่งดำรงวิถีชีวิตของชาวบ้าน
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net