Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

ภายหลังจากการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) รายชื่อของสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ ให้ประชาชนได้ยลโฉมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติผู้ทรงเกียรติทั้ง 200 คน ที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกของสถาบันทางการเมืองที่ทำหน้าที่แทนรัฐสภา กล่าวคือปฏิบัติหน้าที่แทนทั้งสภาผู้แทนราษฎร(สภาล่าง) และวุฒิสภา(สภาบน) ในการร่าง พิจารณา และประกาศบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติผู้ซึ่งปฏิบัติงานเป็น”ตัวแทนของปวงชนชาวไทย”นั้นมีที่มาจากการ”แต่งตั้ง”โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งผู้เขียนขอเกริ่นนำเอาไว้เท่านี้ก่อน

ทั้งนี้หากท่านผู้อ่านยังคงจำกันได้ ย้อนกลับไปในช่วงรัฐบาลก่อนหน้ารัฐบาลสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไกลออกไปอีกถึงรัฐบาลในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นทั้งสองรัฐบาลนี้ได้ถูกประชาชนชุมนุมขับไล่และกล่าวหาด้วยความผิดข้อหาหนึ่งคือ “การเผด็จการรัฐสภา” อันเนื่องจากการเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เองและการใช้เสียงข้างมากที่เลือกตนเข้ามานั้นเป็นข้ออ้างในการละเมิดเสียงส่วนน้อย คุกคามสื่อ และใช้อำนาจโดยมิชอบ (ตามข้อกล่าวหาของประชาชนที่เดินขบวนและชุมนุมประท้วงต่อต้านในขณะนั้น)

แน่นอนว่านั่นเป็นปัญหาหนึ่งของระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ที่ผู้แทนใช้ความชอบธรรมจากที่มาของตนไปใช้ในทางมิชอบ ดังจะเห็นได้จากกรณีการผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา เป็นต้น อย่างไรก็ดีเราไม่ควรลืมว่าในอีกมิติหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า”เผด็จการรัฐสภา”ก็คือ”รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ” และไม่ควรลืมว่ารัฐบาลที่มีเสถียรภาพนั้นส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงธุรกิจ และสร้างแรงจูงใจในการลงทุน นอกจากนี้ความมีเสถียรภาพของรัฐบาลนั้นยังส่งผลไปถึงความคล่องตัวในกระบวนการดำเนินการแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างรวดเร็ว

อีกทั้งภายใต้บรรยากาศของระบอบประชาธิปไตย ในรัฐบาลประชาธิปไตยนี้ประชาชนมีกลไกรัฐสำหรับถ่วงดุลและตรวจสอบอำนาจของนักการเมืองมากมาย ซึ่งองค์กรเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาแทนประชาชนอีกถ่ายหนึ่งในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล อาทิเช่นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือในระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้นประชาชนสามารถเรียกคืนอำนาจอธิปไตยของตนผ่านการเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ไปจนถึงลงโทษนักการเมืองได้โดยการไม่เลือกนักการเมืองที่หักหลังประชาชนเข้าไปนั่งในสภาอีก แน่นอนว่าจุดนี้ก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการผูกมัดระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนในระดับท้องถิ่นที่ไม่ก่อให้เกิดการลงโทษนักการเมือง อย่างไรก็ดีการแก้ปัญหานี้ควรแก้ไขที่การส่งเสริมภาคประชาชนให้เข้มแข็งเพื่อให้ประชาชนสามารถต่อรอง ตรวจสอบ และกำกับนักการเมืองที่ตนเองเลือกได้มิใช่ยกเลิกระบบการเลือกตั้ง

ย้อนกลับมาดูในส่วนสภานิติบัญญัติที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐสภาที่ผู้เขียนได้เกริ่นนำเอาไว้ หากท่านที่เคยเดินขบวนขับไล่”เผด็จการรัฐสภา”ยังไม่ลืมอุดมการณ์ที่ตนเคยยึดถือ ไม่กลืนสิ่งที่ตนเคยพูดลงคอแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาตินี้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลน้อย อีกทั้งที่มาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเองก็มิได้ยึดโยงกับประชาชน หากพิจารณาจากสัดส่วนของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วก็จะพบว่าในจำนวนสมาชิกทั้ง 200 คนนั้นประกอบด้วย ผู้มียศ นายพล ถึง 114คน ยศ นายพัน 1 คน และ ยศนายร้อย 1 คน รวมเป็น 116 คนจาก 200 คน มีพลเรือนเพียง 84 คน ซึ่งพลเรือนเหล่านี้ก็ล้วนเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนและชนชั้นนำหรือผู้มีตำแหน่งเช่น อธิการบดีมหาวิทยาลัย ซึ่งหากนับดูแล้วแทบจะมองไม่เห็นตัวแทนของภาคประชาชนเลย เรียกได้ว่าเกินครึ่งของสภานั้นเป็นตำรวจ-ทหาร ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง หากจะให้เปรียบเทียบกันแล้วในระบบ ”เผด็จการรัฐสภา” หรือ “เผด็จการเสียงข้างมาก” ในยุคก่อนหน้านี้ประชาชนทุกคนยังมีสิทธิและส่วนร่วมทางการเมือง อย่างน้อยที่สุดก็สามารถเลือกผู้แทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาได้  

ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากชี้ชวนให้ผู้อ่านได้ตั้งคำถามและขบคิดต่อไปจากบทความชิ้นนี้คือ บริบททางการเมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมานั้น เราอาจจะนับได้ว่า(และควรยอมรับว่า)กองทัพได้กลายเป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่งในสารบบการเมืองไทยที่ทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลอยู่เช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ (นับแต่ปี 2549)กองทัพกลายเป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่งที่ถูกตั้งความคาดหวังจากประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกร้องการรัฐประหารจากกองทัพ) ขณะที่ตำรวจนั้นเป็นกลไกรัฐของเผด็จการรัฐสภา ทว่าในปัจจุบันนี้ ณ เวลานี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติกว่าครึ่งประกอบไปด้วยผู้มียศ “นายพล” ซึ่งมาจากทั้งสายทหารและตำรวจซึ่งหลายท่านก็ยังคงดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับผู้บังคับบัญชากำลังพลของแต่ละเหล่าทัพด้วย ขณะที่กลไกการถ่วงดุลอำนาจอย่างองค์กรอิสระกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อยุบและยกเลิกเสีย 


ณ เวลานี้ผมคิดว่าปวงชนชาวไทยควรตั้งคำถามย้ำกับตัวเองอีกครั้งให้แน่ชัดว่า เรากำลังมีความสุขกับระบบการปกครองที่เป็นอยู่นี้จริงๆหรือ? และระบบการปกครองแบบนี้คือระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่เราท่านเรียกหากันมาโดยตลอดใช่หรือไม่? และคำถามสำคัญที่สุดที่ต้องถามย้ำ และหาคำตอบให้กับตัวเองให้ได้ในตอนนี้ก็คือ “รัฐสภา” แบบไหนที่ควรขนานนามว่าเป็น “เผด็จการรัฐสภา” มากกว่ากัน?

 

 

  

โปรดดูเพิ่มเติม
โปรดเกล้าฯ รายชื่อ200 สนช. 
เผด็จการรัฐสภาในระบบยิ่งมั่ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net