Skip to main content
sharethis
 
คสช. อนุมัติหลักการกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551
 
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม คสช. เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ครั้งที่ 8/2557 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานฯ ร.อ.นายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ พร้อมด้วย นางสาวปถมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่ายพลเรือน ได้แถลงผลการประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
 
ที่ประชุม คสช.ครั้งที่ 8/2557 เห็นชอบร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 จำนวน 2 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวของคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ดังนี้
 
1.ร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในมาตรา 15 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการยกเลิกการหักเงินค่าจ้างของลูกจ้างเพื่อนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร
 
2.ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และเป็นการจูงใจให้คนต่างด้าวที่อยู่นอกระบบการจ้างงานเข้าสู่ระบบการจ้างงานโดยถูกต้องตามกฎหมาย รวม 2 ฉบับ โดยสาระสำคัญ เป็นการกำหนดค่าธรรมเนียมการทำงานของคนต่างด้าวสำหรับสาขาอาชีพรับจ้างทำงานโดยใช้กำลังกายเป็นหลักหรือรับจ้างทำงานในบ้าน ในอัตราเดียวกันทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ดังนี้
 
ประเภท อัตราค่าธรรมเนียม
ใบอนุญาต/การต่ออายุใบอนุญาตที่มีอายุไม่เกิน 3 เดือน ฉบับละ 225 บาท
ใบอนุญาต/การต่ออายุใบอนุญาตที่มีอายุเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือน ฉบับละ 450 บาท
 
ใบอนุญาต/การต่ออายุใบอนุญาตที่มีอายุเกิน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี ฉบับละ 900 บาท
ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 200 บาท
การอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่มลักษณะงาน ครั้งละ 900 บาท
การอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่มนายจ้าง ครั้งละ 900 บาท
การอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่มท้องที่หรือสถานที่ทำงาน ครั้งละ 900 บาท
การอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่มเงื่อนไขในการอนุญาต ครั้งละ 150 บาท
กำหนดค่าธรรมเนียมการทำงานของคนต่างด้าวสำหรับสาขาอาชีพอื่น นอกจากอาชีพรับจ้างทำงานโดยใช้กำลังกายเป็นหลักหรือรับจ้างทำงานในบ้าน ในอัตราเดียวกันทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ดังนี้
 
ประเภท อัตราค่าธรรมเนียม
ใบอนุญาต/การต่ออายุใบอนุญาตที่มีอายุไม่เกิน 3 เดือน ฉบับละ 750 บาท
ใบอนุญาต/การต่ออายุใบอนุญาตที่มีอายุเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือน ฉบับละ 1,500 บาท
 
ใบอนุญาต/การต่ออายุใบอนุญาตที่มีอายุเกิน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี ฉบับละ 3,000 บาท
 
ใบแทนใบอนุญาต ครั้งละ 500 บาท
การอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่มลักษณะงาน ครั้งละ 1,000 บาท
การอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่มนายจ้าง ครั้งละ 3,000บาท
การอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่มท้องที่หรือสถานที่ทำงาน ครั้งละ 1,000 บาท
การอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่มเงื่อนไขในการอนุญาต ครั้งละ 150 บาท
ยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่มท้องที่หรือสถานที่ทำงานสำหรับสาขาอาชีพรับจ้างทำงานโดยใช้กำลังกายเป็นหลักในกิจการก่อสร้างหรือรับจ้างทำงานในบ้าน
 
กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2557
 
(กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก, 30-7-2557)
 
ยอดลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว 378,444 คน
 
ก.แรงงาน สรุปยอดลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศจนถึงวันที่ 28 ก.ค.57 รวมทั้งสิ้น 378,444 คน มากที่สุดคือกัมพูชา กว่า 185,000 คน
 
ฝ่ายสารสนเทศแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน เผยสถิติการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวของศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ทั่วประเทศ ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 378,444 คน จาก 3 สัญชาติ ได้แก่ สัญชาติเมียนมาร์จำนวน 137,312 คน สัญชาติกัมพูชาจำนวน 185,757 คน และสัญชาติลาวจำนวน 55,375 คน
 
สำหรับข้อมูลดังกล่าวรวบรวมจากศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในจังหวัดชายแดนในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วยศูนย์ฯ จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี ตราด และสุรินทร์ มีนายจ้างจำนวน 6,204 ราย แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาจำนวน 51,564 คน ศูนย์ฯ สมุทรสาคร และอีก 7 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยอง สงขลา สมุทรปราการ และสุราษฎร์ธานี มีนายจ้างจำนวน 27,308 ราย แยกเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์จำนวน 75,306 คน สัญชาติกัมพูชาจำนวน 80,010 คน และสัญชาติลาวจำนวน 24,337 คน รวมยอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 179,653 คน
 
ศูนย์กรุงเทพมหานคร 6 ศูนย์ มีนายจ้างจำนวน 20,812 ราย จำแนกเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์จำนวน 32,414 คน สัญชาติกัมพูชาจำนวน 44,066 คน สัญชาติลาว 24,995 คน รวมจดทะเบียนทั้งสิ้น 101,475 คน และศูนย์ฯ 15 จังหวัดชายทะเล มีนายจ้างจำนวน 8,461 ราย จำแนกเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์จำนวน 29,592 คน สัญชาติกัมพูชาจำนวน 10,117 คน และสัญชาติลาวจำนวน 6,043 คน รวมจดทะเบียนทั้งสิ้น 45,752 คน
 
(สำนักข่าวไทย, 30-7-2557)
 
คสช.สั่งเร่งอพยพคนไทยในลิเบียทันที
 
พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานรองหัวหน้า คสช. และหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้า คสช. เป็นห่วงนักศึกษาไทยและแรงงานไทยในประเทศลิเบีย จึงสั่งให้เตรียมความพร้อมเรื่องการอพยพกลับ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดตั้งศูนย์เคลื่อนย้ายแรงงานไทยกลับ โดยจุดแรกจะตั้งเป็นศูนย์กลางที่กระทรวงการต่างประเทศ จุดที่ 2 ที่เมืองเจอบร้า จุดที่ 2 คือ เมืองตูนิส ซึ่งในวันนี้ จะเริ่มเคลื่อนย้ายคนไทยไปสู่จุดนัดหมายที่เมืองตูนิสเพื่อกลับประเทศด้วยความระมัดระวัง โดยจะเคลื่อนย้ายในเวลากลางวัน
 
ทั้งนี้ เบื้องต้นมีผู้แจ้งความประสงค์เดินทางกลับแบ่งเป็นแรงงานไทย 30 คน และ นักศึกษา 11 คน จะออกเดินทางในวันพรุ่งนี้ (1 ส.ค. )  ส่วนอีก 70 คน ทางฝั่งเบนกาซีได้เตรียมความพร้อมในการอพยพกลับแล้วแต่ยังไม่ได้กำหนดวัน เพราะต้องเคลียร์เรื่องการเดินทางออกนอกประเทศ
 
โดยกระทรวงต่างประเทศ ประสานงานหาเครื่องบินพาณิชย์เพื่อรับกลับ แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้จะเปลี่ยนเป็นเครื่องบินของกองทัพอากาศไทย ซึ่งสั่งเตรียมเครื่องบิน ซี 130 ไว้แล้ว 
 
นายมานพชัย วงศ์ภักดี อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งเป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทย ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และแพทย์ทหารเพื่อตั้งศูนย์ช่วยเหลืออพยพคนไทย ที่กรุงตูนิส และเมืองเจอร์บา จะเดินทางออกจากไทยได้ในคืนนี้ ถึงตูนิเซียในวันศุกร์ และจะนำนักศึกษาและคนไทยกลุ่มแรกจำนวน 40 คน ออกจากลิเบียได้ภายในสุดสัปดาห์นี้ โดยเบื้องต้นได้รับแจ้งจากบริษัทจัดหางานว่ากำลังเริ่มอพยพแรงงานออกมาบางส่วนแล้ว
 
อย่างไรก็ตามกระทรวงการต่างประเทศไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของบริษัทจัดหางานที่ให้ย้ายแรงงานจากฝั่งเมืองเบงกาซี มาทางเรือ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอันตรายระหว่างอพยพมาชายแดนตูนิเซียซึ่งมีระยะทางห่างกันกว่า 1,200 กิโลเมตร โดยเฉพาะในช่วงนี้เป็นฤดูท่องเที่ยวของยุโรปทำให้หาเรือได้ยาก และจำนวนคนงานในฝั่งตะวันออกของลิเบียมีจำนวนไม่มาก โดยกำลังพิจารณาให้แรงงานทางตะวันออกขึ้นเครื่องบินมากรุงตูนิสโดยตรง เพื่อต่อเครื่องกลับประเทศไทยได้ทันที เพราะขณะนี้สนามบินที่เมืองเบงกาซีไม่ได้ถูกปิด
 
(ครอบครัวข่าว, 31-7-2557)
 
สธ.หารือ สช.สปสช.ตั้งคกก.ประสาน 3 กองทุน
 
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย หลังมีการปรึกษาหารือ ร่วมกับฝ่ายสังคมจิตวิทยา กองทัพเรือ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ 3 กองทุน คือ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ระบบประกันสุขภาพ เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทั้งค่าใช้จ่าย โดยปรึกษาหารือกัน 2 เรื่องคือ 1.การตั้งคณะกรรมการประสาน 3 กองทุน ส่วนเรื่องที่ 2.เรื่องการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการระบบสุขภาพของประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ ได้มีการร่างแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 กองทุนแล้ว
 
ส่วนเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพ ได้มีการคุยเรื่องมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 5 ข้อ ได้แก่ การปฏิรูประบบสร้างเสริมสุขภาพ ระบบบริการสุขภาพ บุคลากรด้านสุขภาพ ระบบการเงินการคลังและการอภิบาลระบบสุขภาพ ซึ่งทุกฝ่ายในที่ประชุมต่างก็เห็นตรงกัน สำหรับร่างแต่งตั้งคณะกรรมการนั้น มาจากตัวแทน 3 กองทุนและผู้ทรงคุณวุฒิ โดยจะเป็นการพูดคุยว่าแต่ละกองทุนมองตัวเองยังไง ซึ่งอาจจะมีตัวแทนของผู้ให้บริการ เข้าไปร่วมด้วยเพื่อจะได้เห็นรูปแบบการทำงาน
 
ทั้งนี้ เป็นเพียงการยกร่างเท่านั้น ยังไม่มีรายละเอียดของเนื้อหา ส่วนการจะปฏิรูปอะไรบ้างนั้นจะนำไปพูดคุยในเวทีของ คสช. โดยดูมติ 5 ข้อของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติแล้วจะแปลงไปสู่การปฏิรูปยังไง ซึ่งในเวทีนั้นมีภาคประชาชนอยู่ด้วย
 
(ไอเอ็นเอ็น, 31-7-2557)
 
กสร.ห่วงแรงงานซับคอนแทรคถูกเลิกจ้าง
 
นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้ปัญหาเลิกจ้างยังอยู่ภาวะปกติ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจดีขึ้น หลังประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตทางการเมือง แต่ธุรกิจบางประเภท เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังลดวันทำงานและโอที เพื่อปรับตัวรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และให้แข่งขันได้ในเวทีการค้านานาชาติ และเตรียมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
       
ทั้งนี้ กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือแรงงานรับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) ซึ่งปัจจุบันคาดว่ามีแรงงานกลุ่มนี้ประมาณ 2 - 3 แสนคน ขณะนี้หลายสถานประกอบการได้ลดจำนวนแรงงานซับคอนแทรคลง เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน เช่น โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในจังหวัดสมุทรสาครเลิกจ้าง 800 คน โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เลิกจ้าง 600 คน ซึ่งทั้งสองบริษัทได้จ่ายเงินชดเชยให้แก่แรงงานซับคอนแทรคตามกฎหมาย ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลแรงงานได้มีคำพิพากษาตามมาตรา 11/1 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้แรงงานซับคอนแทรค ของบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ ซึ่งเป็นคำพิพากษานี้มีผลเฉพาะแรงงานซับคอนแทรคกลุ่มดังกล่าวเท่านั้น
       
รองอธิบดี กสร. กล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ในช่วงวันที่ 1 ต.ค. 2556 ถึงวันที่ 28 ก.ค. 2557 มีสถานการณ์ชุมนุมของผู้ใช้แรงงาน 78 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการชุมนุมข้อเรียกร้องในเรื่องเงินโบนัส โดยเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ 38 ครั้ง จ.ชลบุรี 14 ครั้ง และจังหวัดอื่นๆ ต่ำกว่า 5 ครั้ง เช่น จ.อ่างทอง ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี ปราจีนบุรี และสระบุรี รวมทั้งมีสถานประกอบการที่แรงงานมีข้อเรียกร้อง 429 แห่ง ข้อพิพาทแรงงาน 107 แห่ง ข้อขัดแย้ง 157 แห่ง ผละงาน 6 แห่ง นัดหยุดงาน 2 แห่ง ปิดงาน 6 แห่ง และมีการจดทะเบียนข้อตกลงและสิทธิประโยชน์ 441 ฉบับ รวมเป็นเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม กสร. ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปชี้แจง ทำความเข้าใจกับนายจ้างและลูกจ้าง ในสถานประกอบการต่างๆ รวมทั้งมีทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอย่างต่อเนื่อง
       
“สิ่งที่น่ากังวลคือช่วงปลายปี แรงงานจะยื่นข้อเรียกร้องเงินโบนัส ปรับขึ้นค่าจ้าง และสวัสดิการต่างๆ ซึ่งปีนี้อาจจะมีประเด็นเรื่องลูกจ้างซับคอนแทรคเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จะทำให้ลูกจ้างประจำได้รับเงินโบนัส ปรับขึ้นค่าจ้างและสวัสดิการลดลงกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ในจังหวัดปริมณฑล และภาคตะวันออก เช่น สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งใช้แรงงานซับคอนแทรคจำนวนมาก โดยมีสถานประกอบการที่ต้องเฝ้าระวังประมาณ 100 บริษัท กสร. จะจัดการประชุมทั้งในกรุงเทพฯและภาคตะวันออกแล้วเชิญนายจ้างและลูกจ้างมาชี้แจงทำความเข้าใจ รวมถึงให้ทั้งสองฝ่ายพูดคุยหาทางออกร่วมกันด้วยเหตุผลและใช้ความสุจริตใจ โดยเฉพาะกรณีแรงงานซับคอนแทรคในเดือนสิงหาคมนี้ นอกจากนี้ จะเชิญผู้นำแรงงานในภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ มาหารือร่วมกันถึงปัญหาด้านแรงงาน และข้อเสนอต่างๆ ในเดือนสิงหาคมนี้เช่นกัน เพื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” นายสุวิทย์ กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 1-8-2557)
 
สถานการณ์เลิกจ้างแรงงานยังอยู่ในปกติ
 
รองธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผยสถานการณ์เลิกจ้างแรงงานยังอยู่ในปกติ ย้ำห่วงแรงงานซับคอนแทรค หลังศาลแรงงานมีคำพิพากษาให้แรงงานในบริษัทแห่งหนึ่งได้รับค่าจ้าง-สวัสดิการเท่ากับลูกจ้างประจำ
 
นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ปัญหาเลิกจ้างยังอยู่ภาวะปกติ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจดีขึ้น หลังประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติทางการเมือง แต่ธุรกิจบางประเภท เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังลดวันทำงานและโอที เพื่อปรับตัวรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ให้แข่งขันได้ในเวทีการค้านานาชาติ และเตรียมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
 
ทั้งนี้ กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือแรงงานรับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) ซึ่งปัจจุบันคาดว่ามีแรงงานกลุ่มนี้ประมาณ 2-3 แสนคน ขณะนี้หลายสถานประกอบการได้ลดจำนวนแรงงานซับคอนแทรคลงเพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน เช่น โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร เลิกจ้าง 800 คน โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เลิกจ้าง 600 คน ซึ่งทั้งสองบริษัทได้จ่ายเงินชดเชยให้แก่แรงงานซับคอนแทรคตามกฎหมาย และเมื่อเร็วๆ นี้ ศาลแรงงานได้มีคำพิพากษาตามมาตรา 11/1 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ให้แรงงานซับคอนแทรคของบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ ซึ่งเป็นคำพิพากษานี้มีผลเฉพาะแรงงานซับคอนแทรคกลุ่มดังกล่าวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สถานประกอบการต่างๆ ที่ใช้แรงงานซับคอนแทรคต่างมีความกังวลในเรื่องนี้
 
(สำนักข่าวไทย, 1-8-2557)
 
คาดปี 58 จัดงบตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบการเพิ่ม 100 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่กว่า 1,000 แห่ง
 
นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กสร. ได้ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง รวมทั้งช่วยสร้างความผูกพันระหว่างแม่กับลูกโดยดำเนินโครงการมุมนมแม่มาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งในระยะแรกเป็นการส่งเสริมให้สถานประกอบการจัดตั้งมุมนมแม่ขึ้น ต่อมาในปี 2553 กสร. ได้ลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย องค์การอนามัยโลกในการสนับสนุนการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีสถานประกอบการจัดตั้งนมแม่แล้วกว่า 1,100 แห่ง มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกว่า 7 แสนคน และลูกจ้างหญิงที่มาใช้บริการศูนย์นมแม่รวมกว่า 8,000 คน ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2558 กสร. ตั้งเป้าหมายจะจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบการเพิ่มเติมอีก 100 แห่ง ซึ่ง กสร. จะจัดงบสนับสนุนสถานประกอบการแห่งละ 4,000 บาท
       
รองอธิบดี กสร. กล่าวอีกว่า การจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบการนั้นมีประโยชน์ในหลายเรื่อง ทั้งความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน รวมทั้งช่วยลูกจ้างประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อนมผสม ซึ่งมีราคาแพง โดยเฉลี่ยลูกจ้างใช้เงินซื้อนมผสมเดือนละ 3,500 บาท ทั้งนี้ ตามปกติการให้นมแม่จะอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน หากให้ลูกจ้างได้หยุดพักวันละ 3 ครั้ง เพื่อปั๊มนมแม่และนำมาเก็บไว้ในตู้เย็นในมุมนมแม่และนำไปให้ลูกดื่มที่บ้าน ก็จะช่วยประหยัดค่านมผสมไปได้รวมทั้งหมดเป็นเงิน 21,000 บาท 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 4-8-2557)
 
คลังดัน 4 แบบขึ้นเงินให้ข้าราชการ คาดใช้เงินเพิ่ม 1.2 หมื่น ล.รัฐวิสาหกิจขอด้วย บอกต้องขึ้นทั้งระบบ
 
รายงานข่าวกระทรวงการคลังแจ้งว่า กรณีการเพิ่มเงินเดือนข้าราชการตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กรมเสมียนตรา สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประชุมหาแนวทางปรับเพิ่มค่าตอบแทนประเภทต่างๆ ทั้งเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลา และค่าตอบแทนอื่นๆ ทั้งระบบ
 
ข่าวแจ้งว่า ผลการประชุมสรุป 4 ประเด็น คือ 1.ปรับฐานเงินเดือนทั้งระบบเพิ่มอีก 8% ของฐานอัตราเงินเดือนเดิมโดยคำนวณวงเงินงบประมาณในรอบ 3 เดือนและ 6 เดือนแล้วแต่ความเหมาะสม 2.เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย โดยไม่ปรับเพิ่มเงินเดือนเพื่อมิให้กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ จากกรอบเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว 1,500 บาท รวมเงินเดือนต้องไม่ต่ำกว่า 9,000 บาท แต่ไม่สูงกว่า 12,285 บาท ให้ปรับเพิ่มเป็นค่าครองชีพชั่วคราว 2,000 บาท เมื่อรวมกับเงินเดือนแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท และต้องไม่สูงกว่า 13,285 บาท โดยให้แต่ละหน่วยงานไปคำนวณวงเงินแล้วแจ้งผลมายังกรมบัญชีกลาง 3.ยกฐานอัตราเงินเดือนและเพิ่มอัตราเงินเดือนให้เหมาะสม และ 4.กรณีการปรับปรุงเงินตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำการและค่าตอบแทนอื่นให้แต่ละหน่วยงานไปตกลงกับกรมบัญชีกลาง
 
รายงานข่าวแจ้งว่าแต่ละแนวทางนั้นใช้เงินต่างกัน ที่ผ่านมาสำนักงบประมาณจัดสรรวงเงินเพื่อจ่ายเงินเดือนข้าราชการในงบประมาณประจำปีเพิ่มปีละ 6% อยู่แล้ว เป็นการเพิ่มในอัตราปกติ โดยในปีงบประมาณ 2557 งบเงินเดือนข้าราชการกว่า 2 ล้านคนอยู่ที่ 5.99 แสนล้านบาท โดยงบประมาณปี 2558 เพิ่มเป็น 6.3 แสนล้านบาท หรือทุก 1% ที่ต้องจ่ายเงินเดือนเพิ่มจะมีผลต้องใช้งบประมาณ 6,000 ล้านบาท ดังนั้นถ้าเพิ่มจาก 6% เป็น 8% จะใช้เงินเพิ่ม 1.2 หมื่นล้านบาท ส่วนการเพิ่มค่าครองชีพนั้น เป็นงบของแต่ละหน่วยงานที่จะไปจัดสรรกันเอง ไม่ได้อยู่ในงบเงินเดือน 
 
รายงานข่าวแจ้งว่า คงต้องรอ คสช.สรุปก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการ คสช.ที่ให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ ตีความได้ว่าเป็นการเพิ่มทั้งฐานเงินเดือน การยกฐานเงินเดือน เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว การปรับค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลา ซึ่งทำให้งบประมาณสูงขึ้นไปอีก แต่จะเป็นเท่าใดขณะนี้ยังไม่ได้มีการคำนวณ 
 
นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ สพร.การบินไทย กล่าวถึงกรณีที่ คสช.จะเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ ว่า หากจะปรับขึ้นเงินเดือนก็ต้องปรับขึ้นทั้งระบบ ทั้งข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวต้องหารือกันในคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ก่อนว่าจะเรียกร้องให้ปรับขึ้นอย่างไรอัตราเท่าไร
 
(มติชนออนไลน์, 4-8-2557)
 
'สหภาพพยาบาล' ขอความเป็นธรรมชี้ 'งานหนัก-เงินน้อย'
 
สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องสิทธิ์ของพยาบาล โดยระบุว่ามาจากสถานการณ์ประกอบวิชาชีพพยาบาลที่ไม่มีความเป็นธรรม ทำงานหนัก ผลตอบแทนไม่เป็นธรรม เสี่ยงเจ็บป่วยจากการทำงานและเสียชีวิต ทั้งยังต้องทำหน้าที่แทนวิชาชีพอื่น ไม่มีโอกาสก้าวหน้าในวิชาชีพ จึงขอเรียกร้องความเป็นธรรม อาทิเช่น บรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการทุกตำแหน่ง ปรับเงินเดือนให้เป็นธรรม ปรับค่าตอบแทนการอยู่เวร ส่งต่อผู้ป่วย เพิ่มสวัสดิการ และเพิ่มความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ให้พยาบาลสามารถดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดได้ในทุกระดับ มีใจความรายละเอียดดังนี้
 
แถลงการณ์สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 1/2557
เรื่อง การเรียกร้องสิทธิ์ของพยาบาล         
 
จากสถานการณ์ที่พยาบาลยังขาดเสรีภาพและความเป็นธรรม ทำงานหนัก เสี่ยง ผลตอบแทนไม่เป็นธรรม เจ็บป่วยจากการทำงาน เสียชีวิต บาดเจ็บในขณะส่งต่อผู้ป่วย เงินเดือนน้อย การทำงานไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของสภาการพยาบาลและกฎหมายแรงงาน อยู่เวร On call แบบไร้ค่าตอบแทน ทำหน้าที่แทนวิชาชีพอื่น เกิดเหตุฉุกเฉินที่ขาดระบบช่วยเหลือ พยาบาลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลคนชายขอบของสังคมและวิชาชีพ โอกาสในการพัฒนาวิชาการน้อย ความก้าวหน้าและการพัฒนาวิชาชีพไม่ได้รับความเป็นธรรม จบปริญญาโท เอก เป็น APN ( Advanced Practice Nurse ) แต่ค่าตอบแทนเท่าเดิม จากเหตุปัญหาดังกล่าว สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย (Nursing Union of Thailand, NOUT) จึงได้ร่วมประชุมปรึกษา หารือเรียกร้องขอความเป็นธรรม ดังนี้
 
1. การบรรจุพยาบาลวิชาชีพ
1.1 ให้มีการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการทุกตำแหน่ง
1.2  ให้มีการบรรจุพยาบาล หรือปรับเปลี่ยนตำแหน่งของบุคคลที่มีคุณสมบัติของพยาบาลวิชาชีพ เป็นพยาบาลวิชาชีพ
 
2. ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม  
2.1 ปรับระดับเงินเดือนให้มีความเป็นธรรม เทียบเท่ากับสายงานในกระทรวงอื่นๆ
2.2 วิชาชีพพยาบาลควรได้รับค่าวิชาชีพ ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงาน  เทียบเท่าหรือไม่น้อยกว่ากับข้าราชการกลุ่มวิชาชีพอื่น เช่น ข้าราชการครู ตำรวจ ข้าราชการศาลปกครองฯ
2.3 วิชาชีพพยาบาลเป็นวิชาชีพขาดแคลน ต้องได้รับค่าตอบแทนวิชาชีพ กรณีไม่ประกอบวิชาชีพส่วนตัวนอกเวลาราชการ เช่นเดียวกับแพทย์, ทันตแพทย์, เภสัชกร
2.4 ปรับระดับเงินค่าตอบแทนเวรผลัดบ่าย-ดึก
2.5 ปรับระดับเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ(OT)
2.6  ปรับระดับค่าตอบแทนอื่นๆ ดังนี้
2.6.1 ค่าตอบแทนการส่งต่อผู้ป่วย เป็นภาระงานที่มีความเสี่ยงสูง  
2.6.2 ค่าตอบแทนการออกเยี่ยมบ้านในพื้นที่บริการ เป็นงานที่ยาก ซับซ้อน และเสี่ยงภัยจากภายนอก
2.6.3 ค่าตอบแทนการปฏิบัติที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคจากผู้รับบริการ
2.6.4  ค่าตอบแทนกรณีปฏิบัติงานนอกเวลาราชการหรือวันหยุดราชการควรได้รับค่าตอบแทนมากกว่าปกติ
2.6.5 กรณีถูกเรียกขึ้นปฏิบัติงานเวรเสริม วันหยุดนักขัตฤกษ์ จ่ายค่าตอบแทน 2 เท่า
2.6.6 การอยู่เวร on call กรณีไม่ถูกเรียกมาปฏิบัติงานควรได้รับค่าตอบแทนเช่นเดียวกับการอยู่เวรปกติ
 
3. ความก้าวหน้าทางวิชาชีพ
3.1 ให้ใช้ระบบเงินเดือนแบบแท่งที่ไม่มีเพดาน ให้ประเมินผลงานเพื่อปรับตำแหน่งเป็นระดับชำนาญการพิเศษ ระดับเชี่ยวชาญ ได้ทุกตำแหน่งเช่นเดียวกับข้าราชการครู เงินเดือนลื่นไหลทุกระดับ
3.2 การศึกษาต่อเพื่อเพิ่มคุณวุฒิปริญญาโท, ปริญญาเอกทางสายการพยาบาล, ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง (Advanced  Practice Nurse: APN) ต้องมีการพิจารณาเรื่องค่าตอบแทนและความก้าวหน้าอื่นๆ ที่เพิ่มจากเดิม
 
4. สวัสดิการในการทำงาน/สิทธิมนุษยชน : เช่น
4.1 เมื่อบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ เช่น การไปส่งต่อผู้ป่วย ถูกทำร้าย การติดโรคจากการทำงาน ฯลฯ ต้องได้รับการดูแลและจ่ายค่าชดเชยที่คุ้มค่า
4.2 มีกองทุนสวัสดิการ เมื่อเกษียณอายุ เสียชีวิต
4.3 ให้มีการดูแลเรื่องความปลอดภัย การขึ้นเวรบ่าย ดึกให้กับพยาบาล
 
5.ปรับโครงสร้าง
5.1 ปรับโครงสร้างให้พยาบาลสามารถดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด ในหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับ 
5.2 ทำงานตรงตามหน้าที่ ไม่ใช้ผิดประเภท และไม่ Overload
5.3 เพิ่มบุคลากรทางการพยาบาลหลายระดับ (staff-mix) เพื่อรับผิดชอบในงานที่แตกต่างกัน
 
จาก คณะกรรมการสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย
 
(ไทยรัฐ, 4-8-2557)
 
ไม่กลัวสงคราม หนุ่มอุดรฯ แห่สมัครไปทำงานอิสราเอล
 
เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 4 สิงหาคม ที่สำนักงานจัดหางาน จ.อุดรธานี มีแรงงานในเขตพื้นที่อำเภอต่างๆ เดินทางมาลงทะเบียนสมัครไปทำงานประเทศอิสราเอล ซึ่งทางกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดรับสมัครตาม "โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน ครั้งที่ 6" ซึ่งเป็นการสมัครไปทำงานต่างประเทศ ในรูปแบบรัฐจัดส่ง ซึ่งมีแรงงานให้ความสนใจมาลงทะเบียนสมัครงานเป็นจำนวนมาก ทั้งที่มีสถานการณ์สู้รบ ซึ่งแรงงานต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่กลัวสงคราม และพร้อมที่จะวิ่งหลบกระสุน แค่ขอให้มีงานทำ มีรายได้ เพื่อเลี้ยงครอบครัว
 
สำหรับการเปิดลงทะเบียนรับสมัครไปทำงานประเทศอิสราเอลครั้งนี้ เปิดการรับสมัครงานภาคเกษตร โดย สนง.จัดหางาน จ.อุดรธานี จะเปิดรับสมัครจนถึงวันที่ 8 สิงหาคมนี้ ซึ่งผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติตามที่ “โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน” ระบุคือ เพศชาย มีอายุระหว่าง 23-39 ปี พ้นภาระทางทหาร ไม่มีประวัติอาชญากรตามกฎหมายไทย ไม่มีคู่สมรส บุตร หรือบิดามารดาอาศัยอยู่ในประเทศอิสราเอล ไม่เคยเดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีอาการตาบอดสี และโรคติดต่อร้ายแรง และมีประสบการณทำงานเกษตรกรรม 
 
นายพงศวัฒน์ เพชรวิเชียร จัดหางาน จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า การเปิดรับสมัครแรงงานไปทำงานประเทศอิสราเอล เป็นไปตามโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางานที่เป็นการจัดส่งแรงงานโดยรัฐบาลจัดส่ง ซึ่งเปิดรับพร้อมกันทั่วประเทศ โดยผู้ที่มาลงทะเบียนสมัครงาน ทาง สนง.จัดหางานทุกจังหวัด จะส่งรายชื่อไปยัง สนง.บริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางานเพื่อเก็บข้อมูลไว้และเมื่อมีตำแหน่งงานที่นายจ้างต้องการจะทำการสุ่มรายชื่อของผู้ลงทะเบียนสมัครไว้ และแจ้งให้เตรียมเดินทาง
 
สำหรับการสู้รบในประเทศอิสราเอลขณะนี้ ทางกรมการจัดหางานจะยังไม่มีการส่งแรงงานไปทำงาน โดยต้องรอให้เหตุการณ์สู้รบสงบลงก่อน เพื่อไม่ให้แรงงานได้รับอันตรายจากสงคราม เพราะความปลอดภัยของแรงงานไทยต้องมาก่อน คาดว่าหลังหยุดสู้รบ จะเริ่มทำการสุ่มรายชื่อแรงงาน ที่มาลงทะเบียนสมัครงานไว้
 
(ไทยรัฐ, 4-8-2557)
 
แรงงานชุดแรก 13 คนจากลิเบียเดินทางถึงไทยแล้ว
 
วันที่ 5 สิงหาคม ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแรงงานไทยที่อพยพออกจากประเทศลิเบียเนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงภายในประเทศจำนวน 13 คน ได้เดินทางจากรัฐดูไบ  ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยสายการบินเอมิเรตส์เที่ยวบินที่ อีเค 384 เวลา 12.25 น. ท่ามกลางญาติที่มารอรับเป็นจำนวนมาก
 
นายพีรพัฒน์พรศิริเลิศกิจ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า วันนี้มีแรงงานไทยเดินทางกลับมา 13 คน ได้แก่1.นายสมบูรณ์ คุธินากุล 2.นายอุทิน ทิศวงศ์ 3.นายอหิงสา ประพันธ์วิทยา 4.นายมานิต คำภิระแปง 5.นายสุคนธ์ ณพานิชย์ 6.นายคงศักดิ์ ใจใส 7.นายอดิศักดิ์ ธิอุฐ 8.นายอนงค์ สุวรรณ 9.นายเสกสรร ปัญญาเครือ 10.นายจงเจตน์ ยศสาย 11.นายสุวอน วงศ์มูล 12.นายปุ่น จันทะคำ และ13.นายบุญจันทร์ ชุมชัย
 
กกจ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยอำนวยความสะดวกในการประสานงานด้านเอกสารเข้าเมืองและแจกแบบคำขอรับเงินจากกองทุนช่วยเหลือคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศซึ่งจะได้รับเงินช่วยเหลือคนละ15,000บาท โดยขอให้แรงงานนำหลักฐานเอกสารเกี่ยวกับการจ้างงานไปแสดงต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด เมื่อเจ้าหน้าที่รับเรื่องและตรวจสอบความถูกต้องแล้ว คนงานจะสามารถได้รับเงินช่วยเหลือ ภายใน 4 วันทำการ 
 
ส่วนการเดินทางกลับภูมิลำเนานั้น กกจ.ได้จัดรถไว้บริการไปสถานีขนส่งสายใต้(ใหม่)และสถานีขนส่งหมอชิต2 และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)จะเป็นคนดูแลค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อไป
 
สำหรับแรงงานกลุ่มนี้เดินทางไปทำงานกับนายจ้างบริษัทเฟอรอสเทลอินดัสทรี เอลเลเจน(FERROSTAAL INDUSTRI EANLAGEN GMBH )ที่เมืองเบงกาซี ลิเบีย โดยเป็นแรงงานเก่าที่ทำงานกับนายจ้างมาหลายปีแล้ว ซึ่งเส้นทางการเดินทาง คือ ออกจากเบงกาซี ลิเบีย ไปประเทศมอลต้า – ราชอาณาจักรไซปรัส – รัฐดูไบ - กรุงเทพฯ ซึ่งคนงาน กลุ่มนี้ 18 คน แต่สามารถจองบัตรโดยสารเครื่องบินได้เพียง 13 คน เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทยของแรงงานทั้ง 13 คน
 
นอกจากนี้จากการคาดว่าในวันที่ 6 สิงหาคม จะมีแรงงานเดินทางกลับ 23 ราย และวันที่ 8 สิงหาคม  81 ราย 
 
(มติชน, 5-8-2557)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net