ตอบความคิดหม่อมน้อย ก้าวออกจาก “แผลเป็นเน่าๆ” เสียที

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ “หม่อมน้อย” หรือ “หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล” ที่ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Bioscope ฉบับเดือนสิงหาคม 2557 และในบทสัมภาษณ์บน Internet ในเรื่อง “การเมือง” ที่ถูกสอดแทรกเอาไว้ในภาพยนตร์เรื่อง “แผลเก่า” แล้วรู้สึกเหมือนได้อ่านบทพร่ำพรรณารำลึกหาอดีตอันสุดแสนอุดมคติ เสมือนเด็กน้อยคนหนึ่งที่นั่งมอง “แผลเป็น” ของตัวเองแล้วก็หวนรำลึกไปอดีตเมื่อครั้ง “ผิวหนังยังดีไม่มีรอยแผลเป็น”

ส่วนแรกที่ผมอ่านแล้วถึงกับต้องเลิกคิ้วขึ้นสูง เมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์ของหม่อมน้อยคือวลีที่กล่าวว่า “...ปัจจุบัน
ประชาธิปไตยมีมากี่ปีแล้ว ก็ยังมีปัญหาจนเดี๋ยวนี้ เป็นเพราะว่าอะไร เพราะว่าประเทศเรายังไม่เหมาะตั้งแต่ต้นแล้ว คือคนยังไม่รู้จักสิทธิมนุษยชนเลย...”
ที่ต้องเลิกคิ้วขึ้นสูงนี้ก็ด้วยความประหลาดใจว่าในพ.ศ.2557 นี้ยังมีคนจมอยู่กับข้อโต้แย้งเก่าๆเรื่อง “ประชาธิปไตยไม่เหมาะกับคนไทย” เหมือนสมัยหลัง พ.ศ.2475 อยู่อีกหรือ? อีกส่วนที่น่าตกใจก็คือเรื่องการให้เหตุผลแบบเดิมๆที่วนอยู่ในอ่างไม่ไปไหนในวาทกรรมเรื่อง “ประชาชนยังโง่อยู่” หรือ “คนยังไม่รู้จักสิทธิมนุษยชน” อะไรทำนองนี้ที่มองดูแล้วเหมือน “เด็กน้อยที่ชอบแกะสะเก็ดแผลตัวเองเล่นแล้วก็โวยวายว่าแผลไม่หายเสียที” ซึ่งสุดท้ายแล้วการให้เหตุผลเช่นนี้ก็ไม่ได้สร้างอะไรมากไปกว่าการต่อต้านประชาธิปไตยแบบโง่ๆ ด้วยการถวิลหาสังคมในจิตนาการที่ไม่ใคร่จะเข้าใกล้คำว่าอุดมคติเสียด้วยซ้ำ หรือหากจะเรียกว่าเป็นสังคมอุดมคติก็เห็นจะเป็นสังคมอุดมคติของชนชั้นสูงที่เลวร้ายมากกว่าสังคมปัจจุบันที่เป็นอยู่เสียอีกเพราะมันเต็มไปด้วย “ลำดับชั้น” และ “ชนชั้น” ดังจะเห็นได้จากความคิดของหม่อมน้อยที่ถวิลหาการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ส่วนถัดมาในการให้เหตุผลที่ชวนให้ขบขันอยู่ไม่น้อยคือส่วนที่หม่อมน้อยให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง “จิตวิญญาณคนเอเชีย” ที่ไม่เข้ากับประชาธิปไตยไว้ดังนี้ “...โดยประวัติศาสตร์ของเรา ตั้งแต่อยุธยา หรือว่าสุโขทัย เราไม่ได้ปกครอง เราไม่ได้มีจิตวิญญาณแบบนั้น เราเป็นจิตวิญญาณของคนเอเชียจริงๆ หากสังเกตประวัติศาสตร์ของคนเอเชียโดยแท้ ก็แทบจะไม่มีประเทศไหนเลยที่ประชาธิปไตยเติบโตจริงๆ...” และ “...ทีนี้ เราจะเอาประชาธิปไตยแบบอเมริกา จะทำได้ยังไงในเมื่อพื้นฐานมันไม่เหมือนกัน ฟิลิปปินส์ได้ไหม ไม่ได้ อินเดียยิ่งยาก เพราะว่ามันเหมือนต่างชาติ ต่างศาสนา มาผสมกันมากมาย เชื้อชาติเขาก็มีปัญหา...” ซึ่งเมื่อฟังแล้วผมก็ได้แต่ตั้งคำถามอยู่ในใจลึกๆว่า “แล้วแบบนี้ประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ซึ่งมีระบอบประชาธิปไตยที่ค่อนข้างเข้มแข็งเอามากๆนี่ถือเป็นคนเอเชียหรือไม่? หรืออินโดนีเซียและเมียนมาร์ที่กำลังพัฒนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นไปเรื่อยๆนี้เป็นคนเอเชียในความหมายของหม่อมน้อยด้วยหรือเปล่า?” การให้เหตุผลโดยยกเอาเรื่องนามธรรมอย่าง “จิตวิญญาณ” และการเหมารวมเชื้อชาติโดยไม่มองความเป็นจริงของหม่อมน้อยจึงกลายเป็นเรื่องขบขันไปโดยปริยาย

ส่วนสุดท้ายที่ผมฟังแล้วปวดเศียรเวียนเกล้าที่สุดเห็นจะไม่พ้นการให้เหตุผลและพรรณนาถึงความงดงามของสังคมอุดมคติ ในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในจินตนาการของหม่อมน้อยว่าด้วยสังคมที่มีความสุขสงบ บ้านเมืองสงบร่มเย็น ดังจะเห็นได้จากข้อความให้สัมภาษณ์ที่ว่า “...ซึ่งจริงๆ เราประเทศเล็กแค่นี้ไม่น่ามีปัญหาใดๆ ทั้งๆ ที่สภาพการเมือง สภาพการปกครองโดยแท้ของเราดีอยู่แล้ว ใช่หรือไม่ใช่ ก่อนมีระบบประชาธิปไตย บ้านเมืองเราราบคาบอยู่แล้วใช่ไหม บ้านเมืองเราไม่มีปัญหาอยู่แล้วใช่ไหม เพราะตั้งแต่การเปลี่ยนแปลง พ.ศ.2475 มีการปฏิวัติกันไม่รู้กี่ครั้งกี่หน จนถึงปัจจุบันมันน่าเบื่อมาก จนกระทั่งเห็นว่าเกิดชนชั้นกลางที่มีการศึกษาลุกขึ้นเดินขบวนเพราะเขาไม่ไหวแล้ว.." ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วการให้เหตุผลเหล่านี้ในมุมมองของผมมันออกจะเหมือน “การบ่น” ด้วยความรำคาญของชนชั้นสูงเสียมากกว่า ซึ่งเป็นการบ่นที่ไม่ได้มองถึงปัญหาที่ผ่านมาของการเมืองเลยด้วยซ้ำว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง อาศัยแต่การมองฉาบฉวยเพียงว่า “เพราะมีประชาธิปไตยจึงมีการประท้วง” ผมเชื่อว่าการพูดอะไรเช่นนี้ออกมานั้นเกิดจากฐานคิดที่ไม่ต้องการความวุ่นวาย ซับซ้อนจนกลายมาเป็นการเรียกหา ใครซักคนที่มีอำนาจล้นฟ้าให้เข้ามาจัดการปัญหาให้ทุกอย่างสงบเรียบร้อย ความสงบสุขในความหมายของหม่อมน้อยนั้นจึงหมายถึงสังคมที่ทุกคนเหมือนๆกันไปหมด เป็นสังคมอุดมคติแบบหุ่นยนต์เหมือนสังคมในวรรณกรรม-ภาพยนตร์เรื่อง Hunger Game หรือ Divergent ที่ทุกคนจะต้องถูกปกครองและอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ของตน เป็นสังคมที่ปฏิเสธซึ่งความหลากหลายของมนุษย์ ด้วยสำนึกแบบที่ว่าไพร่ก็ควรเป็นไพร่ ไม่ควรมีสิทธิทางการเมือง ไม่ควรมีสิทธิเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องและปกป้องสิทธิ เสรีภาพของตนเอง อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วพฤติกรรมเช่นนี้เปรียบเสมือนเด็กเล็กๆที่ร่างกาย(ประเทศ)ได้รับบาดแผล(ประชาธิปไตย) แต่เมื่อบาดแผลตกสำเก็ดกำลังจะหายดี(เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ)ก็ไปสะกิด ไปเกา ไปแกะให้มันกลายเป็นแผลเป็น จากนั้นก็รำพึงรำพันถึงครั้งยังไม่มีแผล(ก่อนมีประชาธิปไตย)แล้วก็โวยวายเอาว่าแผลไม่ดีทำให้เกิดน้ำหนองแต่ไม่ยักจะปรับพฤติกรรมมาดูและรักษาแผลนั้นแล้วเรียนรู้ที่จะอยู่กับรอยแผลนั้น”

สุดท้ายนี้ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งผมเพียงอยากตั้งคำถามต่อความคิดของหม่อมน้อย และผู้ที่มีแนวคิดเช่นนี้ว่า “ถึงเวลาหรือยังที่ท่านทั้งหลายจะเลิกแกะรอยแผลเป็นเก่าๆ จมอยู่กับกองน้ำหนองเน่าๆ แล้วหันมารักษาแผลนั้นให้หายดีเสียที? หรือจะเลือกนั่งแกะสะเก็ดแผล เล่นกับแผลเน่าๆต่อไปไม่ยอมให้มันตกสะเก็ดกลายให้ประชาธิปไตยเต็มใบต่อไป?” 

 

กรุณาดูเพิ่มเติม

สกู๊ป "แผลเก่า" วิพากษ์ปัจจุบัน ด้วยหนังรัก (หลังยุคการเปลี่ยนแปลง) โดย ชลนที พิมพ์นาม นิตยสารไบโอสโคป ฉบับประจำเดือนสิงหาคม 2557 [Quote จาก Fan page Matichon Online] : https://www.facebook.com/MatichonOnline/photos/a.461578517728.237731.200355362728/10153057957162729/?type=1

บทสัมภาษณ์ “หม่อมน้อย ผู้กำกับชั้นครู จาก แผลเก่า [online] : http://www.majorcineplex.com/news/phlae-kao-news/
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท