เริ่มแล้วประชุมนานาชาติ CCPP มองสันติภาพกับการสื่อสาร

เริ่มแล้วประชุมวิชาการนานาชาติ CCPP ‘การสื่อสาร ความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ: ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย’ ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพและการสื่อสารร่วมเป็นองค์ปาฐก
 
 
21 ส.ค. 2557 ที่อาคารนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี ม.อ.ปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ “เรื่อง การสื่อสาร ความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ: ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย” (Communication, Conflicts and Peace Processes :Landscape of Knowledge from Asia and the Deep South of Thailand) หรือ CCPP โดยมีนักศึกษา สื่อและนักวิชาการทั้งจากส่วนกลางในในพื้นที่ รวมทั้งภาคประชาสังคม เข้าร่วมจำนวนมาก
 
รศ.ดร.ชูศักดิ์ กล่าวว่า ในขณะที่การศึกษาเกี่ยวกับปัญหารากเหง้าและแรงขับเคลื่อนที่นำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงมีจำนวนมาก ทั้งมิติการเมือง วัฒนธรรม และภาคประชาสังคม แต่การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการสื่อสารค่อนข้างมีจำกัด ทั้งที่ความรู้ด้านนี้มีความสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพในเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคของประเทศไทย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมนานาชาติครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับความเข้าใจและเห็นหนทางคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น
 
การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 21- 22 สิงหาคม 2557 จัดโดย คณะวิทยาการสื่อสาร วิทยาลัยอิสลามศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ร่วมกับ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี สถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)
 
จุดเด่นๆ ของการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ ในวันแรกได้แก่ การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง จากระเบิดถึงป้ายผ้า ? การเปลี่ยนยุทธวิธีการต่อสู้ด้วยอาวุธสู่การไม่ใช้อาวุธโดย ศ.ดร.Stein Tønnesson สถาบันวิจัยสันติภาพแห่งกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์
 
Stein Tønnesson
 
ศ.ดร.Stein Tønnesson เป็นนักวิจัยและนักประวัติศาสตร์ชาวนอร์เวย์ สนใจศึกษาวิจัยด้านความขัดแย้งระหว่างประเทศในเขตทะเลจีนใต้ รวมทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนามและการสร้างชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าโครงการวิจัยด้านสันติภาพในเอเชียตะวันออก ที่มหาวิทยาลัย Uppsala ประเทศสวีเดน เขายังเป็นรองบรรณาธิการด้านเอเชียของวารสาร Journal of Peace Research และได้รับเชิญเป็นผู้วิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งและสันติภาพในสื่อมวลชนระดับสากล
 
ตามด้วยการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ระหว่างสองทางเลือกอันเป็นหายนะ : การใช้ศักยภาพของสื่อใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง (Between Scylla and Charybdis : Harnessing the Potential of New Media for Conflict Transformation) โดย Sanjana Yajitha Hattotuwa ศูนย์ศึกษานโยบายทางเลือก ประเทศศรีลังกา
 
Sanjana Hattotuwa
 
สำหรับ Sanjana Hattotuwa เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านสื่อภาคพลเมืองและสื่อใหม่อย่างแข็งขัน เขายังเป็นผู้มีบทบาทในการออกแบบและใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ รวมทั้งการศึกษาระบบนิเวศของสื่อมวลชนเพื่อสร้างสันติภาพ การลดความขัดแย้งผ่านสื่อออนไลน์ และการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่สันติภาพ
 
เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อของศูนย์ศึกษานโยบายทางเลือก ประเทศศรีลังกา นับตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสันติภาพในเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อีกทั้งยังทำงานขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤติและการรักษาสันติภาพให้กับองค์การสหประชาชาติอีกด้วย
 
ในปี 2553 เขาเป็นชาวศรีลังกาคนแรกที่ได้รับรางวัลจาก TED Fellowship และรางวัลด้านผู้ประกอบการข่าวสารและความรู้จากมูลนิธิ Ashoka ทั้งสองรางวัลดังกล่าวยืนยันถึงความทุ่มเทของเขาในการเป็นผู้ริเริ่มใช้พลังของสื่อภาคพลเมืองและสื่อใหม่ในการติดตามสถานการณ์ความรุนแรง การสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ     
 
Jake Lynch
 
ส่วนไฮไลท์ของงานวันที่สอง ได้แก่ การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “วารสารศาสตร์สันติภาพเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.Jake Lynch ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
 
Associate Professor Dr. Jake Lynch เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาความขัดแย้งและสันติภาพแห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เขาทุ่มเทเวลากว่าสิบปีเพื่อการศึกษา พัฒนาองค์ความรู้ในสาขาวิชาวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ (Peace Journalism) รวมทั้งมีประสบการณ์ด้านการรายงานข่าวเพื่อสันติภาพทางสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง
 
ผลงานทางวิชาการที่นักวิจัย นักวิชาการและนักศึกษาด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพในประเทศไทยรู้จักกันดี เช่น Debates in Peace Journalism (Sydney University Press, 2008); Peace Journalism (with Annabel McGoldrick, Hawthorn Press, Stroud, UK, 2005) และบางบทความใน Handbook of Peace and Conflict Studies (Oxford, 2007)
 
จากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ เสวนาเรื่อง “บนเส้นทางสันติภาพ : ชายแดนใต้/ปาตานีในสถานการณ์ใหม่” Open discussion : On the (Peace) Road Again. Pa(t)tani in New Conditions
 
 
หมายเหตุ:
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท