Skip to main content
sharethis
ชาวบ้านร้องชะลอการไล่รื้อโดยอ้างคำสั่ง คสช. หันหน้าคุยหาทางออกร่วม ทวงคืน ‘สิทธิชุมชน’ ในรัฐธรรมนูญ หวังเป็นเครื่องมือสู้ ‘ประยงค์ ดอกลำไย’ แจงแผนแม่บทแก้ปัญหาทำลายป่าฯ สร้างปัญหาเพิ่ม จี้ทบทวน
 
 
28 ส.ค. 2557 ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม คณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จัดสัมมนา เวทีทิศทางปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1 ประเด็น ‘ปัญหา ป่าไม้ ที่ดิน ทางออกในยุค คสช.’ โดยมีผู้แทนกรณีปัญหาป่าไม้ ที่ดิน จากภาคต่างๆ มาร่วมบอกเล่าสภาพปัญหาในพื้นที่
 
สืบเนื่องจาก กรณีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไล่รื้อ ทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน และในหลายแห่งมีการติดประกาศขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ โดยอ้างคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และ คำสั่งที่ 66/ 2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน รวมถึงแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และก่อให้เกิดคำถามต่อแนวทางการแก้ปัญหาป่าไม้ ที่ดิน ของรัฐบาลปัจจุบัน
 
 
เผยสถานการณ์หลายพื้นที่เดือดร้อนหนัก ถูกไล่รื้อ
 
เด่น คำแหล้ ชาวบ้านโคกใหญ่ ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ เล่าถึงสถานการณ์ในพื้นที่ว่า มีการติดป้ายจากเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ชาวบ้านออกจากชุมชนภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค 57 ที่มีการติดป้ายประกาศโดยไม่มีการตักเตือนและแจ้งล่วงหน้าก่อน
 
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทำไมถึงมีการมาไล่ชาวบ้านออกจากชุมชน ได้คำตอบจากปากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่า “ทหารสั่งเจ้าที่ป่าไม้ก็ต้องทำ” ทำให้ชาวบ้านหลายคนวิตกกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก
 
“อยากให้เจ้าหน้าที่มีการชะลอหรือยกป้ายคำสั่งออกจากชุมชน ตอนนี้ชาวบ้านหลายคนในพื้นที่ไม่กล้าเข้าพื้นที่ เพราะกลัวว่าจะมีการจับกุม อยากให้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และหาทางออกร่วมกัน ตอนนี้ถ้าเกิดออกนอกพื้นที่ ชาวบ้านก็ไม่รู้จะไปอยู่ไหน ตอนนี้ก็ได้แต่อยากให้ยับยั้งคำสั่งไว้ก่อน จะเอายังไงต่อไปก็อยากให้มีการเข้ามาคุยกันก่อน” ชาวบ้านโคกใหญ่กล่าว
 
ขณะที่ อรนุช ผลภิญโญ ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ให้ข้อมูลว่า หลังจากมีคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64 และ 66 พื้นที่แรกที่มีการอพยพคือที่บ้านโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ โดยทหารและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้าไปกดดันในพื้นที่และกล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่
 
ขณะนี้ปัญหาชาวบ้านถูกกดดันให้อพยพออกจากที่ดินทำกินเกิดขึ้นหลายจังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ ชัยภูมิ สกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ โดยเจ้าหน้าที่รัฐอ้างคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64 และ 66 และบางจังหวัดมีประกาศคำสั่งทางปกครองขับไล่ชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ อีกทั้งยังพบว่ามีชาวบ้านบางส่วนถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีไปแล้ว
 
สำหรับข้อเสนอ อรนุช กล่าวว่า ในระยะสั้น อยากให้ยุติการไล่รื้อและตัดฟันทรัพย์สินของชาวบ้าน และยกเลิกประกาศขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แล้วกำหนดแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
 
อีกทั้ง ควรมีการระงับแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ ไว้ก่อน และทบทวน โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการตรวจสอบ พิสูจน์สิทธิ์ ต้องมีความหลากหลาย ทั้งวัตถุพยาน พยานบุคคล หลักฐานทางราชการ ประวัติศาสตร์ และพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน นอกเหนือไปจากการใช่ภาพถ่ายทางอากาศดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหา ควรยึดถือเรื่องการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และการเข้าถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชนร่วมด้วย
 
ส่วนบุญ แซ่จุง ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวถึงข้อเรียกร้องว่า ต้องการให้มีการเดินหน้ากฎหมายธนาคารที่ดิน ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และนโยบายโฉนดชุมชนอย่างเร่งด่วน
 
 
ร้องคืน ‘สิทธิชุมชน’ ในรัฐธรรมนูญ หวังเป็นเครื่องมือสู้
 
ด้านเดโช ไชยทัพ รองเลขาธิการ กป.อพช. ภาคเหนือ กล่าวว่า การแก้ปัญหาป่าไม้ที่ดิน ควรดูต้นทุนความสำเร็จที่เคยทำกันมาแล้วด้วย ทั้งนี้ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาจัดการสำรวจแนวเขตพื้นที่ด้วยตนเองเนื่องจากกระบวนการทำงานของหน่วยงานรัฐล่าช้า โดยอาศัยสิทธิชุมชนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขับเคลื่อนกันจนมีเทศบัญญัติท้องถิ่นและข้อบัญญัติตำบลเกิดขึ้น
 
ดังนั้นข้อเสนอคือสิทธิชุมชนในกฎหมายต้องกลับมาอยู่ในรัฐธรรมนูญ จากที่ปัจจุบันรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่มีการระบุเรื่องสิทธิชุมชน ไม่เช่นนั้นประชาชนจะไม่มีเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา และควรมีการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นร่วมจัดการทรัพยากร ส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาติภาคประชาชนควรผลักดันเสนอการแก้ไขปัญหาโดยใช้เครื่องมือสิทธิชุมชนให้เป็นจริง และ คสช.อย่ามองแต่แง่ดีของนโยบาย ควรมองถึงปัญหาที่ตามมาด้วย
 
 
แจงปัญหาแผนแม่บทแก้ปัญหาทำลายป่าฯ จี้ทบทวน
 
ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การออกคำสั่ง คสช.เพื่อการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต่างๆ ไม่ใช่ทางออกของปัญหา อีกทั้งคำสั่งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากการทำงานของรัฐไม่มีการประสานความร่วมมือกับชาวบ้าน เพราะปัญหาที่ดินเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน ต้องใช้ความร่วมมือกันของทุกฝ่าย 
 
ประยงค์ กล่าวต่อมาถึงปัญหาของแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ ว่า ในการจัดทำนั้น กอ.รมน.ไม่มีการทำประชาพิจารณ์เปิดให้ภาคประชนเข้าไปมีส่วนร่วม โดยกระบวนการเริ่มจาก คสช.วางนโยบายให้ กอ.รมน.และกระทรวงทรัพยากรฯ จัดทำแนวทางแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกที่ดินของรัฐฯ จนได้วางแผนยุทธศาสตร์เพื่อให้หน่วยงานและเจ้าหน้ารัฐนำไปปฏิบัติ ต่อมาคณะทำงานได้ปรับแก้ครั้งสุดท้าย โดยนำเอาแผนแม่บท คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ มาเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดความสมบูรณ์ ดังนั้นจึงควรมีการทบทวนเกี่ยวกับแผนแม่บทฉบับนี้
 
นอกจากนี้แผนแม่บทดังกล่าวยังใช้วิธีเดิมๆ ในการทวงคืนผืนป่า คือการมากดดันเอากับคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งการดำเนินการมาหลายสิบปีได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ประสบผลสำเร็จ อีกทั้งจะเห็นได้ว่าหน่วยงานที่มาดำเนินการก็เป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้านอยู่ก่อนแล้ว
 
ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่ดิน ป่าไม้หากวางแผนการทำงานไม่ดี อาจส่งผลกระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ของ คสช.ในอนาคต เพราะมีประชาชนจำนวนมากต้องได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทฉบับนี้
 
ศยามล ไกยูรวงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้มีการทบทวนแผนแม่บทฯ ถ้าจะมีการจัดการกับปัญหาการบุกรุกที่ดิน หน่วยงานรัฐที่ดูแลต้องมีการเปิดเผยฐานข้อมูลการถือครองที่ดินทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งหมู่บ้าน รีสอร์ท ที่ดินของนักการเมือง หรือของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีการบุกรุกพื้นที่อย่างผิดกฎหมาย โดยไม่ละเว้นว่าจะเป็นชาวบ้านหรือคนมีสี สิ่งที่อยากเสนอคือ ห้ามไม่ให้มีการจัดทำโครงการในพื้นที่หวงห้ามทั้งหมด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณ ควรขจร ประธาน กป.อพช. ระบุว่าการพูดคุยและข้อเสนอในวันนี้จะมีการประมวลเพื่อส่งมอบให้แก่ คสช.ต่อไป 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net