1 ปีน้ำมันรั่ว เกาะเสม็ด (ฟื้นฟู) เสร็จแล้วจริงหรือ?

 

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง ชาวประมงพื้นบ้านและกลุ่มแม่ค้าผู้ได้รับผลกระทบจาก เหตุการณ์นํ้ามันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) (PTTGC) รั่วไหลในทะเล จ.ระยอง เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2556 รวม 455 ราย โดยความช่วยเหลือทางกฎหมายของคณะทํางานตรวจสอบข้อเท็จจริงและจัดทํารายงานกรณีน้ำมันดิบของบริษัท PTTGC รั่วไหลออกทะเล จ.ระยอง ในคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับศูนย์ข้อมูลชุมชน (The Community Resources Centre: CRC) ตั้งคณะทนายยื่นฟ้อง PTTGC ในฐานะผู้ก่อมลพิษ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ในฐานะผู้มีหน้าที่ตามกฎหมาย ในการบําบัดแก้ไขป้ญหามลพิษและบรรเทาผลกระทบที่เกิดแก่ประชาชนและทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง ต่อศาลจังหวัดระยอง ศาลแพ่ง และศาลปกครองระยอง ก่อนการฟ้องร้องคดีจะหมดอายุความในวันที่ 27 ก.ค. 2557

สำออย รัตนวิจิตร นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง กล่าวว่า การฟ้องร้องในครั้งนี้ ไม่ได้เน้นเรียกร้องเงินเยียวยา แต่ต้องการให้เกิดการจัดการสิ่งแวดล้อมกลับคืนสู่สภาพเดิม เพื่อที่จะสามารถกลับมาประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน มีรายได้เลี้ยงชีพเท่าก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำมั่นรั่ว รวมถึงกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานอย่างเต็มรูปแบบ

เป็นเวลาเกือบหนึ่งปี หลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบของ PTTGC รั่วไหลออกทะเล จ.ระยอง แต่ดูเหมือนว่าการเยียวยาผลกระทบที่เกิดกับชาวบ้านและทรัพยากรธรรมชาติ จะยังไม่สามารถฟื้นฟูวิถีชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านให้กลับคืนมาดังเดิมได้

วีรศักดิ์ คงณรงค์ สมาชิกคนสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง กล่าวว่า เกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นถือว่าสาหัสมาก แม้ว่าภายหลังเกิดเหตุการณ์ระยะแรกจะยังพอหาปลาได้บ้าง แต่ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจ งดบริโภคอาหารทะเล ทำให้จำหน่ายปลาไม่ได้ ขณะที่ชาวประมงเองก็ไม่กล้านำปลาที่จับได้ในช่วงนั้นออกจำหน่าย เนื่องจากกลัวน้ำมันดิบปนเปื้อนในอาหารไปสู่ผู้บริโภค

ทั้งนี้ รายได้จากการประมงยังลดลงอย่างเห็นได้ชัด ยืนยันได้จากบัญชีครัวเรือนที่แต่คนทำไว้ รายได้ที่เคยได้รับจากการทำประมงก่อนจะเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่ว อยู่ที่ประมาณ 500 -10,000 บาทต่อวัน แต่หลังเกิดเหตุการณ์ทำให้จำหน่ายอาหารทะเลไม่ได้ และหาอาหารทะเลได้น้อยลงมาก ขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เพราะต้องออกทะเลไปไกลขึ้น กระทั่งต้นปีที่ผ่านมามีชาวประมงบางส่วนเริ่มเปลี่ยนอาชีพ หันไปรับจ้างประมาณ 40% ค่าแรงที่ได้รับจากการรับจ้างอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน ทั้งยังเป็นงานที่ไม่ถนัด แต่ที่คนส่วนใหญ่ยังยึดอาชีพประมงอยู่เพราะไม่มีทางเลือก และขาดความรู้ในการประกอบอาชีพอื่น

นอกจากนี้ การทำประมงโป๊ะเชือก เครื่องมือประมงประจำที่ขนาดใหญ่ ที่ชาวบ้านได้รับการสนับสนุนจากกรมประมง และศูนย์พัฒนาประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ได้ผลลดลงอย่างเห็นได้ชัด ถือเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดสำคัญของทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล เนื่องจากโครงสร้างของเครื่องมือยึดตรึงอยู่กับพื้นทะเล ห่างจากชายฝั่งประมาณ 3-4 กม. และมีการบันทึกผลการจับสัตว์น้ำและรายได้อย่างเป็นระบบ

ชาวประมงโป๊ะเชือก จ.ระยอง กล่าวว่า ที่ผ่านมาจะกู้โป๊ะแบบวันเว้นวัน แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่ว ต้องเปลี่ยนมากู้แบบวันเว้นสองวัน เพราะถ้ากู้ตามปกติจะขาดทุน เนื่องจากมีปลาน้อยมาก 

ในช่วงฤดูกาลก่อนน้ำมันดิบรั่ว ช่วงเดือน ต.ค. 2555 - เม.ย. 2556 รายได้จากการประมงโป๊ะเชือกอยู่ที่ 898,370 บาท แต่ฤดูกาลหลังเกิดเหตุการณ์  เดือน พ.ย. 2556 - เม.ย. 2557 รายได้จากการประมงโป๊ะเชือกลดลงไปมากกว่า 3 แสนบาท เหลือเพียง 574,538 บาท รวมถึงปลาที่เคยกู้ได้หลายสิบกิโลกรัมอย่างปลาจะละเม็ด หลังเกิดเหตุการณ์จับได้เพียง 2 ตัว และเป็นปลาขนาดเล็ก ส่วนปลาที่อยู่ในพื้นที่ อย่างปลาสากเหลือง ปลาข้างเหลือง ลดปริมาณลงกว่าครึ่ง

ด้านอำนาจ ศรีชลา ชาวประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านกังวลใจกันมากคือเรื่องของสุขภาพ เนื่องจากมีชาวประมงบางคนได้รับสารเคมีที่ใช้ย่อยสลายคราบน้ำมันดิบ โปรยถูกโดยตรงระหว่างออกหาปลาในช่วงที่น้ำมันดิบเพิ่งรั่วไหล สารพิษอาจสะสมในร่างกายจนเกิดโรค นอกจากนี้ เริ่มมีชาวประมงหลายรายที่มีอาการผื่นแพ้ ซึ่งแพทย์ระบุว่าเป็นอาการที่เกิดจากการสัมผัสสารพิษ ถ้าหากเป็นไปได้ควรจะมีการตรวจเช็คสุขภาพให้ชาวบ้านทุกปี ทว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์กลับไม่มีหน่วยงานด้านสาธารณสุขเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง

ขณะที่ ไพบูลย์ เล็กรัตน์ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า PTTGC อ้างว่าให้เงินเยียวยารายละ 30,000 บาท ที่ PTTGC และหน่วยงานรัฐเป็นผู้กำหนด โดยปฏิเสธข้อเรียกร้องของชาวบ้าน แต่ยังไม่สามารถตกลงเรื่องเงินชดเชยสำหรับผู้ได้รับผลกระทบได้ และที่ PTTGC รวมถึงหน่วยงานภาครัฐออกมาให้ข่าวว่าพื้นที่ได้รับการเยียวยา ปัญหาได้รับการแก้ไข ปลอดภัยแล้ว ชาวบ้านขอยืนยันเลยว่าปัญหายังไม่ได้ถูกแก้ไข ปัญหามันเกิดอยู่ในทะเล แต่วิธีการพูด การนำเสนอ หรือทำความเข้าใจกับสังคมมักไม่พูดถึงผลกระทบในทะเล แต่จะเลี่ยงไปพูดถึงเกาะเสม็ดแทน

ด้านสุวรรณ นันทศรุต ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 ยืนยันกับชาวบ้านว่า กรมควบคุมมลพิษในฐานะหน่วยงานสนับสนุนด้านวิชาการของ กปน. ได้ลงพื้นที่จัดเก็บตัวอย่างน้ำบริเวณรอบเกาะเสม็ด 12  สถานี ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. 2556 ถึงปัจจุบัน พบว่า แม้จะมีการการปนเปื้อนสารปรอท และสารประกอบปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน เกินค่ามาตรฐานในช่วงแรก แต่หลังวันที่ 23 ก.ย. 2556 - 19 ก.ค. 2557 ค่าการปนเปื้อนได้กลับสู่ระดับปกติ

ขณะที่การเก็บตัวอย่างเพื่อวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่งทั้งหมด 9 สถานี บริเวณที่มีปัญหา คือ สวนรุกขชาติเพ หาดพะยูน และหาดแม่รำพึง แต่เป็นบริเวณที่มีการปนเปื้อนน้ำเสียและโลหะหนักจากบ้านเรือน จากพื้นที่เกษตรด้านบน ส่วนปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานถึงเกินเล็กน้อย

สอดคล้องกับการแถลงข่าว ครบรอบ 1 ปี น้ำมันรั่วไหลลงทะเล จ.ระยอง โดยกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2557 โดยสรุปว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อม บริเวณรอบเกาะเสม็ด และชายฝั่งทะเล จ.ระยอง ณ วันที่ 25 ก.ค. 2557 ภาพรวมคุณภาพน้ำทะเลมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล น้ำทะเลมีสภาพใส ไม่พบคราบน้ำมันใน น้ำทะเลและบนชายหาด ระบบนิเวศหาดทรายพบว่ามีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ควรมีการติดตามคุณภาพน้ำ ตะกอนดิน และการปนเปื้อนหาดทรายอย่างต่อเนื่องต่อไป

นอกจากนี้ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2556 ได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการศึกษาผลกระทบในระยะยาวต่อทรัพยากรธรรมชาติและฟื้นฟูให้กลับไปอยู่ในสภาพเดิม จัดทำแผนงานแก้ไขและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน จ.ระยอง

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอกรอบแผนงานแก้ไข และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน จ.ระยอง ต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และจัดส่งไปยัง กปน. รวมถึงบริษัท PTTGC เพื่อดำเนินการตามแผนงานที่กำหนด โดยแผนงานประกอบด้วย

1. แผนงานแก้ไขและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม ประกอบด้วย 5 กิจกรรม คือ 1) การฟื้นฟูผลกระทบต่อระบบนิเวศ 2) การฟื้นฟูผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต 3) การฟื้นฟูผลกระทบต่อการบริการของระบบนิเวศ 4) การติดตามเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และ 5) การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของเกาะเสม็ด มีโครงการรวม 25 โครงการ

2. แผนงานติดตามและประเมินผล เป็นการติดตามทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม 7 โครงการ ได้แก่ โครงการติดตามประเมินผล 1) ปัจจัยทางสมุทรศาสตร์ 2) แนวปะการัง 3) แหล่งหญ้าทะเล 4) ระบบนิเวศชายหาด/หาดหิน 5) ระบบนิเวศป่าชายเลน 6) สัตว์ทะเลหายาก และ 7) ด้านมลพิษ

แผนการฟื้นฟูฯ มีกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2556-2560 โครงการส่วนใหญ่จะดำเนินการถึงปี 2558 ยกเว้นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูแนวปะการังและระบบนิเวศชายหาด/หาดหิน มีกรอบวงเงินงบประมาณรวม 166 ล้านบาท อยู่ในแผนงานแก้ไขและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 73 ล้านบาท และแผนงานติดตามและประเมินผล 93 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังคงกังวลใจว่า ข้อมูลของภาครัฐหลายส่วนยังขาดความน่าเชื่อถือ ทั้งปริมาณน้ำมันดิบที่แท้จริงที่รั่วไหลลงสู่ทะเล ผลกระทบที่เกิดจากสารเคมีที่ใช้สลายคราบน้ำมันดิบ รวมถึงการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ ความเป็นกลางในการศึกษาผลกระทบเชิงวิชาการ การประเมินความเสียหาย และการฟื้นฟู ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ทรัพยากรของ PTTGC

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท