‘พล.ต.นักรบ’ ยัน ‘คสช.’ เดินหน้าการพูดคุยสันติภาพ ฝ่ายความมั่นคงปรับท่าทีหนุน

เสวนา ‘ความมั่นคงของชาติกับอนาคตสันติภาพชายแดนใต้’ ‘พล.ต.นักรบ’ ยัน คสช.สั่งเดินหน้าการพูดคุยสันติภาพ คาดกระบวนการชัดขึ้นหลังมีรัฐบาลใหม่ เผยเตรียมร่างโรดแมปเปิดเวทีหารือทั่วประเทศ ด้าน ‘ศรีสมภพ’ ย้ำการพูดคุยสันติภาพเปลี่ยนสถานการณ์ในพื้นที่ เน้นย้ำประชาชนต้องมีส่วนผลักดัน
 
 21 ส.ค. 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2557 วิทยาลัยประชาชน (People’s College) จัดเสวนาสาธารณะในหัวข้อ ‘ความมั่นคงของชาติกับอนาคตสันติภาพชายแดนใต้’ ที่ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมี พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ร่วมอภิปราย
 
พล.ต.นักรบ กล่าวระหว่างการเสวนาว่า ขอยืนยันกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเดินหน้าต่อไป เพราะจากประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 98/2557 เรื่องการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 96/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดำเนินการสร้างกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ ในขณะที่นโยบายบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ระบุให้มีการส่งเสริมการพูดคุย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการยกร่างฉบับใหม่ที่จะต้องมีการระบุให้ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม และคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ ซึ่งนโยบายฉบับปัจจุบันก็มีการระบุถึงการส่งเสริมให้มีการพูดคุยสันติภาพ เพียงแต่ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีรัฐบาลที่เป็นทางการ จึงทำการเปิดตัวยากมาก
 
“ผมคิดว่าอีก 2 สัปดาห์ จะมีรัฐบาลอย่างเป็นทางการ เมื่อมีรัฐบาลแล้ว คิดว่าสามารถที่ดำเนินการกระบวนการสันติภาพได้ชัดเจนขึ้น โดยเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับกระบวนสันติภาพมากที่สุด พร้อมทั้งมีการเดินสายพบปะกับประชาชนทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องกระบวนการสันติภาพ ที่สำคัญหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงจะร่าง Roadmap กระบวนการสันติภาพของรัฐบาลและนำไปรับฟังความเห็นของประชาชน” พล.ต.นักรบ เปิดเผย
 
นายทหารจาก กอ.รมน. กล่าวยอมรับว่า ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะต่อต้านเรื่องการพูดคุยกับฝ่ายตรงกันข้าม แต่ก็เป็นธรรมชาติของกลุ่มที่ดูแลเรื่องความมั่นคง หากสังเกตฝ่ายความมั่นคงจะคัดค้านเรื่องการพูดคุยเนื่องจากมองประเด็นปัญหาเป็นเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก กังวลว่าหากดำเนินการไม่ดีแล้วจะเกิดผลกระทบตามมาและฝ่ายตนเองจะต้องรับผิดชอบ แต่หากสังเกตให้ดี ท่าทีของฝ่ายความมั่นคงจากที่เคยแข็งกร้าวในเรื่องนี้ก็กลับเริ่มเปลี่ยนท่าที สำหรับตนนั้นตลอด 1 ปีที่ผ่านมาก็เฝ้าสังเกตการณ์มาโดยตลอด และเห็นว่าแม้ว่าจะเริ่มต้นได้ดี แต่กระบวนการถือว่าเร็วเกินไป ปัญหาใหญ่คือความเข้าใจเกี่ยวกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพว่าในขั้นตอนแรกจำเป็นต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจก่อนเป็นลำดับแรก ตนเห็นว่าที่ผ่านมาหนึ่งปีนั้นไม่ได้ล้มเหลว แต่ก็ถือว่าเดินไปได้ไม่ได้ดีมากนัก
 
“ปัญหาคือเรื่องการสื่อสารที่ไม่สื่อว่าขั้นตอนควรเป็นเช่นไร รัฐควรสื่อสารกับคนทั้งประเทศว่าเห็นด้วยหรือไม่กับกระบวนการสันติภาพที่ภาคใต้ ซึ่งเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยอยู่แล้ว เราจึงจะสามารถดำเนินการได้ ควรเปิด Roadmap ให้ทราบกันทั่วไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่น สื่อสารว่าเรากำลังอยู่ในขั้นที่หนึ่ง คือการสร้างความเชื่อมั่น ในขั้นนี้ก็อาจจะมีขั้นที่ 1.1 1.2 ไปจนถึง 1.100 ซึ่งต้องใช้เวลา จะข้ามแต่ละขั้นก็ต้องมีตัวชี้วัดชัดเจน หากผมเป็นคนที่อยู่กรุงเทพฯ แล้วมีการเซ็นต์สัญญาพูดคุย คนกรุงเทพฯคิดว่าปัญหาภาคใต้จบแล้ว แต่ความจริงคือไปคุยเพียงครั้งแรกนั้นเพื่อไปสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้อย่างไร หากขั้นแรกยังไม่สำเร็จ จะสร้างขั้นสองต่อไปก็ยังไม่ได้”
 
พล.ต.นักรบ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนต่อจากนั้นคือการลงนามในข้อตกลงว่าจะเดินหน้าพูดคุยหรือการเจรจากันต่อ ในตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร จะออกมาเป็นการกระจายอำนาจ การปกครองตนเอง หรือแยกเป็นเอกราชก็ยังไม่แน่นอน เพราะยังไม่มีการตั้งประเด็นว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด เพราะเราต่างก็ไม่รู้ว่าระบบการเมืองแบบใดดีที่สุดหรือเหมาะสมกับพื้นที่มากที่สุด หลังจากนั้นจึงเป็นขั้นตอนของการร่าง Roadmap ว่าจะเดินต่อไปอย่างไร
 
พล.ต.นักรบ เปิดเผยอีกว่า สำหรับแผนที่เดินทาง หรือ Roadmap ที่หน่วยงานความมั่นคงจะจัดทำขึ้นนั้นจะยกร่างโดยเอาประสบการณ์การสร้างกระบวนการสันติภาพจากหลายประเทศ เช่น ไอร์แลนด์เหนือ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น มาเป็นรูปแบบในการดำเนินการกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ กอ.รมน. อาจจะยกร่างขึ้นมาก่อนแล้วนำมาปรับแก้หลังจากรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว
 
“ผมขอเรียนว่าเราเดินต่อไป แต่ขณะนี้รัฐไทยยังไม่พร้อม เราขอเตรียมการดีไซน์รูปแบบและวิธีการทำงานก่อน เพราะตอนนี้รัฐบาลยังไม่ได้อยู่ในสถานะปกติ การเปิดเวทีพูดคุยกับต่างประเทศก็ค่อนข้างยาก เพราะติดที่เรื่องประสานงาน”
 
นายทหารจาก กอ.รมน. กล่าวว่า ความท้าทายและความเสี่ยงที่กระบวนการซึ่งกำลังดำเนินอยู่นี้คือความหวาดระแวงที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ เนื่องจากไม่มีการสร้างความไว้วางใจไว้ก่อนที่จะมีการลงนาม ในขณะที่ฝ่ายไทยเองก็ยังระแวงรัฐบาลมาเลเซียอยู่ ส่วนฝ่ายขบวนการในพื้นที่เองก็ไม่รู้จักผู้นำของกลุ่มตัวเองและมีความเสี่ยงที่จะมีการปฏิวัติภายในองค์กร ซึ่งประเมินได้จากการที่พวกเขาพยายามสื่อสารผ่านยูทูปเพื่อมุ่งสร้างความเข้าใจให้ตรงกันกับทุกกลุ่ม นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการคือการเร่งการพูดคุยให้เร็วมากเกินไปเหมือนกับการพูดคุยครั้งที่ผ่านมา
 
พล.ต.นักรบ กล่าวต่อว่า ความเสี่ยงที่จะทำให้การพูดคุยไม่ประสบความสำเร็จยังอยู่ที่เอกภาพของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมักจะมีความขัดแย้งกันเอง การแก้ไขปัญหานี้คือการสร้างเอกภาพทางความคิด กล่าวคือทำอย่างไรให้คิดต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาให้เหมือนกันทั่วประเทศ ซึ่งจุดนี้แนวนโยบายฉบับใหม่ที่กำลังยกร่างอยู่จะช่วยได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเอกภาพทางการบริหารที่จะต้องแก้ไขให้ได้
 
ส่วนการพูดคุยสันติสุขจะใช้กรอบการลงนามฉันทมติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่ลงนามระหว่างรัฐไทยกับขบวนการ BRN เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 หรือไม่นั้นต้องให้ผู้ที่เกี่ยวในระดับสูงเป็นผู้ตัดสินใจ แต่ตนมองว่ากรอบดังกล่าวยังมีประโยชน์อยู่ เนื่องจากมีการระบุว่าการพูดคุยต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หากทำกรอบการพูดคุยขึ้นมาใหม่อาจมีปัญหาตามมา
 
ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า การพูดคุยสันติภาพในรอบปีที่ผ่านมา แม้จะมีการหยุดชะงักไปแต่ก็ส่งผลอย่างมากต่อสถานการณ์ในพื้นที่ เนื่องจากมีการสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้กลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐได้มาพูดคุย ซึ่งอยู่ในกรอบคิดที่ทาง สมช. ได้ระบุไว้ในนโยบาย และเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนสันติภาพที่มีพลวัตในพื้นที่ ทำให้ผู้คนเริ่มคิดหาทางออกได้โดยไม่ฆ่ากัน
 
ขณะนี้เรากำลังอยู่ในขั้นตอนของการพูดคุยสันติภาพซึ่งเป็นขั้นตอนของการเตรียมการสู่การเจรจาสันติภาพในอนาคต ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลานานเพียงใด แต่ที่รู้แน่ชัดคือกระบวนการสร้างสันติภาพนั้นมีช่องทางอยู่หลากหลาย การเปิดพื้นที่ทางการเมืองในช่องทางเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเครือข่ายหนุนเสริมสันติภาพที่จะทำงานเมื่อถึงคราวที่กระบวนการหยุดชะงัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และประชาชนกลุ่มต่างๆ ร่วมกันผลักดันมาตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา
 
“การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมมีความสำคัญมาก หากขาดโครงข่ายรองรับการพูดคุยสันติภาพ จะทำให้การพูดคุยไม่ราบรื่น ไม่ยั่งยืน ต้องมีการดำเนินการจากล่างขึ้นบน จากบนลงล่าง” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท