Skip to main content
sharethis

4 ก.ย.2557 เมื่อวันที่ 2 ก.ย. สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และองค์กรสมาชิกในประเทศไทย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทยต้องให้ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติมาเยือนประเทศและสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานระหว่างการควบคุมของทหารโดยด่วน

เนื้อหาแถลงการณ์ระบุว่า รัฐบาลที่ตั้งขึ้นใหม่ของไทยต้องจัดการอย่างเร่งด่วนเพื่อเชิญศาสตราจารย์ Juan Méndez ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UN Special Rapporteur on Torture and other cruel, inhuman or degrading treatment or punishment) ให้มาสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่น่าเชื่อถือว่า ได้เกิดการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายโดยผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร นับแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา

“เราเริ่มเห็นแบบแผนที่ชัดเจนของข้อกล่าวหาร้ายแรงว่ามีการซ้อมทรมาน” คาริม ลาฮิดจี (Karim Lahidji) ประธานของ FIDH กล่าวและว่า “ถ้านายกฯ ประยุทธ์ไม่มีสิ่งใดต้องหลบซ่อน เขาต้องอนุญาตให้ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเดินทางมาเยือนประเทศไทย และดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระตามข้อกล่าวหาเหล่านี้”

แถลงการณ์ระบุว่า FIDH ได้รับข้อกล่าวหาที่น่าเชื่อถือว่ามีการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายเกิดขึ้นกับบุคคลอย่างน้อย 13 คน (ชาย 11 คน และหญิง 2 คน) ซึ่งได้ถูกทางการไทยจับกุมตัวไปไว้ยังค่ายทหารที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงไม่กี่วันหลังเกิดการรัฐประหาร

โดยผู้ถูกควบคุมตัวให้ข้อมูลว่าถูกทรมานเพื่อรีดข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อมโยงทางการเมืองหรือไม่ก็ถูกบังคับให้รับสารภาพว่าร่วมมือกับบุคคลอื่นในการทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร ผู้ถูกควบคุมตัวให้ข้อมูลว่าถูกมัดมือและเท้าเป็นเวลาหลายวัน
และในบางกรณีมีการผูกผ้าปิดตา เจ้าหน้าที่มักซ้อมและเตะผู้ถูกควบคุมตัว และผู้ถูกควบคุมตัวบางคนให้ข้อมูลว่าถูกซ้อมจนสลบ ส่วนคนอื่นๆ บอกว่ามีการนำถุงพลาสติกมาคลุมศีรษะเพื่อให้ขาดอากาศหายใจ และมีการใช้ไฟฟ้าช็อตที่อวัยวะเพศ นอกจากนี้ยังมีการทรมานด้านจิตใจ ทั้งการแกล้งจะนำไปฝัง และการแกล้งจะฆ่าให้ตาย รวมทั้งการข่มขู่ญาติพี่น้องในครอบครัว แม้จะไม่เป็นที่ปรากฏว่าผู้ถูกควบคุมตัวเหล่านี้ได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายหรือจิตใจมากน้อยเพียงใด แต่มีอยู่หนึ่งกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยเป็นผลมาจากการซ้อมทรมาน

ข้อกล่าวหาเหล่านี้สอดคล้องกับข้ออ้างของผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ ที่ระบุว่า ได้ถูกทรมานระหว่างการควบคุมตัวของทหาร นส.กริชสุดา คุณะแสน อายุ 27 ปีอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานเพื่อบังคับให้บอกว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ รวมทั้งกลุ่มคนเสื้อแดง ในฐานะทำงานให้ความช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 เจ้าหน้าที่ทหารได้บุกเข้าจับกุม น.ส.กริชสุดาที่จังหวัดชลบุรี ทางภาคตะวันออกของไทย ฐานไม่ไปรายงานตัวกับทหาร และมีการควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกในสถานที่ลับ จนกระทั่งมีการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน

ในระหว่างการสัมภาษณ์ผ่าน Skype โดยมีผู้สัมภาษณ์เป็นนักข่าวอิสระและมีการเผยแพร่วิดีโอเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม นส.กริชสุดาบอกว่าถูกปิดตาและถูกมัดมือตลอดเวลาช่วงเจ็ดวันแรกของการควบคุมตัว เธอบอกว่าได้ถูกซ้อมหลายครั้งในระหว่างการสอบปากคำ มีการนำถุงพลาสติกและเศษผ้ามาครอบศีรษะจนทำให้เธอหมดสติ ในอีกตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ผ่าน Skype ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม น.ส.กริชสุดากล่าวว่าทหารให้กินยาพาราเซตามอนและยาแก้อักเสบเพื่อลบร่องรอยการซ้อมทรมานบนร่างกาย การควบคุมตัว น.ส.กริชสุดาเป็นเวลา 29 วันเป็นสิ่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย ไม่เฉพาะกฎหมายระหว่างประเทศ แต่รวมทั้งกฎอัยการศึกของเผด็จการทหารไทยด้วย เพราะกฎอัยการศึกให้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไม่เกิน 7 วันโดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา นส.กริชสุดากล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน เธอถูกบังคับให้ลงนามในเอกสารยืนยันว่าเป็นผู้ขอให้ทหารขยายระยะเวลาการควบคุมตัวออกไปเกินกว่า 7 วัน โดยอ้างว่าเพื่อ “เหตุผลด้านความปลอดภัย”

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม มีรายงานว่านายวรวุฒิ เทือกชัยภูมิ นักศึกษาและนักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือถูกขู่ว่าจะตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหาย และถูกสังหารระหว่างถูกควบคุมตัวโดยทหาร
เนื่องจากเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร

แถลงการณ์ระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนใหม่และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นเผด็จการทหารได้ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เขาระบุว่า ทหารไม่ต้องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่มีนโยบายซ้อมทรมานหรือทำอันตรายใคร พันเอกวินธัย สุวารี โฆษก คสช.ประกาศว่า ที่ผ่านมาไม่มีการปฏิบัติมิชอบหรือการทำร้ายผู้ถูกควบคุมตัวรายใด

“การปฏิเสธแบบเหมารวมและการไม่ยอมให้มีการสอบสวนตามข้อกล่าวหาว่ามีการทรมาน แสดงให้เห็นว่าเผด็จการทหารไทยไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีของไทยที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ” ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธาน สสส.กล่าว

“เหตุผลดังกล่าวยิ่งทำให้การมาเยือนประเทศไทยของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง” เขากล่าวเสริม

ไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CAT) ตามข้อ 13 ของอนุสัญญา ไทยมีพันธกรณีจะต้องจัดให้มี “การสอบสวนโดยพลันและปราศจากความลำเอียง” กรณีที่ “มีเหตุผลน่าเชื่อถือ” ว่าการได้เกิดการทรมานขึ้นมาจริง

รัฐบาลชุดที่แล้วของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เห็นชอบต่อการเดินทางมาเยือนอย่างเป็นทางการของนายเมนเดซที่เป็นผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเดิมมีกำหนดมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 4-18 สิงหาคม 2557 [1] อย่างไรก็ดี ภายหลังการรัฐประหาร กระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่าจะชะลอการมาเยือนของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติไปช่วงปลายปี

เมื่อเดือนมิถุนายน คณะกรรมการต่อต้านการทรมานซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบและปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีกล่าวว่า มี “ความกังวลอย่างลึกซึ้ง” เกี่ยวกับการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศของกองทัพไทยเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม คณะกรรมการฯ กระตุ้นให้ประเทศไทย “ยึดมั่นอย่างจริงจังกับข้อห้ามโดยเด็ดขาดต่อการทรมาน” [2]

FIDH และ สสส. เน้นย้ำข้อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกและกระตุ้นรัฐบาลไทยให้ปฏิบัติอย่างเต็มที่ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ โดยเฉพาะข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ที่ระบุให้ประเทศไทยใช้มาตรการที่เป็นผลเพื่อประกันให้ “ผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายขั้นพื้นฐานตั้งแต่เริ่มต้นของการควบคุมตัว” โดยมาตรการคุ้มครองเหล่านี้ครอบคลุมถึงสิทธิที่ผู้ถูกควบคุมตัวจะสามารถเข้าถึงทนายความและแพทย์ที่เป็นอิสระโดยพลัน รวมทั้งสิทธิที่จะติดต่อกับครอบครัวของตน

 


[1] สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Office of
the High Commissioner for Human Rights - UNOHCHR), 10 มีนาคม 2557 นาย Juan Mendez ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการทรมานได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 และระบุไว้ในรายงานประเด็นหลักเกี่ยวกับ
“การใช้หลักฐานที่ได้มาจากการซ้อมทรมานและหลักเกณฑ์ที่ห้ามใช้พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ (exclusionary rule)”

[2] คณะกรรมการต่อต้านการทรมาน ข้อสังเกตเชิงสรุปที่มีต่อรายงานเบื้องต้นของประเทศไทย 20 มิถุนายน 2557 UN Doc. CAT/C/THA/CO/1, ย่อหน้า 4


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net