Skip to main content
sharethis

ปัญหาที่ดินในประเทศไทยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะสมัยไหน รัฐบาลใด ปัญหาที่ดินทำกินของคนจนก็ยังอยู่คู่กับสังคมไทยเรื่อยมา และยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน   

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่ คสช. ทำรัฐประหารก็มีนโยบายคืนความสุขให้ประชาชนในรูปแบบต่างๆ  รวมทั้งการคืนความสุขให้คนเมืองได้ชื่นใจด้วยการคืนผืนป่าให้เขียวชอุ่มมากขึ้น แม้มีเป้าหมายที่ดีแต่วิธีการของ คสช. จะสามารถคืนความสุขให้ประชาชนคนยากไร้ที่อยู่ตามแนวป่าได้ด้วยหรือไม่ยังคงเป็นคำถามใหญ่ ดังเช่นชาวบ้านชุมชนเก้าบาตร อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์  ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างร้อนที่จะทดสอบการแก้ปัญหาที่ดินในยุคทหาร  

ปฏิบัติการนำคนออกจากป่าเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ คสช.ออกคำสั่งที่ 64/2557  เรื่อง “การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้”  ทหารเริ่มเข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่บ้านเก้าบาตรหมู่บ้านเล็กๆ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน โดยแจ้งให้ชาวบ้านรื้อบ้านและอพยพออกจากพื้นที่ หากชาวบ้านไม่ยอมรื้อบ้านออกไป ทหารจะมารื้อให้เองโดยให้เวลาถึงวันที่ 8 กรกฎาคม รวมทั้งปฏิบัติการพ่นสีสเปรย์เป็นสัญลักษณ์ รูป อักษร ‘ก’ พร้อมกับตัวเลขเพื่อบอกลำดับของบ้านรวมถึงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าบ้านหลังนี้ต้องทำการรื้อถอน เมื่อเป็นเช่นนั้นชาวบ้านจึงทิ้งบ้าน... ไม่ใช่ทิ้งแล้วหนี แต่ทิ้งแล้วมารวมตัวกันที่ศาลากลางหมู่บ้านแทน เพราะกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัยหากอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย  

ประชากรส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่มีเพียงเด็กและผู้หญิง ส่วนผู้ชายได้ออกนอกพื้นที่ไปแล้วเพราะเกรงว่าจะเกิดการปะทะกันระหว่างทหารและชาวบ้าน ในส่วนของแกนนำที่เคยมีไม่สามารถที่จะเข้าไปในพื้นที่ได้ โดยสถานการณ์ก่อนหน้านี้ ทหารเคยเข้ามาเชิญตัวแกนนำหมู่บ้านต่างๆ ในเขตนั้นไปประชุมเพื่อแจ้งให้ทราบถึงมาตรการต่างๆ แต่เนื่องจากชาวบ้านเก้าบาตรไม่มีแกนนำจึงไม่ได้เข้าร่วม

แม้จะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยอมย้ายออกนอกพื้นที่แต่ก็ยังมีอีกบางส่วนที่ไม่ยอมไปไหน หากใครติดตามข่าวสารก็จะเห็นว่าสถานการณ์ในตอนนี้ถือว่ากำลังร้อนระอุ และลุ้นกันเป็นรายวันว่าจะจบอย่างไร ทำไมชาวบ้านจึงตัดสินใจเช่นนั้น รายงานชิ้นนี้เป็นจิ๊กซอว์หนึ่งที่จะพยายามอธิบายปรากฏการณ์

รู้จักบ้านเก้าบาตร

บ้านเก้าบาตรเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านลำนางรอง ตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ บ้านเก้าบาตรเป็นหนึ่งในหกชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแปลงที่มีพื้นที่ 8,415 ไร่ ชุมชนเก้าบาตรมีขนาดพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นพื้นที่สัมปทานสวนป่ายูคาลิปตัส ในขณะนี้เป็นพื้นที่ที่กำลังเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ป่าไม้  เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าสงวน  ทหารและกรมป่าไม้จึงพยายามเข้ามาทำการผลักดันชาวบ้านให้อพยพออกจากพื้นที่  โดยบ้านเก้าบาตรเป็นชุมชนสุดท้ายจาก 6 ชุมชน ที่ยังคงไม่มีการอพยพออกจากพื้นที่

ชาวบ้านเก้าบาตรมีจำนวนประชากรอยู่ประมาณ 174  หลังคาเรือน ส่วนใหญ่มักจะอพยพมากจาก พื้นที่ หมู่ 1 และ หมู่ 10 ของตำบลลำนางรอง พวกเขาทำนา ปลูกมันสำปะหลัง และแบ่งพื้นที่อีกส่วนหนึ่งไว้ปลูกไม้ยืนต้น  

“พวกเรารู้ดีว่า สังคมมักประณามพวกเราว่าเป็นคนทำลายป่า แต่พวกเราอยู่เราก็ต้องดูแลป่า เราช่วยปลูกต้นไม้ แต่ต้นไม้ที่พวกเราปลูกก็ต้องเป็นต้นที่เรากินได้ด้วย” ชาวบ้านเก้าบาตรเล่า

ชาวเก้าบาตรมีสภาพความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างลำบาก สภาพบ้านเรือนไม่ต่างอะไรกับเพิงเก็บของที่ทำได้เพียงเป็นที่กันแดดกันลมเท่านั้น หากเกิดพายุหรือฝนตกหนักก็ดูเหมือนว่าสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าบ้านคงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก และที่สำคัญพวกเขาไม่มีไฟฟ้าใช้ น้ำก็ต้องไปตักจากบ่อมาเก็บไว้หรืออาศัยน้ำฝนเท่านั้น 

ตามที่ชาวบ้านบอกกล่าว ชุมชนเก้าบาตรมีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ในช่วงปี 2509 -2510  ซึ่งเป็นช่วงที่มีภัยคอมมิวนิสต์ ทหารจึงเปิดให้ชาวบ้านเข้าไปอยู่ในบางส่วนของพื้นที่ป่า ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ และยังให้เอกชนเข้าไปทำสัมปทานตัดไม้เพื่อให้เกิดพื้นที่โล่ง ชาวบ้านจึงเริ่มตามเข้าไปจับจองที่ทีละครอบครัว

บางครอบครัวก็เป็นลูกจ้างของบริษัทเอกชน เมื่อเข้าไปแล้วชาวบ้านจึงพากันจับจองบุกเบิกทำกิน และเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยกันมากขึ้นในช่วงปี 2515-2518 โดยชาวบ้านที่เข้ามาอยู่มาจากหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ โคราช และบางอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ในช่วงปี 2516 ชาวบ้านเริ่มรวมตัวกันเป็นชุมชน ได้แก่ ชุมชนโคกเพชร คลองยาน ลำนางรอง หนองเสม็ด อีกส่วนหนึ่งจะอยู่เป็นกลุ่มเครือญาติ กระจายกันไป

นักวิจัยในพื้นที่เล่าว่า ปลายปี 2518 เกิดการปะทะกันรุนแรงระหว่างทหารและคอมมิวนิสต์ มีการเผาชุมชนโคกเพชรและชุมชนคลองยาน ทหารจึงอพยพคนที่อยู่กระจัดกระจายออกมารวมกลุ่มกันตามถนน ซึ่งตอนนั้นมีการสร้างถนนสายยุทธศาสตร์ละหานทราย- ตาพะยา ต่อมาในช่วงปี 2520 การปะทะกันระหว่างทหารและคอมมิวนิสต์จบลง จึงเริ่มมีการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่า  กองทัพภาคที่สองสังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน( กอ.รมน.)และกรมป่าไม้นำชาวบ้าน เข้ามาโดยจัดให้ตั้งหมู่บ้าน มีการจัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 16 ไร่ โดยรัฐให้สิทธิทำกิน (สทก.) ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2522 เรื่อง ให้ราษฎรมีสิทธิทำกิน รัฐช่วยเหลือราษฎรที่เข้าถือครองทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ให้ทำกินแบบมรดกตกทอดแก่ทายาทได้ แต่ห้ามจำหน่ายจ่ายโอน (ข้อมูลจาก รายงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ – กสม.)

หลังจากนั้นในปี 2531 -2537 บริษัทเอกชนได้เข้ารับสัมปทานสวนป่ายูคาลิปตัส ซึ่งมีเอกชนได้รับอนุญาตจำนวน 7 บริษัท ซึ่งขณะนั้น เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ และต่อมาได้ประกาศเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ในปี 2539

ในปี 2546 มีบริษัทที่หมดสัญญาสัมปทานไป 2 บริษัท  ได้แก่ บริษัทนางรองอุตสาหกรรมและบริษัทวนเกษตรไทย จำกัด ชาวบ้านจึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิฯ เมื่อคณะกรรมการเข้าตรวจสอบและออกรายงานก็ระบุว่า การที่กรมป่าไม้อนุญาตให้เอกชนเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ ซ้อนทับที่ดินทำกินเดิมของประชาชน อ.โนนดินแดง ซึ่งทำกินอยู่เดิมเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน ในขณะที่กรมป่าไม้ให้บริษัททั้งสองเช่าทำสวนป่าในพื้นที่ถึง 23,476 ไร่ นอกจากนี้ข้อเสนอของกรมป่าไม้และสำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาคที่ 11 ที่เสนอไม่ให้จัดสรรพื้นที่ที่หมดสัมปทานให้ประชาชน โดยเหตุผลว่า แปลง 2,830 ไร่ เป็นพื้นที่อยู่กลางผืนป่าล้อมรอบด้วยเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ และแปลง  3,902 ไร่ ก็ไม่มีความเหมาะสมที่จะจัดสรรให้แก่ประชาชนเพราะติดกับอ่างกักเก็บน้ำลำนางรอง อาจส่งผลกระทบต่อการพังทลายต่อหน้าดินและคุณภาพของน้ำ ซึ่งเหตุผลเหล่านี้ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อประชาชน  

จากการตรวจสอบดังกล่าว กสม.จึงมีข้อเสนอต่อกรมป่าไม้ ให้ป่าไม้ยื่นเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติมอบพื้นที่สวนป่าหมดอายุทั้ง 2 แปลงแก่สำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) เพื่อจัดที่ดินให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่เคยทำกินอยู่ในพื้นที่นี้ และพิจารณาร่วมกับชุมชนสำหรับการกันพื้นที่ที่เหมาะสมแพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นป่าชุมชนต่อไป

นักวิจัยในพื้นที่ระบุว่า อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2552 อบต.ในพื้นที่ได้มีมติให้บริษัทเอกชนต่อใบอนุญาตสัมปทานได้ เมื่อมีมติออกมาเช่นนี้ชาวบ้านจึงรวมตัวกันคัดค้านการต่อสัญญาสัมปทาน ท้ายที่สุด ชาวบ้านตัดสินใจเข้าไปยึดที่ดิน บริเวณ แปลง 8,415 ไร่ และยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นได้จัดให้มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาโดยมติที่ประชุมออกมาว่า ให้ชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมจนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ

แม้ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจนในความขัดแย้งนี้ แต่มันก็มีการประนีประนอมกันตลอดมาภายใต้รัฐบาลพลเรือน หรือรัฐบาลจากการเลือกตั้ง การต่อรองของชาวบ้านยังคงดำเนินต่อไปได้ แต่หลังจาก คสช.มีคำสั่งที่ 64/2557 เรื่อง “การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้” ความพยายามผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่จึงกลับมาเข้มข้นอีกครั้ง

ก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งของ คสช.นั้น ชาวบ้านเล่าว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็เข้ามาดูบ้างเดือนละครั้งสองครั้ง แต่หลังจากที่มีคำสั่งออกมาประมาณสองอาทิตย์ ทหารกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็เริ่มเข้ามาในพื้นที่บ่อยขึ้น และทางอำเภอก็ได้เรียกผู้ใหญ่บ้านเข้าไปประชุมประจำเดือนเมื่อเร็วๆ นี้โดยชี้แจงว่า ตอนนี้ทหารจะเข้ามาเป็นหน่วยหลักในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ให้ผู้ใหญ่บ้านกลับไปแจ้งลูกบ้านของแต่ละบ้านด้วย

ในวันนี้พวกเขาต้องขนของออกจากบ้านเพื่อมาอาศัยอยู่รวมกันที่ศาลากลางหมู่บ้าน หลังจากที่ทหาร เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาขอคืนพื้นที่ โดยแจ้งว่าจะทำการพัฒนาและฟื้นฟูป่าให้กลับมาสมบูรณ์เช่นเดิม โดยทหารและเจ้าหน้าที่ป่าไม้เริ่มเข้ามาในพื้นที่ตั้งแต่ประมาณวันที่ 28 มิถุนายน 2557  

ชาวบ้านเล่าว่าที่พวกเขาต้องทิ้งบ้านก็เพราะกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย และการอยู่รวมกันสามารถที่จะดูแลกันได้ดีกว่า

ในช่วงแรกที่ทหารเข้ามา ชาวบ้านเก้าบาตรเล่าว่า ก็เหมือนเป็นการประชาสัมพันธ์ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และเก็บทรัพย์สินออกจากพื้นที่ก่อนวันที่ 7 กรกฎาคม นอกจากนี้ยังมีการสนธิกำลังระหว่างทหาร เจ้าหน้าที่กรมอุทยาน เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เข้ามาพร้อมอาวุธครบมือ บางชุมชนก็โดนจับ โดนข่มขู่ให้ชาวบ้านรื้อถอนบ้านออกเอง แกนนำบางหมู่บ้านก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไป ซึ่งไม่มีใครทราบว่าควบคุมตัวไปที่ใด

ในช่วงวันแรกๆ ที่ทหารเข้าพื้นที่ มีแกนนำหลัก 2 คนกับชาวบ้านประมาณ 10 คนของชุนชนเสียงสวรรค์ถูกควบคุมตัวไป หลังจากนั้นก็มีการเชิญให้แกนนำแต่ละหมู่บ้านไปร่วมประชุมที่ ‘วิมานไพร’ หรือก็คือ สำนักงานรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ เพื่อชี้แจงให้ชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่รวมถึงมาตรการรองรับ ส่วนทางบ้านเก้าบาตร มีเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 10 รายเข้ามาเพื่อที่จะเชิญไปประชุมแต่ชาวบ้านบอกว่าที่นี่ไม่มีแกนนำแล้ว ทหารพยายามถามชาวบ้านว่าแกนนำอยู่ที่ไหนในขณะที่ถืออาวุธปืน  แต่ชาวบ้านก็ยืนยันเช่นเดิมและไม่ยอมไปกับเจ้าหน้าที่เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย

อีกชุมชนหนึ่งคือชุมชนตลาดควายซึ่งแกนนำได้เข้าร่วมในการประชุมที่วิมารไพร ชาวบ้านกล่าวว่า โดยสรุปวาระในที่ประชุมไม่มีอะไรมากไปว่าเป็นการเรียกแกนนำเข้าไปโดยมีนัยยะเป็นการข่มขู่  และแจ้งถึงมาตรการในการปฏิบัติงาน ข้อสรุปหลักคือ ทุกชุมชนต้องออกจากพื้นที่และต้องออกภายในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้ โดยชาวบ้านต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกเอง  และหากไม่ย้ายออกก็จะมีอีกหน่วยมาทำการรื้อถอนบ้านให้

เมื่อชาวบ้านเก้าบาตรยังคงยืนยันที่จะอยู่ในพื้นที่ นายพจน์ วิจิตตริยพงศ์ ผู้ช่วยป้องกันจังหวัดบุรีรัมย์ สังกัด กอ.รมน. จึงได้เดินทางเข้ามาพูดคุยเจรจากับชาวบ้านชุมชนเก้าบาตร ในวันที่ 8 กรกฎาคม   โดยอธิบายถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานของหน่วยงาน และมาตรการในการจัดการปัญหา โดยเริ่มต้นที่การเข้าไปประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ขั้นตอนต่อไปเป็นการคัดกรองเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน โดยจะแบ่งชาวบ้านออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่อื่นก็ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาของตน (ติดตามเรื่องนี้ในตอนต่อไป) และอีกกลุ่มคือกลุ่มคนที่ยากจนจริงๆ ไม่มีที่ดินทำกินก็จะให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่พักชั่วคราวที่ทางอำเภอจะได้จัดหาไว้ และหลังจากชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่ก็จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพป่า

ดูเหมือน “ที่พักชั่วคราว” นั้นยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นที่ใด และยังไม่มีคำตอบถึงมาตรการที่จะมารองรับในระยะยาว ชาวบ้านเก้าบาตรจึงไม่มีใครมาลงชื่อในแบบฟอร์มดังกล่าวแต่อย่างใด  เพราะทุกคนต่างกังวลว่าจะไม่ได้รับการช่วยเหลือจริงตามที่เจ้าหน้าที่บอก ที่สำคัญชาวบ้านยังไม่รู้ว่านอกจากที่พักชั่วคราวแล้วมาตรการการแก้ไขปัญหาระยะยาวที่จะช่วยเหลือพวกเขาคืออะไร นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้พวกเขายังคงไม่ยอมออกจากพื้นที่

เมื่อวันที่  11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เพจสมัชชาคนจนรายงานว่า   เจ้าหน้าที่ทหาร จำนวน 7 นาย ได้เข้าแจ้งกับชาวบ้านว่าให้รีบรื้อย้ายบ้านออกจากพื้นที่ไปภายใน 2 วัน เพราะเจ้าหน้าที่ทหารจะทำการปิดพื้นที่ป่า เพื่อกันคนเข้าออกพื้นที่ป่าดงใหญ่พร้อมกันนั้นก็พยายามให้ชาวบ้านกรอกข้อมูลและเซ็นชื่อในแบบคำร้องขอความช่วยเหลือดังเช่นหลายวันที่ผ่านมา

เมื่อถามชาวบ้านว่าหากถูกรื้อบ้านหรือถูกปิดเส้นทางเข้าออกจะทำอย่างไร ชาวบ้านคนหนึ่งตอบว่า “ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน เพราะพวกเราก็มีแค่สองมือ อะไรจะเกิดก็คงปล่อยให้มันเกิด”

หญิงสาววัย 18 ปี กล่าวเสริมว่า “หนูไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ถ้าเข้าไปอยู่ในเมืองก็ไม่รู้จะทำอะไร เพราะพ่อแม่ก็พาทำมัน ปลูกข้าวมาตั้งแต่เด็ก”

นอกจากนี้ยังพบว่า ในพื้นที่บ้านเก้าบาตรมีเด็กอีกหลายคนที่ต้องหยุดเรียน เพราะพ่อกับแม่ไม่กล้าพาออกไปโรงเรียนที่อยู่นอกพื้นที่ เนื่องจากกลัวว่าหากออกไปแล้วจะกลับเข้าพื้นที่ไม่ได้อีก

“โอโม่” เด็กชายวัย 7 ขวบเล่าว่า เขาไม่ได้ไปโรงเรียนมาหลายวันแล้ว เมื่อถามไปว่าต่อไปว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร เด็กชายตอบกลับมาทันทีว่า “อยากเป็นทหาร” แต่ในวันนี้เพียงแค่เดินทางไปโรงเรียนยังคงทำไม่ได้ และไม่รู้ว่าเมื่อไรที่เด็กเหล่านี้จะได้กลับไปเรียนหนังสืออีกครั้ง

เมื่อถามถึงความรู้สึกที่มีต่อ นโยบายของคสช. ที่จะคืนความสุขให้แก่ประะชาชน ชาวบ้านเก้าบาตรกล่าว 

“คำสั่ง คสช. ที่ออกมา ฉบับที่ 66 ซึ่งออกมาเพิ่มเติมจากฉบับที่ 64 ซึ่งมีข้อหนึ่งระบุว่าการดำเนินการใดๆ ตามคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนต่อประชาชน ผู้ยากไร้ คนจน คนที่ไม่มีที่ดินทำกิน ต้องไม่ส่งผลกระทบ แต่ว่าวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้น คือคำสั่ง คสช. ฉบับนี้เหมือนกับเป็น “เสือกระดาษ” แล้วก็ตั้งแต่ คสช. รัฐประหารมาบอกว่าจะคืนความสุขให้ประชาชน จะคืนความสุขให้คนไทย จะคืนความสุขให้คนยาก คนจน  วันนี้ชาวบ้านเก้าบาตรเองก็ยังสงสัยและมีคำถามใหญ่มากก็คือ นี่เป็นวิธีคืนความสุขของ คสช.หรือ เพราะว่าการมาไล่รื้อบ้านของพวกเขาออกจากที่ดิน  โดยไม่มีความปราณีปราศัยหรือไม่ได้คุย ไม่ได้เจรจาบนฐานความเท่าเทียมกันอย่างในอดีตที่เราเคยเจรจากับรัฐบาล  คือมันมีแต่ความทุกข์ความสุขมันไม่เหลือเลย”   

“ถ้าเกิดออกไป แน่นอนว่าครอบครัวก็คงไม่ได้มีสภาพแบบนี้  ต้องแตกย้ายกันไป เพราะว่าเมื่อไม่มีที่ดินทำกิน มันก็ต้องเร่ร่อนไปหารับจ้าง ก็จะเหลือแค่เด็กกับคนแก่ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา  มันก็มีบทเรียนบทพิสูจน์มาหลายครั้งแล้วว่าสภาพแบบนี้มันทำให้สังคมแตกสลาย ความสุขที่ว่า ถ้าจะคืนกันด้วยวิธีการนี้ ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้”

สถานการณ์ปัจจุบันของชาวบ้านชุมชนเก้าบาตร  ชาวบ้านยังคงไม่มีแนวทางในแก้ปัญหาใดๆ เพราะทางรัฐไม่มีมาตรการที่ชัดเจนมารองรับการอพยพโยกย้ายชาวบ้านออกจากฟื้นที่ ปัจจุบันยังคงมีชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่ประมาณ 30 คน  และในทุกๆ วัน ก็ยังคงมีทหาร เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปในพื้นที่เพื่อให้ชาวบ้านยอมลงชื่อในแบบ คัดกรองและรื้อถอนบ้านออกจากพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน 

คำสั่ง คณะรักษาคามสงบเรียบร้อยคำสั่งฉบับที่ 64/2557 “เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทาลายทรัพยากรป่าไม้”มีเนื้อหาว่าให้ดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก ยึดถือ ครอบครอง  ทำลาย หรือทำด้วยประกาศใดๆ อันทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่า สร้างผลกระทบแก่ชาวบ้านชุมชนเก้าบาตรอย่างมาก  เพราะชาวบ้านเก้าบาตรได้กลายไปเป็นผู้บุกรุก ทำลายป่า ต่อมาได้มีการประกาศคำสั่งเพิ่มเติมคำสั่งฉบับที่ 66/2557 “เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสาหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทาลายทรัพยากรป่าไม้”  โดยมีการระบุไว้ว่า การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้  ผู้ที่มีรายได้น้อย  และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ที่เดิมนั้นๆ  ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้  ทำให้ชาวบ้านไม่มีความผิดตามประกาศฉบับที่ 66/2557  อีกทั้งนโยบายคืนความสุขโดยการฟื้นฟูป่าของ คสช.  เป็นเพียงการตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลางที่พร้อมจะปรีดากับความเขียวชอุ่มของป่า แต่ไม่ยี่หระกับปัญหาของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในฟื้นที่ดังกล่าว

กระบวนการทำงานของภาครัฐที่แข็งกร้าวขึ้นภายใต้รัฐทหาร การไม่มีมาตรการรองรับแน่ชัดทำให้ไม่ไว้วางใจรัฐ ยิ่งทำให้สถานการณ์กรณีพิพาทพื้นที่โนนดินแดงร้อนระอุ ชาวบ้านยังคงไม่รู้ว่าชะตากรรมของพวกเขาต่อจากนี้จะเป็นเช่นไร ความสุขที่ว่าอยู่ตรงไหน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net