นิธิ เอียวศรีวงศ์: ปัญญาชนไทยกับความทันสมัย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ปฏิกิริยาของคนไทยบางพวกต่อการกดดันของ "ฝรั่ง" (สหรัฐ, อียู และออสเตรเลียเป็นสำคัญ) ในทำนองให้ตอบโต้ด้วยการเลิกใช้สินค้าฝรั่ง หรือเลยไปถึงการทำให้ความสัมพันธ์เย็นชาลง ไม่สร้างความแปลกใจอะไรให้ผม เพราะเคยชินเสียแล้วที่จะได้เห็นคนเหล่านี้วิ่งตามเส้นทางของผู้มีอำนาจ และมักวิ่งให้เลยหน้าไปหนึ่งก้าวเสมอ เพราะอยู่ข้างหน้า ท่านจะได้เห็น อยู่ข้างหลังท่านอาจไม่เหลียวไปมองก็ได้

แต่ผมตระหนกและออกจะวิตกเมื่อปัญญาชนชั้นนำบางท่าน ออกมาโจมตีฝรั่งอย่างเมามัน บางท่านในบุคคลเหล่านี้เป็นที่นับถือของผมตลอดมา (และก็ยังนับถืออยู่เหมือนเดิมแม้จนบัดนี้) ไม่ใช่ผมตระหนกที่ฝรั่งถูกโจมตี หรือวิตกว่าฝรั่งจะตกที่นั่งลำบากในเมืองไทย แต่ตระหนกและวิตกแทนคนไทยต่างหาก เพราะเราจะเอาตัวรอดต่อไปในโลกของฝรั่งได้อย่างไร หากความเข้าใจต่อฝรั่งของปัญญาชนชั้นนำตื้นเขินและหยาบเช่นนี้

ที่ผมเรียกว่าโลกของฝรั่งนั้น ที่จริงคือความทันสมัย ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ผิวขาว ฝรั่งที่เรารู้จักในรอบร้อยกว่าปีที่ผ่านมานั้น ไม่เหมือนฝรั่งที่เข้ามาในสมัยอยุธยา เพราะฝรั่งรุ่นนี้เป็นตัวแทนของความทันสมัย (modernity) พวก "มัน" เองก็คิดว่าตัวเป็นความทันสมัย คนไทยทั้งชนชั้นนำและสามัญชนก็เข้าใจ (ไม่ว่าอย่างผิดๆ หรืออย่างถูกต้อง) ว่า "มัน" คือความทันสมัย ชนชั้นนำเลือกคบกับฝรั่งไม่ใช่เพราะความจำเป็นอย่างเดียว แต่เพราะอยากได้ความทันสมัยมาครอบครองบ้างต่างหาก (นับตั้งกำปั่นไฟ, ปืนกล, กล้องดูดาว, วิธีคำนวณดาราศาสตร์, การปกครองแบบรวมศูนย์ ฯลฯ)

แต่ความทันสมัยไม่ใช่หอดูดาว หรือเรือนก่ออิฐสองชั้น อย่างที่เราเคยรับจากฝรั่งในสมัยพระนารายณ์ โดยสรุปก็คือความทันสมัยไม่ใช่มีเพียงวัตถุ แต่มีการจัดองค์กรทางสังคม, ทางเศรษฐกิจ และทางการเมือง รวมทั้งความคิดและวิธีคิดที่เปลี่ยนไปจากเดิมด้วย ความทันสมัยเป็นเรื่องการเปลี่ยนรูปทางสังคม (Social Transformation) ไม่ใช่เรื่องวัตถุและวิธีการใหม่ๆ ที่อำนวยอำนาจ, ทรัพย์ และความสะดวกแก่มนุษย์เท่านั้น

และเพราะความทันสมัยไม่ใช่วัตถุเพียงอย่างเดียว การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสมัยใหม่ จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเปลี่ยนส่วนอื่นๆ ที่เป็นนามธรรม เช่นการจัดองค์กรทางเศรษฐกิจ-สังคม, การเมือง, การถ่ายทอดและแสวงหาความรู้, ฯลฯ รวมแม้แต่ระบบคุณค่าก็ถูกกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะวัตถุกับการจัดองค์กรทางด้านต่างๆ มันแยกออกจากกันไม่ได้

พลานุภาพของปืนไฟในสงครามเกิดขึ้นได้ ก็เพราะการสร้างกำลังยิงที่หนาแน่นและต่อเนื่อง จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องฝึกทหาร จะฝึกทหารได้ก็ต้องมีกองทัพประจำการ จะมีกองทัพประจำการได้ก็ต้องเลิกการควบคุมประชาชนด้วยระบบไพร่ จะเลิกระบบไพร่ได้ ชนชั้นปกครองก็ต้องมีแหล่งรายได้ทางอื่น จะมีรายได้ทางอื่น สังคมก็ต้องเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจที่ผลิตป้อนตลาด ต่อเนื่องเป็นห่วงโซ่ต่อไปอีกมาก จนกระทั่งสังคมไม่คงรูปอย่างเดิมอีกต่อไป อยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ก็มีปืนไฟใช้ จำนวนมากเสียด้วย แต่การจัดองค์กรทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ไม่อนุญาตให้เราใช้ปืนไฟอย่างมีพลานุภาพได้ จึงได้แต่แจกให้ราชองครักษ์ถือในขบวนเสด็จ เพราะไม่ไว้ใจให้คนอื่นถือ เพราะถึงอย่างไรปืนไฟก็เป็นอาวุธร้ายแรง

นี่เป็นปัญหาใหญ่ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม กล่าวคืออยากได้ความทันสมัยเฉพาะส่วนที่เป็นวัตถุ แต่ไม่อยากได้ส่วนที่เป็นนามธรรมกว่านั้น โดยเฉพาะการจัดองค์กรทางสังคม, การเมืองและเศรษฐกิจวัฒนธรรม ร.5 บอกเจ้านายและขุนนางซึ่งกราบทูลให้เปลี่ยนแปลงการปกครองว่า สยามยังไม่พร้อม การเปลี่ยนไปสู่ระบบปาลีเมนต์มีแต่จะทำให้เกิดความแตกสามัคคี ร.6 ยืนยันอย่างเดียวกัน ซ้ำยังทรงตำหนิการใช้ชีวิตของคนไทย "รุ่นใหม่" ว่าเอาอย่างฝรั่งอย่างมืดบอด (วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่แสดงลักษณะเสมอภาคชัดเจนเกินไป เช่นในคาบาเรต์ สถานะของแขกอยู่ที่เงินในกระเป๋า ไม่ใช่กำเนิด) ร.7 ทรงตระหนักดีถึงปัญหาของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม แต่ก็ทรงเห็นว่าสยามยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนไปสู่ระบอบปกครองแบบอื่นอยู่นั่นเอง และในที่สุดก็เกิดการอภิวัฒน์

ปัญญาชนของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ก็เหมือนปัญญาชนชั้นนำบางท่านในปัจจุบัน คืออยากมีความทันสมัย (หรืออยากเป็นฝรั่ง) ทางวัตถุเท่านั้น แต่พยายามดึงสังคมไว้มิให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความทันสมัยจริง และไม่ต่างกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในที่สุดแล้ว ก็พากันอิงอาศัยอุดมการณ์ชาตินิยมหรือ "ความเป็นไทย" เพื่อหน่วงให้สังคมไทย "ทันสมัย" เฉพาะแต่ด้านวัตถุ

ผมพูดประหนึ่งว่าชาตินิยมกับความเป็นไทยนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ความจริงแล้วแตกต่างกันมาก ลัทธิชาตินิยมตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าพลเมืองทุกคนเท่าเทียมกัน เป็นเจ้าของชาติร่วมกันอย่างเสมอหน้า อิสรภาพของชาติมีความสำคัญไม่แต่เพียงเพราะ"ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับไส"เท่านั้น แต่เพราะการยึดครองของข้าศึก ย่อมทำลายความเสมอภาคที่เป็นฐานของชาติไป ความรักชาติจึงจะหมายถึงอย่างอื่นไม่ได้นอกจากรักความเสมอภาคของเพื่อนร่วมชาติทุกคน

แต่ความเป็นไทยไม่ได้มีความหมายใกล้เคียงอย่างใดกับชาตินิยมเลย เพราะความเป็นไทยแทบจะประกาศอย่างเปิดเผยว่าเป็นปฏิปักษ์กับความเสมอภาค ความเป็นไทยต้องการรักษาอัตลักษณ์ไทยไว้ให้คงเดิมทุกอย่าง ทั้งส่วนที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เช่นพื้นที่ 4.6 ต.ร.กม.บนแผนที่ หรือการนั่งพับเพียบ และความเป็นสังคมช่วงชั้นที่เคร่งครัดและค่อนจะขึงตึง ความเป็นไทยจึงเครื่องมือสำคัญในการตรึงโครงสร้างอำนาจ, โครงสร้างผลประโยชน์, โครงสร้างช่วงชั้นทางสังคม, โครงสร้างความสัมพันธ์ ฯลฯ ไว้ให้หยุดนิ่งกับที่ โดยไม่ยอมให้เปลี่ยนแปลงเลย

(ผมควรกล่าวไว้โดยไม่ต้องอ้างฝรั่งให้รำคาญใจว่า อัตลักษณ์เป็นเรื่องสมมติ ทั้งคนอื่นสมมุติให้เราและเราสมมติตัวเองและคนอื่นไปพร้อมกัน แต่อัตลักษณ์เป็นสมมติที่มีพลังกำหนดวิธีคิด วิธีปฏิบัติ และการดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างสูง ด้วยเหตุดังนั้น อัตลักษณ์จึงมักถูกสร้างขึ้นเป็นอุดมคติ เพื่อการจัดสรรอำนาจ, โภคทรัพย์ และเกียรติยศในทุกสังคม รวมทั้งสังคมไทย)

ผ่านมาเกินศตวรรษแล้ว ปัญญาชนไทยจำนวนหนึ่งก็ยังง่วนกับการรักษาความเป็นไทยเพื่อต่อต้านความทันสมัย เหมือนกับปัญญาชนเมื่อร้อยปีที่แล้ว

ทั้งนี้ผมไม่ได้หมายความว่า ไม่มีอะไรดีๆ ในอุดมคติความเป็นไทยเอาเสียเลย แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า สิ่งที่เราเห็นว่า "ดี" นั้นมีอยู่สองอย่าง หนึ่งคือ "ดี" โดยมีเงื่อนไข เช่นเหมาะกับกาลสมัยหรือความเป็นจริงของสังคมสมัยหนึ่งหรือสถานการณ์หนึ่งๆ กับสองคือ "ดี" อย่างอกาลิโก ดีมาตั้งแต่โบราณและยังดีอยู่แม้ในปัจจุบัน (ในฐานะลูกเจ๊ก ก็ขอยกตัวอย่างเช่นความกตัญญูเป็นต้น)

แต่อย่าลืมสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนะครับว่า อะไรดีหรืออะไรชั่วนั้น เกิดจากการปรุงแต่งของกิเลสเราเอง จึงไม่มีอะไรดีอย่างเดียวหรืออะไรชั่วอย่างเดียว เพราะดีชั่วล้วนเป็นสังขตธรรม คือเป็นความจริงที่มีเงื่อนไข ดังนั้น จะสืบทอดสิ่งดีๆ เหล่านั้นให้เป็นทางเลือกของสังคมไทยต่อไป จึงต้องคำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆ ของสังคม "ทันสมัย" ที่เปลี่ยนไปแล้ว หนึ่งในวิธีที่จะทำอย่างนั้นได้ คือไม่ฟูมฟายกับอะไรที่ถือว่าเป็น"ไทยๆ" แต่ต้องศึกษาจนจับหัวใจของมันได้ คือจับได้ว่าในเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมืองอะไร ที่ทำให้สิ่งนั้นมันดีหรืองดงามหรือเหมาะสม และหนึ่งในปัญญาชนชั้นนำที่ออกมาด่าฝรั่งในตอนนี้ ก็ได้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงในงานวิชาการของท่านไว้แล้ว ด้วยการชี้ให้เห็นเงื่อนไขอันสลับซับซ้อนเบื้องหลังระบบคุณค่าแบบไทยๆ

ผมไม่คิดว่า การเปลี่ยนผ่านทางสังคมเข้าสู่ความ "ทันสมัย" เป็นความดีในตัวเอง ก็เหมือนสังคมประเภทอื่นๆ สังคม "ทันสมัย" ก็มีการเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างคนในสังคมเดียวกัน และคนต่างสังคม หรือระหว่างชาติเหมือนกัน (ก็อย่างที่ว่าไม่มีอะไรดีอย่างเดียวหรือเสียอย่างเดียวตามคำสอนของพระพุทธเจ้าไงครับ) เมื่อเราเปลี่ยนเข้าสู่สังคมเกษตรกรรมในสมัยหินใหม่ คนที่หาเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่าก็เสียเปรียบ จำนวนมากของพวกเขาไม่ต้องการทำเกษตร เพราะชีวิตแบบเดิมทำงานน้อยกว่าและอิ่มกว่า (นักมานุษยวิทยาพิสูจน์เรื่องนี้มาหลายกรณีแล้ว) แต่เงื่อนไขทางการเมือง, สังคม และวัฒนธรรมไม่เอื้ออำนวยให้ล่าสัตว์และเก็บของป่าเป็นหลักอีกต่อไป ในที่สุดจำนวนมากก็ต้องหยุดเคลื่อนย้าย ตั้งภูมิลำเนาถาวรเพื่อปลูกธัญพืช สะดวกแก่รัฐซึ่งมีอำนาจมากขึ้นสามารถเก็บส่วยได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ความ "ทันสมัย" ทำให้คนไปมาหาสู่ถึงกันได้กว้างขึ้นไกลขึ้น ในเวลาอันสั้นลงด้วย โอกาสนี้ถูกใช้ไปทั้งในทางดีและไม่ดี เช่นจะเอาเปรียบกันก็เอาเปรียบได้กว้างไกลกว่าเก่ามาก (และลึกลงไปกว่าเก่ามากด้วย) ครอบงำกันก็ง่ายขึ้น จะขุดโคตรอเมริกัน อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือออสซี่มาด่าอย่างไรก็ได้ ล้วนเป็นเรื่องจริงทั้งนั้น แต่เราจะหลุดรอดจากการเอารัดเอาเปรียบและการครอบงำจากเขาอย่างไร เอาแต่ด่าแบบถูลู่ถูกังไปแบบนี้ไม่ช่วยอะไร

ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องเข้าใจความ "ทันสมัย" ให้ลึกและรอบด้านกว่านี้มากนัก ในขณะที่ต้องสำนึกถึงความบกพร่องของความ "ทันสมัย" ก็ต้องสำนึกถึงพลังใหม่ๆ ที่ความ "ทันสมัย" มอบให้เราด้วย จะใช้ประโยชน์จากความรู้เหล่านี้อย่างไร สิ่งที่ต้องเสียก็ต้องเสีย (เช่นค่าลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร) แต่จะเสียอย่างไรให้คุ้มค่าเป็นเรื่องสำคัญกว่า ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมพลังใหม่ๆ ที่ความ "ทันสมัย" มอบให้ด้วย เช่น ประชาธิปไตย เพราะมันเป็นกลวิธีที่สามารถระดมพลังกายและพลังสมองของพลเมืองทุกคนได้อย่างทั่วถึง

ระหว่างประชาธิปไตยกับความเป็นช่วงชั้นที่แข็งโป๊กของไทย ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเลือกอย่างใดก็มีคนได้กับคนเสียทั้งนั้น ด้วยเหตุดังนั้น วิธีการเลือกจึงควรเปิดให้ทุกฝ่ายสามารถเข้ามาต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน และไม่ว่าเสียงส่วนใหญ่จะตัดสินใจอย่างไร การต่อรองอย่างเท่าเทียมยังเปิดโอกาสให้เสียงข้างน้อยได้ต่อรองกระบวนการเปลี่ยนผ่านและแม้แต่ต่อรองการชดเชยต่อความสูญเสียของพวกเขา

ด้วยเหตุดังนั้น เมื่อฝรั่งคัดค้านการทำรัฐประหารในประเทศไทย จึงมีคนเห็นด้วยกับฝรั่งอยู่ไม่น้อย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขาเป็น "ขี้ข้า" อเมริกัน พวกเขารู้ดีถึงพิษภัยของฝรั่งหรือความ "ทันสมัย" แต่เขาเลือกที่จะรับฝรั่งในเรื่องที่เขาเห็นว่าสำคัญแก่บ้านเมือง เขาอาจเลือกผิดได้เท่ากับที่ท่านอาจเลือกผิด แต่เราจะรู้ผิดรู้ถูกได้อย่างไร โดยไม่มีเสรีภาพที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างอิสระ

ทั้งหมดที่พูดมานี้ ปัญญาชนชั้นนำที่ผมนับถือก็รู้ ซ้ำรู้ดีกว่าผมด้วยซ้ำ แต่ในฐานะปุถุชนด้วยกัน เราคงถอนอคติออกไปให้หมดไม่ได้ อย่างมากที่ทำกันด้วยความนับถือเหมือนเดิมได้ก็คือ กราบเรียนเตือนให้รู้ตัวว่านั่นคืออคติ

...............

ที่มา:มติชนออนไลน์
เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน 21 ก.ค.2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท