เจาะสภาพการจ้างงานกระเป๋า-คนขับรถเมล์ ต้นตอคุณภาพการบริการ

รายงานศึกษาคุณภาพการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะ เน้น รถเมล์สาย 8 กับสภาพการจ้างงานของพนักงานขับรถและเก็บเงิน พบเป็นเหตุเป็นผล นักวิชาการแรงงานแนะคนงานรถร่วมฯ รวมตัวสร้างอำนาจต่อรองสภาพการจ้าง

การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะเป็นรูปแบบการเดินทางที่มากที่สุดอันดับ 1 ของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ข้อมูลจากองการขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือ ขสมก. ระบุว่าประชาชนใช้บริการรถโดยสารถึงประมาณ 3 ล้านคนต่อวัน ภายใต้การทำงานของ ขสมก. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่จัดรถโดยสารประจำทางบริการประชาชนในเขตกรุงเทพฯ  นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ รวม 114 เส้นทาง มีจำนวนรถ 7,253 คัน แบ่งประเภทเป็น รถ ขสมก. จำนวน 3,509 คัน และรถเอกชนร่วมบริการ จำนวน 3,744 คัน แต่ปัจจุบันจำนวนรถโดยสารที่นำออกบริการประชาชนกลับลดลง จากรายงานข้อมูลการให้บริการของขสมก. ณ วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557 มีรถโดยสารบริการประชาชนเพียง 5,226 คัน แบ่งประเภทเป็นรถ ขสมก. 2,526 คัน และรถเอกชนร่วมบริการ 2.700 คัน

นอกจากปัญหาการขาดแคลนรถให้บริการแล้ว ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2556 พบว่า ในเขตกรุงเทพฯ รถโดยสารขนาดใหญ่มีสถิติคดีอุบัติจราจรทางบก  จำนวน 520 ครั้ง ในขณะที่ภาพรวมอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ  ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ถึง พฤษภาคม 2557 ข้อมูลจากมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ระบุมีจำนวน 374 ครั้ง เสียชีวิต 512 ราย บาดเจ็บ 5,208 ครั้ง  ซึ่งจำนวนอุบัติเหตุรถเมล์ 29 ครั้ง เสียชีวิต 30 ราย บาดเจ็บ 100 ราย

สถิติเรื่องร้องเรียนรถเมล์ จากรายงานสถิติการขนส่ง ประจำปี 2556 ของกรมขนส่งทางบก ระบุ การรับเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ สายด่วน 1584  ในส่วนกลาง จำนวน 5,888 ราย แบ่งประเภทเป็น รถขสมก. จำนวน 1,673 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2555 จำนวน 138 ราย โดยเรื่องร้องเรียน 3 อันดับมากที่สุด อันดับ 1 คือไม่หยุดรถรับ-ส่งผู้โดยสารที่ป้ายจำนวน 669 ราย อันดับ 2 ขับรถประมาท น่าหวาดเสียว จำนวน 478 ราย  และอันดับ 3 ผู้ประจำรถแสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ จำนวน 251 ราย  ด้านรถเอกชนร่วมบริการ มีผู้ร้องเรียน จำนวน 4,215 ราย เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2555 จำนวน 963 ราย ซึ่งเรื่องร้องเรียน 3 อันดับมากที่สุด คือ 1.ขับรถประมาท น่าหวาดเสียว จำนวน 978 ราย 2. ไม่หยุดรถรับ-ส่งผู้โดยสารที่ป้าย จำนวน 562 ราย และ 3. ผู้ประจำรถแสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ จำนวน 468 ราย  

หากย้อนกลับไปพิจารณาเรืองร้องเรียน 5 อันดับแรกที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุกของรถเอกชนร่วมบริการทั้งรถร่วมธรรมดาและรถร่วม ปอ. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 ถึง 2556 อันดับ 1 ยังคงเป็น ผู้ขับรถประมาท น่าหวาดเสียว 2. เก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่ทางราชการกำหนด  3. ผู้ประจำรถแสดง กิริยาวาจาไม่สุภาพ 4. ให้ผู้โดยสารลงก่อนถึงจุดหมายปลายทาง  และ 5. พนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสาร สูบบุหรี่ขณะปฏิบัติหน้าที่

ปชช.โหวต สาย 8 ครองอันดับ 1 ปัญหาการให้บริการรถร่วม ประเภทรถธรรมดา

สถิติร้องเรียนปัญหาการให้บริการรถเมล์เอกชนร่วมบริการ วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2556 ผ่านสายด่วน 1384   ระบุ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ประเภทรถธรรมดาได้แก่ สาย 8 แฮปปี้แลนด์ – สะพานพุทธ ติด 1 ใน 3 ถูกร้องเรียนมากที่สุดถึง 11 เดือน และติดอันดับ 1 มาถึง 10 เดือน เฉลี่ยปัญหาร้องเรียนเดือนละ 20 ราย จนมีผู้ตั้งสโลแกนในสังคมออนไลน์ ว่า “รวดเร็วเพื่อผู้โดยสาร เสียวสะท้านย่านลาดพร้าว วิ่งยาวถึงสะพานพุทธ เร็วรี่เหมือนกู้ภัย ตะโกนไล่ให้คันอื่นหลบ สยบทุกแว๊น ตีโค้งแล่นรอบอนุสาวรีย์ชัยฯ ไม่ถึงป้ายประตูก็เปิด  วิ่งเตลิดแถวเซนลาดฯ ขับปาดรถตำรวจ มีด่านตรวจไม่ต้องจอด … 8 บาทตลอดสายไม่จ่ายมึงลง !!! ’’  

ผู้โดยสารสาย 8 โวยรถเก่า พนง.ประมาท ไม่ใส่ใจให้บริการ

นายวีรพงศ์ นาทพัฒนพงศ์  นักศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ใช้บริการรถเมล์สาย 8 เป็นประจำ กล่าวว่า “สภาพตัวรถเมล์ค่อนข้างเก่า  หน้าต่างบางบานหน้าต่างไม่สามารถใช้งานได้  พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารเท่าที่ควร ยังขับรถเร็ว น่าหวาดเสียว  เบรกรถกะทันหัน  จอดรถรับ-ส่งผู้โดยสารไม่ตรงป้าย ไม่ปิดประตูขณะเดินรถ ทั้งใช้โทรศัพท์ขณะปฏิบัติหน้าที่ซึ่งคงปัญหานี้มาเป็นเวลานาน  สำหรับกล่องให้ผู้โดยสารหย่อนตั๋วแสดงความคิดเห็นของรถเมล์สาย 8 บางคันไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากเสียหายชำรุด”  

จากการใช้บริการรถเมล์สาย 8 ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าเส้นทางการเดินรถของรถเมล์สาย 8  ต้องเผชิญกับปัญหาการจราจรติดขัด เนื่องจากเส้นทางการเดินรถผ่านสถานที่สำคัญหลายจุด ทั้งสถานที่ราชการ สถานที่ท่องเที่ยว สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที  รวมถึงปัญหาด้านวินัยจราจรบนถนน เช่น แผงร้านค้าริมถนน หรือการจอดรถยนต์ส่วนบุคคล  รถแท็กซี่ และรถตู้ขวางป้ายรถโดยสารประจำทางส่งผลให้พนักงานขับรถไม่สามารถจอดรับส่งผู้โดยสารได้ตรงป้าย

หลังจากมีการเผยแพร่คลิปวีดิโอพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารรถเมล์สาย 8  ใช้วาจาไม่สุภาพโต้เถียงและไล่ผู้โดยสารลงจากรถบนสังคมออนไลน์ เป็นสาเหตุให้กระทรวงคมนาคมต้องเข้ามาดูแลการเดินรถของรถเมล์สาย 8 เป็นพิเศษ  สื่อมวลชนและคนในสังคมให้ความสนใจกับปัญหาการบริการของรถเมล์สาย 8 อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเหตุการณ์อุบัติเหตุเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งตอกย้ำปัญหาด้านการบริการของรถเมล์สาย 8 อย่างที่สุด กรณีมีการเผยแพร่ภาพรถเมล์สาย 8 เบียดรถเก๋งจนเสยรถเก๋งลอยขึ้นมาจากพื้นถนน และกรณีรถเมล์สาย 8 ประสบอุบัติเหตุชนกับรถจักรยายนต์เป็นเหตุให้เด็กอายุ 13 ปี เสียชีวิต 1 คน แม้ว่าความผิดไม่ได้ตกที่พนักงานรถสาย 8 โดยตรง แต่เมื่อมีการตรวจสอบกลับพบว่าพนักงานขับรถไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ เนื่องจากอยู่ระหว่างขั้นตอนการขอใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ  โดยได้ผ่านขั้นตอนการอบรมเพื่อเปลี่ยนจากใบอนุญาตขับขี่ทั่วไปเป็นใบขับขี่รถสาธารณะเรียบร้อยแล้ว และเพิ่งเข้ามาเป็นพนักงานขับรถเมล์สาย 8 ได้เพียง 3 สัปดาห์ ซึ่งปกติจะไม่ได้ขับรถ ยกเว้นในกรณีพนักงานขับรถไม่เพียงพอ โดยเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์เท่านั้น  

กรณีตัวอย่างดังกล่าวส่งผลให้รถเมล์สาย 8 เข้ามาอยู่ในกระแสวิพากษ์วิจารณ์และถูกโจมตีอย่างหนักในสังคมออนไลน์และถูกจับตามองในฐานะจำเลยสังคมจากประชาชนไปโดยปริยาย เพื่อทำความเข้าใจกับสภาพปัญหาด้านการบริการรถเมล์สาย 8 ที่เกิดขึ้น  ผู้เขียนจึงสัมภาษณ์พนักงานรถเมล์สาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ

พนง.สาย 8 ไร้เงินเดือนประจำ พึ่งส่วนแบ่งยอดขายตั๋วโดยสาร

นายสมชาย (นามสมมติ) พนักงานขับรถเมล์สาย 8  กล่าวว่า พนักงานขับรถได้รับเบี้ยเลี้ยงรายจากบริษัท  วันละ 100 บาท และส่วนแบ่งจากยอดขายตั๋วโดยสารร้อยละ 10  ด้านพนักงานเก็บค่าโดยสารได้รับเบี้ยเลี้ยงรายวัน วันละ  50 บาท และส่วนแบ่งจากยอดขายตั๋วโดยสารร้อยละ 5  โดยเฉลี่ยสามารถเดินรถได้สูงสุด  4 รอบต่อวัน ยอดขายตั๋วโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 5,000 -  6,000  บาทต่อวัน  ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ลดลงหากเปรียบเทียบกับหลายปีก่อน เนื่องจากระยะหลังมีการเพิ่มจำนวนสายรถเมล์ร่วมบริการประชาชนในเส้นทางการเดินรถของรถเมล์สาย 8 มากขึ้น โดยเฉพาะรถเอกชนร่วมบริการ ประเภทรถปรับอากาศ ปอ.8 เคหะร่มเกล้า –สะพานพุทธ ซึ่งสามารถแย่งผู้โดยสารจากรถเมล์สาย 8 ไปได้จำนวนมาก

จราจรติดขัด พนง.สาย 8 ทำงานถึง 15 ชม.ต่อวัน

นายสมชาย ( นามสมมติ ) เปิดเผยว่า ต้องทำงานโดยเฉลี่ย 15 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งไม่สามารถกำหนดชั่วโมงงานที่แน่นอนได้ในแต่ละวัน เนื่องจากการเดินรถในแต่ละรอบใช้เวลาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจรบนท้องถนน  ทั้งนี้สภาพรถซึ่งพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารไม่สามารถเลือกประจำรถคันใดคันหนึ่งได้  ช่วงเวลาในการออกเดินรถ ประสบการณ์การทำงานของพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารแต่ละคน ส่งผลต่อจำนวนชั่วโมงงานในแต่ละวัน

พนง.รถร่วม แบกแรงกดดัน เลี่ยงตอบโต้ผู้โดยสารเพื่อลดปัญหาร้องเรียน

นางสาวสมใจ (นามสมมติ ) พนักงานเก็บค่าโดยสารรถเมล์สาย 8 กล่าวว่า “ได้รับแรงกดดันจากกระแสข่าวปัญหาด้านการบริการ จากการเรียกอบรมของกรมขนส่ง และเสียงวิพากษ์วิจารณ์โดยตรงจากผู้โดยสาร  จึงต้องใช้ความอดทนอย่างสูงในการทำงาน โดยในปัจจุบันพยายามหลีกเหลี่ยงการตอบโต้กับผู้โดยสารเพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียนจากผู้โดยสาร”

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจชัชชาติ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้โพสต์ภาพและข้อความลงบนเฟซบุ๊กแฟนเพจของตนเอง ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 56 ซึ่งขณะนั้นนายชัชชาติหลังยังเป็น รมว.คมนาคม หลังจากได้ทราบถึงสภาพปัญหาด้านบริการและใช้บริการรถเมล์สาย 8 ว่า ได้เชิญผู้ประกอบการรถร่วมสาย 8 มาหารือ และร่วมวางแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการบริการของรถเมล์สาย 8 ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  ซึ่งหากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นอาจมีการทบทวนสัมปทานต่อไปตามลำดับ โดยสรุปให้มีมาตรการเร่งด่วน คือ ติดหมายเลขรถบนรถบนรถเมล์ด้วยตัวษรขนาดใหญ่ เพื่อให้ผู้โดยสารและประชาชนสามารถมองเห็นได้ชัดเจน สำหรับจดจำหมายเลขรถไว้ร้องเรียนปัญหาด้านการบริการได้แบบเจาะจง และให้เจ้าของผู้ประกอบการเข้มงวดในเรื่องพนักงาน ด้านการแต่งตัว ด้านมารยาทของพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร รวมถึงการตั้งกล่องให้ผู้โดยสารหย่อนตั๋วแสดงความคิดเห็น

นายอาทิตย์ ใหม่แก้ว พนักงานบริษัทเอกชน ผู้ใช้บริการรถเมล์สาย 8 กล่าวว่า “ใช้บริการรถเมล์สาย 8 อยู่เป็นประจำ ซึ่งการบริการรถเมล์สาย 8 มีทั้งดีและไม่ดี   ขึ้นอยู่พฤติกรรมของพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารประจำรถแต่ละคัน”

ทั้งนี้เพื่อให้เห็นสภาพปัญหาและปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการให้บริการของรถเมล์สาย 8 ผู้เขียนจึงสัมภาษณ์พนักงานรถเมล์สายอื่นเพื่อศึกษาเปรียบเทียบ กรณีปัจจับเรื่องเส้นทางนั้นจึงยกตัวอย่างรถเมล์ ปอ.8 เคหะร่มเกล่า – สะพานพุทธ ซึ่งเข้ามาบริการทับเส้นทางเดียวกันกับ รถเมล์สาย 8 

นางนงเยาว์  วังทะพันธ์ อายุ 48 ปี พนักงานเก็บค่าโดยสารรถเมล์ ปอ.8 กล่าวว่า  เป็นพนักงานรถเมล์มาเป็นเวลา  6  ปี  ได้รับเงินเดือนประจำจากบริษัท และได้รับเงินพิเศษหากสามารถทำยอดขายตั๋วโดยสารได้ครบตามที่ทางบริษัทกำหนดไว้  โดยแบ่งรับเงินเป็นรายเดือนและรายวัน โดยพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารจะได้รับเงินประมาณ 28,000 บาท และ 15,000 บาทต่อเดือนตามลำดับ ซึ่งได้รวมเงินประตำแหน่ง เงินพนักงานดี และเบี้ยขยันไว้เรียบร้อยแล้ว  ทำงานโดยเฉลี่ย 10 – 12 ชั่วโมงต่อวันขึ้น อยู่กับสภาพการจราจรบนถนนของแต่ละช่วงเวลา  โดยทางบริษัทได้กำหนดช่วงเวลาและจำนวนรอบการออกเดินรถของพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารแต่ละคนไว้อย่างชัดเจน   รวมถึงระบบจีพีเอส ติดตามเส้นทางการเดินรถอย่างเคร่งครัด

นายเกริกชัย คงทอง  เจ้าของธุรกิจส่วนตัว ผู้ใช้บริการรถเมล์ ปอ.8 กล่าวว่า “พอใจกับการให้บริการรถเมล์ ปอ.8 พนักงานรถเมล์ค่อนข้างมีความเต็มใจให้บริการแต่งกายสุภาพ จึงเปลี่ยนมาใช้รถเมล์ปอ.8 แทนรถเมล์สาย 8 เพราะเห็นว่าเป็นรถเมล์ปรับอากาศ สามารถช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง สภาพรถที่สมบูรณ์สามารถสร้างความมั่นใจถึงความปลอดภัยที่จะได้รับในการเดินทางได้มากกว่า”

นอกจากนี้ผู้เขียนได้สัมภาษณ์พนักงานรถเมล์สายปอ.29 มธ.ศูนย์รังสิต – หัวลำโพง รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ประเภทปรับอากาศ  ที่มีปัญหาการให้บริการมากที่สุดอันดับ ติด 1 ใน 3 ถูกร้องเรียนมากที่สุด 11 เดือนติดต่อกัน 

พนง.รถร่วม เครียดจัดวางแผนการเดินรถเองเพื่อดึงผู้โดยสาร

นายไพฑูรย์ สำเนียงดี อายุ 42 ปี พนักงานขับรถเมล์ ปอ.29 เปิดเผยว่า การเป็นพนักงานของรถเอกชนร่วมบริการต้องประสบกับความตึงเครียดในการปฏิบัติหน้าที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องบริหารเวลาและวางแผนการเดินรถด้วยตัวเอง  ซึ่งหากผู้โดยสารมากจำนวนเงินที่จะได้รับก็มากขึ้นด้วยเช่นกัน  จึงเป็นสาเหตุให้พนักงานต้องขับรถเร็ว และขับรถทิ้งระยะห่างจากรถเมล์สายเดียวกัน รวมถึงรถเมล์สายอื่นที่ผ่านเส้นทางเดียวกัน และรถเมล์ฟรีจากภาษีประชาชน  เพื่อดึงผู้โดยสารจากคันอื่นให้ขึ้นรถเมล์คันตนเองให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามพนักงานขับรถต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร เพราะสำหรับอุบัติเหตุบางกรณี  พนักงานขับรถจะต้องดำเนินการรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง 

ค่าแรงไม่ถึง 300 ตัดเบี้ยเลี้ยงรายวันถ้าขับไม่ครบตาม บ.กำหนด

นางสาวแพงศรี โพธิ์นอก อายุ 48 ปี พนักงานเก็บค่าโดยสารรถเมล์ ปอ.29. ซึ่งเป็นพนักงานรถเมล์มาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว กล่าวว่า พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ไม่มีเงินเดือนประจำจากทางบริษัท โดยพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารจะได้รับเงินค่าเบี้ยเลี้ยงรายวัน วันละ 300 บาท ซึ่งพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารต้องออกเดินรถให้ครบกำหนดอย่างต่ำ 4 รอบต่อวันจึงจะได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงรายวันเต็มจำนวน  หากพนักงานขับรถหรือพนักงานเก็บค่าโดยสารไม่สามารถออกเดินรถครบกำหนดอย่างต่ำ 4 รอบต่อวัน จะต้องโดนตัดเงินค่าเบี้ยเลี้ยงรายวัน คือ ออกเดินรถ 1 รอบ ได้เงินเพียง 75 บาท ออก เดินรถ 2 รอบ  ได้เงิน 150 บาท ออกเดินรถ 3 รอบ ได้เงิน 200 บาท ออกเดินรถ 4 รอบถึงจะได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงวันเต็มจำนวน 300 บาท และได้รับเงินพิเศษหากสามารถทำยอดขายตั๋วโดยสารได้ครบตามที่ทางบริษัทกำหนดไว้ เช่น หากทำยอดขายตั๋วโดยสารได้ครบ 8,000 บาทจะได้รับเงินพิเศษ 100  บาท หากยอดขายตั๋วโดยสารครบ 9,500 บาท จะได้รับเงินพิเศษ 150 บาท เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีเงินส่วนแบ่งจากยอดขายตั๋วโดยสาร หรือพนักงานจะได้รับเงินส่วนแบ่งจากยอดขายตั๋วโดยสารทุก 15 วันหรือ 1 เดือน เช่น หากขายตั๋วโดยสารได้ 6,500 บาท พนักงานขับรถจะได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 4 พนักงานเก็บค่าโดยสารจะได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 2 โดยเงินส่วนแบ่งจากยอดขายตั๋วโดยสารจะค่อยๆเพิ่มขึ้นตามยอดขายตั๋วโดยสาร โดยส่วนใหญ่ยอดขายตั๋วโดยสารอยู่ที่ 8,500 บาทต่อวัน 

พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารสามารถออกเดินรถได้สูงสุด 5 รอบต่อวัน โดยเฉลี่ยใช้เวลา 3 ชั่วโมง 30 นาทีต่อรอบ ทำงานเฉลี่ย 14 ชั่วโมงต่อวัน  โดยปกติพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารสามารถเลือกประจำรถเมล์คันใดคันหนึ่งได้  ซึ่งทำให้พนักงานขับรถคุ้นชินกับสภาพรถและคุ้นเคยกับพนักงานเก็บค่าโดยสารเป็นอย่างดี ยกเว้นมีการเปลี่ยนแปลงกรณีที่พนักงานขับรถหรือพนักงานเก็บค่าโดยสารไม่สามารถมาทำงานได้หรือรถเมล์คันดังกล่าวต้องซ่อมแซม  ซึ่งก่อนออกรถรอบแรกในแต่ละวันพนักงานขับมีหน้าที่ในการตรวจสภาพรถเบื้องต้นด้วยตัวเอง

จะเห็นว่าสิ่งที่พบเป็นเรื่องของสภาพการจ้างงานของพนักงานที่แตกต่างกันมีผลต่อการถูกร้องเรียนหรือคุณภาพการให้บริการ และเพื่อเปรียบเทียบประเด็นนี้ให้เด่นชัดมากขึ้นผู้เขียนจึงสัมภาษณ์พนักงานรถเมล์สาย  45  สำโรง-ท่าน้ำสี่พระยา และรถเมล์สาย 522  รังสิต-อนุสาวรีย์ ซึ่งเป็นรถเมล์ของขสมก.ประเภทธรรมดาและปรับอากาศตามลำดับ เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างของค่าตอบแทนระหว่างพนักงานรถเมล์ขสมก.กับรถเอกชนร่วมบริการ

เงินเดือน พนง. สตาร์ทต่ำ ค่าตอบแทนไม่คุ้มค่า งานหนัก ความเสี่ยงสูง

นายนวพล หวังสกุล พนักงานขับรถเมล์สาย 45  สำโรง-ท่าน้ำสี่พระยา กล่าวว่า กลับมาทำงานเป็นพนักงานขับรถขสมก. อีกครั้งได้เพียงไม่นานหลังจากลาออกไปประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว ขั้นเงินเดือนเริ่มต้นของพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารน้อยมาก เพียง 6,080 บาทและ 4,880 บาท  มีเงินค่าเบี้ยเลี้ยงรายวัน เพียง 50 บาทและ 20 บาท เงินค่าล่วงเวลาชั่วโมงละ 30 และ 26 บาท  เงินส่วนแบ่งจากจำนวนตั๋วโดยสาร ใบละ 1 สตางค์และ 0.5 สตางค์ตามลำดับ ซึ่งตนมีรายได้เฉลี่ย 13,000 บาทต่อเดือน ต้องทำงานเฉลี่ยถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน  ออกเดินรถวันละ 3 รอบครึ่ง  หากสภาพจราจรปกติใช้เวลาเฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อรอบ แต่หากกรณีสภาพจราจรติดขัดต้องใช้เวลาเฉลี่ยนานถึง 7 ชั่วโมงต่อรอบ โดยค่าตอบแทนไม่คุ้มกับภาระงานและความเสี่ยง  ชีวิตการทำงานอยู่บนความไม่แน่นอนมีโอกาสประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนค่อนข้างสูง

พนง.รถเมล์ฟรีเหนื่อยหนัก บริการผู้โดยสารทุกรูปแบบ

นางสมพงษ์  ศรีบรรเทา อายุ 42 ปี พนักงานเก็บค่าโดยสารรถเมล์สาย 45 สำโรง-ท่าน้ำสี่พระยา เป็นพนักงานรถเมล์มา 17 ปี กล่าวว่า พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารรถเมล์ฟรีจากภาษีประชาชน ต้องรับมือกับผู้โดยสารทุกรูปแบบ ซึ่งมักเผชิญกรณีคนสติไม่ดี คนพิการ คนชราไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ มาใช้บริการบ่อยครั้ง  นั่งรถเมล์เล่นไม่ยอมลง ปัสสาวะ-อุจจาระบนที่นั่งโดยพนักงานเก็บค่าโดยสารไม่สามารถปฏิเสธการให้บริการผู้โดยสารกลุ่มนี้ได้เหมือนพนักงานรถเอกชนร่วมบริการ 

พนักงานรถเมล์มักเกิดปัญหาสุขภาพจากการทำงาน โดยเฉพาะ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ข้อเข่าเสื่อม  เพราะต้องใช้เวลาทำงานบนตัวรถยาวนานติดต่อกัน และเมื่อถึงบางต้นทาง-ปลายทางก็ไม่มีสุขาทำให้จำเป็นต้องกลั้นปัสสาวะ  รวมถึงรูปแบบการทำงานที่ไม่แน่นอนทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตรงเวลาและไม่มีพักผ่อนดูแลตัวเองเท่าที่ควร 

พนง.ขสมก.เผย  สภาพรถสมบูรณ์เพียง 60 %  รถร่วมตัดหน้าแย่งผู้โดยสาร ไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร

             นางสมพงษ์ กล่าวต่อว่า สภาพรถเมล์ที่นำออกมาให้บริการประชาชนในปัจจุบันมีความสมบูรณ์เพียง 60 เปอร์เซ็นต์  เนื่องจากรถเมล์บางคันถูกใช้งานมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี  สภาพตัวรถเมล์ที่ค่อนข้างเก่าเป็นอุปสรรคในการทำงานของพนักงาน และสร้างความไม่ปลอดภัยให้ผู้โดยสารเช่นกัน นอกจากนี้เผชิญกรณีปัญหารถเอกชนร่วมบริการตัดหน้า กรณีปัญหารถแท็กซี่ รถตู้โดยสาร และรถส่วนบุคคล จอดขวางป้ายรถโดยสาร ทำให้ไม่สามารถหยุดรับ-ส่งผู้โดยสารได้ตรงป้าย ส่งผลให้เกิดปัญหาร้องเรียนจากผู้โดยสารตามมา

พนง. รถขสมก.มีรายได้ประจำ | พนง.รถร่วม รายได้ไม่แน่นอน ระบบงานแย่

            นางอำนวย พุทธสุวรรณ อายุ 57 ปี พนักงานเก็บค่าโดยสารรถเมล์ ประเภทปรับอากาศ สาย 522 รังสิต-อนุสาวรีย์ฯ  กล่าวว่า รายได้เฉลี่ย 27,000 บาทต่อเดือน โดยแบ่งเป็นเงินเดือนประจำและเงินส่วนแบ่งจากยอดขายตั๋วโดยสารร้อยละ 5 หลังจากยอดขายตั๋วโดยสารครบ 4,500 บาท จะได้รับเงินส่วนแบ่งจากยอดขายตั๋วโดยสารร้อยละ 1 ซึ่งเป็นค่าตอบแทนของพนักงานในระบบเก่า ทำงานเฉลี่ย 14 ชั่วโมงต่อวัน เดินรถสูงสุด 2 รอบครึ่ง สำหรับพนักงานในระบบใหม่นั้นจะได้รับเงินเดือนประจำ รวมเงินค่าเบี้ยเลี้ยงรายวัน เงินส่วนแบ่งจากจำนวนตั๋วโดยสาร และเงินค่าล่วงเวลา

            นางอำนวย กล่าวต่อว่า เป็นพนักงานรถเมล์ มาเวลา 30 ปี ทั้งรถขสมก.และรถเอกชนร่วมบริการ ความแตกต่างด้านสวัสดิการระหว่างพนักงานรถ ขสมก.กับรถเอกชนร่วมบริการที่เห็นได้ชัดเจน คือ สวัสดิการพนักงานรถ ขสมก.เป็นไปตามระบบราชการ ซึ่งมีรายได้ประจำ สามารถลางานได้  มีค่ารักษาพยาบาล มีสวัสดิการสำหรับครอบครัว และเงินบำเหน็จ  ต่างจากพนักงานรถเอกชนร่วมบริการ ซึ่งไม่มีรายได้ประจำ หากไม่ทำงานก็ไม่ได้รับเงินและรายได้ส่วนใหญ่มักมาจากส่วนแบ่งยอดขายโดยสาร ทำให้ต้องขับรถเร็วเพื่อแย่งชิงผู้โดยสาร รวมถึงระบบงานที่ไม่แน่นอนทำให้มีชั่วโมงงานค่อนข้างมากกว่าพนักงานรถขสมก. ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อตัวพนักงานทำให้มีคุณภาพการบริการที่แตกต่างกันออกไป

ตารางเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างคุณสภาพการให้บริการกับสภาพการจ้างงานจำแนกตามสายต่างๆ

             สายรถเมล์

                        ค่าตอบแทน

      สภาพการบริการ

สาย 8 : แฮปปี้แลนด์ – สะพานพุทธ(รถเอกชนร่วมบริการ ประเภทธรรมดา )

- พนง.ไม่มีเงินเดือนประจำ

- พนง.รับเบี้ยเลี้ยงรายวัน( พขร.รับเบี้ยเลี้ยงรายวัน

 วันละ 100 บาท พกส.วันละ50บาท )     

- พนง.รับส่วนแบ่งจากยอดขายตั๋วโดยสาร

 (พขร.รับส่วนแบ่งจากยอดขายตั๋วโดยสาร

   ร้อยละ 10 พกส.รับส่วนแบ่งจากยอดขาย

   โดยสารร้อยละ 5)

 

 

  ปัญหาร้องเรียนการบริการอันดับ 1 ของรถเมล์เอกชนร่วมบริการ ประเภทธรรมดา

 

 

สาย ปอ.8 : เคหะร่มเกล่า - สะพานพุทธ (รถเอกชนร่วมบริการ)

- พนง.มีเงินเดือนประจำ

- พนง. มีเงินประจำตำแหน่ง เงินพนักงานดี

  เงินเบี้ยขยันสำหรับพนง.ที่ไม่ขาดไม่ลาไม่สาย

- แบ่งรับเงินเป็นรายวันและรายเดือน

- พนง.ได้รับเงินพิเศษหากสามารถทำยอดขาย

   ตั๋วโดยสารครบตามที่ทางบริษัทกำหนดไว้

 

        ไม่มีข้อมูลปรากฏ

สาย ปอ.29 : มธ.ศูนย์รังสิต – หัวลำโพง (รถเอกชนร่วมบริการ)

 

- พนง.ไม่มีเงินเดือนประจำ

- พนง.รับเงินเลี้ยงรายวัน( พขร.และพกส.วันละ

  300 บาท)

- พนง.โดนตัดค่าเบี้ยเลี้ยงรายวันหากไม่สามารถ

  ออกเดินรถครบตามที่ทางบริษัทกำหนดไว้

- ได้รับเงินพิเศษหากทำยอดขายตั๋วโดยสารได้ครบ

  ตามที่ทางบริษัทกำหนดไว้

- พนง.รับส่วนแบ่งจากยอดขายตั๋ว

 

 

 

ปัญหาร้องเรียนการบริการอันดับ 1 ของรถเมล์เอกชนร่วมบริการ ประเภทปรับอากาศ

สาย 522 :รังสิต – อนุสาวรีย์ (รถ ขสมก.)

 

ระบบเก่า

- พนง.มีเงินเดือนประจำ เพิ่มขึ้นตามระบบอายุ

  การทำงาน

- พนง.รับเงินส่วนแบ่งจากยอดขายตั๋วโดยสาร

  ร้อยละ 5 หลังจากยอดขายตั๋วโดยสารครบ

 4,500 บาทจะได้รับส่วนแบ่งจากยอดขายตั๋ว

 โดยสารร้อยละ 1

ระบบใหม่

- พนง.มีเงินเดือนประจำ เพิ่มขึ้นตามระบบอายุงาน

- พนง.ได้รับส่วนแบ่งจากจำนวนขายตั๋วโดยสาร

- พนง.ได้รับเงินค่าล่วงเวลา เพิ่มขึ้นตามระบบอายุงาน

   

 

 

เลขาธิการสหภาพแรงงาน ขสมก.แนะนำว่าบริการดี

สาย 45 : สำโรง – ท่าน้ำสี่พระยา(รถ ขสมก. ประเภทร้อน )

 

 

 

 

- พนง.มีเงินเดือนประจำ

- พนง.รับเงินส่วนแบ่งจากจำนวนขายตั๋วโดยสาร

  ( พขร. , พกส.รับส่วนแบ่งจากจำนวนขายตั๋วโดยสาร ใบ ละ 1 และ 0.5 สตางค์ ตามลำดับ

- พนง.ได้รับเงินค่าล่วงเวลา เพิ่มขึ้นตามระบบอายุ

งาน

ไม่มีข้อมูลปรากฏ

 

 

จะเห็นได้ว่าปัญหาที่พนักงานรถเมล์ต้องเผชิญร่วมกัน ทั้งพนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก.และรถเมล์เอกชนร่วมบริการ คือ กรณีปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งทำให้พนักงานไม่สามารถกำหนดชั่วโมงงานได้ในแต่ละวัน และต้องทำงานอยู่บนรถติดต่อกันเป็นเวลานานล่วง 8 ชั่วโมงต่อวัน กรณีปัญหารถประเภทอื่นจอดขวางป้ายรถโดยสาร ทำให้ไม่สามารถจอดรับผู้โดยสารได้ทุกป้าย กรณีปัญหาไม่มีระบบสวัสดิการพื้นฐานที่ดี เช่น ไม่มีที่พัก  ร้านค้าสวัสดิการ สุขา การที่พนักงานรถเมล์ต้องทำงานประจำอยู่บนรถเป็นเวลานานทำให้เกิดความอ่อนล้า รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา และไม่สามารถขับถ่ายได้เมื่อต้องการ ทั้งเมื่อถึงต้นทาง-ปลายทางยังขาดสวัสดิการพื้นฐานที่ดีรองรับและบริการพนักงาน ทำให้พนักงานต้องหาสวัสดิการพื้นฐานเหล่านี้ด้วยตัวเอง จึงเสียเวลาการทำงานและสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้พนักงาน  รวมถึงเกิดปัญหาสุขภาพ เกี่ยวกับ ระบบกล้ามเนื้อ ระบบการย่อยอาหาร และระบบขับถ่าย

พนักงานขับรถเมล์และพนักงานเก็บค่าโดยสารของขสมก.และรถเอกชนบริการแต่ละสาย ได้รับค่าตอบแทนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับขั้นอายุการทำงานของพนักงาน หรือข้อตกลงตามที่ทางบริษัทกำหนด โดยส่วนใหญ่พนักงานรถเมล์เอกชนร่วมบริการไม่มีเงินเดือนประจำ และรายได้หลักขึ้นอยู่กับส่วนแบ่งจากยอดขายตั๋วโดยสารจึงมีส่วนทำให้ต้องพยายามหาผู้โดยสารขึ้นรถคันตนเองให้ได้มากที่สุดเพื่อเพิ่มรายได้ในแต่ละวัน  

นายท่า เผยสวัสดิการขอพนง.มักถูกมองข้าม ชี้อุบัติเหตุผลจากพนง.และผู้โดยสารประมาท

นาวาอากาศตรีประจวบ โอ๊ดฟู นายท่าปล่อยรถเมล์สาย 45 สำโรง-ท่าน้ำสี่พระยา กล่าวว่า ระบบสวัสดิการของพนักงานรถเมล์มักถูกมองข้าม ทุกวันนี้ได้ใช้เงินส่วนตัวจัดหาน้ำดื่มบริการแก่พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร และที่สำคัญต้นทางและปลายทางการเดินรถควรมีห้องสุขาและจุดบริการน้ำดื่มอย่างเพียงพอบริการพนักงาน 

การปล่อยรถเมล์เป็นไปตามความเหมาะสม ไม่ปล่อยติดกันหรือทิ้งระยะห่างมากจนเกินไป   แม้ว่าจำนวนรถเมล์สาย 45 น้อยลงเหลือเพียง 23 คันเดิม 30 คัน เพราะมีรถเมล์ติดซ่อมบำรุงจำนวนมาก ทั้งนี้ขาดอัตราพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ด้วยภาระงานที่ค่อนข้างหนักและค่าตอบแทนค่อนข้างต่ำเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ขาดคนมาสมัครเป็นพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร 

นาวาตรีประจวบ กล่าวต่อว่า  อุบัติเหตุรถเมล์เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งสภาพรถเมล์ไม่สมบูรณ์ อุปกรณ์รถเมล์ไม่ครบถ้วน พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารมีความประมาทขณะปฏิบัติหน้าที่ ผู้โดยสารไม่ใส่ใจความปลอดภัยของตัวเอง ใช้โทรศัพท์ขณะนั่งรถขณะขึ้น-ลงรถ และสภาพการจราจรที่ไม่เอื้ออำนวยในการเดินรถ ทางเขตการเดินรถได้การตรวจใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะและใบอนุญาตเก็บค่าโดยสารทางก่อนรับสมัครพนักงานอย่างเคร่งครัด และดูแลเรื่องการต่ออายุใบอนุญาตต่างๆเป็นอย่างดี  มีการตรวจสภาพร่างกายพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารก่อนออกเดินรถด้วยการตรวจระดับแอลกอฮอล์   มีผู้ตรวจการขนส่งและสายตรวจพิเศษดูแลและตรวจสอบการทำงานดูแลการทำงานของพนักงานรถขสมก.และรถเอกชนร่วมบริการบนท้องถนนอย่างสม่ำเสมอ

เลขาธิการสร.ขสมก. เผย พนง.ชม.งานนาน ค่าตอบแทนต่ำ ชี้รายได้ ส่งผลต่อคุณภาพบริการ

นางชุติมา บุญจ่าย เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ  กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานของพนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ประกอบด้วย 2 กรณี คือ กรณีปัญหาชั่วโมงการทำงานของพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารที่ยาวนานติดต่อกัน เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยกรณีปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ยากบนพื้นฐานความเป็นจริง  เพราะสภาพการจราจรบนท้องถนนติดขัดและสภาพรถไม่เอื้ออำนวยต่อการบริการ  ซึ่งทำให้พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารเกิดความวิตกกังวล ความตึงเครียดขณะทำงานและเกิดปัญหาสุขภาพ รวมถึงขณะนี้จำนวนรถรถเมล์น้อยลงเนื่องจากรถเมล์ติดซ่อมบำรุงจำนวนมาก ส่วนหนึ่งต้องนำรถสภาพไม่สมบูรณ์ออกบริการประชาชน ซึ่งสร้างความไม่ปลอดภัยแก่พนักงาน ผู้โดยสารร่วมถึงผู้ร่วมใช้ถนน และอัตราพนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสารน้อยลง เนื่องจากพนักงานเดิมเกษียณอายุและไม่มีผู้สมัครเข้ามาเป็นพนักงานใหม่ เพราะเงินเดือนขั้นแรกต่ำและภาระงานที่ค่อนข้างหนัก   ทำให้รถเมล์ไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน เป็นสาเหตุให้พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารเดิมจำเป็นต้องมีชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน  อีกหนึ่งกรณีปัญหาคือไม่มีสุขาและจุดบริการน้ำดื่มบริการแก่พนักงาน โดยทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ได้ยื่นกรณีปัญหาและแนวทางแก้ไขไปยังองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯเป็นที่เรียบร้อย อยู่ในช่วงติดตามรอผลการดำเนินการ  

ชุติมา บุญจ่าย เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 

นางชุติมา กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้ยังไม่มีระบบสวัสดิการพื้นฐานสำหรับพนักงานรถเมล์  ควรจัดหาที่พักต้นทางและปลายทาง   ห้องสุขา  จุดบริการน้ำดื่ม ร้านค้าและร้านอาหารรองรับพนักงาน เนื่องจากพนักงานมีความจำเป็นต้องใช้และเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่พนักงานควรจะได้รับในการทำงาน การที่พนักงานต้องหาสวัสดิการพื้นฐานเหล่านี้ด้วยตนเอง    ทำให้มีค่าใช้จ่ายรายวันสูงขึ้นและเสียเวลาการทำงาน ควรวางระบบการทำงานให้เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติกับพนักงาน  สร้างแรงจูงใจในการทำงานของพนักงานให้มากขึ้น

ทั้งนี้นางชุติมา กล่าวถึงค่าตอบแทนของพนักงานว่า ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพการบริการ  แม้ว่าค่าตอบแทนของพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจะค่อนข้างต่ำ แต่พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารทุกคนจำเป็นต้องยอมรับและปฏิบัติที่บริการประชาชนให้ดีที่สุด เนื่องจากเป็นข้อตกลงร่วมกันและระบบค่าตอบแทนของพนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมีความเป็นมาตรฐาน  สำหรับค่าตอบแทนของพนักงานรถร่วมบริการเอกชนนั้นมองว่าไม่มีความแน่นอนและค่อนข้างไม่เป็นระบบ ค่าตอบแทนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนขายตั๋วโดยสารและส่วนแบ่งยอดขายตั๋วโดยสารในแต่ละวัน  หากมีจำนวนผู้โดยสารมากค่าตอบแทนที่พนักงานจะได้รับก็จะสูงขึ้นด้วยตามลำดับ จึงทำให้พนักงานรถเอกชนร่วมบริการต้องขับรถเร็ว ตัดหน้ารถคันอื่น  จอดรับผู้โดยสารเพียงป้ายที่มีคนจำนวนมาก เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้นและลดชั่วโมงการทำงานของตนเอง พนักงานรถเอกชนร่วมบริการประสบปัญหาในการทำงานไม่ต่างจากพนักงานรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ แต่พนักงานรถเอกชนร่วมบริการยังขาดการทำงานที่เป็นระบบ ขาดสวัสดิการอย่างมากบางบริษัทไม่มีแม้ประกันสังคมให้แก่พนักงาน  และการรับผิดชอบ กฎกติกา ของรถร่วมบริการเอกชนค่อนข้างต่ำ จึงเป็นที่มาของปัญหาอุบัติเหตุ ปัญหาร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะและทำให้เกิดปัญหาการบริการ

ผจก.ศวปถ. ชี้ คนขับ รถ สภาพถนนที่มาอุบัติเหตุรถโดยสาร เสนอทำระบบข้อมูลแสดงต่อปชช.         

นายแพทย์ธนะพงศ์  จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์การเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน กล่าวว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนจากรถโดยสารสาธารณะ เกิดขึ้นจาก 3 สาเหตุหลัก คือ ด้านคนขับ ขับรถเร็ว อ่อนล้า ขับรถชิดช่องขวา แซงกระชั้นชิด ด้านยานพาหนะมีการดัดแปลงสภาพ บรรทุกผู้โดยสารเกิน  ด้านสภาพท้องถนนมีความเสี่ยง 85 เส้นทาง ( ลาดชัดเกิน 7 เปอร์เซ็นต์ และลงเขาติดต่อเกิน 3 กิโลเมตร) ขาดระบบตรวจสอบความปลอดภัยบนท้องถนนในถนนสายหลัก  รวมถึงสาเหตุเสริมที่สำคัญ คือ การผลักภาระให้คนขับ เช่น ค่าตอบแทนตามรอบวิ่งหรือจำนวนผู้โดยสาร และผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีรถเฉลี่ย 1-2 คัน ขาดความพร้อมในการจัดการด้านความปลอดภัย  โดยสาเหตุหลักในกรณีอุบัติเหตุรถเมล์มักเกิดจากพนักงานขับรถที่ขับรถเร็ว จุดจอดกลางถนนและป้ายรถเมล์ที่มีปัญหาด้านการจราจรเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น รถแท็กซี่หรือรถตู้จอดขวางป้ายรถเมล์   และสภาพรถเมล์ที่ไม่ได้สมบูรณ์ตามมาตรฐาน  

นายแพทย์ธนะพงศ์  จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์การเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน

สำหรับการลดอุบัติเหตุรถเมล์  เสนอให้กรมขนส่งทางบกเข้ามากำกับการทำงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯอย่างเคร่งครัดมากขึ้น เร่งเพิ่มคุณภาพในการออกใบอนุญาตผู้ประกอบการและใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ  ในกรณีรถเมล์เอกชนร่วมบริการให้มุ่งแก้ไขระบบผู้ประกอบการ  วางกฎเกณฑ์และการรับผิดชอบของผู้ประกอบการที่กระทำผิดซ้ำซากให้ชัดเจน เนื่องจากเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน  ทั้งนี้กรมขนส่งทางบกควรจัดทำระบบข้อมูลรถสาธารณะและเสนอต่อสาธารณะชนทุกๆไตรมาส เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนได้รับรู้ เกิดความตระหนัก และมีส่วนรวมกับมาตรการต่างๆ  จัดทำระบบข้อมูลประวัติผู้ประกอบการ พนักงานขับรถ เพื่อนำมาประกอบการกำกับและออกใบอนุญาต จัดทำระบบข้อมูลเฝ้าระวังความเสี่ยงหลัก เช่น ขับรถเร็ว บรรทุกผู้โดยสารเกิน พร้อมมีผลบังคับใช้เมื่อกระทำความผิด และจัดทำระบบข้อมูลสืบสวนอุบัติเหตุ ที่สามารถระบุหาสาเหตุเชิงลึก เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด  ประชาชนควรลดปัจจัยเสี่ยงในการเดินทางรถเมล์ด้วยตนเอง  เช่น  สังเกตความสมบูรณ์ของสภาพรถภายนอก  จำนวนผู้โดยสารในรถมากหรือน้อย หรือเลือกใช้บริการรถขสมก. เพื่อลดความเสี่ยงพนักงานขับรถเร็วแย่งผู้โดยสาร  เป็นต้น

นักวิชาการแรงงานแนะพนง.รถร่วมฯ รวมตัวต่อรองสภาพการจ้างงาน

จากผลการสำรวจชีวิตการทำงานของพนักงานหญิงใน ขสมก. ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มพนักงานผู้หญิง ขสมก.จำนวน 761 ราย กระจายเก็บข้อมูลในเขตการเดินรถทั้ง 8 เขต ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค. 2556 - 31 ม.ค. 2557 พบว่า พนักงานมีปัญหาครอบครัว ต้องรับภาระดูแลครอบครัวเพียงลำพังถึงจำนวน 334 คน  มีหนี้สินหลักแสนจำนวน 466 คน  ด้านผลกระทบที่พนักงานหญิงใน ขสมก. ได้รับจากสภาพการทำงานในปัจจุบัน พบว่า พนักงานต้องเจอรถติดทำให้เครียด  เหนื่อยล้าจากการเดินทาง/เหนื่อยล้าจากการทำงาน  กล้ามเนื้ออักเสบ/กล้ามเนื้ออ่อน และชั่วโมงการทำงานยาวนานเกินไป ไม่มีเวลาพักผ่อน ถึงร้อยละ 90  พนักงานไม่มีเวลากินข้าวทำให้เป็นโรคกระเพาะ ถึงร้อยละ 80 พนักงานต้องกลั้นฉี่ทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ/เป็นนิ่ว/กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ ถูกเลือกปฏิบัติจากหัวหน้างาน เช่น เล่นพรรคเล่นพวก จัดตารางงานไม่เหมาะสม ถูกกดดันจากการทำงาน มีปัญหาระบบขับถ่าย มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ถึงร้อยละ 70 พนักงานนั่งขับรถเป็นเวลานานเกินไปทำให้ปวดหลัง ถึงร้อยละ 50 และพนักงานประสบอุบัติเหตุ หมอนรองกระดูกเคลื่อน/กระดูกทับเส้นประสาท ถูกคุกคามทางเพศ ถึงร้อยละ 40 และไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำจนต้องใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ร้อยละ 28.4

นายจะเด็ด  เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ผู้ศึกษาชีวิตการทำงานของพนักงานหญิงใน ขสมก.  กล่าวว่า มาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำเป็นมาตรฐานการจ้างงานขั้นพื้นฐาน โดยหลักค่าแรงขั้นต่ำต้องเลี้ยงดูทุกคนในครอบครัวของพนักงานได้ แต่ในระบบทุนนิยมมีวิธีการเอาเปรียบโดยมองว่าไม่อยากรับภาระพนักงาน จึงให้ค่าแรงขั้นต่ำที่เลี้ยงดูได้เพียงพนักงานคนเดียว  ในขณะที่พนักงานบางรายทั้งผู้ชายและผู้หญิงทำงานเพียงคนเดียวในครอบครัวซึ่งต้องเลี้ยงดูทุกคนในครอบครัว ทำให้พนักงานเหล่านี้ต้องทำงานหนักมากขึ้น หารายได้จากการทำโอที ทำให้พนักงานเกิดปัญหาสุขภาพและปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวลดลง สำหรับพนักงานผู้หญิงหากต้องเลิกงานดึก ขาดความปลอดภัยในการเดินทางกลับบ้านจึงเกิดปัญหาเรื่องการถูกคุกคามทางเพศตามมา

จะเด็ด  เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

นายจะเด็ด   กล่าวต่อว่า การจ้างงานพนักงานรถเมล์ ขสมก.ที่เข้ามาทดลองงานและพนักงานรถเมล์เอกชนร่วมบริการที่มีค่าแรงไม่ถึง 300 บาทต่อวัน ทำให้พนักงานเหล่านี้ต้องทำโอที ซึ่งเป็นสาเหตุจากปัญหาค่าแรงไม่เพียงพอ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพยายามแก้ไขปัญหานี้

พนักงานรถเมล์ ขสมก.และรถเอกชนร่วมบริการมีปัญหาค่อนข้างมาก เช่น ปัญหาชั่วโมงงานยาวนาน  ปัญหาสุขภาพ เช่น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เส้นเลือดตีบ นิ่ว พนักงานรถเมล์บางรายต้องใส่แพมเพิสขณะทำงาน ซึ่งพนักงานรถเมล์เอกชนร่วมบริการไม่มีการร่วมกลุ่มเพื่อที่จะมีกระบวนการปรึกษาหารือกันในการแก้ปัญหา หาทางออกที่เป็นธรรม เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง ทำให้การต่อรองของพนักงานมีน้อย สวัสดิการไม่กระเตื้อง ซึ่งเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งที่ทำให้พนักงานเอกชนร่วมบริการถูกเอาเปรียบจากการจ้างงาน  เพราะผู้ประกอบต้องการหาผลประโยชน์ เอากำไรสูงสุดเข้าหาตนเอง  สำหรับการแก้ไขปัญหาควรมีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบผู้ประกอบถึงกระบวนการทำงานและสภาพการจ้างพนักงาน และพนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพที่มีสหภาพแรงงานควรเข้าไปช่วยเหลือ เรียกสิทธิต่างๆให้กับพนักงานรถเมล์เอกชนร่วมบริการอย่างจริงจัง เพราะหากพนักงานรถเมล์เอกชนร่วมบริการถูกเอาเปรียบ ปัญหาที่ตามมาคือพนักงานรถเอกชนร่วมบริการเครียด  ขับรถไม่มีประสิทธิภาพ

นายจะเด็ด  กล่าวทิ้งท้ายว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพที่จัดจ้างคนภายนอกเข้ามาประกอบการรถเมล์  ต้องเข้ามาดูแลว่าทำไมพนักงานรถเมล์เอกชนร่วมบริการถึงไม่มีประสิทธิภาพ พนักงานมีการถูกเอาเปรียบหรือไม่ เพราะพนักงานรถเมล์ค่อนข้างทำงานหนัก ค่าแรง ชั่วโมงการทำงานยาวนานไม่เป็นธรรมหากเทียบในทางกฎหมาย เพราะหากพนักงานรถเมล์ทำงาน 8 ชั่วโมงแล้วได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมก็ไม่ต้องทำโอที ไม่ต้องหาส่วนแบ่งจากจำนวนและยอดขายตั๋วโดยสาร

 

หมายเหตุ : ผู้เขียนได้รับการร้องขอจากพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารรถเมล์ ถึงการเปิดเผยชื่อจริง ซึ่งจะกระทบต่อการทำงาน จึงใช้เพียงนามสมติในรายงานนี้เท่านั้น

ภัทรานิษฐ์ จิตสำรวย ผู้เขียน เป็นนักศึกษษชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ เอกวารสารและหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

รายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการทุนเพื่อทำข่าวสืบสวนสอบสวน กลุ่มเยาวชน มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน

เอกสารอ้างอิง :

กรมขนส่งทางบก, 2555, รายงานสถิติการขนส่งประจำปี2555. (ออนไลน์) : http://apps.dlt.go.th/statistics_web/brochure/statreport113.pdf  สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2557

กรมขนส่งทางบก, 2556, รายงานสถิติการขนส่งประจำปี2556 (ออนไลน์) : http://apps.dlt.go.th/statistics_web/brochure/statreport113.pdf สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2557

กรมขนส่งทางบก, สถิติการรับเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ โทร1584 จำแนกตามประเภทรถและเรื่องร้องเรียน (ออนไลน์) : http://apps.dlt.go.th/statistics_web/1584.html สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2557

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ, การบริการ (ออนไลน์) : http://www.bmta.co.th/th/services.php สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2557

เอกสารผลการสำรวจชีวิตการทำงานของ พนักงานหญิง ขสมก. ระหว่าง 1 ธ.ค. 2556 – 31 ม.ค.2557 โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท