Skip to main content
sharethis

มีข้อสงสัยมานานหลายสิบปีเกี่ยวกับก้อนหินหนักในที่ราบสูงเรซแทร็ก พลายา อุทยานเดธวัลเลย์ สหรัฐฯ ที่เคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิมพร้อมทิ้งรอยทางไว้เหมือนถูกลากหรือเคลื่อนที่ไปเองได้ จากสมมติฐานมากมายในที่สุดทีมวิจัยจากสถาบันสมุทรศาสตร์สคริปป์ส ก็สามารถไขปริศนานี้ได้ในทางวิทยาศาสตร์ โดยชี้ถึงปัจจัยธรรมชาติหลายอย่างรวมกัน

29 ส.ค. 2557 ปรากฏการณ์หินเคลื่อนที่ได้เองหรือ 'เซลลิงสโตน' (Sailing stone) ในเขตที่ราบสูงเรซแทร็ก พลายา อุทยานแห่งชาติเดธวัลเลย์ สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในปริศนาที่มีการถกเถียงกันในวงการวิทยาศาสตร์ จากการที่หินขนาด 320 กิโลกรัม จำนวนมากอยู่ในสภาพเหมือนถูกลากไปตามพื้นให้เป็นรอยเป็นระยะทางหลายร้อยเมตร ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยว่าอะไรที่ทำให้หินเหล่านี้ดูเหมือนเคลื่อนที่เองได้

มีนักวิจัยพยายามศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ 70 ปีที่แล้ว จนกระทั่งล่าสุดเว็บไซต์ Phys.org รายงานว่าทีมวิจัยจากสถาบันสมุทรศาสตร์สคริปป์ส มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานดิเอโก เปิดเผยเรื่องนี้ผ่านทางวารสาร PLOS ONE ฉบับวันที่ 27 ส.ค. จากผลงานการสำรวจของริชาร์ด นอร์ริส นักโบราณชีววิทยา

เหตุที่การสำรวจกินเวลานานมากเนื่องจากก้อนหินเหล่านี้หยุดนิ่งอยู่กับที่มาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว นักวิจัยส่วนหนึ่งไม่คิดว่าจะได้เห็นมันเคลื่อนที่อีกด้วยตาของตนเอง อย่างไรก็ตามนักวิจัยได้สำรวจด้วยการก่อตั้งสถานีภูมิอากาศที่มีความละเอียดสูงซึ่งสามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวของก้อนหินสร้างเองที่มีลักษณะคล้ายกับเซลลิงสโตนผ่านเครื่องมือบอกพิกัด เนื่องจากทางอุทยานไม่อนุญาตให้พวกเขาใช้ก้อนหินของจริงในการทดลอง

พวกเขาทดลองตั้งแต่ช่วงฤดูหนาวของปี 2554 จนถึงเมื่อเดือน ธ.ค. 2556 นอร์ริสและผู้ช่วยของเขาก็พบว่าในพื้นที่เดธวัลเลย์มีน้ำท่วมสูงในระดับ 7 ซม. ก่อนที่ก้อนหินจะเคลื่อนที่

เหล่าผู้สำรวจเปิดเผยว่าก้อนหินจะเคลื่อนไหวได้ต้องมีปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นยากมากหลายอย่างประกอบกัน อย่างแรกคือปรากฏการณ์ที่พื้นที่พลายาจะปกคลุมด้วยน้ำ และระดับน้ำต้องสูงพอที่จะทำให้เกิดการจับตัวเป็นน้ำแข็งในช่วงคืนฤดูหนาว แต่ก็ต้องไม่สูงจนท่วมมิดก้อนหิน เมื่ออุณหภูมิช่วงกลางคืนลดลงต่ำมากแอ่งน้ำจะกลายเป็นน้ำแข็งแผ่นบางๆ คล้าย "แผ่นกระจก" ซึ่งจะต้องบางมากพอที่จะทำให้เคลื่อนไหวได้แต่ก็จะต้องหนาพอที่จะคงสภาพแผ่นน้ำแข็งไว้ได้ เมื่อถึงวันที่มีแดดออก น้ำแข็งจะเริ่มละลายและแตกออกเป็นแผ่นย่อยๆ และเมื่อมีลมพัดเบาๆ ผ่านพื้นที่แผ่นย่อยๆ เหล่านี้จะดันก้อนหินไปข้างหน้าจนทำให้เกิดเป็นรอยทางเนื่องจากพื้นผิวเป็นดินโคลนอ่อนๆ

นอร์ริสบอกว่า ในวันที่ 21 ธ.ค. 2556 แผ่นน้ำแข็งแตกตัวออกในช่วงราวๆ เที่ยง มีเสียงป๊อกและเสียงแกร๊กดังไปทั่วพื้นผิวแผ่นน้ำแข็ง

ก่อนหน้านี้มีการตั้งทฤษฎีหลายอย่างเกี่ยวกับหินเคลื่อนที่นี้ ทั้งทฤษฎีที่ว่ามีแรงลมหนักๆ เช่นพายุเฮอร์ริเคนพัดหินเหล่านี้ หรือไม่ก็เป็นลมฝุ่นทราย บ้างก็ว่าเป็นกลุ่มสาหร่ายหนาๆ หรือก้อนน้ำแข็งหนาๆ ผลักหินพวกนี้ ในความเป็นจริงแล้ว หินเหล่านี้เคลื่อนได้ด้วยลมที่แรงเพียง 3-5 เมตรต่อวินาที และถูกเคลื่อนด้วยน้ำแข็งที่หนาเพียง 3-5 มิลลิเมตร และก้อนหินยังเคลื่อนตัวด้วยความเร็วเพียงไม่กี่นิ้วต่อวินาที ซึ่งเป็นความเร็วที่แทบจะตรวจวัดจากระยะไกลไม่ได้และจำเป็นต้องมีจุดอ้างอิงในการตรวจวัด

จิม นอร์ริส ญาติของริชาร์ดซึ่งเป็นผู้ช่วยในการสำรวจครั้งนี้กล่าวว่า นักท่องเที่ยวอาจจะเคยเห็นปรากฏการณ์นี้โดยไม่รู้ตัวเลยว่าก้อนหินมันถูกเคลื่อนจากที่เดิม อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วัดการเคลื่อนไหวได้ยากคือการที่ก้อนหินเคลื่อนที่พร้อมกันทั้งหมด

หินแต่ละก้อนจะเคลื่อนที่ด้วยระยะเวลาทั้งหมดต่างกันตั้งแต่ไม่กี่วินาทีไปจนถึง 16 นาที มีครั้งหนึ่งที่นักวิจัยสำรวจพบหินที่อยู่ห่างกัน 3 ช่วงสนามฟุตบอลเริ่มเคลื่อนที่พร้อมกันและเคลื่อนที่ต่อไปอีก 60 เมตรจนกระทั่งหยุดลง หินบางก้อนยังเคลื่อนที่อีกหลายครั้งก่อนที่จะหยุดลงจริงๆ นอกจากนี้นักวิจัยยังค้นพบรอยเคลื่อนที่มาจากการเคลื่อนไหวของแผ่นน้ำแข็งซึ่งไม่ปรากฏว่ามีก้อนหินอยู่ด้วย อาจจะเป็นคำตอบสำหรับข้อสงสัยของเจ้าหน้าที่อุทยานที่สงสัยว่าจะมีนักท่องเที่ยวขโมยหินไปจึงมีแต่รอยทางเปล่าๆ

ราล์ฟ ลอเรนซ์ จากศูนย์ทดลองพิสิกส์ประยุกต์มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์ กล่าวว่ามีการตั้งสมมติฐานว่าการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดเกิดในปี 2549 โอกาสที่หินจะเคลื่อนที่อีกครั้งจึงต่ำมาก นอกจากนี้มีหลักฐานที่บ่งชี้ความถี่ในการเคลื่อนไหวของก้อนหินในคืนหนาวเย็นจนเกิดน้ำแข็ง ทำให้หลังเกิดปรากฏการณ์โลกร้อนอาจจะทำให้ความถี่ในการเคลื่อนที่ของหินนี้ลดลง

แต่ทว่า ปริศนาของหินเคลื่อนที่ได้นี้ถูกไขกระจ่างแล้วจริงหรือ

"พวกเราได้บันทึกการเคลื่อนที่ 5 ครั้งในช่วง 2 เดือนครึ่งที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงที่มีแอ่งน้ำอยู่ และมีการสำรวจหินจำนวนหลายร้อยลูก" ริชาร์ด นอร์รืส กล่าว "ดังนั้นพวกเราจึงได้เห็นว่าแม้แต่ในเดธวัลเลย์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของอากาศร้อนระอุ ยังมีก้อนน้ำแข็งที่มีพลังมากพอในการผลักก้อนหินให้เคลื่อนไหวได้ แต่พวกเราไม่ได้เห็นหินที่ใหญ่มากจริงๆ เคลื่อนไหวออกจากที่นี่เลย ....มันจะสามารถอธิบายได้ด้วยวิธีการเดียวกันหรือไม่"

 


เรียบเรียงจาก

Mystery solved: 'Sailing stones' of death valley seen in action for the first time, Phys, 28-08-2014
http://phys.org/news/2014-08-mystery-stones-death-valley-action.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net