รัฐบาลทหารในประวัติศาสตร์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในที่สุด เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ก็ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเป็นทางการ โดยคณะรัฐมนตรีชุดนี้ มี 32 คน ลักษณะสำคัญของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ คือ ประกอบด้วยนายทหารในและนอกประจำการจำนวนถึง 12 คน และที่เหลือเกือบทั้งหมดก็คือ ข้าราชการหรืออดีตข้าราชการ

ข้อสังเกตประการแรกคือ การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ ก็สอดคล้องกับการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ ที่ได้ประกาศมาแล้ว คือ จากจำนวนสมาชิกสภา 200 คน เป็นนายทหารในและนอกประจำการถึง 96 คน ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นสภาของทหารอย่างแท้จริง จากนั้น สภาทหารก็เลือกนายกรัฐมนตรีทหาร และนายกรัฐมนตรีทหารก็แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีทหาร จนต้องสรุปอย่างตรงไปตรงมาว่า ประเทศไทยขณะนี้ยังปกครองด้วยระบอบทหารอย่างแท้จริงและตรงไปตรงมา

ข้อสังเกตประการต่อมาคือนายทหารที่มาเป็นรัฐมนตรีเหล่านี้ ทั้งหมดมาจากตำแหน่งงานในกองทัพ กล่าวคือ 1. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นนายกรัฐมนตรี 2. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม 3. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 4. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 5. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 6. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 7. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 8. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 9. พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองเสนาธิการทหารบก เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนที่เหลือ คือ 10. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการทหารบก และถูกเรียกว่าเป็นพี่ใหญ่สายบูรพาพยัคฆ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 11. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบกก่อนหน้า พล.อ.ประยุทธ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 12. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

จากรายชื่อและตำแหน่งที่กล่าวมา หมายถึงว่านายทหารที่เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญเหล่านี้ แทบจะไม่มีประสบการณ์ในการบริหารงานอื่นนอกจากงานในกองทัพเลย นอกจากนี้แล้ว แทบทุกคนไม่เคยได้แสดงตนมาก่อนหน้านี้เลยว่ามีประวัติความเป็นมาอันโดดเด่น ไม่เคยรัฐมนตรีทหารในชุดนี้คนใดมีข่าวมาก่อนว่า เป็นผู้มีความสามารถพิเศษอันปราดเปรื่อง หรือเป็นนายทหารกล้าที่ประสบความสำเร็จในด้านการรบ หรือเป็นผู้มากบารมีด้านใด ทุกคนก็เพียงแต่มาจากการเลือกเลื่อนตำแหน่งตามกลไกปกติของกองทัพทั้งสิ้น แทบทุกคนเป็นผู้ที่สังคมนอกกองทัพแทบจะไม่เคยรู้จักมาก่อน มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า การหล่อหลอมจากการทำงานในกองทัพ จะทำให้คนเหล่านี้มีความสามารถอันพิเศษ เหนือกว่าบุคคลที่ผ่านการทำงานมาจากวงการอื่น แล้วจะทำให้บริหารบ้านเมืองได้ดี

ดังนั้น จึงต้องสรุปอย่างตรงไปตรงมาอีกครั้งว่า การรับตำแหน่งรัฐมนตรีกันเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ถือเป็นความกล้าหาญครั้งแรกของนายทหารเหล่านี้อย่างแท้จริง และคงจะเป็นการพิสูจน์คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า การบริหารบ้านเมืองเป็นสิ่ง”ทหารทำได้” และ “ผมไม่เห็นว่ายากตรงไหน”

จากข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ จึงสรุปได้ว่า คณะรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชาชุดนี้ มีลักษณะพิเศษที่โดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง นอกเหนือจากการมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำคัญที่ปราศจากประสบการณ์ในการบริหารงานมากที่สุด และยังมีความโดดเด่นที่เป็นรัฐบาลทหารสวนกระแสการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งถือกันว่า การรัฐประหารและรัฐบาลทหารเป็นเรื่องพ้นสมัยมานานแล้ว ไม่มีประเทศสำคัญประเทศไหนยอมรับวิธีการทางการเมืองเช่นนี้ ซึ่งทำให้รัฐบาลทหารเหลืออยู่น้อยมากมากในโลก เหลือแต่เพียงประเทศที่การเมืองไม่พัฒนา รัฐบาลทหารของไทยจึงมีความกล้าท้าทายอย่างยิ่งในวงการเมืองระหว่างประเทศ

ยิ่งกว่านั้น ในประวัติศาสตร์ไทย การแต่งตั้งนายทหารเข้ารับหน้าที่ในคณะรัฐมนตรีในอัตราส่วนจำนวนมากเช่นนี้ มีอยู่ไม่บ่อยครั้งนัก ครั้งแรกเกิดหลังจากการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2494 จากคณะทหารที่นำโดย พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ คณะรัฐมนตรีที่แต่งตั้งหลังจากนั้น มีนายทหารเป็นรัฐมนตรีถึง 16 คน จาก 25 คน ซึ่งถือเป็นอัตราส่วนมากที่สุด ต่อมา คณะรัฐมนตรีของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ พ.ศ.2502 มีนายทหารเพียง 4 คนจากคณะรัฐมนตรี 13 คน และคณะรัฐมนตรีของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อ พ.ศ.2515 มีนายทหารในและนอกประจำการ 10 จาก 28 คน หลังจากนั้น ก็ไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใดที่มีนายทหารเป็นรัฐมนตรีในอัตราส่วนที่มากเลย จึงเท่ากับว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีความโดดเด่นในทางประวัติศาสตร์ เพราะไม่มีรัฐบาลที่มีลักษณะเช่นนี้เลยเป็นเวลานานมาแล้วกว่า 40 ปี

จึงเท่ากับว่า การตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีลักษณะเปิดเผย เป็นการกระทำแบบตรงไปตรงมาที่สุด ไม่ต้องอาศัยการสร้างความชอบธรรมทั้งในวงการระหว่างประเทศ และไม่ต้องสนใจความไม่เห็นด้วยของประชาชนในประเทศ แต่อาศัยอำนาจการสนับสนุนของกองทัพล้วนๆ พลังสำคัญที่จะช่วยให้การบริหารงานไปอย่างราบรื่น ก็คือการอาศัยการสนับสนุนจากระบบราชการเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการรื้อฟื้นการสร้างรัฐราชการอย่างเต็มที่ขึ้นมาใหม่ และเป็นปฏิกิริยาโดยตรงกับรัฐบาลที่บริหารในเชิงธุรกิจแบบรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ในประวัติศาสตร์สากลที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเต็มรูปแบบมักจะเกิดขึ้นในภาวะที่ชนชั้นนำในสังคมเผชิญกับวิกฤตการณ์ขั้นรุนแรงและคุกคามสถานภาพ จนเกิดความเข้าใจว่าไม่มีวิธีอื่นในการแก้ปัญหานอกจากใช้วิธีการเด็ดขาดแบบทหาร แม้แต่ในประเทศไทยก็เช่นกัน การรัฐประหาร พ.ศ.2490 เกิดจากผลกระทบของกรณีสวรรคตที่ฝ่ายทหารเห็นว่า เสถียรภาพของประเทศถูกคุกคามอย่างหนัก จนกองทัพต้องเข้ามาจัดการ ต่อมา การจัดตั้งรัฐบาลทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ก็มาจากความวิตกในภัยคอมมิวนิสต์ที่คุกคามทั้งภายในและภายนอก จนเห็นว่า ต้องใช้วิธีการทางการทหารเข้าจัดการ

ความน่าสนใจของการตั้งรัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา คือ อะไรที่ชนชั้นนำไทยเห็นว่าเป็นภัยคุกคาม จนต้องยอมให้รัฐบาลทหารเข้ามาบริหารประเทศเต็มรูปแบบเช่นนี้ ถ้าจะอธิบายว่า ภัยคุกคามคือความแตกแยกภายในชาติในสายตาของฝ่ายทหาร หรือภัยคุกคามคือ นโยบายประชานิยมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ไม่เป็นที่ชัดเจน หรือถ้าพิจารณาว่า สามารถตั้งรัฐบาลทหารได้โดยไม่ต้องมีภัยคุกคาม ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก

ในสังคมโลก มีข้อพิสูจน์ที่ยืนยันกันมาหลายครั้งว่า ทหารมักจะบริหารประเทศล้มเหลว เพราะหน้าที่หลักของทหารคือการป้องกันประเทศและรักษาความมั่นคง ทหารถูกฝึกให้ปฏิบัติตามคำสั่ง และมีทัศนะคับแคบ ไม่อดทนต่อเสียงคัดค้าน ขาดประสบการณ์ในการบริหารเศรษฐกิจและแก้ปัญหาสังคม รัฐบาลทหารทั่วโลกมักจะมีแนวโน้มที่จะไม่เคารพสิทธิของประชาชน ใช้แต่อำนาจ และชอบใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชน

จะเป็นความจริงเช่นนั้นหรือไม่ ในครั้งนี้ สังคมไทยถูกทำให้ได้โอกาสทดลองกันอีกครั้ง

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้ วันสุข ฉบับที่ 478 วันที่ 6 กันยายน 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท