ปาฐกถาพิเศษ Sanjana Hattotuwa: จากศรีลังกาสู่ปาตานี เรียนรู้ ‘สื่อใหม่’ เพื่อเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง

‘Sanjana’ นักเคลื่อนไหวด้านสื่อในศรีลังกา ชี้ปาตานีมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพ และการสื่อสารกับสันติภาพต้องไม่แยกออกจากกัน ย้ำเสรีภาพการสื่อสารจะนำไปสู่ฉันทามติในเรื่องต่างๆ แม้รัฐบาลไม่ชอบ
 
 
21 ส.ค. 2557 เวลา 10.40 น. Sanjana Yajitha Hattotuwa นักเคลื่อนไหวทางด้านสื่อสารมวลชนและหัวหน้าหน่วยสื่อ ศูนย์นโยบายทางเลือก (Centre for Policy Alternatives) ประเทศศรีลังกา ร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ระหว่างสองทางเลือกอันเป็นหายนะ: การใช้ศักยภาพของสื่อใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง (Between Scylla and Charybdis : Harnessing the Potential of New Media for Conflict Transformation) ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง การสื่อสาร ความขัดแย้ง และกระบวนการสันติภาพ : ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย (Communication, Conflicts and Peace Processes :Landscape of Knowledge from Asia and the Deep South of Thailand) หรือ CCPP ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ. ปัตตานี)
 
 
ปาตานีมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพ
 
ซานจานา (Sanjana) เริ่มต้นว่า ปาตานีมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพได้ หน้าที่ของผมก็คือ การกระตุ้นสังคมให้รู้สึกว่า ต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพ ด้วยการใช้วิธีการสื่อสารผ่านสื่อหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่”
 
จากนั้น ซานจาน่าเริ่มอธิบายหัวข้อดังกล่าว โดยยกกรณีปัญหาความขัดแย้งในประเทศศรีลังกาซึงเทคโนโลยีและการสื่อสารมีส่วนช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศว่า ศรีลังกาจมอยู่ในความขัดแย้งมานานหลายปี จึงมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพูดถึงความขัดแย้งและจัดการความขัดแย้งนั้น การใช้สื่อเป็นสิ่งที่เหนื่อยยาก แต่ได้ผลในการที่ทำให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองจากหลายฝ่ายในเรื่องกระบวนการสันติภาพ
 
“วันนี้ผมดีใจที่เห็นภาคใต้ของไทยให้ความสนใจในเรื่องการสื่อสารเพื่อสันติภาพ ผมสงสัยว่าทำไมงานวิชาการครั้งนี้ ถึงแยกออกเป็น 3 ส่วน ระหว่างความขัดแย้ง การสื่อสารและสันติภาพ ทั้งที่จริงทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวต่างก็มีความเชื่อมโยงกันอย่างยิ่งในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพ”
 
สำหรับกระบวนการสร้างสันติภาพในความหมายของซานจานา คือ “การใช้ชีวิต” โดยเขาระบุว่า ประเทศศรีลังกามีการใช้ระเบิดพลีชีพในอัตราที่สูงที่สุดในโลก ฉะนั้นการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพ ก็คือ การสื่อสาร พูดคุยระหว่างผู้คนในประเทศที่เกิดความขัดแย้งนั้นๆ นอกจากนั้น เราจะต้องดึงคนที่พูดคุยสื่อสารกันในสื่อ ออกมาเจอกันในทางกายภาพด้วย
 
 
หนุนเหยื่อร่วมแก้ไขความขัดแย้งโดยใช้เทคโนโลยีสื่อสาร
 
นักเคลื่อนไหวทางด้านสื่อสารกล่าวว่า ทุกวันนี้ ทุกคนต่างใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสาร โดยใช้เทคโนโลยี และเราสามารถเห็นโลกในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย เราไม่เคยเห็นข้อมูลข่าวสารของโลกกว้าง แต่สื่อใหม่ทำให้เราเห็น และสามารถสร้างข้อมูลของเรามาแบ่งปันต่อให้คนอื่นๆ รอบโลกได้อ่าน
 
ผู้ที่เป็นเหยื่อของความขัดแย้ง ไม่เพียงแค่เป็นเหยื่อ สามารถทำหน้าที่เป็นตัวแสดงในการแก้ไขความขัดแย้งได้ด้วย ด้วยการใช้เทคโนโลยีในการเขียนเล่าเรื่องราวของตัวเอง เสนอเรื่องราวเพื่อให้ได้ข้อคิดเห็นหลากหลายมาช่วยจัดการความขัดแย้งนั้นๆ
 
“โทรศัพท์มือถือสามารถใช้เป็นพยานหลักฐาน ต่อเหตุการณ์ความขัดแย้งต่างๆ ได้ แค่เป็นโทรศัพท์ที่อยู่ในมือเรา”
 
 
เสรีภาพการสื่อสารจะนำไปสู่ฉันทามติแต่ถูกเซ็นเซอร์โดยรัฐ
 
ซานจานา กล่าวต่อมาว่า หลังจากปี 2009 ศรีลังกาได้รับสันติภาพ หลังสงครามสิ้นสุดลง เรากำลังมีอนาคตที่ค่อนข้างสดใส เนื่องจากเรามีความเบิกบานแบบนี้ แต่เราต้องตระหนักด้วยว่า ความขัดแย้งและความเกลียดชังยังคงอยู่ในจิตใจของใครหลายคน เราจะต้องศึกษาศิลปะของการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง โดยไม่ต้องเข้าเรียนเรียนวิชาการเปลี่ยนความขัดแย้งถึงในมหาวิทยาลัย เพียงแต่ค่อยๆ เรียนรู้ในสังคม หรือจากเพื่อนบ้าน
 
เราต้องทำความเข้าใจเรื่อง New Media ตลอดเวลา เพราะสื่อใหม่นั้นมีอะไรใหม่ๆ ให้เรียนรู้ให้ท้าทายตัวเราอยู่ตลอดเวลา เราต้องการใช้สื่อในการสืบค้นงานวิจัย และแบ่งปันเรื่องราวความจริง
 
แต่การใช้สื่อใหม่ ก็เป็นการท้าทายต่อรัฐบาลของศรีลังกา โดยมีการถกเถียงกันว่า การมีเสรีภาพทางการสื่อสารนั้นจะนำไปสู่ฉันทามติที่ดีต่อเรื่องต่างๆ แต่รัฐบาลศรีลังกาไม่คิดเช่นนั้น ในทางกลับกันรัฐบาลพยายามหาทางที่จะเซ็นเซอร์ข้อมูลบางอย่างที่คิดว่าเป็นภัยต่อรัฐบาล
 
เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หล่อหลอมทัศนคติของเราได้ด้วยเช่นกัน ทั่วโลกมีการเข้าเฟสบุ๊ค และทวิตข้อมูลกันจำนวนหลายล้านคน กว่า 100 ล้านเทราไบต์ต่อวัน เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า คนทั่วทุกมุมโลกกำลังตื่นตัวที่จะเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ โดยการส่งผ่านข้อมูลจำนวนมากนี้
 
 
แนะแนวทางนักสันติภาพ ติดตามข้อมูลในโลกการสื่อสาร
 
ซานจานา ตั้งคำถามต่อมาว่า แล้วนักสันติภาพต้องทำอย่างไรกับการเคลื่อนย้ายข้อมูลที่มากมายขนาดนี้บ้าง
ประการแรก เขามองว่า นักสันติวิธีต้องดูว่า มีประเด็นอะไรบ้างที่เขาคุยกันในสื่อ คนมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อเหตุการณ์นั้นๆ มีการระบุหรือเปล่าว่าใครเป็นผู้กระทำต่อเหตุการณ์ความขัดแย้งนั้นๆ
 
ซานจานา เล่าว่า ที่ผ่านมาในสื่อใหม่ของศรีลังกาจะให้ความสำคัญกับการพูดถึงเรื่องพุทธศาสนา อัตลักษณ์ของมุสลิม บทบาทหญิงชาย ความแตกแยกระหว่างชุมชนสิงหลกับชุมชนทมิฬ ซึ่งเป็นการพูดถึงหลากหลายแง่มุม เมื่อมีคนพูดถึงขึ้นมา เราก็จะใช้สื่อในการสืบค้นย้อนหลังไปว่า เมื่อ 10 หรือ 20 ปีที่แล้วมีภาพถ่ายหรือข้อมูลใดบ้างที่พูดถึงเรื่องพวกนั้น
 
ทั้งหมดนี้ ซานจานาพยายามจะชี้ให้เห็นว่า การใช้สื่อเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเขาเชื่อว่า ทุกคนสามารถผลิตข้อมูลได้ และใช้ข้อมูลผ่านสื่อเป็น ไม่ว่าจะเป็นคนที่ใช้ภาษาใดก็ตาม เมื่อก่อนเราไม่มีทางทราบความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสงคราม หรือการสู้รบต่างๆ แต่ปัจจุบันเรารู้ทันข่าว เช่น ข่าวความขัดแย้งในตุรกี หรือการลุกฮือที่อาหรับกรณีอาหรับสปริงได้อย่างรวดเร็ว
 
“เราสามารถใช้สื่อในการช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นได้แน่นอน”
 
ซานจานา กล่าวด้วยว่า นิวยอร์กไทม์ เคยพาดหัวข่าวและพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำในปาตานี ชุมชนหรือคนยากจนมักใช้สื่อในการค้นหาอย่าง google เพื่อหาข้อมูลด้านสุขภาพ ด้านการศาสนา การเล่นเกมส์เป็นส่วนใหญ่ แตกต่างกันกับระดับชนชั้นกลางและกลุ่มคนรวยที่ใช้เทคโนโลยีสืบค้นหาข้อมูลด้านที่พักร้อน ร้านอาหารและภัตตาคารระดับหรู แต่เป็นการชี้ให้เห็นว่า ทุกระดับต่างก็มีการใช้เทคโนโลยี
 
ในประเทศอินโดนีเซีย จำนวนข้อความที่ถูกส่งผ่านสื่อ แสดงให้เห็นว่า ทุกวันนี้ประเทศอินโดนีเซียกำลังประสบปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร
 
 
Big Data เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์
 
ซานจานา กล่าวว่า เหล่า Big Data สามารถเก็บข้อมูลที่ผู้คนถกเถียงกันมากที่สุด และทำให้เราเห็นว่า ประเทศศรีลังกาเจอกับปัญหาอะไรบ้าง ผู้คนเกลียดชังเรื่องอะไร ข้อมูลไหนที่ตั้งขึ้นแล้วไม่มีคนตอบ เราจะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ ข้อมูลที่ถูกส่งผ่านสื่อจะเป็นประโยชน์ต่อเราในการนำมาวิเคราะห์ได้ อีกทั้งเป็นประโยชน์ในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพได้ หรืออาจเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการต่อสู้ก็เป็นได้
 
ยกตัวอย่าง การเลียนแบบรูปการชูมือสามนิ้ว อันเป็นรูปที่แสดงสัญลักษณ์ของการต่อต้าน หลายประเทศอาจจะไม่รู้ว่า ประเทศไทยเกิดปัญหาอะไร แต่ที่ทราบได้คือมีความไม่ปกติในประเทศไทย โดยสัญลักษณ์ชูมือสามนิ้วคนไทยเองก็สืบเลียนแบบมาจากภาพยนตร์ที่ถูกแชร์ผ่านสื่อเช่นกัน
 
คำถามของ ซานจานา ก็คือ ถ้าเราไม่ติดตามเรื่องสัญลักษณ์พวกนี้ เราจะเป็นนักสันติวิธีได้อย่างไร?
 
 
ยันต้องใช้สื่อและเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านสู่สันติภาพ
 
ซานจานาจบการปาฐกถาครั้งนี้โดยกล่าวว่า “ผมไม่คิดว่าสถาบันต่างๆ ที่ทำงานด้านสันติภาพ จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยี ที่แย่ที่สุดในเอเชียก็คือ การกลัวศาสนาอิสลาม ในช่วงที่มีความขัดแย้งและความรุนแรงในศรีลังกา มีการปิดกั้นข้อมูลทางสื่ออินเตอร์เน็ต แต่ปรากฏว่ามีผู้คนเข้าค้นหาข้อมูลใน google เพิ่มขึ้น 30% ซึ่งนั่นมีส่วนช่วยในการทำความเข้าใจมากขึ้น”
 
“เรื่องของสื่อไม่สามารถแบ่งแยกออกจากเรื่องสันติภาพ และสังคมการเมืองได้แล้ว ตอนนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจกับเรื่องการใช้สื่อ และการใช้เทคโนโลยีที่การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งสู่สันติภาพให้ได้
 
ซานจานา กล่าวว่า ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นผู้ที่กุมข้อมูลต่างๆ ไว้จำนวนมาก หากเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เราก็คงต้องขอพึ่งพาข้อมูลจากผู้ที่กุมข้อมูล ซึ่งเป็นข้อเสียเปรียบของนักสันติวิธี ทุกวันนี้สังคมต้องการข้อมูลที่ชัดเจนและสั้นๆ ต้องทำงานอย่างรวดเร็ว จะพึ่งพาข้อมูลที่นักวิชาการผลิตออกมาเท่านั้นคงไม่เพียงพอ หากเราจะพูดถึงเรื่องสันติภาพให้สังคมรับรู้และแลกเปลี่ยนกันนั้น
 
ซานจานา ยังกล่าวถึงปีศาจสองตัวจากเทพนิยายกรีก ซึ่งมาจากการมองว่า การที่จะก้าวไปข้างหน้าได้นั้นต้องเดินทางไปสองทางพร้อมๆ กัน คือ ทางที่ศึกษาความขัดแย้ง และทางที่จะใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง
 
“เราอย่าไปคิดว่ารัฐบาลจะเซ็นเซอร์ข้อมูลที่ไม่เป็นมิตรกับรัฐบาล เพราะแท้ที่จริงรัฐบาลอาจจะไม่สามารถเซ็นเซอร์ได้ทุกย่าง ข้อมูลและความจริงที่เรากุมไว้สามารถที่จะส่งต่อได้”
 
ซานจานา กล่าวทิ้งทายว่า เครื่องมือเทคโนโลยีที่อยู่ในกระเป๋าของพวกเรา จะมีส่วนในการนำพวกเราไปสู่สังคมที่มีความเท่าเทียมกันได้ในอนาคต
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท