Skip to main content
sharethis
เสวนาวิชาการ ‘อาหารอินทรีย์ วิถีแห่งอนาคต’ งาน ‘มหกรรมอาหารและสุขภาพ วิถีไท ครั้งที่ 1’ เผยข้อมูลในผัก-ผลไม้ กว่าร้อยละ 40 พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน แนะบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของเรา เท่ากับทำเพื่อสุขภาพที่ดีของโลก
 
 
26 ก.ค. 2557 เสวนาวิชาการ ‘อาหารอินทรีย์ วิถีแห่งอนาคต’ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2557 ระหว่างเวลา 10.00-12.00 น. ในงาน ‘มหกรรมอาหารและสุขภาพ วิถีไท ครั้งที่ 1’ ณ ห้องฟินิกส์ บริเวณฮอลล์ 8 เมืองทองธานี ร่วมเสวนาโดย นพ.ประพจน์ เภตรากาศ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี(Biothai) และปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประกาศข่าวจากสถานีวิทยุ อสมท. คลื่น 96.5 Fm
 
 
เผยในผัก-ผลไม้ กว่าร้อยละ 40 พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน
 
ปรกชล อู๋ทรัพย์ เปิดเผยข้อมูลผลการวิเคราะห์ภาพรวมและการตรวจสอบสารปนเปื้อน คือ คาร์บาเมต ออร์แกโนฟอสเฟต ออร์แกโนคลอรีน ไพรีทรอยด์ ในผักผลไม้ว่า จากการสุ่มเก็บตัวอย่างพืชผักและผลทั้งหมด 118 ตัวอย่าง จากตลาด ห้างค้าปลีก และสินค้าตรา “Q” พบว่า ในผักผลไม้ 118 ตัวอย่างนี้ ร้อยละ 44.1 ไม่พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ร้อยละ 9.3 มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ แต่ไม่เกินค่า MRLs (Maximum Residue Limits หมายถึง ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่กำหนดให้มีได้ในสินค้าเกษตร) และ อีกร้อยละ 46.6 พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินค่า MRLs
 
เมื่อแยกประเภทแหล่งที่มาของสินค้าเหล่านี้เป็น 3 แหล่งคือ ผักผลไม้ที่มากจากตลาดทั่วไป ผักผลไม้ตรา Q และผักผลไม้ที่มาจากห้างค้าปลีกแล้ว ผักผลไม้จากตลาดทั่วไปร้อยละ 53.8 ไม่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ร้อยละ 6.2 มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ แต่ไม่เกินค่า MRLs ที่เหลือร้อยละ 40 พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ เกินค่า MRLs ส่วนในผักผลไม้ตรา Q พบว่ามีเพียงร้อยละ 12.5 ไม่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ขณะที่ร้อยละ 25.0 มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ แต่ไม่เกินค่า MRLs ที่เหลืออีกถึงร้อยละ 62.5 พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ เกินค่า MRLs สุดท้ายคือผักผลไม้ที่มาจากห้างค้าปลีก พบว่าร้อยละ 35.6 ไม่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ร้อยละ 11.1 มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ แต่ไม่เกินค่า MRLs และอีกร้อยละ 53.3 พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ เกินค่า MRLs
 
10 ใน 118 ชนิดคือผักผลไม้ที่เรานิยมบริโภคและหาซื้อได้ง่ายในตลาดสด ห้างสรรพสินค้า หรือแผงขายผักผลไม้ทั่วไปคือ คะน้า ถั่วฝักยาว พริกจินดา ผักชี กะเพรา ส้ม แอปเปิ้ล ฝรั่ง แตงโมง และสตรอเบอร์รี่
 
 
บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของเรา เท่ากับทำเพื่อสุขภาพที่ดีของโลก
 
ด้านนพ.ประพจน์ เภตรากาศ นำเสนอ 3 ประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกันคือ ประเด็นแรก เรื่องอาหารกับร่างกาย ประเด็นที่สอง คือ เรื่องแนวความคิดเรื่องอาหารกับสุขภาพ และประเด็นที่สามคือ เรื่องอาหารอินทรีย์กับสุขภาพ โดยระบุว่า ทางเดินอาหารของคนเริ่มต้นจากปากไปสิ้นสุดที่รูทวารหนัก ความยาวของทางเดินอาหารประมาณ 7-8 เมตร หรือประมาณ 25 ฟุต เมื่อเรากินอาหารเข้าไป ทุกอย่างที่เราหยิบ ที่เรากิน จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ ทุกอย่างที่หลุดเข้าไปในปากจะถูกย่อยเป็นโมเลกุลเดี่ยวหรือโมเลกุลที่ละเอียดที่สุด เพื่อที่จะดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กไปใช้ในร่างกาย อาหารที่ถูกดูดซึมจะไปทำหน้าที่สร้างพลังงาน ซ่อมแซมเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกายของเรา
 
อาหารใช้เวลาเดินทางจากปากของเราไปจนถึงรูทวารหนักประมาณ 24 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย โดยเฉลี่ยแล้วอาหารจะอยู่ในกระเพาะอาหาร 2-4 ชั่วโมง ในลำไส้เล็ก 6 ชั่วโมง ในลำไส้ใหญ่ 12-24 ชั่วโมง และออกทางรูทวารหนัก การใช้งานคือ พลังงานจะถูกดูดซึมเพื่อไปใช้ประโยชน์ น้ำมันจะช่วยเรียกน้ำย่อย และกากอาหารจะช่วยในการระบายของเสีย กากใยที่เรากินเข้าไปจะทำหน้าที่ไปครูดของเสียตามผนังลำไส้ให้ขับออกมาคล้ายๆ กับการดีท็อกซ์ อาหารที่เรากินเข้าไป ถ้าเป็นประเภทโปรตีนส่วนเกินจะถูกขับถ่ายออกมา เนื่องจากร่างกายมีความสามารถในการดูดซึมได้แค่ประมาณ 20-30% ของปริมาณอาหารที่เรากินเข้าไปเท่านั้น ร่างกายจะดูดซึมเท่าที่จะใช้ประโยชน์เท่านั้น ที่เหลือจะขับออกมา
 
ในประเด็นเรื่องอาหารและสุขภาพ นพ.ประพจน์ กล่าวว่า ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา มนุษย์มีความเชื่อเกี่ยวกับสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บ ผ่านรากฐานทางวัฒนธรรมของแต่ละสังคม ซึ่งก่อให้เกิดความหลากหลายของวิธีการบำบัดรักษา ป้องกัน การเจ็บไข้ได้ป่วย การให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีอายุยืนยาว ยกตัวอย่างอย่างเช่นประเทศจีน ที่มีความเชื่อในเรื่องสุขภาพตามปรัชญา หยินและหยาง ว่าทั้งหยินและหยางดำรงอยู่ในร่างกายของมนุษย์อย่างได้สมดุลเช่นเดียวกันกับความสมดุลของจักรวาล หรือการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ
 
“ส่วนในระบบการแพทย์พื้นบ้านหรือดั้งเดิมทั่วโลกจะมีลักษณะเป็นการแพทย์แบบองค์รวม ซึ่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับการรักษา การฟื้นฟู ความสมดุลในร่างกายมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เช่น การแพทย์อายุรเวท การแพทย์พื้นบ้านแอฟริกา ชนเผ่าซูลู มีความเชื่อว่าสุขภาพไม่ใช่เพียงสภาพหรือสภาวะ แต่เป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่อง”
 
นพ.ประพจน์ กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนผ่านจากการแพทย์เชิงวัฒนธรรมสู่การแพทย์เชิงวิทยาศาสตร์ เป็นการเปลี่ยนผ่านทีละเล็กทีละน้อยตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งใช้เวลาหลายร้อยปี ในตะวันตกการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นในกรีก ระหว่าง 400 – 500 ปีก่อนคริสตกาล และถือว่าเป็นการแพทย์ที่พยายามใช้ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ การมีเหตุผลน่าเชื่อถือ ในการอธิบายโรคภัยไข้เจ็บ วิทยาศาสตร์การแพทย์มีแนวโน้มที่จะเน้นการบริโภค โปรตีน และผัก ผลไม้ ให้มากขึ้น แต่ให้ลดการบริโภคแป้ง ไขมันให้น้อยลง การมองว่าแป้งเป็นหมู่อาหารที่เป็นอันตรายจึงขัดแย้งกับวัฒนธรรมการบริโภคดั้งเดิมของประเทศต่างๆ ซึ่งนิยมการบริโภคข้าวและธัญพืชเป็นอาหารหลัก จนกระแสการบริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ (low-carb diet) เป็นที่นิยมกันในคนหนุ่มสาว และยังใช้ในการเป็นอาหารรักษาเบาหวานอีกด้วย
 
แนวความคิดใหม่ที่ทวนกระแสวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น แนวคิดเรื่องการกินอาหารมังสวิรัติของกลุ่มเซเวนธ์เดย์แอ๊ดเวนติส ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการทำการวิจัยขนาดใหญ่เกี่ยวกับสุขภาพของผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติ และพบว่า ผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติมีสุขภาพและอายุที่ยืนยาวกว่า เป็นโรคเรื้อรังโดยเฉพาะมะเร็งน้อยกว่าอย่างชัดเจน มีหนังสือดีหลายเล่มที่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น “ปฏิวัติสุขภาพด้วยอาหารบนจานคุณ” ที่เขียนโดย T.Colin Campbell, Ph.D และ Thomas M. Campbell แปลเป็นภาษาไทยเมื่อ พ.ศ.2555 หนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ “ขอบฟ้าแห่งอายุร้อยปี (Blue zone)” เขียนโดย เดวิด บุทเนอร์ ซึ่งเดินทางสำรวจวิถีชีวิตของผู้ที่มีอายุเกินหนึ่งร้อยปี ในดินแดน 4 แห่งทั่วโลก ได้แก่ โอกินาวา คอสตาริกา เกาะซาร์ดิเนีย และ กลุ่มเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนติสในอเมริกา ซึ่งพบว่า วิถีชีวิตของคนอายุเกินหนึ่งร้อยปี จะมีวิถีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ หยุดกินก่อนจะอิ่ม (ฮารา ฮาจิบุ) กินผักให้มาก เข้าเกียร์ต่ำ ใช้ชีวิตให้ช้าลง มีส่วนร่วม คนที่เรารักมาอันดับแรก อยู่ในกลุ่มชนที่ถูกต้อง และมีการดื่มไวน์
 
ประเด็นเรื่อง ‘อาหารอินทรีย์กับสุขภาพ’ นพ.ประพจน์ กล่าวว่า มีหนังสือชื่อ ‘Anticancer: A new way of life’ ซึ่งสำนักพิมพ์โกมลคีมทองมีแผนที่จะจัดพิมพ์ในเร็วๆ นี้ หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ดร.เดวิด ชไรเบอร์ ได้ให้ความสำคัญของอาหารอินทรีย์ ซึ่งจะมีความสมดุลของโอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 โอเมก้า-3เอส และโอเมก้า-6 เอส ที่มีในร่างกายจะคอยปกป้องเพื่อควบคุมการทำงานต่างๆ ของร่างกาย โอเมก้า-6 เอส ช่วยเก็บสะสมไขมัน และส่งเสริมความแข็งตัวในเซลล์รวมทั้งการเกิดการแข็งตัวของเลือดและการอักเสบเพื่อตอบสนองการคุกคามจากภายนอก มันยังกระตุ้นการสร้างเซลล์ไขมันที่มีมาตั้งแต่เกิดต่อไป ในทางตรงกันข้าม โอเมก้า-3 เอส มีส่วนในการพัฒนาระบบประสาท ทำให้เยื่อหุ้มเซลล์มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและลดการอักเสบ และยังช่วยจำกัดการสร้างเซลล์ไขมัน
 
“ความสมดุลทางสรีรวิทยาของเราขึ้นกับความสมดุลของโอเมก้า-3 เอส และโอเมก้า-6 เอส ในร่างกายเป็นอย่างยิ่งซึ่งเกี่ยวกับอาหารที่เรากิน” นพ.ประพจน์กล่าว
 
ในช่วงท้าย นพ.ประพจน์ ได้กล่าวในช่วงท้ายว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องการย้ำเพิ่มเติมก็คือ ถ้าเราบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีให้กับตัวเรา เท่ากับเราทำเพื่อสุขภาพที่ดีของโลกใบนี้ที่เราได้อาศัยอยู่ การบริโภคอาหารที่มีพืชเป็นหลักเท่ากับการลดการใช้น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการลดการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และลดการทำร้ายสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์ม ต้องกินให้หลากหลายชนิดถึงจะช่วยดูแลสุขภาพและรักษาโรคได้
 
“บางคนเห็นว่าย่านางดี ก็จะแต่ย่านางอยู่นั่น อันนี้ก็ไม่ใช่ เราต้องกินให้หลากหลาย ต้องออกกำลังกาย หยุดกินก่อนอิ่ม ถึงที่สุดแล้ว ความมั่นคงทางอาหารจะสำคัญอย่างมาก ถ้าเราถามว่ากินอะไรดีที่สุด ผมว่าเราต้องกลับไปกินอาหารดั้งเดิม กินอาหารพื้นบ้านที่พ่อแม่เรากินมาแต่ไหนแต่ไร กินความหลากหลาย ยิ่งกินความหลากหลายเท่าไหร่เรายิ่งได้ประโยชน์” นพ.ประพจน์กล่าว
 
 
โภชนาการที่ดี ควรต้องมาจากระบบเกษตรที่ดี
 
คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ หยิบยกคำนิยามหรือวลีต่างๆ มานำเสนอเช่น วลีหนึ่งจากหนังสือชื่อ an AGRICULTURAL TESTAMENT’ เขียนโดยเซอร์อัลเบิร์ต โฮวาร์ด ผู้บุกเบิกเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ ว่า “The health of soil, plant, animal and man is one and indivisible” แปลเป็นไทยว่า “สุขภาพของดิน พืช สัตว์ และมนุษย์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แบ่งแยกมิได้” วลีอีกอันชื่อ “กงล้อแห่งสุขภาพ” ซึ่งให้รายละเอียดว่า สุขภาพขึ้นอยู่กับองค์รวมทั้งหมดของสิ่งแวดล้อม ระบบอาหารและโภชนาการคือปัจจัยที่สำคัญที่สุด แต่โภชนาการที่ดีมิได้มีความหมายเพียงเราหาอาหารจากที่ใดก็ได้เท่านั้น แต่ต้องมาจากระบบเกษตรกรรมการผลิตที่ถูกต้องด้วย จากการศึกษาและทดลอง เราพบความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์และผืนดินว่า สุขภาพที่ดีนั้นเกิดขึ้นจากดินสู่พืชพันธุ์ต่างๆ และจากพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ สู่มนุษย์
 
นอกจากนิยาม 2 นิยามด้านบนแล้ว คุณวิฑูรย์ ยังได้ยกคำคมของปราชญ์ชาวบ้านบ้านเราคือ นายฉลวย แก้วคง ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า ร่างกายของเราประกอบไปด้วยธาตุ 4 ก็คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมกัน เรียกว่ารูป เช่นกันกับไร่นาเกษตรก็ต้องมี ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันเป็นรูป จึงจะถูกต้องตามธรรมะ ตามธรรมชาติ จะขาดอย่างใดไม่ได้เลย ส่วนมนุษย์เรา เราก็เกิดจากสายเลือดของบิดา-มารดา สายเลือดของบิดา-มารดาเกิดจากอะไร ถ้าเราสาวเข้าไปจะเห็นว่าบิดา - มารดากินอะไร สายเลือดของท่านก็เกิดจากสิ่งนั้น และเลือดเนื้อของเราก็เกิดจากสิ่งนั้นด้วย เพราะฉะนั้นเราเกิดจากสิ่งใดก็เอาสิ่งนั้นมาเลี้ยง เช่น ผักทุกชนิด ผลไม้ทุกชนิด เนื้อทุกชนิด น้ำทุกชนิด ถ้าเราทำลายสิ่งแวดล้อมก็เท่ากับเราทำลายตัวเอง ทำลายบรรพบุรุษของเราด้วย เพราะท่านทิ้งร่างกายเอาไว้ ใครทำลายสิ่งแวดล้อมเปรียบเสมือนคนอกตัญญูไม่รู้คุณบรรพบุรุษ
 
วิฑูรย์กล่าวต่อมาในเรื่องสารเคมี ว่า ในประเทศตะวันตกหลายประเทศ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นกลุ่มประเทศที่นำหน้ากลุ่มประเทศอื่นทั่วโลกในเรื่องเทคโนโลยีแทบทุกด้าน กระทั่งในเรื่องอาหารและสารเคมีที่ใช้ในอาหารเช่นกัน แต่เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเมื่อพบว่าสารเคมีส่งผลต่อความเสียหายด้านสุขภาพของมนุษย์ กลุ่มประเทศเหล่านี้จึงได้เลิกที่จะใช้สารเคมีทั้งในพืชและสัตว์ในอาหาร ข้อมูลที่เรามีปัจจุบันพบว่าประมาณ 10-20% ของประเทศในแถบตะวันตก ได้ลดการใช้สารเคมีลงไปมากแล้ว ในขณะที่ประเทศของเรายังใช้สารเคมีอยู่อย่างเข้มข้น สิ่งนี้เป็นเรื่องน่าคิดและตั้งคำถามอย่างยิ่งว่าประเทศของเราคิดอะไรอยู่
 
วิฑูรย์กล่าวด้วยว่า ประเด็นเรื่องข้าวพื้นเมืองหรือข้าวอินทรีย์ กำลังขยายแนวคิดออกไปอย่างหลากหลาย เช่น มหาวิทยาลัยเกษตร ได้มีการรวบรวมและพัฒนาพันธุ์ข้าวหลายสายพันธุ์ หรือได้มีการทดสอบคุณค่าทางโภชนาการ หรือสารอาหารในข้าว เช่น ‘ทองแดง’ ในข้าวทั่วๆ ไปที่เรากินกับข้าวพื้นบ้านพบว่า ในข้าวที่เรากินทั่วๆ ไป 1 จาน จะเท่ากับการกินข้าวกล้องเพียง 1 ใน 5 ของจานเท่านั้น
 
นอกจากนี้แล้วยังมีงานศึกษาเกี่ยวกับโภชนาการของข้าวพื้นเมืองหลายชิ้นที่น่าสนใจ เช่น การศึกษาคุณค่าโภชนาการของข้าวพื้นเมือง ในพื้นที่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร โดย รัชนี คงคาฉุยฉาย และริญ เจริญศิริ -2551 หรืองานศึกษาคุณค่าทางโภชนาการ สารต้านอนุมูลอิสระ ประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระและดัชนีน้ำตาลในข้าวพื้นเมืองสายพันธุ์ ต่างๆ ที่เป็นเกษตรอินทรีย์ ในพื้นที่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานโดย รัชนี คงคาฉุยฉาย ริญ เจริญศิริ และพัชราวรรณ มาทีฆะ-2553 เป็นต้น
 
ในประเด็นเรื่องข้าวไรซ์เบอร์รี่ วิฑูรย์กล่าวว่า ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่ถูกส่งเสริมให้มีการปลูก และโฆษณาชวนเชื่อเรื่องคุณค่าสารอาหาร และมีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงเกินจริงนั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้าวพื้นบ้านหลายสายพันธุ์ เช่น ข้าวหอมนิล ก่ำเปลือกดำ ขาวใหญ่ ดอหางฮี และข้าวอีกหลายสายพันธุ์กลับพบว่า ข้าวพื้นบ้านสายพันธุ์ต่างๆ เหล่ามีคุณค่าทางโภชนาการและมีสารอาหารหลายชนิดเทียบเท่ากับไรซ์เบอร์รี่ และมีสารอาหารหลายชนิดมากกว่าไรซ์เบอร์รี่หลายเท่า เพราะฉะนั้นจึงมีคำพูดในหมู่ชาวบ้านที่พูดหยิกแกมหยอกกันเล่นๆ ว่า ข้าวพื้นบ้านคือ ‘ซุปเปอร์ไรซ์เบอร์รี่’ หรือที่บอกว่า ‘เลิกปลูกเถอะไรซ์เบอร์รี่ หันมาปลูกซุปเปอร์ไรซ์เบอร์รี่กันดีกว่า’ หมายถึงว่า ชาวนาหรือผู้ปลูกข้าวทั้งหลายไม่ควรไปหลงใหลกับคำโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ของข้าวไรซ์เบอร์รี่ แต่ควรหันมาดูข้อเท็จจริง หันมาดูข้อมูลที่เป็นจริงของตนเองดีกว่า
 
“เงินที่เราจ่ายซื้อข้าวอินทรีย์แม้จะราคาสูงกว่าข้าวทั่วๆ ไปบ้าง แต่ผมว่าเงินที่เราจ่ายจะให้ผลที่มีคุณค่าต่อร่างกายอย่างมากๆ เมื่อเทียบกับการจ่ายราคาถูกแต่ได้คุณค่าทางอาหารน้อยมาก ผมว่าเป็นเรื่องที่เราควรลงทุนเพื่อสุขภาพของเรา เราอาจเชื่อว่าเราจ่ายสตางค์ซื้อลูกพลับ แอปเปิ้ล กีวี องุ่นแดง ราสเบอร์รี่ สตอเบอร์รี่ ลูกไหน บลูเบอร์รี่ หรืออื่นๆ เพื่อให้ได้สารต้านอนุมูลอิสระ ในขณะที่เรามองข้ามข้าวพื้นบ้านของเราที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเพียงพออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมว่าเราหันมากินข้าวกล้องพื้นบ้านดีกว่าไหม” วิฑูรย์ให้ความเห็น
 
วิฑูรย์ จบท้ายวงเสวนาวิชาการด้วยวลีจากต่างประเทศว่า "The most political act we do on a daily basis is to eat, as our actions affect farms, landscapes and food businesses" แปลเป็นภาษาไทยแบบสั้นๆ ว่า “ทุกคำที่เรากิน สามารถเปลี่ยนโลกทั้งใบได้”
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net