Skip to main content
sharethis

‘สมชัย’ ระบุประกาศ คสช. ให้สรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่น เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวในระหว่างที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง เชื่อกำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องเป็นข้าราชการระดับ 8 หรือเคยเป็นจำนวน 2 ใน 3 นั้นเพราะต้องการคนมีความรู้ความสามารถ

16 ก.ค.2557 จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 85 และ 86/2557 ให้งดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงสมาชิกสภากรุงเทพมหานครไว้เป็นการชั่วคราว และให้ใช้การสรรหาแทนนั้น ด้านบริหารเลือกตั้งก็ได้เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) รับทราบถึงประกาศ คสช. ดังกล่าวแล้ว โดยทางสำนักงานฯ เห็นว่าในกรณีเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้งและการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นที่ค้างอยู่อีกกว่า 200 สำนวน กกต. ยังสามารถพิจารณาต่อไปให้แล้วเสร็จได้ และหากเห็นว่าสมควรต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็จะประสานไปยังกรมปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ให้ดำเนินการสรรหาแทนตามประกาศ คสช. ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.-31 ธ.ค. 57 มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ครบวาระและกำลังจะครบวาระทั้งหมด 255 แห่ง โดยแบ่งเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลนคร 2 แห่ง เทศบาลเมือง 8 แห่ง เทศบาลตำบลจำนวน 157 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 86 แห่ง และกรุงเทพมหานครอีก 1 แห่ง

สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ที่คณะทำงานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ คสช. ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้าคณะ ได้เชิญเลขาธิการ กกต. และเจ้าหน้าที่ด้านการเลือกตั้งไปหารือเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น แม้ กกต. จะนำเสนอว่ากรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครบวาระแล้วไม่มีการจัดการเลือกตั้งนั้นจะทำให้เกิดผลกระทบในเรื่องงบพัฒนาท้องถิ่น เพราะไม่มีสภามาพิจารณา แต่ทางคณะทำงานของ คสช. ได้มีความเห็นต่อ กกต. ว่าน่าจะชะลอการเลือกตั้งท้องถิ่นไปก่อน เพราะหากเลือกตั้งก็จะได้ผู้บริหารที่เป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองระดับชาติอีก รวมถึงหากมีรัฐธรรมนูญและมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งฉบับใหม่ ซึ่งอาจจะมีการกำหนดที่มาของสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นใหม่ ก็ต้องดำเนินการเพื่อให้ได้สมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นชุดใหม่ตามที่กฎหมายกำหนด จึงอาจจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ จึงทำให้ประกาศ คสช. ที่ออกมาในกรณีดังกล่าว

อปท.169 แห่งระงับการเลือกตั้งตามคำสั่ง คสช.

จากการตรวจข้อมูลของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พบว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่้จะต้องมีการเลือกตั้งสมาชิก หรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่ครบวาระแล้ว แต่ยังไม่สามารถเลือกตั้งได้ (ข้อมูลสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2557) มีดังนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 3 แห่ง คือ อบจ.ตาก อบจ.หนองบัวลำภู และอบจ.นนทบุรี องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 122 แห่ง เทศบาลนคร (ทน.) 1 แห่ง (คือ เทศบาลนครนนทบุรี), เทศบาลเมือง (ทม.) 3 แห่ง คือ เทศบาลเมืองพระพุทธบาท จ.สระบุรี, เทศบาลเมืองลพบุรี จ.ลพบุรี และเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์  

เทศบาลตำบล (ทบ.) 40 แห่ง (คือ ทบ.ภูผาแดง ,ทบ. เขาวัว-พลอยแหวน ,ทบ.ลาดขวาง , ทบ.ริมเหนือ ,ทบ. คลองทรายขาว ,ทบ.ทับคล้อ ,ทบ.ดงมอน ,ทบ.ดงดำ ,ทบ.หนองแวง , ทบ.หงาว ,ทบ.เม็งราย ,ทบ.แม่ยาว , ทบ.ดงมะดะ ,ทบ.วังชมภู , ทบ.หนองบัวระเหว ,ทบ.สระบัว ,ทบ.ร่มเกล้า ,ทบ.คลองแม่ลาย ,ทบ.หนองป่าครั่ง ,ทบ.ศรีเตี้ย ,ทบ.ศรีเชียงใหม่ ,ทบ. เขาวัว-พลอยแหวน , ทบ.นาหว้า ,ทบ.บ้านกรูด ,ทบ.เชียงคำ ,ทบ.วังตะกู ,ทบ.กำแพงดิน ,ทบ.บางเหรียง ,ทบ.ป๊อกแป๊ก ,ทบ.ห้วยคันแหลน ,ทบ.หนองขาหย่าง ,ทบ.บ้านค้อ , ทบ.หนองสองห้อง ,ทบ.เกาะจันทร์ ,ทบ.คลองตำหรุ ,ทบ.หัวเวียง ,ทบ.ด่านสำโรง ,ทบ.สามโก้ ,ทบ.ฟากท่า และ ทบ.ตลุกดู่

กกต.ระบุประกาศ คสช.สรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นแก้ปัญหาชั่วคราว

ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 85/2557 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ที่กำหนดให้มีการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่น โดยจำนวน 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องเป็นข้าราชการหรือเคยเป็นข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษ หรือระดับ 8 หรือเทียบเท่าขึ้นไป ว่าเชื่อว่าเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะชั่วคราวที่ยังไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง เพราะหากมีการเลือกตั้งก็จะมีกระบวนการหาเสียง การเคลื่อนไหวทางการเมือง และมีกลุ่มการเมืองที่ต้องการให้ได้อำนาจการเมืองระดับท้องถิ่น เชื่อว่าเป็นการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบันจนกว่ารัฐธรรมนูญการปกครองจะร่างเสร็จ และให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การเลือกตั้งทั้งระดับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสมาชิกสภาท้องถิ่น ไปพร้อมกัน

นายสมชัยกล่าวว่า ข้อกำหนดที่ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องเป็นข้าราชระดับ 8 หรือเทียบเท่านั้น เชื่อว่าจะสรรหาได้ไม่ยาก และ คสช. คงมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการกลั่นกรองข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถ เพราะกว่าที่ข้าราชการจะขึ้นมาถึงระดับดังกล่าวได้จะต้องใช้เวลาในการปฏิบัติหน้าที่ที่ยาวนาน แต่จะมีจุดอ่อนอยู่เรื่องกระบวนการคิดที่อาจเป็นวิธีการคิดแบบราชการ เคยชินกับระเบียบแบบแผน และอาจไม่ได้สัมผัสกับทัศนคติของประชาชน ซึ่งจะแตกต่างจากฝ่ายการเมืองที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน รู้ปัญหามากกว่า

สำหรับขั้นตอนการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นนั้น เลขาธิการ กกต. จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการสรรหา และพร้อมใช้กลไกของ กกต. ทำหน้าที่ทันที ส่วนกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จะเป็นฝ่ายดำเนินการหลัก เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับท้องถิ่นได้โดยตรง

ปลัด มท.ทำหนังสือแจ้งผู้ว่าฯ-อปท.สรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นตามประกาศ คสช.

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการสั่งการของกระทรวงมหาดไทยเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 85/2557 ให้ระงับการเลือกผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่หมดวาระหรือมีตำแหน่งว่างออกไปก่อน ว่า กระทรวงฯ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะเป็นประธาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ตามประกาศ คสช. ในส่วนของท้องถิ่นจะมีตำแหน่งว่าง 100 กว่าตำแหน่ง ส่วนของ กทม.นั้นจะหมดวาระในวันที่ 26 สิงหาคม

กระทรวงฯ จึงจะดำเนินการให้รอบคอบและรวดเร็ว เพราะผู้บริหาร อปท.จะต้องเข้าไปดูแลงบประมาณของแต่ละท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม คิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร ทั้งนี้ในวันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคมนี้ ตนจะประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศในเรื่องนี้

อดีต ส.ส.ปชป. ชี้ประกาศ คสช.สรรหาสมาชิก อปท.ไม่ให้เกิดสุญญากาศ

ขณะที่นายถวิล ไพรสณฑ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งเรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่น เพื่อให้สรรหาสมาชิกองค์กรปกครองท้องถิ่นที่หมดวาระในขณะนี้ว่า เป็นการหาทางออกให้ท้องถิ่น เพราะสภาวการณ์ขณะนี้ยังมีกฎอัยการศึกอยู่ ไม่สามารถหาเสียงได้ ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน และอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

“ขณะนี้ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่จะออกข้อบังคับหรือบัญญัติอะไรได้ จึงจำเป็นต้องสรรหาเพื่อมีคนทำงาน และไม่เกิดสุญญากาศ เพราะจำเป็นต้องมีการพิจารณาเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเชื่อว่าจะทำเพียงชั่วคราวปีเศษ และคงจะมีการเลือกตั้งหลังการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้องค์กรปกครองท้องถิ่นอีกกว่า 7,000 แห่งยังไม่หมดวาระ จึงต้องไม่เข้าระบบการสรรหาดังกล่าว มีเพียง 200 กว่าแห่งที่หมดวาระและเข้าสู่ระบบการสรรหา เชื่อว่าจะสามารถทำงานชั่วคราวได้ เพราะอย่างน้อยที่สุดในประกาศกำหนดให้สรรหาจากข้าราชการ 2 ใน 3 ซึ่งข้าราชการมีระเบียบวินัยเป็นตัวควบคุมและตรวจสอบการทำงานอยู่แล้ว” นายถวิล กล่าว

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net