Skip to main content
sharethis

31 ก.ค.2557 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ.2557 ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 บัญญัติให้องค์ประกอบและจำนวนกรรมการในคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ วิธีการสรรหา กำหนดเวลาในการสรรหา จำนวนบุคคลที่จะต้องสรรหา และการอื่นที่จำเป็น เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

0000
 

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ.2557

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 มาตรา 30 และมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. 2557”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกานี้
“คณะกรรมการสรรหา” หมายความว่า คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 4
“คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด” หมายความรวมถึงคณะกรรมการสรรหาประจำกรุงเทพมหานครด้วย
“จังหวัด” หมายความรวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย

มาตรา 4 ให้มีคณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่สรรหาบุคคลด้านต่างๆ เพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
(1) คณะกรรมการสรรหาด้านการเมือง
(2) คณะกรรมการสรรหาด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
(3) คณะกรรมการสรรหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
(4) คณะกรรมการสรรหาด้านการปกครองท้องถิ่น
(5) คณะกรรมการสรรหาด้านการศึกษา
(6) คณะกรรมการสรรหาด้านเศรษฐกิจ
(7) คณะกรรมการสรรหาด้านพลังงาน
(8) คณะกรรมการสรรหาด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
(9) คณะกรรมการสรรหาด้านสื่อสารมวลชน
(10) คณะกรรมการสรรหาด้านสังคม
(11) คณะกรรมการสรรหาด้านอื่นๆ
(12) คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคณะ

มาตรา 5 ให้คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 4 (1) ถึง (11) แต่ละคณะประกอบด้วยกรรมการสรรหาจำนวนเจ็ดคนซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์เป็นที่ยอมรับในด้านที่ได้รับการแต่งตั้ง ทำหน้าที่สรรหาบุคคลเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

บุคคลใดจะเป็นกรรมการสรรหาเกินหนึ่งคณะมิได้
ให้กรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่งประชุมเพื่อเลือกกรรมการสรรหาคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการสรรหา
ให้ประธานกรรมการสรรหาแต่งตั้งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งคนหนึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหา
ให้นำความในวรรคห้าและวรรคแปดของมาตรา 6 มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

มาตรา 6 ให้คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดแต่ละจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานครประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดผู้ซึ่งได้รับเลือกเป็นผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับจังหวัดของจังหวัดนั้นครั้งล่าสุด และประธาน กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เป็นกรรมการสรรหา

ในจังหวัดใดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดด้วยให้กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเลือกกันเองเพื่อให้ได้คนหนึ่งเป็นกรรมการสรรหาแทนประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด

ในจังหวัดใดมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหลายคน ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดซึ่งมีอาวุโสสูงสุดเป็นกรรมการสรรหา

ให้คณะกรรมการสรรหาประจำกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้ซึ่งได้รับเลือกเป็นผู้แทนสภาองค์กรชุมชนเขตในระดับจังหวัดของกรุงเทพมหานครครั้งล่าสุด และประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการสรรหา

กรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่งและวรรคสี่จะแต่งตั้งหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นทำการแทนมิได้

ผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่งและวรรคสี่ให้หมายความรวมถึงผู้รักษาราชการแทนผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวด้วย
ให้กรรมการสรรหาประจำจังหวัดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสี่เลือกกรรมการสรรหาประจำจังหวัดคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการสรรหาประจำจังหวัดของคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดนั้น

ในกรณีที่ไม่มีกรรมการสรรหาประจำจังหวัดในตำแหน่งใด หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดประกอบด้วยกรรมการสรรหาประจำจังหวัดเท่าที่มีอยู่จนกว่าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะแต่งตั้งบุคคลที่เห็นสมควรให้เป็นกรรมการสรรหาประจำจังหวัดแทน

ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด

มาตรา 7 วิธีการประชุมและการลงมติของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นไปตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาแต่ละคณะกำหนด
มาตรา 8 ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งรับผิดชอบงานเลขานุการและงานธุรการรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสรรหาและของคณะกรรมการสรรหา เพื่อการนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจออกระเบียบเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้ แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชกฤษฎีกานี้
ให้กรรมการสรรหาได้รับค่าตอบแทนการประชุมครั้งละสองพันบาท และให้กรรมการสรรหาซึ่งเป็นผู้แทนสภาองค์กรชุมชนได้รับค่าพาหนะเหมาจ่ายอีกคนละสามพันบาท

มาตรา 9 ให้คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 4 (1) ถึง (11) สรรหาบุคคลซึ่งสมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติคณะละไม่เกินห้าสิบคน แต่ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรายชื่อที่ได้รับมาตามมาตรา 10 ในด้านนั้นๆให้คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดตามมาตรา 4 (12) สรรหาบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้นจังหวัดละห้าคน

การสรรหาตามมาตรานี้ ให้คำนึงถึงบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถด้านต่างๆ จากภาครัฐภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ และภาคอื่น ความเท่าเทียมกันทางเพศ และการให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส

มาตรา 10 ในการสรรหาตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาบุคคลจากชื่อที่เสนอโดยนิติบุคคลซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันที่อยู่ในภาคต่างๆตามมาตรา 9 วรรคสาม โดยแต่ละนิติบุคคลเสนอได้ไม่เกินสองชื่อ

ให้นิติบุคคลที่ประสงค์จะเสนอชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่ง เสนอชื่อต่อหน่วยงานที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่มีประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 4 (1) ถึง (11)

มาตรา 11 ในการเสนอชื่อบุคคลของนิติบุคคลตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ส่วนราชการ ให้เสนอชื่อตามมติของ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ อ.ก.พ. กรม แล้วแต่กรณี
(2) รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน ให้เสนอชื่อตามมติของคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชน
(3) หน่วยงานอื่นของรัฐที่มีคณะกรรมการเป็นผู้กำกับดูแลหรือบริหารงาน ให้เสนอชื่อตามมติของคณะกรรมการดังกล่าว ในกรณีที่ไม่มีคณะกรรมการเป็นผู้กำกับดูแลหรือบริหารงาน ให้หัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้เสนอชื่อ
(4) นิติบุคคลที่มีลักษณะเป็นสมาคม มูลนิธิ หรือสภา ให้เสนอชื่อตามมติของคณะกรรมการสมาคมหรือมูลนิธิ หรือคณะกรรมการของสภา
(5) นิติบุคคลอื่นที่มีคณะกรรมการเป็นผู้กำกับดูแลหรือบริหารงาน ให้เสนอชื่อตามมติของคณะกรรมการของนิติบุคคลนั้น
(6) สถาบันการศึกษา ให้เสนอชื่อตามมติของสภาหรือคณะกรรมการสถาบัน
(7) นิติบุคคลใดไม่มีคณะกรรมการเป็นผู้กำกับดูแลหรือบริหารงาน ให้ผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลนั้นเป็นผู้เสนอชื่อ

มาตรา 12 ให้นิติบุคคลตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง เสนอชื่อตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด และต้องแนบเอกสารและหลักฐานดังต่อไปนี้ด้วย
(1) สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรประจำตัวอื่นของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้
(2) เอกสารที่บุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อแสดงความประสงค์ว่าจะเข้ารับการสรรหาในด้านใดด้านหนึ่งตามมาตรา 4
(3) หนังสือยินยอมให้เสนอชื่อ ทั้งนี้ บุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อจะทำหนังสือยินยอมให้มีการเสนอชื่อเกินหนึ่งฉบับมิได้
(4) คำรับรองของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อว่าตนมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอกสารและหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อลงลายมือชื่อเพื่อรับรองความถูกต้องด้วย

แบบการเสนอชื่อที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีรายการที่กำหนดให้ผู้เสนอต้องระบุถึงความรู้ความสามารถอันเป็นที่ประจักษ์ของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อด้วย

มาตรา 13 ให้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ รวมทั้งตรวจสอบว่าการเสนอชื่อเป็นไปโดยชอบด้วยพระราชกฤษฎีกานี้หรือไม่ แล้วส่งให้คณะกรรมการสรรหาภายในสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาตามมาตรา 10 วรรคสอง เพื่อดำเนินการต่อไป

มาตรา 14 ให้คณะกรรมการสรรหาเสนอบัญชีรายชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติตามจำนวนที่กำหนดในมาตรา 9 ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติภายในสิบวันนับแต่วันที่พ้นระยะเวลาตามมาตรา 13

มาตรา 15 เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้รับบัญชีรายชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากคณะกรรมการสรรหาแล้ว ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) พิจารณาคัดเลือกบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดเสนอ จังหวัดละหนึ่งคน
(2) พิจารณาคัดเลือกบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาแต่ละด้านตามมาตรา 4 (1) ถึง (11) เสนอ ตามจำนวนที่เห็นสมควรแต่เมื่อรวมกับจำนวนตาม (1) แล้ว ต้องไม่เกินสองร้อยห้าสิบคน

ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินำรายชื่อบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกตามวรรคหนึ่งขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อตามมาตรา 14 เพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป

เมื่อทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้ว ให้ประกาศรายชื่อนั้นในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 16 ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือมีเหตุอันสมควรที่จะแต่งตั้งเพิ่ม คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะดำเนินการเพื่อให้มีการแต่งตั้งบุคคลจากบัญชีรายชื่อตามมาตรา 14 เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแทนตำแหน่งที่ว่างนั้นหรือเพิ่มขึ้นก็ได้

มาตรา 17 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเสนอชื่อหรือการสรรหา หรือมีปัญหาอื่นใดเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติวินิจฉัย และเมื่อได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว ให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยพระราชกฤษฎีกานี้และกฎหมาย

ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อให้การสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อยให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจประกาศเปลี่ยนแปลงระยะเวลา กำหนดให้ดำเนินการหรืองดเว้นการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ได้

มาตรา 18 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net