Skip to main content
sharethis

ตามที่ในวันพรุ่งนี้ (14 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซุปเปอร์บอร์ด จะเรียกประชุมคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาข้อกฎหมายในการกำกับดูแลและแผนแก้ปัญหาการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารเอสเอ็มอี, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, การบินไทย, ทีโอที, กสท. และ การรถไฟแห่งประเทศไทย เครือข่ายองค์กรสุขภาพ 8 องค์กร เห็นว่า คสช.ควรให้ความสนใจกับการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจด้านสังคมด้วย โดยเฉพาะองค์การเภสัชกรรมที่ขณะนี้กำลังตกในวิกฤตอย่างหนักจากการบริหารงาน จนอาจส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพของประเทศอย่างรุนแรง

นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า นับเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์แล้วที่เครือข่ายองค์กรสุขภาพทั้ง 8 องค์กรได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และซุปเปอร์บอร์ดให้เร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาในองค์การเภสัชกรรม เลือกบอร์ดชุดใหม่ด้วยความโปร่งใสและพิจารณาบุคคลที่มีความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสม และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกิจการส่วนตัวหรือคนใกล้ชิด เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนใหม่ และให้จัดองค์การเภสัชกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อประชาชนต้องมุ่งเน้นบทบาทในการสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศในการตั้งราคาและคิดกำไรที่สมเหตุสมผล ไม่มุ่งแต่แสวงหากำไร

“ขณะนี้ องค์การเภสัชเหมือนคนไข้ที่อยู่ไอซียูไม่สามารถดำรงภารกิจและเป้าหมายขององค์กรได้เลย ดังนั้น คสช.อย่ามัวแต่ให้ความสำคัญกับรัฐวิสาหกิจด้านเศรษฐกิจจนลืมรัฐวิสาหกิจด้านสังคม ในการประชุมของซุปเปอร์บอร์ดวันพรุ่งนี้ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นประธานเอง ควรต้องพิจารณาเรื่องขององค์การเภสัชกรรมด้วย เพราะหาก อภ.ไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ จะกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างรุนแรง”

ทางด้านภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ตัวแทนชมรมเภสัชชนบทกล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามจากอุตสาหกรรมยาข้ามชาติและในชาติเสนอแผนยุทธศาสตร์ให้ อภ.หยุดทำหน้าที่ หรือที่เรียกว่า GPO Landing Strategy ต่อ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ อดีตรัฐมนตรี เพราะการคงอยู่และทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพของ อภ.จะทำให้สามารถควบคุมราคายาและสร้างอำนาจต่อรองในระบบยาได้ อุตสาหกรรมยาอื่นๆทำกำไรไม่ได้เต็มที่ แต่ขณะนี้ แม้ นพ.ประดิษฐจะพ้นหน้าที่ไปแล้ว กลับดูเหมือนแผนนี้กำลังเดินหน้าให้ อภ.ถึงคราวอวสาน

“ที่ห่วงที่สุดขณะนี้คือ เรื่องยาจำเป็นไม่มีใช้ โรงพยาบาลหลายแห่งเผชิญปัญหาการขาดยารักษาโรคเรื้อรังที่จำเป็นหลายรายการ เท่าที่สำรวจมีไม่ต่ำกว่า 84 รายการ ปัญหาการก่อสร้างโรงงานยารังสิตที่ไม่มีความคืบหน้า ขณะที่โรงงานผลิตยา ที่ถนนพระราม 6 จะต้องทยอยปิดปรับปรุงเพื่อให้พร้อมการตรวจรับรอง GMP ในเดือนมิถุนายน 2558 ถึงแม้ขณะนี้มีคำสั่งไม่ปิด ในอนาคตอันใกล้ก็จะเจอปัญหางูกินหาง คือ การตรวจไม่ผ่าน GMP อีกหรือไม่

ดังนั้น คสช.พึงเร่งพิจารณาตั้งบอร์ดที่มีธรรมาภิบาล มีความเป็นมืออาชีพ มีความศรัทธาในการพัฒนาระบบยาของประเทศให้สามารถพึ่งตัวเองได้ด้านยา ให้ความใส่ใจกับลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่คือโรงพยาบาลที่ดูแลคนส่วนใหญ่ของประเทศ และให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา เมื่อตั้งแล้วบอร์ดจะได้มาสะสางปัญหาที่เกิดจากผู้บริหารของ อภ.ในขณะนี้”

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ระบุว่า มีแนวโน้มที่ยาต้านไวรัสในระบบประกันสังคมจะขาดแคลน จนมีรายงานข่าวว่า ผู้บริหารองค์การเภสัชกรรมแนะนำให้ระบบประกันสังคมทำเรื่องขอยืมยาต้านไวรัสเอชไอวีจาก สปสช.ซึ่งมีระบบสำรองยาไปก่อน แต่ไม่สามารถรับปากว่าจะ ผลิตมาทดแทนได้เมื่อไร ซึ่งนี่จะหมายถึงความเป็นความตายของผู้ติดเชื้อฯ

“ตอนนี้ความเป็นความตายกำลังจะเกิดขึ้นจากการบริหารขององค์การเภสัชกรรม ผู้ป่วยมีโอกาสขาดยา คสช.ต้องหันกลับมาดู อภ. เมื่อแย่ขนาดนี้ ประชาชน 65 ล้านคนที่พึ่งพิงยาที่ผลิตจากองค์การเภสัชกรรมจะทำอย่างไร ถ้าผู้ป่วยไป รพ.แต่ไม่มียาจำเป็นเข้าสู่ระบบจะทำเช่นไร คสช.ต้องมาดูอย่างเร็วที่สุด เพราะระบบสุขภาพเป็นระบบที่เป็นธรรม อภ.ผลิตยาซึ่งเป็นสินค้าคุณธรรม คสช.จะไปสนใจแต่เรื่องเศรษฐกิจไม่ได้ ต้องสนใจเรื่องความเป้นธรรมจึงจะหมายถึงการคืนความสุขให้คนในชาติ”ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯทิ้งท้าย

ทั้งนี้ 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ประกอบด้วย ชมรมแพทย์ชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, กลุ่มคนรักหลักประกัน, เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และมูลนิธิเภสัชชนบท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net