ขยาย-ปรับปรุง รถไฟเพื่อมวลชน..

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

              

รถไฟ เป็นอีกตัวอย่างที่รากหญ้าหรือคนรายได้น้อยถูกละเลย ไม่ได้รับการสนับสนุน หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม เฉกเช่น กองทุนหมู่บ้านที่ให้กู้กับชาวบ้านทั่วประเทศรายละหมื่น สองหมื่นบาท ยอดรวมก็ไม่กี่หมื่นล้านบาท แต่ได้รับการโจมตีว่าทำให้ชาวบ้านฟุ่มเฟือย โครงการเสียหาย เมื่อผลงานพิสูจน์ตัวเองนั่นแหละ เสียงวิจารณ์ถึงเงียบลง

ต่างกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ไปช่วยนายธนาคาร พ่อค้า ที่ทำความเสียหาย จนต้องตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) มาขายทรัพย์สิน ความเสียหายร่วม 6 แสนล้านบาท กลับไม่ถูกโจมตี  ป.ป.ช. ก็ไม่เร่งรัดคดี 

เฉกเช่นทางเดินลอยฟ้าที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าและตึกต่างๆ ในกรุงเทพฯ กิโลเมตรละหลายร้อยล้านบาท ให้คนกรุงเทพฯ สุขสบายไม่ต้องขี้นลงบันได ไม่มีใครวิจารณ์ แต่ถนนไร้ฝุ่น ก็แค่ลาดยางบนถนนลูกรังในชนบท เพื่อไม่ให้คนชนบทต้องทุกข์กับฝุ่น กิโลเมตรละไม่ถึงล้านบาท ถูกวิจารณ์อย่างเสียหาย ว่าคอร์รัปชั่น ได้ไม่คุ้ม (แต่เมื่อจะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ ดันเอามาอ้าง) หรือเมื่อ คสช. มีนโยบายเพิ่มเบี้ยหวัด บำนาญทหาร เพิ่มเงินเดือนข้าราชการ เสียงวิจารณ์เงียบกริบ ไม่มีใครบอกเป็นประชานิยม แต่ขึ้นค่าแรง 300 บาท เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท เสียงก่นด่าดังลั่น หรือเมื่อจะโจมตีการค้าข้าว ก็บอกชาวนาต้องขยัน อยากได้กำไรมากต้องลดต้นทุน  แต่ไม่วิจารณ์พ่อค้าส่งออกให้พยายามขายให้ได้ราคาสูง ดูการประมูลขายข้าวของ คสช. ล่าสุด พ่อค้าที่เข้าร่วมประมูลทั้งหมด ล้วนให้ราคาต่ำกว่าราคากลางของ คสช.

รถไฟก็เช่นกัน ใครก็รู้ว่าเริ่มมากว่าร้อยปี ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ใครที่อายุสูงพอคงจำได้ว่า มีสถานีรถไฟสำคัญอยู่สองแห่ง คือสถานีกรุงเทพหรือหัวลำโพง และสถานีกรุงธนบุรีหรือบางกอกน้อย รถไฟเป็นช่องทางคมนาคมระหว่างเมืองหลวงกับต่างจังหวัด ก่อนรถยนต์ (ทางหลวง) และเครื่องบิน (สนามบิน) แต่เมื่อประเทศพัฒนามาถึงระดับนี้ กลายเป็นว่า ในกรุงเทพฯ มีสนามบินทันสมัยถึงสองแห่ง ทางหลวงมีมากมาย สถานีรถขนส่งหรือรถประจำทางต่างจังหวัดก็มีถึงสามแห่ง คือ สายเหนือและอีสาน สายใต้ และสายตะวันออก  โยกย้ายและขยายหลายครั้ง ตรงข้ามกับรถไฟ ซึ่งไม่มีการขยับขยายเลย สถานีบางกอกน้อยซื่งเป็นเส้นทางสายใต้ก็ไม่มีใครใช้บริการ ในที่สุดได้มอบที่ดินให้โรงพยาบาลศิริราชไป ใครจะเดินทางไปต่างจังหวัดทั่วประเทศ จะเหนือ อีสาน หรือใต้ ต้องมาเริ่มที่หัวลำโพง ซึงพื้นที่บริการเคยมีอย่างไรเมื่อร้อยกว่าปี ก็มีเท่าเดิม ความสะดวกสบายในการจองตั๋ว ที่จอดรถเมื่อไปรับส่ง ความรู้สึกปลอดภัยของคนที่จะใช้บริการก็ไม่มี ความเร็วหรือระยะเวลาที่ต้องใช้ในการเดินทางก็ยาวนาน แถมยังมีข่าวตกรางอยู่บ่อยๆ

ข่าวการข่มขืนและการโจรกรรมบนขบวนรถ สะท้อนถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการ ทั้งบนขบวนรถและที่สถานีรถไฟ ปัจจุบันขบวนรถหรือตู้นอนนั้น มีทางเดินอยู่ตรงกลาง ซ้ายขวาเป็นที่นั่ง ปรับนอนได้เป็นสองชั้น ช่วงกลางวันก็ปรับเป็นที่นั่ง ตั้งโต๊ะอาหารกินเหล้าได้ แต่เล่นเน็ตบนรถไฟไม่ได้ เมื่อปรับเป็นที่นอนมีม่านปิดทั้งสองชั้น ชั้นล่างตรงกับหน้าต่าง ฆ่าข่มขืนเสร็จก็โยนศพออกทางหน้าต่างได้ ที่วางกระเป๋าอยู่นอกม่าน และมีราวบันไดขึ้นไปที่นอนชั้นบน กระเป๋าสัมภาระที่อยู่ริมทางเดินก็ยอมเสี่ยงต่อโจรใจถึง

ผู้เขียนเคยเดินทางโดยรถไฟสายธรรมดา ระหว่างอู่ฮั่น - เซี่ยงไฮ้ ซึ่งยาวกว่า กรุงเทพฯ - หาดใหญ่ ประมาณ 90 กิโลเมตร บนขบวนรถ ซีกหนึ่งเป็นทางเดินปรับให้มานั่งอ่านหนังสือ เล่นเน็ตได้ ไม่มีที่นั่งกินเหล้า อีกซีกหนึ่งแบ่งเป็นห้องนอน ห้องละ 6 เตียง ในห้องแบ่งเป็นสองซีก เตียงมีสามชั้น ใต้ที่นอนชั้นล่างเป็นที่เก็บกระเป๋า ไม่มีการปิดม่าน ท้ายขบวนมีห้องเล็กสำหรับพนักงานประจำขบวน แต่ของเราไม่มี

การจัดการที่สถานีก็เช่นกัน ของเราเมื่อมีตั๋ว ก็เดินไปขี้นรถเอง กว่าพนักงานจะมาตรวจตั๋ว บางครั้งรถก็วิ่งไปไกลแล้ว เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพขึ้นมาได้ ที่สถานีรถไฟเซี่ยงไฮ้ ผู้โดยสารต้องมารอแบบเดียวกับเครืองบิน และจะเปิดให้ขึ้นรถไฟผ่านการตรวจตั๋วพร้อมๆ กัน ก่อนรถออกประมาณ15 นาที

เมื่อ คสช. เข้าบริหารประเทศ ได้อนุมัติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้วยจำนวนเงินมากกว่า 2.2 ล้านล้านบาท กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 8 ปี ใกล้เคียงกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ด้วยจำนวนเงินมากกว่า ระยะเวลาใกล้เคียงกัน ก็คงต้องกู้มาทำเช่นเดียวกัน แต่แปลกที่ไม่มีใครวิจารณ์ว่าจะสร้างหนี้ให้ลูกหลาน ในส่วนของรถไฟ กำหนดว่าจะสร้างรถไฟรางคู่ขนาดราง 1 เมตร 6 เส้นทาง ใช้งบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท และจะสร้างรถไฟรางคู่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า แบบเดียวกับไฮสปีด ขนาดราง 1.435 เมตร ความเร็วที่ 160 กม./ชม. จำนวน 2 เส้นทาง ใช้งบราว 7.4 แสนล้านบาท ทั้ง 8 เส้นทางไม่มีเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ เลย

สำหรับสายความเร็วสูง 2 สาย คือ เส้นทาง หนองคาย-นครราชสีมา-แหลมฉบัง และ เชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี โดยสายนี้ไปเชื่อมต่อกับลาวที่เชียงของ (เชียงราย) ปัจจุบัน เดินทางจากเชียงของต่อไปสิบสองปันนา-เชียงรุ้งของจีน โดยรถโดยสารสาธารณะหรือรถตู้ได้ แต่ทางในลาวเป็นถนนสองเลนโค้งไปมาตามไหล่เขา แต่เมื่อเข้าเขตจีนทางจะดีมาก สภาพปัจจุบันไม่เอื้อต่อการขนส่งสินค้าจากจีน หรือสินค้าที่จีนลงทุนในลาว เช่น ยางพารา กล้วย หรือการเดินทางท่องเที่ยว  เว้นแต่มีการสร้างรถไฟความเร็วสูงจากจีนมาเชื่อมต่อไทย และรถไฟจากชายแดนเข้าไทย เมื่อดูจากรายละเอียดของโครงการในปัจจุบัน มีข้อขบคิดดังนี้

1. เป้าหมายหลักอยู่ที่การขนสินค้า เพราะไม่มีปลายทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ซึ่งแม้การขนส่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่เป้าหมายหลักควรเป็นช่องทางการเดินทางสำหรับประชาชน รถไฟควรเป็นช่องทางการเดินทางสำหรับมวลชนส่วนใหญ่ ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างทางรายได้และค่านิยม  รถไฟความเร็วสูงจะทำให้เราเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอาเซียน มากรุงเทพฯ แล้วเดินทางต่อไปจุดต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้านได้ ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวเดินทางด้วยตัวเองมากขี้น เช่น ไม่จำเป็นต้องซื้อทัวร์ประเภทวันเดียวในเมืองใหญ่ เพราะไปตามจุดต่างๆ ได้เองโดยรถไฟใต้ดิน

2. ไม่มีรายละเอียดของการสร้างและปรับปรุงสถานีรถไฟ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงแห่งเดียวคือ หัวลำโพง ควรมีสถานีรถไฟสำหรับสายเหนือ อีสาน และสายใต้แยกจากกัน พื้นที่มักกะสันอาจทำเป็นสถานีรถไฟสายตะวันออก ทำสถานีให้ดี ให้ทันสมัย เชื่อมต่อรถใต้ดินได้ จะทำให้คนใช้บริการรถไฟมากขี้น เป็นการพัฒนาที่ดินการรถไฟไปพร้อมกัน

3. รถไฟจากเชียงของและหนองคาย ควรมาสิ้นสุดหรือเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ  เพื่อให้คนไทยและนักท่องเที่ยวได้ใช้ประโยชน์ แต่จะให้ผ่านบ้านภาชีหรือแหลมฉบังก็ไม่เป็นไร

4. ที่บอกว่าความเร็ว 160 กม./ชม. นั้นเป็นความเร็วระดับสูงสุด เมื่อวิ่งจริงความเร็วเฉลี่ยอาจเหลือเพียง 120 กม./ชม. และยังต้องนึกถึงเวลาจอดตามสถานีด้วย หากคนไม่ใช้บริการจะเป็นการสูญเสียที่แพงมาก การปรับเปลี่ยนเพิ่มความเร็วทีหลังจะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก หากคำนึงถึงเทคโนโลยี่ที่เปลี่ยนเร็วและการแข่งขันกับเพื่อนบ้าน ควรเริ่มต้นที่ระดับความเร็ว 250 กม./ชม. ซึ่งเมื่อวิ่งจริงจะใช้ที่ความเร็ว 160 กม. หรือ 200 กม./ชม. ก็ได้

5. ศึกษาดูของจริงจากญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไม่ต้องอายหากจะเหมือนยิ่งลักษณ์ ระวังความผิดพลาดและปัญหาแบบ โฮปเวลล์ แอร์พอร์ตลิ้งค์ และสถานีรถไฟฟ้าตากสิน ประเทศที่เจริญแล้วระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟและรถไฟฟ้าเพื่อบริการมวลชน ยังสามารถแก้ปัญหาการใช้รถยนต์ส่วนตัวได้เป็นอย่างมาก

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข ปีที่ 10 ฉบับที่ 478 (วันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2557)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท