Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ปัญหาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถือเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะหลังจากที่มหาวิทยาลัยเปิดภาคการศึกษาในวันแรก เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยก็เผชิญกระแสประท้วง โดยนักศึกษาได้แปะป้ายโจมตี และล้อเลียนไปทั่วมหาวิทยาลัย วิทยาเขตรังสิต ในกรณีที่อธิการบดีไปรับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. ) และยังไปร่วมลงมติรับรองให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รายงานข่าวแจ้งว่า ทั่วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งมีทั้งป้ายไวนิลและป้ายกระดาษ เขียนคัดค้านอธิการบดี บ้างก็มีข้อความโจมตี เช่น “รวมร่างกฎหมายให้คณะรัฐประหาร 2 ยุค อธิการบดี 2 สมัย”

กระแสต่อต้านนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อมีพระราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 200 คน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่า มีบุคลากรธรรมศาสตร์ 2 คน ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิก สนช. คือ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี และ นายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัย นำมาซึ่งกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงมาตั้งแต่แรก

เหตุผลสำคัญที่นำมาซึ่งการต่อต้าน ก็คือความเห็นว่า การเข้าไปเป็นสมาชิก สนช. ครั้งนี้ เป็นการรับใช้เผด็จการทหารอย่างชัดเจน และเป็นการรองรับความชอบธรรมในการรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นการขัดต่อจิตวิญญานของธรรมศาสตร์ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตลอดมา แต่ฝ่ายที่สนับสนุนนายสมคิดพยายามจะอ้างว่า คนที่ธรรมศาสตร์ยกย่อง คือ นายปรีดี พนมยงค์ และ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็รับใช้เผด็จการทหารเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะนายปรีดีและนายป๋วยต่างก็เห็น "ประโยชน์ของประเทศชาติ" มากกว่า "การถือตัวตน" ดังนั้น กรณีของนายนรนิติและนายสมคิดก็ถือเป็นเรื่องของโอกาสใช้ความรู้ความสามารถเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองเช่นกัน ส่วนนายสมคิดเองก็อธิบายว่า ที่ได้รับแต่งตั้งเพราะเป็นตำแหน่งอธิการบดี ถ้าหากคนอื่นแม้กระทั่ง ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ถ้าเป็นอธิการบดีก็ได้รับแต่งตั้งเช่นกัน และยังตัดพ้อว่า มหาวิทยาลัยอื่น เช่น นิดา มีคนได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิก สนช. 3 คน ไม่เห็นมีใครไปประท้วง

ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวได้สะท้อนถึงความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ 2 กระแสตลอดมา เริ่มจากการก่อตั้งมหาวิทยาลัย โดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้ประศาสน์การ เสนอให้ตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) เมื่อ พ.ศ.2477 เพื่อให้เป็นตลาดวิชา เผยแพร่ความรู้ประชาธิปไตยสู่ประชาชน  มธก. ที่ตั้งขึ้นจึงเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนด้านสังคมศาสตร์ และเมื่อตั้งขึ้นมาแล้ว มธก. ก็มีบทบาทช่วยชาติครั้งสำคัญ เมื่อญี่ปุ่นยึดครองประเทศไทย แล้วปรีดี พนมยงค์ตั้งขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น อาจารย์และนักศึกษาจำนวนหนึ่งของมหาวิทยาลัยก็ได้ร่วมในขบวนการนี้ด้วย ถือเป็นการกู้ชาติครั้งแรก

แต่ต่อเมื่อมาเมื่อเกิดการรัฐประหาร พ.ศ.2490 นายปรีดี พนมยงค์ต้องหนีภัยรัฐประหาร และยังถูกใส้ร้ายเรื่องกรณีสวรรคต มธก. ถูกหวาดระแวงว่าจะเป็นฐานกำลังของฝ่ายปรีดี ในระยะแรกคณะทหารจึงส่ง หลวงวิจิตรวาทการ และ พล.ต.สวัสดิ์ สวัสดิ์เกียรติ เข้ามาควบคุม แต่ต่อมา ก็ได้ออก พ.ร.บ. ธรรมศาสตร์ ใหม่ เมื่อ พ.ศ.2495 เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกเลิกตำแหน่งผู้ประศาสน์การ แล้วตั้งตำแหน่งอธิการบดี โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เข้ามาเป็นอธิการบดีด้วยตนเอง

หลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ พ.ศ.2500 คณะทหารก็ส่งคนของตนเองเข้ามาควบคุมธรรมศาสตร์ เช่น ส่งนักกฎหมายของคณะรัฐประหาร คือ หลวงจำรูญเนติศาสตร์ เข้ามาเป็นอธิการบดี และต่อมา ก็ได้ส่ง พล.อ.ถนอม กิตติขจร รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นอธิการบดี จนเมื่อ พล.อ.ถนอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้ส่ง กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรีมาเป็นอธิการบดี ดังนั้น การพัฒนาในกระแสหลักของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็คือ การผลิตบุคลากรรองรับการขยายตัวของระบบราชการ และกิจการวิสาหกิจในระบบทุนนิยม เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นในสมัยเดียวกัน

แต่กระนั้น ภายใต้ระบอบเผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร - จอมพลประภาส จารุเสถียร ขบวนการนักศึกษาได้พัฒนาขึ้น โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแกนกลาง นำมาซึ่งชัยชนะในการต่อสู้กรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และขบวนการนักศึกษายังมีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยมาจนถึงกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 จึงได้ถูกปราบปรามโดยคณะรัฐประหารที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่ ในสมัยนี้ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามจนต้องลี้ภัยต่างประเทศ คณะรัฐประหารได้ตั้งนายปรีดี เกษมทรัพย์ นักกฎหมายที่ร่วมมือกับฝ่ายรัฐประหาร มาเป็นอธิการบดีแทน

ในช่วงแห่งการต่อสู้เดือนตุลานี้เอง จึงได้เกิดการพัฒนาตำนานที่ว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” และจะถูกอ้างอิงในฐานะจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ต่อมา แต่ความจริงคงต้องบอกว่า กระแสการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยของนักศึกษาเป็นเพียงกระแสรอง กระแสหลักก็คือ มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวกับระบบการเมืองสังคมไทย ต้องทำหน้าที่ผลิตบุคลากรมารับใช้ระบบ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแทบทุกสมัย จึงเป็นบุคคลที่ประสานและไปได้ดีกับการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมไทยเสมอมา

เมื่อ พ.ศ.2522 นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ มีชื่อเล่นว่า “ตู่” ได้เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากจะเป็นนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีแล้ว นายสมคิดก็ยังเคยเป็นผู้ปฏิบัติงานในขบวนการนักศึกษา และมีบทบาทในการเข้าร่วมต่อสู้ในเรื่องประชาธิปไตยยุคสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เช่นกัน ต่อมาเมื่อจบการศึกษาด้านนิติศาสตร์ เขาก็สอบได้ทุนไปศึกษาวิชากฎหมายมหาชนที่ประเทศฝรั่งเศส จนจบปริญญาเอก และกลับมาสอนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ พ.ศ.2533 ต่อมา เขาได้เป็นเป็นผู้ช่วยรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้เป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2547

เมื่อเกิดการรัฐประหาร พ.ศ.2549 นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสมัยนั้น ก็ได้ให้ความร่วมมืออย่างมาก จนกลายเป็นว่า นายสุรพลก็เป็นเสมือนหนึ่งที่ปรึกษากฎหมายของฝ่ายคณะรัฐประหาร และนายสมคิดในฐานะคณบดีคณะนิติศาสตร์ ก็ให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหารเช่นกัน โดยรับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งความร่วมมือในลักษณะนี้ นำมาซึ่งความก้าวหน้าในด้านการงาน คือ การได้รับตำแหน่งอธิการบดีธรรมศาสตร์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2553 ในเดือนเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งชื่อเล่นว่า “ตู่” รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ดังนั้น ถ้าพิจารณาจากกระแสหลักของผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดมา การร่วมมือร่วมใจกับการรัฐประหารของนายสมคิด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะนิยายเรื่องธรรมศาสตร์รับใช้ประชาชน เป็นเรื่องของนักศึกษา ไม่ได้คลุมถึงคณะผู้บริหาร

ดังนั้น ถ้าพิจารณาเสียใหม่ว่า นายสมคิด คือ นักกฎหมายของฝ่ายรัฐประหาร ก็จะเข้าใจสถานะของธรรมศาสตร์ในขณะนี้ได้ และจะเข้าใจด้วยว่า เหตุใดนายสมคิดจึงไปคิดโจทย์แก่คณะรัฐประหาร ที่จะต้องทำให้การ "รัฐประหารไม่สูญเปล่า" ซึ่งโดยกระบวนการก็คือ ต้องทำลายประชาธิปไตยแบบเสียงข้างมากของประชาชนให้ได้ มิฉะนั้น ประชาชนก็จะเลือก "พวกทักษิณ” กลับมาอีก แล้วกลุ่มชนชั้นนำก็จะวุ่นวายไม่รู้จักจบสิ้น เพราะประชาชนไม่ยอมใช้เสียงเลือกตั้งตามใจพวกเขา

ด้วยความรู้เช่นนี้ ก็จะสามารถเข้าใจ "ธรรมศาสตร์สมัยตู่” ได้อย่างชัดเจน

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข ปีที่ 10 ฉบับที่ 479 (วันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2557)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net