จดหมายเหตุและบันทึกสมัยรัฐพี่เบิ้ม: บทเรียนจากบราซิล กัวเตมาลา อินโดนีเซีย

เวทีเสวนาที่ มช. "ประวัติศาสตร์และความยุติธรรม: หอจดหมายเหตุ ศาล คุก และหลักฐานของความรุนแรง” โดยไทเรล ฮาเบอร์คอร์น เล่าเรื่องเอกสารและบันทึกสมัยรัฐบาลสมัยเผด็จการที่กระทำต่อพลเรือน กรณีศึกษาบราซิล กัวเตมาลา อินโดนีเซีย รวมทั้งประเด็นเรื่องการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การใช้ความรุนแรงในไทยนับแต่ปี 2475

17 ส.ค.57 - ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์อาเซียนศึกษา ร่วมกับ หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดสัมมนากฎหมายและสังคมในหัวข้อเรื่อง “ประวัติศาสตร์และความยุติธรรม: หอจดหมายเหตุ ศาล คุก และหลักฐานของความรุนแรง” มีวิทยากรคือไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ภาควิชาการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมือง มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และดำเนินรายการโดย นัทมน คงเจริญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

รัฐเผด็จการเก็บข้อมูลหลักฐานการทารุณอย่างไร?

ไทเรลกล่าวถึงคำถามเริ่มต้นในการศึกษาชิ้นนี้ ซึ่งมาจากที่เคยทำงานวิจัยประวัติศาสตร์ไทย ได้แก่ รัฐเผด็จการต่างๆ ได้บันทึกข้อมูลอะไรบ้างเกี่ยวกับการกระทำอันทารุณ เช่น การกักขังโดยมิชอบ การซ้อมทรมาน การบังคับอุ้มหาย การสังหาร, รัฐเก็บเอกสารบันทึกเหล่านี้ที่ไหนและอย่างไร, นักสิทธิและนักเคลื่อนไหวได้เก็บบันทึกอะไรไว้ และแตกต่างจากเอกสารของรัฐอย่างไร, หลังกระบวนการเปลี่ยนผ่านมีอะไรที่เกิดขึ้นกับเอกสารบันทึกเหล่านี้, ความหมายและประโยชน์ของเอกสารเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือในกรณีที่ไม่มีกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ยังมีรัฐเผด็จการอยู่ หรือมีกลิ่นของมรดกเผด็จการอยู่ การบันทึกเหล่านี้ได้ถูกดึงออกมาใช้ในการต่อต้านได้อย่างไรบ้าง

สาเหตุที่สนใจความรุนแรงของรัฐเผด็จการ คือจากมุมมองของนักสิทธิมนุษยชน ความรู้และการเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับการกระทำอันทารุณของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นส่วนสำคัญของการต่อต้านการยกเว้นการรับผิดของเจ้าหน้าที่เอง โดยสหประชาชาติเคยระบุว่ามีสามหลักที่สำคัญ คือสิทธิที่จะรู้ สิทธิที่จะได้รับความยุติธรรม สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาและไม่เกิดความรุนแรงซ้ำอีก

อันที่สอง คือสนใจศึกษาว่าถ้าอยากศึกษารัฐเผด็จการและการกระทำอันทารุณจะมีหลักฐานอะไรบ้าง โดยปกติรัฐเผด็จการจะบันทึกอะไรเยอะ พบว่ารัฐเก็บข้อมูลของทุกคนที่ถูกสงสัย ประชาชนถูกมองด้วยความสงสัย แต่ช่วงยุคเปลี่ยนผ่านในหลายกรณีๆ ประชาชนก็ได้เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ โดยเอกสารไม่ถูกทำลาย แต่ควรกล่าวด้วยว่ารัฐที่มองตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย ก็กระทำสิ่งที่โหดร้ายได้เหมือนกัน

ในแง่หนึ่ง ไม่แปลกที่รัฐเผด็จการจะเก็บข้อมูลที่เรามองว่าผิดกฎหมายหรือละเมิดต่อความเป็นมนุษย์ โดยรัฐเองก็คงมองในอีกมุมหนึ่ง ที่มองว่ากระทำนั้นทำเพื่อชาติหรือปกป้องความมั่นคง แต่ตนไม่ค่อยสนใจสาเหตุของรัฐที่บันทึก แต่สนใจว่ารัฐเก็บอะไรไว้ แล้วนักสิทธิและนักประวัติศาสตร์นำไปใช้อย่างไรมากกว่า โดยจะใช้กรณีตัวอย่างจากสามประเทศ ได้แก่ บราซิล กัวเตมาลา และอินโดนีเซีย ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่เคยมีรัฐเผด็จการอยู่ แต่ได้มีกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยไปแล้ว หรือกำลังมีการเปลี่ยนผ่านในปัจจุบัน

ไทเรลกล่าวว่าสิ่งที่ช่วยตอบคำถามของตนมาจากบทความของออเดรอ ลอร์ด (Audre Lorde) ที่เขียนว่า “เครื่องมือของเจ้านายไม่เคยได้ทำให้บ้านเขาล้ม” (The master’s tools will never dismantle the master’s house) โดยตนมองว่าบางครั้งเครื่องมือของเจ้านายเองต่างหากที่ทำให้บ้านเขาล้มลง ซึ่งกรณีของบราซิลและกัวเตมาลาจะชี้ให้เห็นเรื่องนี้

 

บราซิล: จากเอกสารศาลทหารสู่รายงานการกระทำอันทารุณของรัฐ

ไทเรลได้เล่าถึงกรณีบราซิลว่าคณะทหารได้รัฐประหารเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2507 และผลักดันให้ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งต้องออกจากตำแหน่ง เผด็จการทหารนี้อยู่ในอำนาจกว่า 20 ปี ถึงเดือนมีนาคม 2528 ในระหว่างนั้นมีการปราบปรามนักเคลื่อนไหว นักศึกษา แรงงาน ผู้ถูกมองเป็นฝ่ายซ้าย โดยความหมายของ “ความเป็นซ้าย” ในสายตาของรัฐช่วงนั้นกว้างขวางมาก คนที่วิจารณ์การกระทำใดๆ ของรัฐก็สามารถถูกมองว่าเป็น “ภัย” ต่อรัฐ

ในช่วงนั้นนักสิทธิมนุษยชนกว่า 400 คน ถูกบังคับสูญหาย หลายพันคนถูกจับกุมและซ้อมทรมาน หลายคนต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมในศาลทหาร โดยมีตั้งข้อหาแปลกๆ และใช้หลักฐานแปลกๆ กับพลเรือน เช่น มีคนถูกตั้งข้อหากบฏ โดยอัยการใช้หลักฐานหลักที่ว่าเขาใช้ชีวิตในสหภาพโซเวียตนาน 9 ปี และหลายคนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารก็ถูกซ้อมทรมาน

ในปี 2522 ได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง รัฐเผด็จการบอกว่าจะเริ่มกลับสู่ประชาธิปไตย และจะออกพรบ.นิรโทษกรรม ในช่วงนั้นมีกลุ่มนักเคลื่อนไหว กลุ่มศาสนา กลุ่มทนาย และนักศึกษา ร่วมกันคิดว่าอยากจะใช้เอกสารของศาลทหาร เพื่อที่จะรวบรวมข้อมูลรายละเอียดการกระทำของรัฐเผด็จการ จนเกิดเป็นโครงการ “Brazil: Nunca Mais”

มีการใช้วิธีให้ทนายไปยืมสำนวนคดี และนำมาให้คนที่ถ่ายเอกสาร จากหนังสือความทรงจำของคนที่ร่วมในกิจกรรม หลายคนบอกว่าตอนที่ถ่ายเอกสารหลายคนไม่รู้ว่าทำไปเพราะอะไร เข้าใจว่าถ่ายเพื่อให้ทนายไปทำงานของเขา หลายคนเห็นว่าจะปลอดภัยกว่าถ้าไม่บอกรายละเอียดต่อกัน ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถ่ายเอกสารประมาณ 1 ล้านหน้า มีคดี 700 กว่าคดี โดยมีการทำเป็นไมโครฟิล์มและส่งออกไปรวบรวมไว้นอกประเทศ

หลังจากนั้นมีนักวิจัยพยายามศึกษาเอกสารชุดนี้ ใช้เวลาประมาณ 5 ปี เขียนรายงานกว่า 7 พันหน้า เกี่ยวกับการกระทำของรัฐเผด็จการ โดยรายงานนี้มีสี่ส่วน ตั้งแต่อธิบายโครงสร้างของรัฐเผด็จการ อธิบายวิธีการทำโครงการและวิจัย มีการเปรียบเทียบกฎหมายฉบับต่างๆ และกระบวนการในศาลทหาร โดยส่วนสุดท้ายเป็นส่วนสำคัญที่สุด หนากว่า 2,700 หน้า เป็นส่วนที่บันทึกรายละเอียดการกระทำอันทารุณของเจ้าหน้าที่รัฐ

ส่วนเหตุที่มีข้อมูลแบบนี้ในเอกสารของศาลทหารเพราะคนที่ถูกดำเนินคดีมองว่าตนไม่มีทางชนะ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือพูดถึงความจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา แม้ไม่ได้ออกจากศาลทหาร แต่อย่างน้อยเขาคิดว่าได้พูดความจริงที่เกิดกับชีวิต รายงานในส่วนนี้จึงได้ให้รายละเอียดของการซ้อมทรมาน ชื่อของผู้ซ้อมทรมาน สถานที่ซ้อมทรมาน ชื่อของนักโทษการเมืองที่ถูกสังหาร ชื่อของที่ผู้ถูกบังคับสูญหาย

หลังจากนั้น ได้มีนักเคลื่อนไหว-นักหนังสือพิมพ์ ได้เขียนสรุปสั้นๆ ประมาณ 4 ร้อยหน้า เป็นหนังสือเล่มออกมาในปี 2528 หลังการสิ้นสุดของรัฐเผด็จการทหาร และกลายเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดในปีแรกที่ออกพิมพ์ หมายความว่าประชาชนบราซิลล้วนอยากรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในประเทศของเขาในรอบ 20 ปีนั้น

ส่วนเอกสารไมโครฟิล์มได้ถูกนำไปอยู่ในห้องสมุดหลายแห่ง มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านหน้า โครงการนี้ตอบสนองต่อสิทธิที่จะรู้ (Right to know) ได้ดีมาก จนในปี 2556 ได้มีการจัดทำหอจดหมายเหตุดิจิทอล ซึ่งเปิดให้เข้าถึงได้อย่างเสรี และสามารถค้นหาได้ง่าย ขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีกระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่านในบราซิล ในช่วงปี 2554 จนถึงช่วงสิ้นปี 2556 ได้เริ่มมีการดำเนินคดีอุ้มหายเป็นคดีแรก เอกสารชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่อัยการกำลังใช้ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่สังหารเขา กล่าวได้ว่าบราซิลกำลังใช้เอกสารของรัฐบาลเผด็จการทหารเอง ในการดำเนินการกับผู้กระทำในช่วงนั้นเอง

 

กัวเตมาลา: สมุดบันทึกการสังหารและเอกสารตำรวจแห่งชาติ

ไทเรลกล่าวถึงกรณีกัวเตมาลา ซึ่งมีสงครามกลางเมืองกว่า 36 ปีในช่วงระหว่างปี 2503-2539 เป็นสงครามระหว่างรัฐเผด็จการ ผู้มีอำนาจอิทธิพล กับกลุ่มต่างๆ ที่รัฐมองว่าเป็นภัย ทั้งชนพื้นเมืองหลายๆ กลุ่ม พรรคการเมืองก้าวหน้า และกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยหลายกลุ่ม มีการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง กว่า 4-5 หมื่นคนถูกบังคับให้สูญหาย มีอีกจำนวนมากถูกจับกุมและซ้อมทรมาน 

หลังสงครามกลางเมือง มีสนธิสัญญาระหว่างกองทัพและตัวแทนของประชาชน ส่วนหนึ่งระบุว่ากองทัพต้องให้มีกรรมาธิการหาความชัดเจนของประวัติศาสตร์ โดยให้มีการเปิดเผยเอกสารของกองทัพ แต่ในความจริงกองทัพก็ไม่ค่อยยอม โดยให้เข้าถึงเอกสารแค่ไม่กี่ชิ้น แต่ก็มีทั้งเอกสารที่รั่วออกมา และเอกสารที่ถูกเจอโดยบังเอิญ 

เอกสารที่รั่วออกมา ได้แก่ สมุดบันทึกการสังหาร (El Diario Militar) ยาว 43 หน้า โดยนักเคลื่อนไหวได้รับเอกสารนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2542 ในสมุดนี้มีชื่อของประชาชน 183 คนที่ถูกสังหารโดยทหาร ระหว่างปี 2526-28 โดยให้รายละเอียดการสังหารแต่ละคน และเอกสารนี้ทำให้ญาติและเพื่อนของคนที่อุ้มหายไปและไม่เคยได้เจออีก ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวของตัวเอง คำถามคือทำไมเจ้าหน้าที่ที่จับกุมและสังหารประชาชนถึงบันทึกเหตุการณ์รายละเอียดเหล่านี้ เป็นคำถามที่น่าสนใจทั้งในทางวิชาการและความเป็นมนุษย์ ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัด

ยังมีเอกสารอีกชุดหนึ่งที่ถูกพบโดยบังเอิญ คือเอกสารในอาคารตำรวจแห่งชาติ โดยตำรวจเป็นองค์กรหนึ่งที่มีส่วนในการใช้ความรุนแรงแต่ประชาชน และถูกยุบไปหลังสงครามกลางเมือง จนในปี 2548 ได้มีการระเบิดในตึกเก่าของตำรวจแห่งชาติ แล้วมีการติดต่อร้องเรียนกรรมการสิทธิมนุษยชนให้ไปตรวจสอบอาคารนี้ จนได้พบเอกสารของตำรวจจำนวนกว่า 80 ล้านหน้า ที่มาจากการทำงานของตำรวจแห่งชาติกว่า 100 ปี ซึ่งมีทั้งเอกสารฝ่ายซ้ายที่ตำรวจเก็บไว้ โทรเลข บันทึกประจำวัน ข้อมูลส่วนตัวของบุคคล แผนการต่อต้าน “ผู้ปลุกระดม” หรือบันทึกการสอบสวนต่างๆ

หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงเป็นหอจดหมายเหตุตำรวจแห่งชาติกัวเตมาลา โดยในปี 2550 ได้มีโครงการทำเป็นหอจดหมายเหตุดิจิทอล เอกสารกว่า 15 ล้านหน้าได้ถูกทำเป็นไฟล์ดิจิทอล ทำให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

เอกสารชุดนี้ยังถูกใช้ในกระบวนการยุติธรรม ในปี 2555 ได้ถูกใช้ในดำเนินคดีกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนเดิม ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการอุ้มหายนักศึกษานักกิจกรรมรายหนึ่งตั้งแต่ในปี 2524 โดยลูกสาวของนักกิจกรรมรายนี้ที่เป็นทนาย ได้กล่าวถึงเอกสารชุดนี้ว่าแสดงให้เห็นว่าพ่อของเธอถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ไหน และใครมีส่วนในการจับตอนนั้น โดยถึงปัจจุบันนี้คดียังดำเนินอยู่

กรณีกัวเตมาลาเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เครื่องมือของเจ้านายเองทำให้บ้านเขาล้ม แต่อาจต้องใช้เวลานาน แม้ผู้กระทำผิดอาจจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ในแง่หนึ่ง ความรู้ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยสองกรณีในละตินอเมริกานี้เป็นรัฐที่มีการเปลี่ยนผ่านจากรัฐเผด็จการสู่ประชาธิปไตยแล้ว

 

อินโดนีเซีย: หอจดหมายเหตุเงาของนักกิจกรรม

ไทเรลกล่าวถึงกรณีของประเทศที่ยังเปลี่ยนผ่านได้ไม่สมบูรณ์ และยังมีกลิ่นอายของความรุนแรงโดยรัฐอยู่ในสังคม คำถามคือกรณีนี้แบบนี้จะมีหลักฐานอะไรที่ประชาชนสามารถนำมาใช้เข้าใจเผด็จการและเข้าใจการต่อต้านเผด็จการ การตอบคำถามนี้จะเล่าถึงการต่อสู้ของนักศึกษาต่อรัฐบาลซูฮาร์โตในอินโดนีเซีย ในช่วง 10 ปีสุดท้ายของซูฮาร์โต โดยใช้งานชิ้นหนึ่งของเพื่อนนักมานุษยวิทยาที่กำลังจะพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Activism Achieve, Youth culture and Political Past in Indonesia  

ใน 33 ปีตั้งแต่ปี 2508 ที่รัฐเผด็จการทหารอยู่ในอินโดนีเซีย เริ่มต้นด้วยการสังหารสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของอินโดนีเซียหรือคนที่ถูกสงสัยจำนวนมาก และมีคนที่ถูกจับโดยข้อหาทางการเมืองหลายพันคน ลูกหลานของผู้สังหารในช่วงแรกก็ถูกสงสัยจากชุมชนและโรงเรียน แต่ในเวลาเดียวกันตลอด 30 ปีนั้น ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์และต่อสู้ โดยมีเยาวชนเป็นแนวหน้ากลุ่มหนึ่ง งานหนังสือเล่มนี้สนใจว่านักกิจกรรมได้ทำอะไรบ้างในการต่อต้านช่วงสุดท้ายของซูฮาร์โต ช่วงปีพ.ศ.2530-41 รัฐได้ตอบโต้หรือปราบปรามอย่างไร และมีแหล่งข้อมูลอะไรบ้างในเรื่องนี้

สิ่งสำคัญในอินโดนีเซีย คือไม่มีหอจดหมายเหตุหรือเอกสารทางการที่คนธรรมดาเข้าถึงได้เหมือนที่กล่าวถึงในสองประเทศก่อน หนังสือเล่มนี้ได้ใช้เอกสารที่นักกิจกรรมเก็บไว้เอง บางชิ้นก็ถูกนำไว้นอกประเทศ ในห้องสมุดมหาลัยต่างๆ โดยพบว่าการเก็บเอกสารเป็นสิ่งสำคัญในสายตาของนักกิจกรรมอินโดนีเซีย ซึ่งพบว่ามีทั้งบทกวี เรื่องสั้น แถลงการณ์ของกลุ่มต่างๆ หลายพันหน้า เอกสารของศาล เอกสารบันทึกของคนในคุก ข้อความสั้นๆ ในกระดาษเล็กๆ ที่คนถูกดำเนินคดีจะจด และส่งให้เพื่อนหรือคนรักในศาล โดยที่ทั้งสองคนถูกดำเนินคดีเช่นกัน ซึ่งอาจมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมต่อต้านโดยตรงก็ได้

แม้เอกสารของรัฐในอินโดนีเซียยังไม่เคยถูกเปิดเผย แต่เอกสารที่นักกิจกรรมรวบรวมก็มีลักษณะเป็น “หอจดหมายเหตุเงา” (Shadow Achieve) มีลักษณะเป็นการขัดขวางเอกสารของรัฐโดยตรง นักศึกษายังได้เก็บรวบรวมเอกสารที่บอกว่ารัฐมองเขาอย่างไร และเก็บบันทึกของตำรวจหรือเอกสารของศาล ซึ่งกลายเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ชนิดหนึ่ง

ในเอกสารชุดนี้มีเอกสารสองชนิดที่สำคัญ คือ แถลงการณ์เปิดและปิดคดีของฝ่ายจำเลย ในศาลช่วงนั้น นักศึกษาถือเป็นช่องทางในการพูดถึงความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีของตัวเองต่อศาล เป็นทั้งการบันทึกความจริงและความกล้าหาญของนักศึกษา เช่น มีนักศึกษาคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าพยายามบ่อนทำลายรัฐ เขาได้กล่าวแถลงปิดคดีว่ารัฐเองต่างหากที่กำลังบ่อนทำลายประเทศชาติ

ในอินโดนีเซีย ยังไม่มีกรณีที่นำเอกสารนี้มาใช้ในกระบวนการยุติธรรม ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ แต่เอกสารชุดนี้กลายเป็นบันทึกการเคลื่อนไหวก่อนมีการชุมนุมล้มรัฐบาลในปี 2541 และยังแสดงว่าการล้มรัฐบาลซูฮาร์โตไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในอาทิตย์เดียว แต่เป็นสิ่งที่ดำเนินมาจากการต่อสู้ต่อต้านและเสียสละของหลายคนที่ต้องอยู่ในคุกกว่า 10 ปี ก่อนหน้านั้นแล้ว

 

คำถามถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย

ไทเรลได้กล่าวถึงกรณีของไทย จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของการใช้ความรุนแรงโดยรัฐตั้งแต่ปี 2475 ถึงปัจจุบัน หลังจากพยายามหาเอกสารมา 5 ปี ก็ยังไม่เจอเอกสารของรัฐแบบในบราซิลหรือกัวเตมาลา

ไทเรลกล่าวว่าสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนในรัฐไทยคือ ประชาชนถูกปราบปรามโดยรัฐมาตลอด ไม่ว่าในรัฐเผด็จการทหาร หรือรัฐที่ดูเป็นประชาธิปไตย ทั้งการสังหาร การกักขังโดยมิชอบ การอุ้มหาย หรือการคุกคามต่างๆ โดยเธอสนใจความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความรุนแรงนอกระบบ ว่ากฎหมายเปิดช่องให้ใช้ความรุนแรงนอกระบบหรือไม่ หรือกฎหมายจะช่วยประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมหรือไม่

อุปสรรคอันใหญ่ที่เจอ คือจะหาหลักฐานที่ไหน โดยไม่ใช้วิธีการหาคนที่ทำงานในกองทัพหรือตำรวจโดยตรงในการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ สุดท้ายได้พยายามใช้ข้อมูลที่ปรากฏอยู่แล้วในที่สาธารณะ ทั้งเอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารในห้องสมุดรัฐสภา หรือเอกสารในหนังสือพิมพ์ต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาที่จะรายงานการกระทำของเจ้าหน้าที่โดยละเอียด

ไทเรลได้แนะนำในการหาเอกสารเพื่อศึกษาประเด็นเหล่านี้ เช่น เอกสารเกี่ยวกับกฎหมาย และเอกสารประกอบการทำกฎหมาย ควรไปค้นเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ส่งไปที่หอจดหมายเหตุ หรือค้นคำพิพากษาของศาล และหนังสืองานศพ โดยข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ที่ร่วมในเหตุการณ์ต่างๆ บางครั้งก็ยังภูมิใจอยู่ในการกระทำ ก็อาจจะมีการเขียนถึงในหนังสือ รวมทั้งหนังสือบันทึกเล่าเรื่องชีวิตของข้าราชการ หรือบันทึกประชุมของสภา

ไทเรลสรุปว่าข้อมูลที่อยู่ในที่สาธารณะก็มีความสำคัญในอีกแง่หนึ่ง คือเป็นข้อมูลที่กำลังรอนักประวัติศาสตร์หรือนักคิดจะมารวบรวม โดยบทบาทของนักประวัติศาสตร์ควรจะเป็นการรวบรวมและบันทึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้สังคมลืม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท