จับตา! 28 ก.ค.นี้ ศาลนัดฟังคำสั่ง โอนคดี 99 ศพไป ป.ป.ช. ?

ข่าวสด รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา จากกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4552/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อ หรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากกรณีร่วมกับนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมจากกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 เป็นเหตุให้นายพัน คำกอง อายุ 43 ปี ด.ช.คุณากร หรือน้องอีซา ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี ถูก เจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ย่านราชปรารภ กทม. และนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส

โดยคำร้องดังกล่าวระบุว่า นายอภิสิทธิ์ในขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และอยู่ในอำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยแย้งว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่มีอำนาจสอบสวน และอัยการสูงสุดไม่มีอำนาจฟ้อง จากนั้นศาลจึงเห็นสมควรให้มีหนังสือสอบถามป.ป.ช.เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเพื่อให้ได้ความชัดเจน ขณะเดียวกันพนักงานอัยการก็ยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน และศาลอาญานัดฟังคำสั่งในวันจันทร์ที่ 28 ก.ค.นี้

จากกรณีดังกล่าวนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้เสียชีวิต ในฐานะโจทก์ร่วม กล่าวว่า ฝ่ายอัยการโจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตามที่ ฝ่ายจำเลยร้องต่อศาล โดยมีประเด็นโต้แย้งดังนี้ 1.ความผิดที่ฟ้องนายอภิสิทธิ์เป็นความผิดในข้อหาร่วมกันกระทำความผิด หรือก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 มาตรา 83 มาตรา 84 และมาตรา 80 ซึ่งการกระทำความผิดที่อัยการฟ้องดังกล่าวเป็นการกระทำที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี

นายโชคชัยกล่าวว่า การกระทำความผิด ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่นั้น หาก ผู้กระทำมีเจตนาประสงค์ต่อผล หรือเล็งเห็นผลต่อชีวิต หรือร่างกายของผู้ถูกกระทำ จะถือว่าเป็นการกระทำนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ราชการ พนักงานอัยการได้หยิบยกตัวอย่างคดีที่มีการส่งเรื่องกลับไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ โดยไม่อยู่ในอำนาจป.ป.ช.ที่สำคัญคดีหนึ่ง คือ คดีที่ตำรวจเข้าจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และใช้อาวุธปืนยิงถูกด.ช.จักรพันธุ์ ศรีสอาด หรือน้องฟลุกเสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บ ซึ่งคดีนี้พนักงานอัยการฟ้อง เจ้าหน้าที่ในข้อหาความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพยายามฆ่า ศาลพิพากษาลงโทษแล้ว และตัดสินเป็นที่สิ้นสุดที่ศาลอาญาเช่นกัน

"เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเคยมีแนวปฏิบัติในทางกฎหมาย และการสั่งฟ้องในคดีลักษณะเดียวกันมาแล้ว สรุปได้ว่าแม้เจ้าพนักงานกระทำตามหน้าที่ แต่มีเจตนาเล็งเห็นผลต่อชีวิตของผู้อื่น ทางหลักกฎหมายถือว่าเป็นความผิดนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีน้องฟลุกถือว่าเป็นตัวอย่างคดีที่แสดงให้เห็นบรรทัดฐานที่สอดคล้องกับข้อกฎหมาย และชี้ให้เห็นถึงแนวปฏิบัติที่ป.ป.ช.เคยใช้ด้วย คิดว่าน่าจะมีน้ำหนักให้ศาลรับฟังได้พอสมควร" นายโชคชัยกล่าว

ทนายความญาติผู้ตายกล่าวต่อว่า 2.คดีที่เกี่ยวข้องกับการตายทั้งหมดในเหตุสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ถึงวันที่ 19 พ.ค.2553 มีการไต่สวนการตายและศาลมีคำสั่งแล้วว่าการตาย ทั้งนายพัน คำกอง ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ คดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม หรือคดีนายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี ล้วนเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเมื่อศาลมีคำสั่งดังนี้แล้วการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา ตามวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 วรรคท้าย และการออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง อัยการมีอำนาจออกคำสั่งทั้งคดี รวมทั้งตัวการผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนด้วย

นายโชคชัยกล่าวว่า 3.คดีที่เกี่ยวกับการตายทั้งหมดเป็นคดีพิเศษที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ในสมัยนายสุเทพ และนายอภิสิทธิ์ ดำรงตำแหน่ง จึงเห็นว่าดีเอสไอมีอำนาจในการสอบสวน 4.ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เฉพาะในกรณีร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น แต่ในเรื่องการกระทำที่อัยการฟ้องในคดีสลายการชุมนุมนี้เป็นการกระทำที่นอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ และสุดท้าย 5.พระราชบัญญัติ ป.ป.ช. มาตรา 84 ห้ามป.ป.ช.รับเรื่อง หรือยกข้อกล่าวหาในเรื่องเดียวกันที่ศาลประทับรับฟ้องคดีไว้แล้ว ซึ่งคดีของนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์ศาลประทับรับฟ้องไปแล้ว

"คดีนี้เป็นคดีฆาตกรรม ไม่ใช่เรื่องการทุจริต หรือทำผิดต่อหน้าที่อื่นๆ แม้ว่าตอนนั้นคุณจะอยู่ในตำแหน่งจริง แต่การฆ่าไม่ใช่หน้าที่ที่คุณต้องฆ่า อย่างไรก็ตาม ในฐานะทนายผู้ร้องร่วมผมเห็นว่าคำคัดค้านของพนักงานอัยการสมบูรณ์แล้ว จึงไม่ได้ดำเนินการใดเพื่อเป็นการซ้ำซ้อน" นายโชคชัยกล่าว

ทนายความญาติผู้ตายกล่าวอีกว่า ในวันที่ 28 ก.ค.นี้ศาลจะมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องดังกล่าวในเบื้องต้น คือสั่งว่าดีเอสไอมีอำนาจในการสอบสวนหรือไม่ และอัยการมีอำนาจฟ้องหรือไม่ หากศาลสั่งว่าดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวนเรื่องก็ต้องไปที่ป.ป.ช. และส่งต่อไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่หากดีเอสไอมีอำนาจสอบสวน ซึ่งเป็นช่องทางให้อัยการมีอำนาจฟ้อง ทางทนายความก็จะดำเนินคดีต่อไป นอกจากประเด็นการชี้ขาดข้อกฎหมายแล้วยังต้องรอว่าศาลจะพิจารณาให้รวมคดีนายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพเป็นคดีเดียวกันหรือไม่ด้วย ถ้าชี้ขาดว่าอัยการมีอำนาจฟ้องก็จะรวมสำนวนคดีนาย สุเทพเข้ามาด้วยกันอย่างแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท