กฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ให้สัมภาษณ์สื่อว่า “ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาได้ผ่านความเห็นชอบของ คสช.แล้ว จากนี้จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนที่จะส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)”

ผมเข้าใจว่า ฝ่ายที่ต้องการมีกฎหมายดังกล่าวคงมี “เจตนาดี” ต่อพุทธศาสนา แต่การออก พ.ร.บ.ดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาสำคัญคือ ปัญหาพื้นฐานของรัฐประชาธิปไตย และปัญหาพื้นฐานทางพระธรรมวินัย

ปัญหาพื้นฐานของรัฐประชาธิปไตย คือปัญหาว่ากฎหมายดังกล่าวสอดคล้องกับความเป็นรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่หรือไม่ ฝ่ายที่ผลักดันมักอ้างว่า “สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์กษัตริย์อุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนา เมื่อเปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตย รัฐประชาธิปไตยก็ต้องอุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนาแทนสืบต่อจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

แต่ความจริงคือ ขอบเขตอำนาจของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับรัฐประชาธิปไตยนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจอยู่ที่กษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว การอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนา (หรือศาสนาใดๆ) จึงอยู่ที่กษัตริย์จะเห็นสมควร ส่วนรัฐประชาธิปไตยนั้นอำนาจเป็นของประชาชน รัฐที่ใช้อำนาจในนามของประชาชนจึงต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเสมอ แปลว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนคือกรอบกำหนด “ขอบเขต” ของอำนาจรัฐ ดังนั้น รัฐจะใช้อำนาจละเมิดสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนไม่ได้

ตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพในการนับถือศาสนา ลัทธิ พิธีกรรมต่างๆ เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รัฐจะเข้าไปแทรกแซงมิได้ ตราบที่การใช้สิทธิ เสรีภาพดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดสิทธิพลเมือง หรือไม่ก่ออันตรายแก่คนอื่นๆ หรือสังคม

ประเด็นคือ เวลาพูดถึง “ประชาชน” ในรัฐประชาธิปไตยนั้น หมายถึงประชาชนที่มีความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม รวมทั้งคนที่ไม่มีศาสนาด้วย คำถามก็คือว่าการมีกฎหมายอุปถัมภ์คุ้มครองเฉพาะศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แม้ศาสนานั้นจะเป็นศาสนาที่คนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นนับถือก็ตาม ถือเป็นการละเมิด “หลักความเสมอภาค” ทางศาสนาและสิทธิของประชาชน เช่นการจ่ายภาษีประชาชนบำรุงพุทธศาสนาและศาสนาหลักๆ เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนที่นับถือลัทธิพิธีกรรมอื่นๆ ที่รัฐไม่จ่ายภาษีบำรุง หรือละเมิดสิทธิคนที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ หรือไม่

ที่สำคัญคือรัฐประชาธิปไตยต้อง “เป็นกลาง” ทางศาสนา โดยในทางหลักการและการปฏิบัติ ต้องแยกกิจการของรัฐและกิจการทางศาสนาออกจากกัน โดยรัฐต้องไม่อ้างความเชื่อทางศาสนาใดๆ ในการกำหนดนโยบายสาธารณะหรือออกกฎหมายต่างๆ เพราะนโยบายสาธารณะและกฎหมายมีผลกระทบและมีสภาพบังคับแก่ประชาชนทุกคนเสมอกัน ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาใดๆ หรือไม่มีศาสนาก็ตาม ในขณะเดียวกันรัฐต้องไม่เข้าไปแทรกแซงในเรื่องความเชื่อ การบริหารจัดการภายในของศาสนาใดๆ และไม่ให้ความอุปถัมภ์เป็นพิเศษใดๆ ปล่อยให้การนับถือศาสนาเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล และบริหารจัดการแบบเอกชน รัฐมีหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพในการนับถือศาสนา และป้องกันไม่ให้มีการใช้ศาสนาไปในทางละเมิดสิทธิพลเมืองเท่านั้น

ปัญหาพื้นฐานทางพระธรรมวินัย ผอ.สำนักพุทธฯ อ้างเหตุผลในการออกกฎหมายดังกล่าวว่า “เนื่องจากเมื่อพระภิกษุสามเณรกระทำความผิด จะมีการลงโทษตามพระธรรมวินัยเท่านั้น ทั้งที่บางความผิดควรมีโทษอาญาด้วย เพื่อป้องกันผลกระทบและผลเสียที่เกิดขึ้นต่อพระพุทธศาสนา เช่น การเสพเมถุน เมื่อสึกจากความเป็นพระแล้ว ควรจะได้รับโทษทางอาญาด้วย เพราะถือว่าสร้างความเสื่อมเสียต่อพระพุทธศาสนา รวมไปถึงผู้ใดกระทำให้หลักศาสนธรรมผิดเพี้ยนไปจากพระไตรปิฎก ก็ควรจะได้รับโทษทางอาญาด้วย เป็นต้น”

คำถามคือ ในแง่ “เจตนารมณ์” ของพระธรรมวินัยต้องการให้มีการลงโทษทางอาญาแก่พระภิกษุผู้ประพฤติผิดพระธรรมวินัยหรือผู้ที่ตีความผิด สอนผิดจากพระไตรปิฎกหรือไม่ พุทธะเคยแสดงเจตนาหรือขอให้รัฐลงโทษแก่พระภิกษุหรือใครที่กระทำความผิดดังกล่าวหรือไม่ หากไม่ใช่เจตนารมณ์ของพระธรรมวินัยหรือความประสงค์ของพุทธะ การกำหนดโทษทางอาญาดังกล่าวจะอ้าง “ความชอบธรรม” จากหลักพระธรรมวินัยได้อย่างไร

จะอ้างความชอบธรรมจากหลักกฎหมายของรัฐประชาธิปไตยยิ่งไม่ได้ใหญ่ เนื่องจากตามหลักกฎหมายของรัฐประชาธิปไตยนั้น รัฐจะลงโทษทางอาญาได้ก็เฉพาะกับกรณีที่การกระทำนั้นเป็นการละเมิดต่อรัฐและสิทธิพลเมืองเท่านั้น เช่น ถ้าพระภิกษุที่เสพเมถุนโดยข่มขืน กระทำชำเรา พรากผู้เยาว์ พระภิกษุนั้นในฐานะเป็นประชาชนคนหนึ่งก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายอาญาที่บังคับใช้แก่ประชาชนทุกคนอยู่แล้ว การบัญญัติกฎหมายพิเศษเพื่อเอาผิดทางอาญากับพระที่เสพเมถุนจึงเป็นการบัญญัติ “กฎหมายพิเศษ” ที่เกินไปจากเจตนารมณ์ของพระธรรมวินัย และเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเฉพาะประชาชนบางกลุ่ม (ที่เป็นพระภิกษุ) เท่านั้น นี่ถือเป็นการขัดหลักความเสมอภาคทางกฎหมายหรือไม่

ถ้าอ้างว่ากฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ปกป้องความมั่นคงของพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์ แต่พุทธศาสนาที่เป็นตัวเนื้อหาสาระก็คือ “พระธรรมวินัย” ซึ่งมีมาตรการชัดเจนในการลงโทษแก่พระที่ละเมิดวิสัยสงฆ์ในระดับต่างๆ อย่างชัดเจนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายใดๆ มาลงโทษซ้ำอีก ส่วนสถาบันสงฆ์ก็มีหน้าที่ต้องศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ไม่ทำอะไรที่เกินเลยไปจากเจตนารมณ์ของพระธรรมวินัย

สิ่งที่ต้องถามก็คือ ระบบอำนาจยศถาบรรดาศักดิ์ของคณะสงฆ์ตามกฎหมายของรัฐในปัจจุบันนั้น สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระธรรมวินัยหรือไม่ เช่นตามเจตนารมณ์ของพระธรรมวินัยเน้นการกระจายอำนาจ การปกครองตัวเองของพระสงฆ์อย่างอิสระตามสายครูอาจารย์ การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกิจการของส่วนรวม ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจมีปัจจัยพื้นฐาน เช่นไตรจีวรหรือัฐบริขารตามความจำเป็น เกินจากนี้เป็นของส่วนรวม มีเสรีภาพทางความคิดและการตรวจสอบกันและกันและมีภราดรภาพ แต่กฎหมายปกครองสงฆ์ปัจจุบัน (ที่ตราขึ้นในยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์) กลับมีลักษณะเผด็จการ ทำให้โครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรมของสงฆ์สวนทางกับสาระพระธรรมวินัยหรือหลักประชาธิปไตยหรือไม่

โดยเฉพาะการจะเอาผิดทางอาญากับการตีความผิด สอนผิดจากพระไตรปิฎก คนที่คิดเช่นนี้ตระหนักรู้หรือเปล่าว่า เนื้อหาในพระไตรปิฎกนั้นมีความซับซ้อน มีทั้งส่วนที่สอดคล้องและขัดแย้งกันเอง การตีความพระไตรปิฎกจึงเป็นไปได้หลายทาง และตามหลักกาลามสูตรพุทธะก็ให้เสรีภาพที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อพระไตรปิฎกก็ได้ การมีกฎหมายแบบนี้ขึ้นมาเท่ากับเป็นการสร้างระบบ “บังคับความเชื่อ” ขึ้นมาในพุทธศาสนา เป็นการสวนทางกับพุทธะที่ให้เสรีภาพ

ในที่สุดการออกฎหมายดังกล่าว นอกจากจะขัดหลักการพื้นฐานของรัฐประชาธิปไตยแล้ว ยังจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง เนื่องจากการใช้กฎหมาย “ล่าแม่มด” ทางศาสนาตามมาอีกมากมาย เรามีบทเรียนมาแล้วจากการออกกฎหมายปกครองสงฆ์ฉบับเผด็จการในยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อย่าสร้างประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในยุคประยุทธ์ จันทร์โอชาอีกเลย

 

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (6-12 กันยายน 2557) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท