Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


การปฏิเสธว่า พุทธศาสนาไม่มีความคิดทางสังคม แต่เป็นศาสนาที่สอนเรื่องความหลุดพ้นและการปล่อยวางเท่านั้น ย่อมเป็นการปฏิเสธความจริงทางประวัติศาสตร์อย่างน่าขัน และยังทำให้เราละเลยที่จะทำความเข้าใจการทำงานของความคิดทางสังคมของพุทธศาสนา ทั้งด้านที่เป็นอุปสรรคและสนับสนุนประชาธิปไตย

ในสังคมยุคสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่มีโรงเรียน มหาวิทยาลัย การศึกษาของคนสมัยนั้นนอกจากการเรียนรู้วิชาชีพด้านเกษตรกรรม วิชาช่าง หัตกรรมต่างๆ ที่ถ่ายทอดผ่านวิถีครอบครัว เครือญาติ ตระกูล ชุมชนแล้ว ความรู้ทางหนังสือหรือวิชาการก็มีแต่ในวังกับวัด อันได้แก่ความรู้ทางศาสนาพุทธ พราหมณ์ โหราศาสตร์

ศาสนาจึงเป็นภูมิปัญญาหลักที่ถูกนำมาใช้อธิบายทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องจักรวาลวิทยา การเมืองการปกครอง ศีลธรรม กฎหมาย สถานภาพ บทบาท ความสัมพันธ์ทางสังคม และศาสนาก็เป็นเครื่องมือหลักที่ชนชั้นปกครองใช้ในการสร้างความชอบธรรม ความศรัทธาเชื่อถือในการปกครอง อำนาจในการตีความความคิดทางสังคมของพุทธศาสนาจึงอยู่ที่ชนชั้นปกครองและพระสงฆ์ระดับสูง

ดังนั้น ชนชั้นปกครองที่โดดเด่นในอดีตมักมีภาพความทรงจำทางประวัติศาสตร์ว่า เป็นปราชญ์หรือผู้รู้ทางพุทธศาสนาและผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนา เช่น ภาพของพ่อขุนรามคำแหงทรงประทับบนแท่นมนังคศิลาอาสน์แสดงธรรมแก่ข้าราชบริพารในวันธัมมัสวนะ พระมหาธรรมราชาลิไททรงพระราชนิพนธ์เตภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง ครั้นมาถึงสมัย ร.4 นอกจากจะมีภาพลักษณ์เป็นผู้ริเริ่มเสนอความคิดทางสังคมของพุทธศาสนาแบบสมัยใหม่ โดยสร้างทฤษฎี “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” ให้สอดคล้องกับความคิดเรื่องระบบกษัตริย์สมัยใหม่แบบตะวันตก และตีความคำสอนของพุทธศาสนาเน้นความเป็นเหตุผลสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์แล้ว พระองค์ยังได้รับยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” อีกด้วย

ส่วน ร.5 นั้นทรงเป็น “พระพุทธเจ้าหลวง” เลยทีเดียว เนื่องจากทรงเป็นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์องค์แรกของสยาม ที่รวบอำนาจการปกครองทางโลกและการปกครองคณะสงฆ์ในหัวเมืองต่างๆ มาขึ้นต่อพระองค์ทั้งหมด โดยมีพระสงฆ์ระดับสูงซึ่งเป็นพระอนุชาของพระองค์คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเป็นมันสมองคนสำคัญในการปฏิรูปการปกครอง การศึกษาสงฆ์ และการวางรากฐานการศึกษาชาติที่มุ่งหล่อหลอมอุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” หรือชาตินิยมที่มีกษัตริย์เป็นศูนย์กลางแห่งความจงรักภักดี ความสามัคคี และความวัฒนาถาวรของชาติ

ในบทเทศนาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เปรียบเทียบว่า “พระมหากษัตริย์เปรียบประดุจศีรษะของชาติ” ราษฎรต้องมีหน้าที่จงรักภักดี กตัญญูกตเวทีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และในสมัย ร.6 ซึ่งทรงเป็น “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” แสดงธรรมสร้างนิยามความเป็นไทยที่ผูกโยงกับความเป็นพุทธและความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ผ่าน “เทศนาเสือป่า” ขยายการศึกษาออกจากวังกับวัดไปสู่ราษฎรในวงกว้าง สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็มีส่วนสำคัญในการสนับสนุน ร.6 ปลูกฝังอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ผ่านบทบาทของสถาบันทางพุทธศาสนาและระบบการศึกษาชาติ ส่วนสมัย ร.7  เป็นเพียงการสืบทอดอุดมการณ์เดิมจากยุค ร.5, ร.6 จนสิ้นสุดยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อเกิดการปฏิวัติสยาม ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

จะเห็นได้ว่า ความคิดทางสังคมของพุทธศาสนาตั้งแต่ยุคสุโขทัยถึงสิ้นสุดยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มุ่งตอบสนองต่อความมั่นคงของรัฐราชาธิปไตยและสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นด้านหลัก หรือกล่าวอย่างรวมๆ ว่า ความคิดทางสังคมของพุทธศาสนามุ่งประโยชน์แก่รัฐสยามไทย หรือแก่คนไทยเป็นด้านหลัก

แต่หากเราจะสรุปว่าชนชั้นปกครองในอดีตใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ก็อาจไม่เป็นธรรมนัก เพราะชนชั้นปกครองในระบอบใหม่ ตั้งแต่การปฏิวัติสยาม 2457 เป็นต้นมา ก็มีการใช้พุทธศาสนาเพื่อตอบสนองต่อรัฐมาโดยตลอดเช่นกัน ตัวอย่างเช่น หลังจากยึดอำนาจ ร.7 สำเร็จ คณะราษฎรก็มอบหมายให้พระสงฆ์วัดต่างๆ ไปอ่าน “ประกาศคณะราษฎร” ให้ประชาชนทราบ อีกทั้งยังพยายามรวมคณะสงฆ์สองนิกาย (ที่ถูกแยกนิกายโดย ร.4) ให้เป็นนิกายเดียวกัน แต่ไม่สำเร็จ และยังออก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 สร้างระบบการปกครองสงฆ์เลียนแบบการปกครองประชาธิปไตยของรัฐ (แม้จะไม่เหมือนเสียทีเดียว) ครั้นถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีการออก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 สร้างระบบการปกครองสงฆ์ให้กลับไปเป็นแบบเผด็จการเหมือนสมัย ร.5 อีกที เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการตีความความคิดทางสังคมของพุทธศาสนายุคหลังการปฏิวัติสยาม 2475 เราจะพบจุดเปลี่ยนสำคัญของการปฏิรูปความคิดทางสังคมของพุทธจากการตีความของท่านพุทธทาสภิกขุ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยเปรียบเทียบว่า บุคคลสำคัญที่มีส่วนสร้างสรรค์ภูมิปัญญาอย่างไทยที่มีพุทธศาสนาเป็นแกนมี 4 ท่านคือ พ่อขุนรามคำแหง, พระมหาธรรมราชาลิไท, ร.4 และสุดท้ายเป็น “ปราชญ์สามัญชนคนแรก” คือ “ท่านพุทธทาสภิกขุ”

โดยเฉพาะการปฏิรูปความคิดทางพุทธศาสนาของท่านพุทธทาสนั้น อาจารย์สุลักษณ์มองว่าก้าวไปไกลว่าบุคคลสำคัญอื่นๆ ในอดีต เนื่องจากท่านพุทธทาสข้ามพ้นการยึดติดเรื่องนิกาย ข้ามพ้นประเพณีการตีความพุทธศาสนาแบบชนชั้นปกครองและพระสงฆ์ชั้นสูงในอดีต ความคิดทางสังคมของพุทธศาสนาโดยการตีความของท่านพุทธทาสจึงข้ามพ้นการตอบสนองอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ไม่ได้มุ่งประโยชน์เฉพาะแก่ความมั่นคงของรัฐหรือแก่คนไทยเท่านั้น หากแต่มุ่งประโยชน์แก่มนุษยชาติ หรือสันติภาพของโลก

ดังเป็นที่ประจักษ์ว่า ผลงานทางความคิดของท่านพุทธทาส นอกจากตีพิมพ์เผยแพร่ซ้ำอย่างสม่ำเสมอและแพร่หลายในสังคมไทยแล้ว ในระดับนานาชาติในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีการสอนวิชาศาสนาสากล ทั้งในยุโรป และ อเมริกาเหนือ ล้วนศึกษางานของท่าน หนังสือของท่านกว่า 140 เล่ม ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ กว่า 15 เล่ม เป็นภาษาฝรั่งเศส และ อีก 8 เล่ม เป็น ภาษาเยอรมัน นอกจากนั้น ยังแปลเป็นภาษาจีน อินโดนีเซีย ลาว และ ตากาล็อคอีกด้วย กล่าวได้ว่า ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาไทย ท่านพุทธทาส มีผลงานที่เป็นหนังสือแปลสู่ต่างประเทศมากที่สุด (ข้อมูลจาก http://www.buddhadasa.com/history/budprofile1.html)

การศึกษาความคิดของท่านพุทธทาสในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความคิดทางสังคมของพุทธศาสนาไทย เช่น ในงานของ Tomomi Ito ชื่อ Modern Thai Buddhism and Buddhadasa Bhikkhu: A Social History” เป็นต้น จะทำให้เราเข้าใจความ (ไม่) เป็นสมัยใหม่ในพัฒนาการความคิดทางสังคมของพุทธศาสนาได้ชัดขึ้น

ตอนต่อไปเราจะวิเคราะห์ว่า อะไรคือความเป็นสมัยใหม่ในความคิดทางสังคมของพุทธศาสนาตามการตีความของท่านพุทธทาส ที่แตกต่างจากการตีความของชนชั้นปกครองในอดีต

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข (19-25 ก.ค.2557)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net