ร้อง ยกเลิก ‘EIA โรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน’ เปลี่ยนจากชีวมวลเป็นถ่านหินสกปรก

เครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ออกแถลงการณ์ ‘ยกเลิก EIA หยุดถ่านหินสกปรกของบริษัทดับเบิลเอ’ ร้อง คชก. ‘ไม่ให้ความเห็นชอบ’  เพื่อปกป้องเกียรติภูมิ -รักษาประโยชน์ชาติ
 
31 ก.ค. 2557 เครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ออกแถลงการณ์ “ยกเลิก EIA หยุดถ่านหินสกปรกของบริษัทดับเบิลเอ” พร้อมเกาะติดการประชุมของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (คชก.) พิจารณาเรื่อง การขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ (EIA) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 3 จำกัด เพื่อขอเปลี่ยนแปลงจากโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ภายใต้กระบวนการพิจารณา EIA ที่มีการปรับปรุงใหม่ตามประกาศของ คสช.
 
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโรงไฟฟ้าในเครือของบริษัทผลิตกระดาษดับเบิ้ลเอ ขนาด 47.4 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับการอนุญาตให้ประกอบกิจการโดยใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง แต่ที่ผ่านมาบริษัทได้ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนเชื้อเพลิงไปใช้ถ่านหิน 2 ครั้ง ซึ่ง คชก.มีมติไม่เห็นชอบทั้ง 2 ครั้ง ล่าสุด บริษัทฯ ได้ยื่น EIA เพื่อขอเปลี่ยนแปลงเชื่อเพลิงเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา
 
แถลงการณ์เครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ระบุว่า การพิจารณาของ คชก.มีมติไม่เห็นชอบมาโดยตลอด ดังนั้น การใช้อำนาจของ คชก. ครั้งนี้ ในการ “ไม่ให้ความเห็นชอบ” รายงาน EIA ของโครงการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างสำคัญสูงสุด เพื่อปกป้องเกียรติภูมิของหน่วยงานรัฐและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงทางอาหารและพลังงานของประเทศ
 
อีกทั้งยังระบุความคิดเห็นว่า 1.EIA ดังกล่าวอาจยังมีความไม่ครอบคลุมหรือสมบูรณ์ และขาดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย จึงใคร่ขอให้ผู้แทนของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย เข้าร่วมการประชุมพิจารณารายงานนี้ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ คชก. ก่อนการพิจารณา
 
2.การที่บริษัทฯ ยื่นขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการฯ ในภายหลังเป็นการกระทำโดยผิดหลักการและความชอบธรรมของกระบวนการจัดทำ EIA ในตอนต้น เนื่องจากโครงการนี้ขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลและผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเนื่องมาจากเป็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล 3.การยื่นขอเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนชนิดโรงไฟฟ้าไปเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการฯ ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างแน่นอน
 
และสุดท้าย ทางเลือกในการลงทุนพลังงานหมุนเวียน จากการศึกษาวิจัยพบว่าขณะนี้ภาคตะวันออกมีโรงไฟฟ้ามากเกินความต้องการใช้ประมาณ 2-3 เท่าและมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ยังไม่รวมพลังงาน จากแสงอาทิตย์ถึง 4,734 เมกะวัตต์ การยื่นขอเปลี่ยนแปลงชนิดโรงไฟฟ้าดังกล่าวจึงเป็นการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ใช่ทางออกในการพัฒนาพลังงานที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
 
 
รายละเอียดแถลงการณ์ มีดังนี้
 
 
แถลงการณ์เครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน
 
31 กรกฎาคม 2557
ยกเลิก EIA หยุดถ่านหินสกปรกของบริษัทดับเบิลเอ
 
เครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนประกาศเจตจำนงในวันนี้โดยเรียกร้องให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ใช้บทบาทอำนาจหน้าที่อันทรงเกียรติ “ไม่ให้ความเห็นชอบ” ต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 47.4 เมกะวัตต์เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 3 จำกัดซึ่งโครงการดังกล่าวตั้งอยู่ที่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
 
ทั้งนี้ทางเครือข่ายฯ มีความเห็นว่าประการแรกรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบฯ ของบริษัทนี้ อาจยังมีความไม่ครอบคลุมหรือสมบูรณ์ และขาดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย จึงใคร่ขอให้ผู้แทนของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย เข้าร่วมการประชุมพิจารณารายงานนี้ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ คชก. ก่อนที่ คชก.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือไม่ให้ความเห็นชอบ กับรายงานผลกระทบฯ ของบริษัท
 
ประการที่สองคือ การที่บริษัทฯ ยื่นขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินในภายหลังเป็นการกระทำโดยผิดหลักการและความชอบธรรมของกระบวนการจัดทำ EIA ของโครงการนี้ตอนต้น เนื่องจากโครงการนี้ขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลและโครงการนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอันเนื่องมาจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังจึงจำเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักการที่กล่าวมา และที่สำคัญหลักการของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อนำพืชผลทางการเกษตรในพื้นที่มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ใช่การนำเข้าเชื้อเพลิงถ่านหิน
 
ประการที่สามการยื่นของบริษัทฯ เพื่อขอเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนชนิดโรงไฟฟ้า เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทฯ ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างแน่นอน
 
และประการสุดท้ายคือ ทางเลือกในการลงทุนพลังงานหมุนเวียนของภาคตะวันออก ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่าขณะนี้ภาคตะวันออกมีโรงไฟฟ้ามากเกินความต้องการใช้ประมาณ 2-3 เท่าและมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ยังไม่รวมพลังงาน จากแสงอาทิตย์ถึง 4,734 เมกะวัตต์ การยื่นขอเปลี่ยนแปลงชนิดโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงเป็นการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ใช่ทางออกในการพัฒนาพลังงานที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
 
การพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดย คชก. ทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ทางคชก.มีมติไม่เห็นชอบมาโดยตลอด ดังนั้น การใช้อำนาจของ คชก.ในครั้งนี้ ในการ “ไม่ให้ความเห็นชอบ” รายงาน EIA ของโครงการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างสำคัญสูงสุดเพื่อปกป้องเกียรติภูมิของหน่วยงานรัฐและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงทางอาหารและพลังงานของประเทศ
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท