Skip to main content
sharethis

กรณีศาลพม่าจำคุก 5 นักข่าวเปิดโปงกองทัพผลิตอาวุธเคมี - ต่อมาผู้สื่อข่าวพม่านัดสวมเสื้อยืดพิมพ์ข้อความประท้วงและจะเข้าไปรายงานข่าวประธานาธิบดีเต็ง เส่ง - ทำให้ตำรวจห้ามเข้างานโดยระบุว่าแต่งกายไม่เหมาะสม ทำให้มีการประท้วงเงียบอยู่นอกสถานที่ทำข่าว

13 ก.ค. 2557 - ตามที่มีรายงานว่า ศาลพม่าตัดสินให้นักข่าว 4 ราย และผู้บริหารอีก 1 รายของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ Unity Journal มีความผิดข้อหาละเมิดกฎหมายความลับของรัฐ โดยให้จำคุกและใช้แรงงาน 10 ปี จากการตีพิมพ์รายงานข่าวสืบสวนสอบสวนที่ระบุว่า มีหน่วยงานของกองทัพผลิตอาวุธเคมีนั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ผู้สื่อข่าวที่นครย่างกุ้งนัดสวมเสื้อยืดพิมพ์ข้อความประท้วงการตัดสินจำคุก 10 ปีและลงโทษใช้แรงงาน ต่อผู้สื่อข่าวจากวารสาร Unity Journal 5 รายที่รายงานข่าวเรื่องกองทัพพม่าผลิตอาวุธเคมี โดยพวกเขาได้เดินทางไปทำข่าวประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ที่ศูนย์สันติภาพเมียนมาด้วย แต่ถูกตำรวจห้ามเข้างานเนื่องจาก "แต่งกายไม่เหมาะสม" (ที่มาของภาพ: เพจอิระวดี)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ก.ค. เว็บไซต์อิระวดี รายงานว่า ผู้สื่อข่าวในนครย่างกุ้งสิบกว่าคน สวมเสื้อยืดสีขาวเขียนข้อความว่า "หยุดฆ่าผู้สื่อข่าว" เพื่อประท้วงการตัดสินจำคุกดังกล่าวและได้เดินทางไปทำข่าวประธานาธิบดี เต็ง เส่งที่ศูนย์สันติภาพเมียนมา (Myanmar Peace Center) อย่างไรก็ตามพวกเขาถูกห้ามไม่ให้เข้าไปที่ศูนย์ดังกล่าว

ทั้งนี้สื่อมวลชนที่สวมเสื้อยืดประท้วงชี้ว่าคำตัดสินของศาลดังกล่าวขัดแย้งกับกฎหมายสื่อมวลชนฉบับใหม่ ซึ่งไม่ได้กำหนดโทษจำคุกสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่

ฉ่วย มน หนึ่งในผู้สื่อข่าวที่ร่วมกิจกรรมกล่าวว่า "ประธานาธิบดีต้องไม่เข้าใจพวกเราผิด ถ้าสื่อมวลชนถูกปิดหูปิดตา ทั้งประเทศก็จะได้รับผลกระทบ ไม่มีใครได้ประโยชน์จากเรื่องนี้" ส่วนมนกล่าวด้วยว่า ผู้สื่อข่าวที่สวมเสื้อยืดพิมพ์ข้อความประท้วงดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามไม่ให้เข้าไปในศูนย์ MPC นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวคนอื่นๆ ก็ประท้วงด้วยการไม่เข้าไปในสถานที่ดังกล่าว ที่ซึ่งประธานาธิบดีเต็ง เส่งจะพบปะกับนักแสดง นักร้อง และบุคคลอื่นๆ จากวงการศิลปะการแสดง

ช่างภาพคนหนึ่งที่ร่วมบอยคอตด้วยกล่าวว่า "วันนี้พวกเราได้แสดงความสมานฉันท์ว่าพวกเรากำลังต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อในพม่า"

ขณะที่ หม่อง หม่อง อู ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปกล่าวว่า ผู้สื่อข่าวถูกห้ามเข้าสถานที่ไม่ใช่เพราะพวกเขาสวมเสื้อยืดพิมพ์ข้อความประท้วง แต่เป็นเพราะ "แต่งกายไม่เหมาะสมที่จะมาทำข่าวประธานาธิบดี"

"พวกคุณไม่ควรสวมเสื้อยืดมารายงานข่าวในสถานที่ซึ่งประธานาธิบดีจะมาในงาน" เขากล่าว

ขณะที่ มิ้น เถ่ง ผู้สื่อข่าวอีกคนหนึ่งซึ่งสวมเสื้อยืดพิมพ์ข้อความประท้วงกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการกำหนดเดรสโค้ดมาก่อนว่าจะให้แต่งกายเข้างานอย่างไร

ทั้งนี้อิระวดีรายงานว่ามีเพียงสื่อมวลชนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเข้าไปรายงานข่าวในศูนย์ MPC ส่วนผู้สื่อข่าวที่เหลือยืนเงียบอยู่ด้านนอกของอาคารศูนย์ MPC

มีรายงานด้วยว่า เมื่อเช้าวันศุกร์ (11 ก.ค.) มีผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งรวมตัวกันสวดมนต์ที่พระพุทธรูป ด้านทิศตะวันออกของบันไดทางขึ้นพระมหาเจดีย์ชเวดากอง และปล่อยนกเพื่อทำบุญให้กับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์  Unity Journal ด้วย

ขณะที่ เดวิด กราเมอร์ ประธานฟรีดอมเฮาส์ องค์กรนานาชาติที่ทำงานวิจัยและรณรงค์ด้านเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานในวอชิงตัน ดีซี ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ว่า "การที่ในพม่ามีการตัดสินลงโทษผู้สื่อข่าวซึ่งทำหน้าที่ของตัวเองเป็นเวลา 10 ปี เป็นการโจมตีต่อเสรีภาพสื่อในพม่า และกลับหลังหันต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกของพม่า"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net