ความเป็นสมัยใหม่ในความคิดทางสังคมของพุทธศาสนา (5)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เมื่อท่านพุทธทาสอ้างหลัก “อิสรภาพทางปัญญา” ตามนัยกาลามสูตร เพื่อสร้างแนวคิดทางการเมืองของตัวเอง ท่านจึงนิยามความหมายของ “การเมือง” ว่า หมายถึง “ระบบการจัดหรือการกระทำเพื่อคนจำนวนมากจะอยู่ด้วยกันโดยปราศจากปัญหา โดยไม่ต้องใช้อาชญา”

โดยท่านย้ำว่านี่เป็นความหมายของ “การเมืองโดยบริสุทธิ์” หมายถึงการเมืองตามความมุ่งหมายในตัวมันเองจริงๆ นั้นเป็นเรื่องของการแก้ปัญหา หรือการทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างปราศจากปัญหา หรือเพื่อให้คนหมู่มากที่อยู่รวมกันเป็นสังคมบรรลุประโยชน์ร่วมกัน ท่านมองว่าระบบการเมืองต่างๆ ในโลกนี้ ต่างก็มีขึ้นเพื่อให้มนุษย์บรรลุประโยชน์ร่วมกัน แต่ความหมายของ “ประโยชน์” อาจแตกต่างกันไป

จากนิยามนี้ท่านก็โยงเข้าหาธรรมะว่า การเมืองในความหมายดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จริงต้องเป็นการเมืองที่มีธรรมะหรือประกอบด้วยธรรมะ โดยท่านจำแนกธรรมะออกเป็น 4 ความหมายคือ

1. ธรรมะคือธรรมชาติ ได้แก่สรรพสิ่ง หรือปรากฏการณ์ในธรรมชาติ

2. ธรรมะคือกฎของธรรมชาติที่ควบคุมความเป็นไปของสรรพสิ่ง หรือปรากฏการณ์ในธรรมชาติ

3. ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ และ

4. ธรรมะคือผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ

ที่เกี่ยวโดยตรงกับการเมืองคือธรรมะในความหมายที่ 3 ซึ่งสะท้อนความคิดเกี่ยวกับ “ศีลธรรม” ของท่านพุทธทาสที่ถือว่าศีลธรรมคือ “หน้าที่” ที่ต้องปฏิบัติตาม “กฎธรรมชาติ” ซึ่งเป็นกฎความเป็นเหตุปัจจัย (กฎอิทัปปัจจยตา) ในความหมายว่าการกระทำ ก.เป็นสาเหตุให้เกิด ข. ศีลธรรมจึงเป็นเรื่องของ “การกระทำเหตุที่ถูกต้องเพื่อเป็นเงื่อนไขให้เกิดผลที่ถูกต้อง” เช่นการกระทำด้วยความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง หรือกระทำด้วยด้วยความไม่เห็นแก่ตัว เสียสละ ด้วยกรุณาโดยใช้ปัญญานำทาง ย่อมนำไปสู่ผลดีคือความสุขและอิสรภาพ

ท่านพุทธทาสมองว่า สภาวะตามกฎธรรมชาตินั้นมีลักษณะแบบ “สหกรณ์” หมายความว่า สรรพสิ่งดำรงอยู่ในรูปของการอิงอาศัยกันและกัน ความรอดของสรรพสิ่งจึงอยู่ที่การพึ่งอาอาศัยกัน ท่านจึงตีความว่าเจตนารมณ์ของกฎธรรมชาติมีลักษณะเป็น “สังคมนิยม” และมีความเป็น “เผด็จการ” ในความหมายว่ากฎธรรมชาติเป็นกฎที่บังคับเฉียบขาดในตัวมันเองว่า หากต้องการอยู่รอดก็ต้องปฏิบัติตามกฎของการไม่เบียดเบียนกันและกัน และกฎของการอิงอาศัยกันและกัน กฎของความไม่เบียดเบียนและการอิงอาศัยกันและกัน ทำให้เกิดความรอดทั้งของปัจเจกบุคคลและสังคมส่วนรวม

ดังนั้น ท่านพุทธทาสจึงสรุปว่า กฎธรรมชาติสะท้อนความเป็นสังคมนิยมและความเป็นเผด็จการในตัวมันเองอยู่แล้ว การเมืองที่มีธรรมะหรือมีศีลธรรมเป็นรากฐาน จึงเป็นการทำหน้าที่ให้สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ ถือต้องยึดถือประโยชน์ของสังคมเป็นเป้าหมาย และใช้วิธีเผด็จการเพื่อให้บรรลุประโยชน์นั้น ท่านพุทธทาสนิยามเผด็จการว่า

...เผด็จการไม่ใช่ลัทธิ ไม่ใช่ตัวลัทธิ เผด็จการไม่ใช่ตัวอุดมคติ แต่เป็นเครื่องมือที่จะเอาไปใช้กับลัทธิอะไรก็ได้ ไปใช้กับอุดมคติอะไรก็ได้ มันจะได้เร็วดี เป็นเครื่องมือวิเศษ ที่จะใช้ให้อุดมคติสำเร็จไปโดยเร็ว...ถ้าเราต้องเข้าไปปราบปรามกิเลส ควบคุมกิเลส ต้องใช้เผด็จการเต็มที่...ให้รู้จักว่าประชาธิปไตยนั้นคืออุดมคติที่ทำให้ประโยชน์ของทุกคนเป็นใหญ่ และคำว่าเผด็จการนั้นเป็นเพียงวิธีการ วิธีการที่จะใช้ให้ลัทธิหรืออุดมคติใดๆ สำเร็จได้ตามประสงค์ ไม่ใช่วิธีที่พึงรังเกียจ...ถึงแม้ระบบประชาธิปไตยก็เถิด ถ้าว่าเมื่อมันตกลงกันอย่างไร จะเอากันอย่างไรแล้ว ก็ต้องใช้วิธีเผด็จการคือทำให้เป็นอย่างนั้นๆ ได้ โดยเฉียบขาดและโดยรวดเร็ว ฉะนั้น ลัทธิประชาธิปไตยก็เอาวิธีเผด็จการไปใช้ได้ ให้มันรวดเร็วให้มันทันใจตามหลักของประชาธิปไตย

(ดูธรรมโฆษของพุทธทาส เรื่องฟ้าสางระหว่าง 50 ปี ที่มีสวนโมกข์ [ตอน 2] บรรยาย 23 ก.ค.2526 น.116-120)

เผด็จการที่เป็นวิธีการไม่ใช่ลัทธินี้ท่านเรียกว่า “เผด็จการโดยธรรม” หมายความว่าเอาความถูกต้องหรือประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้งแล้วใช้ความเด็ดขาดเพื่อให้สำเร็จผล เช่น “...เอาวิธีเผด็จการไปใช้ได้ ให้มันรวดเร็วให้มันทันใจตามหลักของประชาธิปไตย ” แต่เผด็จการที่ท่านพุทธทาสเสนอคือเผด็จการตาม “อุดมคติสังคมนิยม” ดังที่ท่านกล่าวว่า

พระพุทธเจ้าท่านมีลัทธิหรืออุดมคติเป็นสังคมนิยม ไปอ่านวินัยอ่านอะไรดูเถอะ พระพุทธเจ้าท่านมีอุดมคติของลัทธิการปกครองอะไร เป็นสังคมนิยมอย่างที่ว่ามาแล้วแต่ในการปฏิบัติงานท่านใช้เผด็จการ พระพุทธเจ้าเป็นผู้เผด็จการ และลูกศิษย์ท่านอย่างพระเจ้าอโศกมหาราชนั้นเป็นเผด็จการเต็มตัว ใช้ดาบ ใช้อาวุธ หรือใช้อะไรบังคับให้ทำตามอุดมคติ แต่ถ้าเราไปอ่านจารึกตามหน้าผา ตามเสาหินของพระเจ้าอโศก จะมีลักษณะเป็นสังคมนิยม อะไรที่ทำขึ้นในสมัยนั้นมันเป็นประโยชน์แก่สังคมทั้งนั้น แต่การปฏิบัติงานของพระเจ้าอโศกนี้ก็เป็นเผด็จการ ถ้าเรามีพระราชาที่ประกอบไปด้วยทศพิธราชธรรมถืออุดมคติของสังคมนิยม แต่วิธีปฏิบัติงานใช้วิธีเผด็จการอย่างนี้จะประเสริฐ จะวิเศษอย่างเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติมาแล้ว หรืออย่างที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้กระทำอยู่ ได้กระทำแล้ว...

(ดูธรรมโฆษของพุทธทาส เรื่องมหิดลธรรม บรรยาย 24 เม.ย.2517 น.327-331)

ข้อสังเกตคือ ประเด็นว่า พุทธะหรือพระเจ้าอโศกมหาราชมีลัทธิหรืออุดมคติเป็น “สังคมนิยม” นั้น ในทางวิชาการย่อมถกเถียงกันได้มากว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? พุทธะเป็นเผด็จการจริงหรือ? เพราะไม่พบหลักฐานว่าพุทธะมี “อำนาจเผด็จการ” บังคับให้พระภิกษุทำตามได้ หากจะมีภิกษุรูปใดจะไม่ทำตาม (เช่นพระเทวทัต และภิกษุชาวเมืองโกสัมพีเป็นต้น) ภิกษุจะทำตามวินัยสงฆ์ (เป็นต้น) ก็ด้วยอำนาจของสังฆะหรือชุมชนชาวพุทธที่ร่วมกันตรวจสอบกดดัน แม้การบัญญัติวินัยสงฆ์พุทธะก็ฟังเสียงของสังฆะและชุมชนชาวพุทธ ไม่ใช่บัญญัติอย่างพลการตามอำเภอใจอย่างผู้เผด็จการใดๆ

ส่วนการที่พระเจ้าอโศกใช้อำนาจเผด็จการเพื่อ “ประโยชน์ของสังคม” ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นการทำตามลัทธิสังคมนิยม เพราะลัทธิสังคมนิยมย่อมนิยามประโยชน์ของสังคมตามกรอบคิดหรือหลักการของตนเองที่ต่างจากลัทธิเผด็จการของพระเจ้าอโศก

ดังนั้น ปัญหาของท่านพุทธทาสคือ การนิยาม “วิธีเผด็จการ” อย่างคลุมเครือว่าการใช้วิธีเฉียบขาดใดๆเพื่อให้บรรลุประโยชน์ของสังคมอย่างรวดเร็วคือ “วิธีเผด็จการ” ทั้งนั้น ซึ่งไม่น่าจะถูก เพราะในระบบประชาธิปไตยก็ต้องการวิธีปฏิบัติตามกฎหมายที่เฉียบขาดรวดเร็วเหมือนกัน แต่ต้องเป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม หรือทำตามกระบวนการที่มีความชอบธรรมทางกฎหมาย (due process) ที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับสิทธิของปัจเจกบุคคล จึงไม่ใช่วิธีเผด็จการ

ส่วนการกระทำเพื่อ “ประโยชน์ของสังคม” ทุกระบบการปกครองต่างก็อ้างว่าทำเพื่อประโยชน์ของสังคม หรือยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นเป้าหมายสูงสุดทั้งนั้น ทว่าแต่ละระบบการปกครองต่างก็มีนิยามและหลักการเกี่ยวกับ “ประโยชน์ของสังคม” ต่างกัน ประโยชน์ของสังคมในความหมายของพระเจ้าอโศกหรือของพุทธะกับสังคมนิยม (และประชาธิปไตย) จึงมีแง่ด้านที่ต่างกัน หรือไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (9-15 สิงหาคม 2557)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท