Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

คงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าวัด (temple, church) ในอเมริกามีจำนวนมากเท่าใด รู้แต่ว่ามีจำนวนมาก เรื่องของวัดในอเมริกานี้ เราคนไทยส่วนหนึ่งมักเข้าใจเอาเองว่า คงมีสภาพเหมือนกับวัดในเมืองไทยหรือถึงไม่เหมือนก็คงมีสภาพคล้ายกับลักษณะของวัดในเมืองไทย ซึ่งคำว่าวัดนี้เราคนไทยอาจนึกถึงวัดในพุทธศาสนา ไม่ได้นึกโบสถ์ในศาสนาคริสต์ ทั้งที่ความจริงทั้งวัดและโบสถ์ไปด้วยกัน คือ มีลักษณะเดียวกัน

ที่สำคัญคือ กฎหมายอเมริกันให้วัดและโบสถ์อยู่ในหมวดเดียวกัน เพราะเป็นสถานที่สำหรับประกอบศาสนกิจเหมือนกัน

กฎหมายอเมริกันกำหนดให้วัดเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร (nonprofit organization)  ประเภทหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์ด้านศาสนา ดังนั้น การสร้างวัดหรือทำกิจการวัดต้องดำเนินการผ่านระบบกฎหมายองค์กรไม่หวังผลกำไร  แต่แล้วการพูดอย่างนี้ก็อาจไม่ถูกทั้งหมด เพราะวัดในอเมริกาสามารถทำเป็นองค์กรแสวงผลกำไรได้เช่นกัน  ขึ้นกับว่าจะเอากิจการของวัดไปไว้ตรงหมวดของกฎหมายประเภทไหน ซึ่งก็เป็นไปตามที่คนทั่วไปมองและเข้าใจกันก็คือ ภาพลักษณ์ของวัดย่อมต้องออกมาเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร วัดในอเมริกาส่วนใหญ่จึงเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร

เนื่องจากอเมริกาเป็นประเทศที่เรียกว่า secular state แปลตามตัวว่า รัฐหรือประเทศโลกียะหรือรัฐที่หมายถึงฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายรัฐสภา และฝ่ายนิติบัญญัติ จะไม่ไปยุ่งกับการนับถือศาสนาของชาวบ้าน  ไม่ว่าจะเหตุผลใดๆ ก็ตาม เพราะมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเขียนกำหนดไว้ไม่ให้เข้าไปยุ่งเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธาทางด้านศาสนาของชาวบ้าน ในชื่อ “The separation of church and state”

เพราะคนอเมริกันมีประสบการณ์มาแล้วว่า ถ้ารัฐเข้ายุ่งกับการนับถือศาสนาของชาวบ้านเมื่อใด เมื่อนั้นการทะเลาะกันหรืออาจถึงขั้นสงครามอาจเกิดขึ้นได้ ตัวอย่างในยุโรปทะเลาะกันมาด้วยเรื่องศาสนาหลายร้อยปี เรื่องราวในประวัติศาสตร์เหล่าเป็นเรื่องที่บรรพบุรุษอเมริกันนำใคร่ครวญและมองเห็นสัจธรรมว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งด้วยเรื่องศาสนา จึงไม่ควรให้รัฐเข้าเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเหตุใดๆ ก็ตาม

ทั้งที่หากจะว่าไปแล้วการหดหายไปของศาสนาคริสต์บางนิกายในช่วงหลังจากยุคสงครามศาสนา ก็เป็นเพราะรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องเชิงการบังคับและตรวจสอบว่า ชาวบ้านคนไหนนับถือศาสนาอะไรและนับถือแบบเดียวกับที่ทางการต้องการให้นับถือหรือไม่ จนเป็นเหตุให้เกิดการรบราฆ่าฟันกันเป็นเวลายาวนาน

ส่วนตัวผู้นำอเมริกา อย่างเช่น นายบารัก โอบามา จะนับถือศาสนาคริสต์หรือศาสนาอะไรก็นับถือไป สังเกตได้ว่า นายโอบามาไม่พูดเรื่องศาสนาในสถานภาพของการเป็นผู้นำ คนอเมริกันส่วนมากก็ไม่ได้สนใจ เขาจะไปโบสถ์หรือไม่ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา

เรื่องการไปโบสถ์หรือไม่ไปนี้อาจผู้โจมตีนายโอบามา โดยเป็นเสียงที่มาจากฟากอนุรักษ์นิยม แต่ก็ปลุกไม่ขึ้น มิหนำซ้ำจะกลับเป็นผลร้ายต่อตัวผู้ปลุกเอง เนื่องจากคนอเมริกันโดยส่วนใหญ่เห็นด้วยในเรื่องเสรีภาพส่วนตัวในการนับถือศาสนา การออกมาวิจารณ์ในประเด็นการนับถือศาสนาเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่เป็นที่รับรู้กันโดยจารีตอเมริกัน

ว่าไปแล้วคนอเมริกันสายอนุรักษ์นิยมกับสายเสรีนิยมมีการตีความการนับถือศาสนา โดยเฉพาะคริสตศาสนาต่างกัน  และเป็นเหตุให้ศาสนาถูกนำมาใช้ทางการเมืองแบบอ้อมๆ เช่น การนำศาสนาคริสต์มาใช้เป็นภาพลักษณ์ทางการเมืองเชิงอนุรักษ์นิยมของ Pat Robertson เมื่อช่วงหลายปีที่ผ่านมา Robertson เป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญและมีอิทธิพลของพรรครีพับลิกัน เขาพยายามนำเสนอความคิดให้อเมริกากลับไปสู่ทุนเสรีนิยมและศีลธรรมแบบเก่า เช่น การเคร่งครัดในเรื่องศีลธรรมภายในครอบครัว  เป็นต้น ขณะที่ Jesse Jackson ซึ่งอยู่ในฝ่ายเสรีนิยมสมัยใหม่ และเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของพรรคเดโมแครต  พยายามเสนอความคิดผลักดันให้คนอเมริกันมีเสรีภาพในเชิงความเท่าเทียมกันทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสิทธิของผู้มีรายได้น้อย Jackson มองศีลธรรมทางศาสนาเป็นของที่กินได้หรือเชิงเศรษฐกิจ และศีลธรรมเป็นเรื่องของการปลดปล่อยให้มนุษย์มีเสรีภาพในสิ่งที่พวกเขาอยากเป็น ตราบเท่าที่สิทธิเสรีภาพนั้นไม่ไปเบียดเบียนสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ในแง่นี้จึงเท่ากับ Jackson ต้องการปล่อยให้มนุษย์เชื่อหรือศรัทธาในสิ่งที่พวกเขาเชื่อ แต่ก็ขอว่าบนความเชื่อดังกล่าวอย่าเอาเปรียบกันจนเกินไป

ระบบรัฐโลกียะแบบอเมริกันที่รัฐไม่เข้ายุ่งเกี่ยวนี้ ทำให้การนับถือศาสนาในอเมริกา ทุกศาสนิกมีอิสระที่จะดำเนินกิจกรรมไปตามความเชื่อของแต่ละศาสนานั้นๆ (ตราบเท่าที่ไม่มีการละเมิดกฎหมายของรัฐ) ไม่มีการแบ่งแยกเป็นศาสนาของรัฐ (ทางการ) หรือศาสนาของเอกชน ซึ่งการแบ่งดังกล่าวทำให้คนที่นับถือศาสนาเดียวกับศาสนาของรัฐเกิดปัญหาในแง่ของการถูกจำกัดสิทธิด้านความเชื่อ เพราะถึงแม้คนเหล่านี้เป็นศาสนิกในศาสนาเดียวกันก็จริง แต่การตีความคำสอนของศาสนาของของศาสนิกในศาสนาเดียวกันนั้น อาจไม่เหมือนกัน ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติของความเชื่อทางด้านศาสนา

สำหรับรัฐศาสนาหรือรัฐที่มีศาสนาแบบทางการ เป็นเรื่องน่าแปลกว่า การที่รัฐเข้าไปกำกับนโยบายด้านศาสนา ทำให้ศาสนิกของศาสนานั้นๆ บางกลุ่มต้องตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายที่รัฐประกาศออกมาเพื่อควบคุมการนับถือศาสนาของพวกเขา ขณะเดียวกันการออกกฎหมายเพื่อควบคุมศาสนิกบางศาสนาทำให้เกิดความอยุติธรรมในการใช้กฎหมาย โดยจะเกิดคำถามว่า แล้วทีศาสนาอื่น ทำไม่ควบคุม? ซึ่งการณ์ดังกล่าวเท่ากับเกิดความซ้ำซ้อนของการออกกฎหมาย 
ขณะที่ศาสนาแบบทางการ เสมือนเป็นศาสนาที่ตายแล้ว หรือหากไม่ตายก็เร่งเวลาให้ถึงจุดจบเร็วขึ้น เพราะศาสนาทุกศาสนาสืบทอดและดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบันได้ ด้วยเหตุจากการตีความคำสอนให้เข้ากับยุคสมัยไม่มากก็น้อย ดังนั้นการให้มีศาสนาแบบทางการหรือแบบรัฐจึงเท่ากับไปสกัดหรือบล็อกการตีความของศาสนาซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของการดำรงอยู่ของศาสนา

เมื่อคำนึงถึงความยุติธรรมในแง่ของการใช้กฎหมายเดียวกันอย่างเท่าเทียมกันทุกคน รัฐอเมริกาจึงมีกฎหมายเดียวในการปกครองประเทศ โดยปราศจากกฎหมายที่ข้องเกี่ยวกับศาสนาเป็นการเฉพาะ องค์กรศาสนาในอเมริกาจึงเป็นองค์เอกชนประเภทหนึ่งที่ใช้กฎหมายการทำธุรกิจเช่นเดียวกับเอกชน  คือ ไม่ใช้กฎหมายการบริหารจัดการศาสนาของรัฐเป็นการเฉพาะเหมือนบางประเทศที่อาศัยกฎหมายควบคุมความประพฤติในการนับถือศาสนา และที่อิหลักอิเหลื่อมากกว่านั้นสำหรับรัฐที่มีกฎหมายนี้ก็คือ มีการใช้กฎหมายในนามการคุ้มครองศาสนา แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไปบีบให้ศาสนาแบบทางการศาสนาต้องหดเล็กลงและหายไปเร็วขึ้น  นอกเหนือไปจากความขัดแย้งทั้งกับศาสนาอื่นและระหว่างศาสนิกในศาสนาเดียวกันที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูง

เพราะความงดงามของศาสนาอยู่ที่ความหลากหลายของการตีความด้านคำสอน หากทางการเข้าไปผูกขาดและเป็นฝ่ายจัดการเรื่องศาสนาเสียเอง มิเท่ากับเป็นการตรึงศาสนานั้นให้อยู่กับที่ดอกหรือ?

และเพราะใครขืนไปตีความคำสอนให้แตกต่างจากการตีความของรัฐก็จะถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายศาสนของทางการ  ซึ่งในความเป็นจริงก็คงไม่มีใครอยากยุ่งกับศาสนาของทางการมากนักอยู่แล้ว ศาสนาแบบทางการจึงมีไว้สำหรับประโยชน์ด้านการเมือง เศรษฐกิจและสถานภาพทางสังคม มิใช่เพื่อการพัฒนาและยกระดับทางด้านจิตวิญญาณ หรือมิใช่เพื่อความสงบสันติภายใน

การผลักดันให้ศาสนาผูกติดอยู่กับรัฐ จึงเป็นการแสดงออกในทางการเมืองมากกว่าที่จะต้องการนำศาสนานั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในแง่การยกระดับคุณภาพชีวิต (จิตใจ)

ที่สำคัญ คือ การนับถือศาสนานั้น จะเป็นแค่รูปแบบ (form) เช่นเดียวกับการนับถือศาสนาในทะเบียนบ้าน ทุกคนที่ประกาศเสียงดังผ่านบัตรประชาชนว่านับถือศาสนานั้นศาสนานี้ เป็นเพราะ “เสมือน”ได้สิทธิประโยชน์พิเศษอะไรบางอย่างจากทางการ (รัฐ) อยู่กลายๆ

ที่เป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐอเมริกาปฏิเสธ “ศาสนาแห่งชาติ”มาตลอดช่วงประวัติศาสตร์นับแต่การก่อตั้งประเทศเป็นต้นมา

ส่วนใครจะตั้งองค์กรด้านศาสนาขึ้นมาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งแยกต่างหากออกไป ซึ่งองค์กรเหล่านั้น หากเป็นองค์กรเอกชนไม่หวังผลกำไรอย่างเช่น “วัด” ก็ต้องถูกตรวจสอบตามกฎหมายการจัดตั้งองค์กรไม่หวังผลกำไรที่บังคับใช้เหมือนกันทั่วประเทศ ไม่มีองค์กรใดถืออภิสิทธิ์เหนือกว่าองค์กรใด  ไม่ว่าจะเป็นองค์กรศาสนาหรือไม่ก็ตาม

ดังนั้น ผู้ที่ทำงานในองค์กรด้านศาสนาก็ย่อมหนีไม่พ้นการตรวจสอบตามกฎหมายของรัฐ และต้องปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐเกี่ยวกับองค์กรไม่หวังผลกำไร เช่น ต้องรายงานรายรับ รายจ่าย ตัวเลขทางด้านบัญชีต่างๆ ตลอดทุกกระบวนการและทุกบาททุกสตางค์ ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือคฤหัสถ์ก็ตาม

รัฐอเมริกานั้นเขาโตมาจากทุน อยู่ได้ด้วยทุน จึงเข้าใจถึงกลไกของทุนเป็นอย่างดีว่าไม่เข้าใครออกใคร ไม่เว้นแม้แต่องค์กรและบุคคลด้านศาสนา เพราะฉะนั้นบุคคลที่ทำงานในองค์กรศาสนาจึงต้องเคลียร์และคลีน (clear  and clean) ตัวเองตามกฎหมายรัฐทั้งตอนเข้าทำงาน ตอนกำลังทำงาน และตอนออกจากงาน

ไม่มีล่ะครับ แอบรับทรัพย์หรือมีรายได้กันโดยไม่แจ้งให้รัฐบาลอเมริกันทราบ ไม่ว่าองค์กรประเภทไหนก็ตาม.

    

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net