รายงานเสวนา : ถอดบทเรียนสันติภาพ ‘เมียนมาร์-บังซาโมโร’

ถอดบทเรียนสันติภาพจากเวทีวิชาการนานาชาติ CCPP ที่ ม.อ.ปัตตานี สิ่งท้าทายและประสบการณ์กระบวนการสันติภาพของ “เมียนมาร์”หลังประชาธิปไตยเริ่มผลิบาน กับความก้าวหน้าของ“สันติภาพบังซาโมโร” 40 ปีของความขัดแย้งในมินดาเนา

แม่แบบและบทเรียนกระบวนการสันติภาพที่น่าสนใจแห่งหนึ่งในโลกตอนนี้ คงไม่พ้นเรื่อง “มินดาเนา” ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ บทบาทการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งจนสามารถผลักดันสงครามให้ยุติลงด้วยวิธีสันติ กับอีกแห่งหนึ่งซึ่งบรรยากาศและความเคลื่อนไหวประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน เป็นที่จับตามองของโลกอย่างประเทศเมียนมาร์

แม่แบบและบทเรียนจากทั้งสองแห่งได้ถูกนำมาฉายซ้ำในวงเสวนา "ภูมิทัศน์กระบวนการสันติภาพในเอเชีย : ความสำเร็จและสิ่งท้าทาย" ณ ห้อง A 103 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา

เสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการนานาชาติ “การสื่อสาร ความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ: ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย” (Communication, Conflicts and Peace Processes : Landscape of Knowledge from Asia and the Deep South of Thailand) หรือ CCPP ระหว่างวันที่ 21 – 22 สิงหาคม 2557

โดยมีวิทยากรมี 3 ท่าน ได้แก่ Victor Biak Lian ผู้อำนวยการปฏิบัติการ Euro-Burma Office ประเทศเบลเยียม, Raul Torralba, Initiatives for International Dialogue (IID) ประเทศฟิลิปปินส์ และ Kerstin Duell นักวิจัยและผู้จัดการฝ่ายเมียนมาร์ มูลนิธิ German Konrad-Adenauer โดยมีรองศาสตราจารย์อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนดำเนินการเสวนา

Kerstin Duell นักวิจัยและผู้จัดการฝ่ายเมียนมาร์ มูลนิธิ German Konrad-Adenauer

ภาพรวมสันติภาพ ความมั่นคงที่ไม่มั่นคง

Kerstin Duell นักวิจัยและผู้จัดการฝ่ายเมียนมาร์ มูลนิธิ German Konrad-Adenauer กล่าวว่า อาเซียนหรือภูมิภาคประชาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีส่วนร่วมในการผลักดันกระบวนการสันติภาพของประเทศที่มีความขัดแย้งเท่าไหร่ เนื่องจากมีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการของประเทศสมาชิก แต่อาจมีการริเริ่มพูดคุยนอกรอบ นอกสถานที่ก็ได้ นโยบายการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศมีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและสังคมที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนักจากผู้นำประเทศในอาเซียน

Kerstin กล่าวว่า ความท้าทายต่อความมั่นคงที่ไม่ได้มาจากรัฐ เช่น การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด การค้าสินค้าปลอมแปลง ซึ่งระบาดอยู่ในตอนนี้ และยังมีอาชญากรรมต่างๆ ที่มักเติบโตในพื้นที่ความขัดแย้ง รวมทั้งปัญหาชายแดนของประเทศต่างๆ ในอาเซียน แม้จะมีชายแดนที่ไม่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ชายแดนตั้งแต่ประเทศอินเดีย จีน เมียนมาร์ ดังนั้นพื้นที่ชายแดน จึงเป็นเขตที่ไม่มีความมั่นคงยิ่ง

Kerstin ยังมองด้วยว่า ประชาคมอาเซียนมีข้อจำกัดในแง่การตอบสนองต่อปัญหาต่างๆ เนื่องจากปัญหาความมั่นคง ตัวอย่าง ปัญหาความขัดแย้งในปาตานี ที่ยังไม่สามารถจัดการได้ เนื่องจากเป็นประเด็นความมั่นคงและความมั่นคงของสังคม เศรษฐกิจ ซึ่งก็เชื่อมโยงกับสังคมมนุษย์ด้วย

พื้นที่อันน้อยนิดสำหรับผู้หญิง

Kerstin มองว่า ควรอย่างยิ่งที่ผู้หญิงจะเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมบนโต๊ะเจรจา เนื่องจากผู้หญิงมักตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น การที่ผู้หญิงที่เป็นผู้นำจะเข้ามามีส่วนร่วมได้ ต้องเป็นผู้นำจากการสืบทอดอำนาจผ่านสายเลือด เป็นมรดกตกทอดจากครอบครัว

Kerstin กล่าวว่า เมื่อมองประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่ผู้หญิงที่ขึ้นมาเป็นผู้นำจะมาจากครอบครัวของผู้มีอำนาจ ไม่ได้มาด้วยความสามารถหรือความเป็นผู้นำของตัวเอง ตัวอย่าง เมียนมาร์และไทย ผู้หญิงที่ขึ้นมาเป็นผู้นำไม่ได้มาจากฐานอำนาจของตัวเอง แต่จะพบได้ในระดับชุมชนที่มีปัญหามากระทบกับชุมชนจนผู้หญิงต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ หรือเป็นผู้หญิงที่ตั้งองค์กรของผู้หญิงเพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นของตนเอง

ไม่มีสถานะของผู้ลี้ภัย

Kerstin กล่าวว่า ปัญหาการย้ายถิ่นของผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาใหญ่ของภูมิภาคนี้ ในอาเซียนยังไม่มีประเทศใดลงนามในสัตยาบันเรื่องการลี้ภัย ทำให้ผู้ที่ลี้ภัยหนีความรุนแรงเข้ามาในประเทศไม่มีสถานะใดๆ และเป็นคนผิดกฎหมาย แม้จะเข้ามาได้อย่างสมัครใจก็ตาม

“ตัวอย่างสถานการณ์ในเมียนมาร์ ในแง่ของการสร้างสันติภาพ จะเกิดคำถามว่า สถานการณ์ระดับไหนถึงจะปลอดภัย หรือเมื่อไหร่ผู้ลี้ภัยถึงจะได้กลับบ้าน เรื่องการทำมาหากินของพวกเขาจะทำอย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นเปราะบางมาก ซึ่งมีข่าวลือว่า ทางฝ่ายทหารไทยจะส่งตัวผู้ลี้ภัยในสถานพักพิงกลับประเทศ” Kerstin กล่าว

บทบาทสื่อมวลชนและการมีส่วนร่วม

Kerstin กล่าวถึงบทบาทของสื่อมวลชนเมียนมาร์ว่า ในช่วงที่มีการเจรจาสันติภาพซึ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก จึงอาจจะไม่เปิดให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่สื่อมวลชนน่าจะมีบทบาทในการเขียนบันทึกข้อสรุปต่างๆ ที่จะเปิดเผยให้ทราบ ซึ่งตอนนี้หมดยุคของการกดขี่สื่อมวลชนแล้ว เริ่มมีองค์กรสื่อมวลชนกลับมาทำงานใหม่ การเปิดฝึกอบรมมากขึ้น แม้ต้องใช้ระยะเวลานานในการเพิ่มศักยภาพของสื่อ แต่ว่าอย่างน้อยเสรีภาพของสื่อกลับมาแล้ว

“ความยุ่งยากของการทำข่าวในเมียนมาร์คือ การเข้าไปในอาคารเพื่อสัมภาษณ์ตัวแทนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเป็นไปได้ยากขึ้น ซึ่งได้ข่าวมาว่ากำลังมีการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐบาลให้มีหน้าที่เก็บเงินจากสื่อมวลชนที่กำลังจะนำข่าวของรัฐบาลไปเผยแพร่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางจากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น” Kerstin กล่าว

Victor Biak Lian ผู้อำนวยการปฏิบัติการ Euro-Burma Office กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

สันติภาพและความท้าทายในเมียนมาร์ 

Victor Biak Lian ผู้อำนวยการปฏิบัติการ Euro-Burma Office กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม กล่าวว่า เขาเป็นผู้ลี้ภัยมานาน 24 ปี และร่วมต่อต้านรัฐบาลเมียนมาร์มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 Victor เล่าว่า สมัยที่เขายังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ทำการประท้วงรัฐบาล และผันตัวเองมาเป็นนักต่อสู้ในรูปแบบกองโจร ต่อมาเป็นผู้สนับสนุนในระดับสากลเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศเมียนมาร์ โดยต่อสู้ในประเด็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเพื่อชาติพันธุ์ในประเทศเมียนมาร์

Victor กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่สองของผู้ลี้ภัยจากเมียนมาร์ มีประชากรกว่าแสนคนในค่ายผู้อพยพ 19 แห่งในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลจากปัญหาความรุนแรงในประเทศเมียนมาร์ และยังเป็นพื้นที่ของนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในเมียนมาร์มากว่า 20 ปี แต่ปัจจุบันสถานการณ์ความขัดแย้งเริ่มคลี่คลายมากขึ้น

Victor เล่าว่า เมื่อ 3 วันก่อนหน้าวันประชุมที่นี่ มีการประชุมระหว่างผู้มีส่วนได้เสียกับความรุนแรงในเมียนมาร์ มีการจัดโต๊ะพูดคุยกันเป็นรูปแบบสามเหลี่ยมในลักษณะของไตรภาคด้านหนึ่งเป็นตัวแทนผู้นำทางการเมือง ที่ประกอบด้วยพรรคฝั่งรัฐบาล อีกด้านหนึ่งเป็นสมาชิกของทีมประสานงานหยุดยิงในครั้งนี้ เป็นตัวแทนกลุ่มติดอาวุธทั้ง 16 กลุ่ม

อีกด้านเป็นตัวแทนที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาล มีรัฐมนตรี 4 ท่าน เป็นคณะกรรมการในการทำงานเพื่อสันติภาพและเป็นหัวหน้าคณะเจรจาในครั้งนี้ด้วย โดยมีสมาชิกของรัฐบาลคนอื่นๆ มานั่งฟังการประชุม มีผู้แทนสำนักงานเลขาธิการ สหประชาชาติร่วมเป็นประจักษ์พยานในการประชุม

เริ่มต้นกระบวนการสันติภาพรอบใหม่

Victor เล่าต่อว่า การประชุมไตรภาคีที่กล่าวถึงนี้เป็นข้อเรียกร้องจากองค์การสหประชาชาติ ที่ต้องการให้จัดการความขัดแย้งในเมียนมาร์ โดยมีมติมาตั้งแต่ปี 1992 แต่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ เนื่องจากมีการปฏิเสธการประชุมดังกล่าว จนกระทั่งปี 2010 หลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไปโดยรัฐบาลชุดประธานาธิบดี นายเต็ง เส่ง ได้กำหนดวาระ 3 ข้อ ซึ่ง 1 ใน 3 ข้อนี้ คือการแก้ไขปัญหาอย่างสันติกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ติดอาวุธ

ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2011 มีการเรียกร้องให้หยุดยิง ทำให้บรรดากลุ่มติดอาวุธที่แบ่งแยกกันเป็นกลุ่มๆ มีความเห็นแตกต่างกัน บางกลุ่มคิดว่าการเจรจาครั้งนี้จะเหมือนกับการพูดคุยที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีการปฏิบัติจริงอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 1992 แต่บางกลุ่มมองว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะเป็นการสนทนาที่มีพันธะสัญญาต่อกัน และมีสื่อมวลชนเป็นสักขีพยาน

Victor กล่าวว่า หลังมีการพูดคุยกับรัฐบาล ทำให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มติดอาวุธทั้ง 16 กลุ่ม และมีการหยุดยิงตามสัญญาที่ให้ไว้เป็นการเบื้องต้น ทำให้เกิดการพุดคุยและการต่อรองทางการเมืองต่อไปได้

Victor เล่าว่า 3 ปีหลังจากนั้น เกิดการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นพัฒนาการจากการเริ่มต้นเมื่อหลายปีที่แล้ว ทำให้ทั้งสามฝ่ายสามารถคุยกันในกรอบการเสวนาทางการเมือง Victor กล่าวว่า เขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพูดคุยครั้งนี้ จะสามารถนำไปสู่การตกลงเพื่อหยุดยิงทั่วประเทศ ซึ่งจะได้ข้อสรุปในเดือนกันยายนนี้

บทบาทภาคประชาสังคมและความท้าทาย

Victor กล่าวว่า การที่มีพรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุย จะทำให้มีความโปร่งใสและเกิดความรับผิดชอบ ยังมีการพูดถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในกระบวนการดังกล่าวว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร กำลังอยู่ในขั้นการออกแบบกระบวนการพูดคุยในครั้งนี้ ยังมีการสัญญาว่า ภายใน 90 วัน หลังจากการลงนาม จะมี political dialogue ขึ้น

“อีกอย่างในปี 2015 จะต้องมีการเลือกตั้งครั้งใหม่เกิดขึ้น แม้จะไม่มั่นใจมากนักต่อสถานการณ์ เพราะฉะนั้น ขณะนี้จึงมีเวลาเหลือน้อยมากในการผลักดัน ซึ่งในเวลา 6 เดือนของการเจรจาต่อรอง ยังมี 5 มาตราที่ต้องคุยกันในข้อตกลงในการหยุดยิง ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะข้อตกลงนี้มีทั้งหมด 7 หมวดกับอีกร้อยมาตรา ทำให้เกิดข้อกังวลว่า ในระยะเวลา 6 เดือนจะสามารถคุยในกรอบของการเจรจาได้หรือไม่

ถึงแม้จะมีการตกลงว่า จะพัฒนากรอบข้อตกลงให้ได้ภายใน 2 เดือน แต่ก็กังวลว่า จะสามารถทำได้ภายใน 2 เดือนหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนด จะส่งผลให้ political dialogue เกิดความล่าช้า และจะกระทบการเลือกตั้งของปีหน้าด้วย ซึ่งนี่ถือเป็นความท้าทายอย่างมากในอนาคต” Victor กล่าว

อำนาจและการกระจายอำนาจ 

Victor กล่าวว่า กลุ่มติดอาวุธทั้ง 16 กลุ่ม ต้องการให้ตั้งสหพันธรัฐในเมียนมาร์ขึ้น โดยพวกเขาจะก่อตั้งและตัดสินใจในประเด็นต่างๆ ด้วยตัวเอง ส่วนรัฐบาลตอบกลับข้อเสนอดังกล่าวว่า ข้อเรียกร้องนี้อาจจะได้ข้อยุติ และจะมีการพูดคุยในเรื่องนี้ ถ้าดูในรัฐธรรมนูญปี 2008 ก็มีประเด็นนี้อยู่ แต่ต้องมีการต่อรองในบางประเด็นกันอยู่ผ่านกระบวนการ political dialogue เช่น บทบาทของกองทัพ รัฐสภา รัฐบาล อำนาจตุลาการ เป็นต้น รวมทั้งอาจจะมีรัฐบาล รัฐสภา และศาลตุลาการระดับรัฐ ซึ่งทางกลุ่มติดอาวุธกำลังเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เรียกว่าภาคผนวก 2 ในรัฐธรรมนูญซึ่งพูดถึงอำนาจในระดับรัฐ และภาคผนวก 1 พูดถึงอำนาจรัฐบาลกลาง เป็นกระบวนการการกระจายอำนาจของสหพันธรัฐ และกำลังมุ่งหน้าในกระบวนการพูดคุยนี้

 

การปลดอาวุธ

Victor เล่าต่อไปว่า ในระหว่างกระบวนการพูดคุยขณะนี้ กลุ่มติดอาวุธยังไม่มีการปลดอาวุธ และการต่อรองซึ่งช่วงแรกมี 19 ประเด็น ขณะนี้เหลืออีก 7 ประเด็น ส่วนใหญ่เป็นประเด็นเกี่ยวข้องรัฐธรรมนูญ บางประเด็นไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เช่น ผู้ลี้ภัยที่ต้องการกลับบ้านเกิด อีกส่วนหนึ่งเป็นประเด็นมนุษยธรรมซึ่งไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ก็นำมาพูดคุยบนโต๊ะเจรจา Victor กล่าวว่า ตลอดการเจรจาทุกเรื่องจำเป็นต้องนำขึ้นมาพูดคุยกันบนโต๊ะ

บทบาทสื่อและการมีส่วนร่วมของสาธารณะ

Victor ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสื่อมวลชนในเมียนมาร์ว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดในช่วงการเปลี่ยนผ่านในเมียนมาร์ คือการกลับมามีบทบาทของผู้สื่อข่าว ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีมากขึ้น ข่าวสารที่มาจากฝ่ายค้าน และสื่อนานาชาติที่สามารถปฏิบัติงานได้ แต่มีข้อท้าทายอยู่บ้างคือ ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารยังเป็นภาษาเมียนมาร์ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารให้รวดเร็วได้ เนื่องจากชาติพันธุ์ต่างๆ ยังใช้ภาษาท้องถิ่น จึงเป็นข้อท้าทายอย่างมากในการที่จะทำให้คนในสังคมเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร Victor เสนอว่าต้องการให้มีการพัฒนาการสื่อสารที่เข้าถึงชาวบ้านได้มากขึ้น โดยการใช้ภาษาถิ่นของชาติพันธุ์ต่างๆ และนักข่าวเองก็ต้องใช้ภาษาถิ่นได้ด้วย

Raul Torralba จาก Initiatives for International Dialogue (IID) มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์

40 ปีความขัดแย้งในมินดาเนา

Raul Torralba จาก Initiatives for International Dialogue (IID) มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ความขัดแย้งในมินดาเนามีมานานกว่า 400 ปี และในวันที่ 21 สิงหาคมปีนี้ ตรงกับวันครบรอบการเสียชีวิตของนินอย อาคิโนอดีตวุฒิสมาชิกและผู้นำฝ่ายค้านของฟิลิปปินส์ ซึ่งถูกลอบสังหารเนื่องจากสาเหตุทางการเมือง ซึ่งสร้างความสะเทือนใจอย่างมาก และทำให้เกิดการรวมตัวครั้งใหญ่ของพวกเรา

Raul เล่าว่าความขัดแย้งในมินดาเนาเกิดขึ้น หลังจากมีการรวมตัวกันของกลุ่มเยาวชนโมโรเพื่อยึดพื้นที่เกาะซาบาห์คืน โดยคำสั่งประธานาธิบดีในยุคนั้น จากนั้นก็มีการสั่งสังหารผู้รับรู้เรื่องนี้ทั้งหมด แต่ก็มีผู้รอดชีวิตหนึ่งคน ซึ่งนำไปสู่การเกิดกลุ่มต่อต้านรัฐบาลของชาวโมโรขึ้น และมีพัฒนาการจนกลายเป็นขบวนการ โดยสามารถรวบรวมคนได้ 20,000 คนในช่วง 1980 ตอนที่เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เป็นประธานาธิบดี

จากนั้นกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลกลุ่มอื่นๆ ได้เข้ามาร่วมด้วย เช่น กลุ่มคอมมิวนิสต์ จึงทำให้ขณะนั้นมีกองกำลังเกือบ 25,000 นาย โดยทางศาสนจักรก็มีส่วนร่วมในการก่อตัวของประชาชนขึ้นมา เพื่อร่วมกันต่อต้านรัฐบาลในครั้งนั้นด้วย ในช่วงนั้นมีประชาชนกว่า 6,000 คนถูกอุ้มหายไป จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่มีการคลี่คลายว่า คน 6,000 คนถูกทำให้หายไปได้อย่างไร

Raul เล่าว่า เหตุการณ์การประท้วงเริ่มต้นจากนินอย อาคิโน ถูกลอบสังหารที่สนามบิน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือทหาร จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญดังกล่าว ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นการรณรงค์สื่อสาร โดยใช้วิธีการ mimeograph เป็นการอัดสำเนากระดาษไข แจกจ่ายข้อมูลสู่สังคม เพื่อกระจายข่าวสารในยุคนั้น

Raul กล่าวว่า ผลที่ตามมาหลังจากการสังหารนายอาคิโน ทำให้ผู้คนมีการตอบสนองโดยการร่วมกันโยนริบบิ้นสีเหลือง yellow ribbon ที่ใช้ในการต้อนรับคนกลับบ้าน เป็นการแสดงสัญลักษณ์อาลัยและระลึกถึงนายอาคิโน่ สุดท้ายขบวนการประชาชนต่อต้านรัฐบาล ก็ล้มมาร์กอสได้สำเร็จ และสนับสนุนคอราซอน อาคิโน (พ.ศ.2529 - 2535) ภรรยาของนินอย อาคิโน่ ให้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป

สงครามและสันติภาพบังซาโมโร

Raul กล่าวว่า ประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์เบ่งบาน ในยุคของประธานาธิบดีคอราซอน อาคิโน่ เป็นช่วงเวลาที่มีเสรีภาพอย่างมาก มีรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิของมุสลิมโมโร และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอีกกลุ่มคือ Cordillera ในฟิลิปปินส์ก็ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลอีกด้วย

แต่เมื่อนายพลฟิเดล รามอส (พ.ศ.2535-2541) ขึ้นเป็นประธานาธิบดีต่อจากคอราซอน ก็สามารถทำการตกลงกับกลุ่มกบฏโมโร ซึ่งตอนนั้นเป็นกลุ่มบรรพบุรุษของ MILF ปัจจุบัน ซึ่งนายพลรามอส เน้นการพัฒนาเขตมินดาเนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจร่วมกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลฟิลิปปินส์ โดยนายพลรามอสมุ่งพัฒนาฐานเศรษฐกิจของประเทศที่มินดาเนา ทำให้เห็นความก้าวหน้า แต่ทำให้มีกลุ่มนายทหารกลับมามีบทบาทในการเมือง รวมถึงอิเมลดา โรมูอัลเส ภรรยาของมาร์กอส ก็เริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น

จนถึงยุคของโจเซฟ เอสตราดา (พ.ศ.2541 - 2544) เป็นประธานาธิบดีคนต่อมา ได้ประกาศทำสงครามกับกบฏโมโร เนื่องจากไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลต้องการ

Raul กล่าวว่า ความรุนแรงตั้งแต่ยุค 1970 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 60,000 คน และประมาณความเสียหายกว่าพันล้านเปโซ โดยฝ่ายกบฏโมโรในยุคนั้น คือ MNLF เมื่อครั้งที่ตกลงลงนามสันติภาพกับรัฐบาล มีจุดยืนต้องการรัฐอิสลามและต้องการให้มินดาเนาเป็นรัฐอิสลาม

Raul กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันคือ ประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโน ที่ 3 บุตรชายของนินอย อาคิโน ได้พยายามหาทางออกให้กับความขัดแย้งในโมโร โดยการเปิดเจรจากับกลุ่ม MILF ที่มีความพยายามในการพูดคุยมานาน จนปัจจุบันมีกรอบการตกลงแล้ว ทำให้เห็นความก้าวหน้าของกระบวนการสันติภาพ

 

ร่างกฎหมาย Bangsa Moro Basic Law (BBL)

Raul กล่าวว่า ขณะนี้มีร่างกฎหมายของโมโรที่เรียกว่า Bangsa Moro Basic Law หรือ BBL ซึ่งมีเนื้อหากว่า 100 หน้า แต่ยังมีประเด็นคำถามต่อ BBL ถึง78 คำถาม ซึ่งก่อให้เกิดความหงุดหงิดต่อคู่เจรจาเป็นอย่างมาก แต่ก็นับว่ากระบวนการสันติภาพได้พัฒนาไปมาก ซึ่งมีภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมเป็นอย่างมากในกระบวนการนี้

Raul กล่าวว่า กระบวนการนี้เช่นเดียวกับที่เกิดในเมียนมาร์ คือต้องมีการระบุในภาคผนวกของกฎหมาย ในเรื่อง (1) รูปแบบวิธีการ (2) จัดสรรอำนาจ (3) การแบ่งปันทรัพยากรของประเทศ และ (4) ความพยายามเพื่อปลดอาวุธในอนาคต ทั้ง 4 เรื่องเป็นประเด็นที่กำลังพูดคุยกันในประเทศฟิลิปปินส์ โดยต้องให้ความเคารพกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์มากกว่า

การคุยในกรอบของพื้นที่ปกครองตัวเอง อย่าง ARMM (Autonomous region of Muslim Mindanao) ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงเล็กๆ น้อยๆ แต่จะมีการพูดถึงโครงสร้างของบังซาโมโร และมีการนำคนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจาในครั้งนี้ รวมถึงกลุ่ม MILF ที่พูดถึงว่า ต้องให้กลุ่มอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาในครั้งนี้ด้วย

ส่วนประเด็นการปลดอาวุธนั้น Raul กล่าวว่ามีการเจรจากันอยู่ว่าจะส่งมอบอาวุธอย่างไร จะทำลายหรืออย่างไร รวมถึงรูปแบบของการปลดอาวุธจะทำอย่างไร กำลังเป็นประเด็นที่พูดคุยกันอยู่ โดยอาจจะดูกระบวนการของ IRA ของไอแลนด์เหนือ

เสรีภาพของสื่อกับวัฒนธรรมปืน

Raul เล่าว่า ในช่วงที่มีการสังหารนักข่าวกว่า 50 คนในฟิลิปินส์นั้น เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างสุดขั้ว มาถึงตอนนี้ยังมีวัฒนธรรมการใช้ปืนอยู่มาก เพราะฉะนั้น การตายในพื้นที่อาจเกิดจากการล้างแค้นระหว่างตระกูล เป็นแนวคิดดั่งเดิมที่มีการสืบทอดเรื่องการใช้อาวุธปืน เรื่องแก่งแย่งที่ดิน ซึ่งทางการยังคงปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวลอยู่ จึงจำเป็นต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้สามารถนำผู้กระทำผิดมารับโทษให้ได้ ไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจจึงไม่ต้องรับโทษ

“ในพื้นที่มีผู้ถืออาวุธกระจายอยู่เป็นสามเท่า มีกลุ่มจับตัวประกันเรียกค่าไถ่ ซึ่งมีอาชญากรรมเหล่านี้จำนวนมากในประเทศที่มีเกาะกว่า 7,000 เกาะ ทำให้ไม่สามารถดูแลเรื่องความปลอดภัยหรือการปลอดอาชญากรรมได้ง่าย และประเทศนี้ยังถือวัฒนธรรมการใช้ปืนในการแก้ปัญหา และผู้มีอิทธิพลก็สร้างกองทัพของตัวเองจำนวนมาก ทำให้ความรุนแรงจัดการได้ยาก” Raul กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท