Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวดิอินเตอร์เซปท์รายงานเรื่องเอกสารลับที่ได้จากอดีตคนทำงานในหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ เรื่องที่สหรัฐฯ กับอิสราเอล ให้ความร่วมมือกันด้านการสอดแนมเป้าหมายต่างๆ แต่ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็มองว่าอิสราเอลเป็นภัยต่อความมั่นคงในภูมิภาค


7 ส.ค. 2557 เกลน กรีนวัลด์ นักข่าวผู้ติดตามเรื่องการเปิดโปงหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ รายงานข่าวในเว็บไซต์เฟิร์สลุคที่เขาเป็นบรรณาธิการ โดยกล่าวถึงเอกสารลับล่าสุดที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตคนทำงานให้หน่วยความมั่นคงสหรัฐฯ นำมาเปิดเผย โดยเอกสารดังกล่าวระบุถึงความเกี่ยวข้องระหว่างสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NSA กับการปฏิบัติการโจมตีทางทหารของกองทัพอิสราเอล

กรีนวัลด์ระบุว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา NSA ได้เพิ่มการช่วยเหลือด้านการสอดแนมแก่หน่วยงานข่าวกรองของอิสราเอลชื่อหน่วยงาน ISNU รวมถึงให้ข้อมูลเป้าหมายชาวปาเลสไตน์ที่ต้องสอดแนม และในบางกรณีทั้งสององค์กรนี้ยังทำงานร่วมกับองค์กรสืบราชการลับของอังกฤษและแคนาดาด้วย

ในรายงานข่าวระบุอีกว่ามีบางกรณีที่องค์กรสืบราชการลับของสหรัฐฯ และอังกฤษอาศัยรัฐบาลในกลุ่มประเทศอาหรับที่สหรัฐฯ หนุนหลังอยู่เช่นระบอบกษัตริย์ของจอร์แดน หรือกองกำลังความมั่นคงของทางการปาเลสไตน์ ในการให้ความช่วยเหลือด้านเป้าหมายการสอดแนม

จากเหตุการณ์โจมตีพลเรือนในกาซารอบล่าสุดโดยกองทัพอิสราเอล ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ออกมากล่าวแสดงความเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะที่นักวิชาการคอร์รี โรบิน จากวิทยาลัยบรูกลิน มองว่าเขากล่าวแสดงความเสียใจ "ราวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกาซาเป็นภัยธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้เท่านั้นเอง"

ก่อนหน้านี้สื่อหลายแห่งเปิดเผยว่าทางการสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนอิสราเอล เช่น สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นที่เปิดเผยว่ามีการสนับสนุนด้านอาวุธอย่างเครื่องยิงระเบิดมือและกระสุนปืนครกให้กับทางการอิสราเอล แต่ในการเปิดโปงเอกสารลับล่าสุดทำให้เห็นว่า NSA และ ISNU มีความสัมพันธ์กันในแง่การร่วมแชร์ข้อมูลการสอดแนม รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลและรายงาน

ดิอินเตอร์เซปท์รายงานว่าการขยายความร่วมมือดังกล่าวทำให้สหรัฐฯ และอิสราเอลสามารถร่วมมือกันสอดแนมเป้าหมายในประเทศแถบแอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง อ่าวเปอร์เซีย เอเชียใต้ รวมถึงกลุ่มประเทศอิสลามที่ในอดีตเคยอยู่ใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต จุดนี้ทำให้อิสราเอลได้ประโยชน์ในแง่การขยายผลการสอดแนมรวมถึงสามารถเข้าถึงการซื้อขายอาวุธของต่างชาติและเทคโนโลยีระดับสูงของสหรัฐฯ ได้

รายงานข่าวของดิอินเตอร์เซปท์ระบุอีกว่าความร่วมมือระหว่างองค์กรข่าวกรองของสองประเทศดำเนินมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วนับย้อนไปตั้งแต่สมัยของอดีตประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน ซึ่งมีการตกลงแลกเปลี่ยนข่าวสารกันอย่างเป็นทางการกับอิสราเอล และดูเหมือนว่าความสัมพันธ์นี้จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เช่นในปี 2546-2547 ที่ NSA มีโครงการร่วมมือด้านการข่าวกับ ISNU ในโครงการที่ชื่อ "Gladiator"

ดิอินเตอร์เซปท์รายงานต่อว่าในปี 2552 ยังมีการร่วมมือระหว่างหน่วยข่าวกรองของอังกฤษที่ชื่อ GCHQ  กับ NSA และ ISNU ซึ่งมีการใช้ชื่อรหัสเรียกว่า "Ruffle" ซึ่งมีการเน้นประเด็นสอดแนมเป้าหมายที่เป็นชาวปาเลสไตน์ แต่เอกสารของ GCHQ ระบุว่าเนื่องจาก "ความอ่อนไหว" จากการที่อิสราเอลมีส่วนร่วมด้วยทำให้งดเว้นสอดแนมเป้าหมายชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอลไป แต่ยังคงมีการระบุว่าองค์กรข่าวกรองอิสราเอลเรียกร้องให้ช่วยสอดแนมอีเมลและโทรศัพท์ของเป้าหมายเจาะจงบางบุคคล

การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับชาวปาเลสไตน์ของ NSA และ GCHQ ยังได้อาศัยแหล่งต่างๆ ที่พวกเขาสนับสนุน เช่น กองกำลังของทางการปาเลสไตน์ และทางการจอร์แดน ในเอกสารฉบับหนึ่งระบุว่า NSA ร่วมมือกับศูนย์อำนวยการสงครามอิเล็กทรอนิกส์ของจอร์แดนมาตั้งแต่ช่วงราวปี 2523-2533 เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับหน่วยข่าวกรองอิสราเอล

อย่างไรก็ตามแม้ว่า NSA และองค์กรที่ร่วมมือด้วยจะถูกสั่งการให้ช่วยเหลือด้านข้อมูลและเทคโนโลยีแก่อิสราเอลแต่พวกเขาก็ยังคงระบุว่าอิสราเอลเป็นภัยทั้งต่อความมั่นคงในชาติของพวกเขาและต่อสันติภาพในพื้นที่ โดยในเอกสารลับระบุถึงการหารือกันว่าอิสราเอลเป็นภัยมากกว่าจะมองเห็นเป็นพันธมิตร และยังมองว่าอิสราเอลเป็นประเทศที่พยายามใช้หน่วยข่าวกรองสืบประเทศสหรัฐฯ มากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก

ในเอกสารลับของ GCHQ เมื่อปี 2551 ระบุว่าผู้วางนโยบายในอังกฤษมีความกังวลว่าอิสราเอลจะเป็นภัยสำคัญต่อความพยายามหาทางออกอย่างสันติกับปัญหาประเทศอิหร่าน อีกทั้งยังมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในแถบพื้นที่นั้น ทางด้าน NSA ระบุไว้ในเอกสารเมื่อปี 2550 ว่าอิสราเอลเป็นภัยในหลายด้านทั้งด้าน "ภัยต่อความพยายามต่อต้านการพัฒนาอาวุธทำลายล้างอานุภาพสูง" และ "วิธีการขนส่งอาวุธ (โดยเฉพาะขีปนาวุธความเร็วสูงและขีปนาวุธนิวเคลียร์)" โดยให้เน้นสืบเรื่องการเพิ่มขึ้นของขีปนาวุธและอาวุธทำลายล้างอานุภาพสูงในคลังของอิสราเอล

ในเอกสารการหารืออีกชุดหนึ่งของ NSA ยังระบุรวมอิสราเอล, อินเดีย, เกาหลีเหนือ และคิวบา รวมเป็นประเทศที่เป็น "ภัยทางการเงินหรือระบบธนาคาร (financial/banking system - FIS)" ในเอกสารอีกชุดหนึ่งระบุว่าอิสราเอลเป็นหนึ่งในประเทศที่พยายามสร้างอิทธิพลและใช้การข่าวเพื่อต่อต้านสหรัฐฯ

ดิอินเตอร์เซปท์ได้สัมภาษณ์โฆษก NSA เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอิสราเอล โฆษกตอบว่าการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยข่าวกรองของทั้งสองประเทศเป็นไปตามกฎหมายและความเหมาะสมในแง่การเพิ่มความเข้มแข็งด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศ

อิอินเตอร์เซปท์ระบุอีกว่าไม่ว่าเรื่องนี้จะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์กับกองกำลังอิสราเอลและหน่วยข่าวกรองอิสราเอล และเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในกาซาก็ส่วนหนึ่งก็เป็นผลพวงมาจากนโยบายการสนับสนุนของสหรัฐฯ ด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Cash, Weapons and Surveillance: the U.S. is a Key Party to Every Israeli Attack, The Intercept, 04-08-2014
https://firstlook.org/theintercept/2014/08/04/cash-weapons-surveillance

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net