ภาคประชาชนส่งเสียง-ความหวัง ปฏิรูประบบสุขภาพ ยุค คสช.

ภายหลังการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรีรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ซึ่งมีนายรัชตะ รัชตะนาวิน อธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดลและประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มาดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข และได้นายสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) มาดำรงตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข ภาคประชานได้จัดเสวนา ทิศทางปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 2 เรื่อง ‘ระบบหลักประกันสุขภาพ ยุคคสช.ปฏิรูปอย่างไร? เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ’ ที่ตึก มอส.จัดโดย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช)  ร่วมกับ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ  

 “ในระหว่างนี้ ที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการบริหารประเทศ ภายใต้รัฐบาลชุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศ และกระทรวงสาธารณสุขมีหมอสองท่านมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้งนี้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วยในทันทีตามที่กฎหมายระบุไว้  จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายในการขอปรับเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวประชากรของระบบหลักประกันสุขภาพที่ คสช.ไม่ยอมปรับ ขึ้นให้ตามข้อเสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยต้องจำกัดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม  ซึ่งขัดแย้งกับเป้าหมายของ คสช.ที่ต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การสมานฉันท์ การปรองดอง” ถ้อยแถลงในเอกสารขององค์กรร่วมจัด

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ คสช.กำหนดให้คงค่าเหมาจ่ายรายหัวของระบบหลักประกันสุภาพในปี 2558 ไว้ที่ 2,895 บาท จากที่สธ.ขอเพิ่มเป็น 3,060 บาท ซึ่งนพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สธ. ได้ให้สัมภาษณ์เสื่อมวลชนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ เพราะในค่าเหมาจ่ายรายหัวนั้นมีเงินเดือนข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ คสช.จะต้องปรับขึ้น 8% รวมอยู่ด้วย และยังมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้ออีกไม่ต่ำกว่า 3% แต่เมื่อค่าเหมาจ่ายรายหัวถูกแช่แข็ง เท่ากับระบบหลักประกันสุขภาพจะขาดงบประมาณรายหัว (Net shortfall) 483 บาทต่อหัว คือประมาณ 23,184 ล้านบาท

“แม้ช่วงนี้จะเป็นช่วงผิดปกติแต่เราก็จะทำหน้าที่นี้ เพราะมีแต่การเข้ามามีส่วนร่วมละตรวจสอบอย่างจริงจังเท่านั้น ที่จะทำให้ประชาชนได้รับบริการด้านสุขภาพที่ดีขึ้น” กรรณิการณ์ กิจตเวชกุล จากกลุ่มเอฟทีวอทช์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการกล่าว

นพ.วัชระ บถวิบูลย์ ชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่ามีความหวังว่านายแพทย์ทั้งสองในกระทรวงสาธารณสุขจะสามารถวางพื้นฐานนโยบายบางอย่างได้แม้ว่าจะมีระยะเวลาในการทำงานค่อนข้างสั้นก็ตาม นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดหลายประการที่ท้าทาย ประการแรก ดูเหมือนคสช.จะยังคงค่าใช้จ่ายรายหัวของผู้ประกันตนทั้งที่ควรจะเพิ่มตามเงินเดือนที่ปรับขึ้นและอัตราเงินเฟ้อ อีกทั้งปัจจุบันยังมีเรื่องร้องเรียนมากพอควรสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่ยังถูกเก็บเงิน และควรจะมีการบูรณาการสามกองทุนเข้าด้วยกัน

เขายังกล่าวถึงข้อจำกัดเรื่องความขัดแย้งระหว่าง สปสช.กับ สธ. ตราบใดที่กระทรวงยังพยายามดึงอำนาจกลับ ความขัดแย้งก็ยังไม่จบ และหลายอย่างที่กระทรวงพยายามดึงไปทำก็ไม่ชัดเจนและไม่สามารถตอบได้ว่าจะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้นได้อย่างไร  ข้อจำกัดอีกประการคือ บุคลากรไม่ว่าแพทย์ หรือพยาบาล ที่ผ่านมาขาดแคลนเพราะมีการนำทรัพยากรสาธารณะนี้ไปใช้หากำไรในภาคธุรกิจ การพยายามเพิ่มการผลิตแพทย์ พยาบาลอาจไม่แก้ปัญหาหากไม่แก้ที่การกระจายตัว

อีกประการหนึ่งคือการปฏิรูปองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งเดียวที่สธ.ดูแล ภาคประชาชนควรจับตาดู และผู้บริหารใหม่ควรเปิดให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะสัดส่วนคณะกรรมการซึ่งล้วนแต่มีภาคราชการเกือบทั้งหมด นอกจากนี้ยังควรมอบหมายให้ปลัดกระทรวงจัดการเรื่องคอรัปชั่นอย่างจริงจัง เช่นกรณีที่เร็วๆ มีข้าราชการระดับ10 ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว

สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิผู้บริโภค กล่าวว่า สิ่งที่ต้องปฏิรูปอย่างต่อเนื่องคือ ระบบบริการฉุกเฉิน เพราะปัจจุบันมีข้อร้องเรียนเรื่องนี้ถึง 11% ของจำนวนร้องเรียนปัญหาด้านบริการสุขภาพทั้งหมด 111 เรื่อง จึงขอเสนอแนะในเรื่องนี้ 6 ประเด็น คือ 1.ออกประกาศให้สถานบริการยุติการเรียกเก็บเงินกับประชาชนโดยทันที 2.แก้ประกาศเรื่องนี้ของ สปสช. ที่ระบุการคุ้มครองตาม “เหตุอันควร” ซึ่งทำให้เกิดการตีความอย่างแคบเกินไปในภาคปฏิบัติ 3.บังคับโรงพยาบาลเอกชนร่วมจ่ายด้วยในกรณีการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน 4.ระบบฉุกเฉินนั้นเกี่ยวโยงกับเรื่องเตียงไม่เพียงพอ จึงอยากให้สธ.ขอความร่วมมือกับรพ.เอกชนในการสำรองเตียงขั้นต่ำ 10%  ให้กับประชานทุกคน และเพิ่มตามสัดส่วนกำไรของรพ. 5.ปรับปรุงพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถให้มีการจ่ายทันทีไม่มีการประวิงเวลา เพราะที่ผ่านมาพบว่าประชาชนไม่ทราบว่าหากเสียชีวิตจากกรณีดังกล่าวญาติสามารถได้รับเงินชดเชย 2 แสนบาททันทีโดยไม่มีข้อโต้แย้ง 6.ปฏิรูประบบรถรับผู้ป่วยฉุกเฉินเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการส่งผู้ป่วยในรพ.ที่ไกลกว่าเพราะผู้จัดส่งได้รับส่วนต่างมากกว่า

สารียังกล่าวถึงการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนด้วยว่า ที่ผ่านมาได้รับจดหมายแจ้งจากรองประธานสภาผู้แทนราษฎรว่าไม่สามารถเข้าชื่อได้แล้วเพราะรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปแล้ว และรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่มีบทกำหนดเรื่องนี้ จึงอยากให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำให้กฎหมายของประชาชนมีความหมาย ไม่ใช่สนใจแต่ร่างกฎหมายจากภาคราชการ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท