ศาสนาทางการในรัฐโลกวิสัย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

วิกิพีเดียนิยามรัฐโลกวิสัย (Secular state) ว่า คือรัฐหรือประเทศที่เป็นกลางทางด้านศาสนา ไม่สนับสนุนหรือต่อต้านความเชื่อหรือการปฏิบัติทางศาสนาใดๆ รัฐโลกวิสัยจะปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ส่วนใหญ่จะไม่มีศาสนาประจำชาติ หรือหากมีศาสนาประจำชาติ ศาสนานั้นก็จะมีความหมายทางสัญลักษณ์และไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชน

มองจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ รัฐโลกวิสัยคือรัฐสมัยใหม่ที่ยึดถือการปกครองด้วยหลักเหตุผลของมนุษย์ ตรงข้ามกับการปกครองแบบเทวาธิปไตย (Theocracy)ในสมัยเก่าที่อ้างความเชื่อทางศาสนาเป็นหลักในการปกครอง ซึ่งใช้กันในหลายศาสนา เช่นยูดาห์, อิสลาม, ฮินดู, พุทธบางนิกายเช่นทะไลลามะ และคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ โปรเตสแตนต์ มอร์มอน ตัวอย่างของการปกครองแบบเทวาธิปไตยของคริสต์ ก็เช่นการปกครองของจักรวรรดิไบแซนไทน์ระหว่าง ค.ศ.330 ถึง ค.ศ.1453 หรือในปัจจุบันการปกครองของรัฐพระสันตะปาปาที่มีพระสันตะปาปาเป็นผู้แทนของพระเจ้าบนโลกมนุษย์ เป็นต้น

หัวใจสำคัญของรัฐโลกวิสัย คือการปกครองแบบทางโลก หรือปกครองด้วยหลักเหตุผลของมนุษย์ (เช่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย, สังคมนิยม) และต้องเป็นกลางทางศาสนา

อย่างไรก็ตาม รัฐโลกวิสัยก็อาจจะมี “ศาสนาทางการ” (established church) คือศาสนาหรือนิกายที่ได้รับสิทธิพิเศษและการคุ้มครองรวมทั้งการควบคุมในบางระดับจากรัฐ เช่นในอังกฤษ ศาสนาทางการคือ Anglican Church หรือ Church of England พระมหากษัตริย์ (หรือพระราชินี) เป็นประมุขทางการของศาสนา แต่รัฐโดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งพระบิชอบต่างๆ และการที่ศาสนาจะเปลี่ยนหนังสือสวดต้องได้รับความเห็นชอบจากทางรัฐสภา ในกลุ่มประเทศสแกนดินีเวียถือ Lutheranism เป็นศาสนาทางการ พระได้รับเงินค่าครองชีพจากรัฐบาลเหมือนกับข้าราชการ ในบางประเทศ ศาสนาสำคัญอาจจะเป็นแค่กึ่งทางการ คือรัฐให้ความช่วยเหลือในระดับหนึ่ง

จะเห็นว่า แม้รัฐเสรีประชาธิปไตยอย่างอังกฤษจะมีศาสนาทางการ แต่เขาก็มีระบบที่แน่นอนในการรักษาระยะห่างระหว่างรัฐกับศาสนา ดังที่อาจารย์สุลักษ์ ศิวรักษ์อธิบายว่า แม้ปัจจุบันพระราชินีอังกฤษจะเป็นประมุขคริสต์ศาสนานิกายอังกฤษ แต่ก็เพียงทรงลงพระปรมาภิไธยในการแต่งตั้งพระราชาคณะ (Bishop) และสมเด็จพระราชาคณะ (Archbishop) ตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอขึ้นมา และมีคณะกรรมการที่เชื่อกันว่าเป็นกลางคอยเสนอแนะรัฐบาล โดยระมัดระวังไม่ให้ศาสนากับการเมืองก้าวก่ายแทรกแซงกัน แต่พระราชพิธีเป็นไปตามรูปแบบนิกายอังกฤษล้วน ส่วนฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาถือว่ารัฐพิธีไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา

อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐมีความเห็นต่างกันในประเด็นว่า “ควรอ้างความเชื่อทางศาสนามาอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ เช่นเรื่องสิทธิและความยุติธรรมหรือไม่?” นักปรัชญาเสรีนิยมอย่างจอห์น รอลส์เสนอว่า ไม่ควรนำความเชื่อของศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาอภิปรายในประเด็นสาธารณะ เช่นเรื่องสิทธิและความยุติธรรม เพราะหากความเชื่อของศาสนาใดศาสนาหนึ่งชนะ ความเชื่อของศาสนานั้นก็จะมีผลต่อการออกกฎหมายบังคับใช้กับคนในศาสนาอื่นๆ และคนไม่มีศาสนาไปด้วย รัฐก็จะสูญเสียความเป็นกลางทางศาสนาไป

จอห์ เอฟ.เคนเนดีและชาวเดโมแครตดูเหมือนจะเห็นด้วยกับรอลส์ แต่บารัค โอบาม่าและชาวรีพับริกันกลับเห็นว่า ควรนำเนื้อหาบางอย่างของศาสนามาอภิปรายประเด็นสาธารณะได้ โดยเขาอ้างถึงนักปฏิรูปส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์อเมริกัน เช่น เฟเดอริค ดักลาส, อับบราฮัม ลินคอล์น, วิลเลียม เจนนิงส์ ไบรอัน,โดโรธี เดย์, มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เขาเหล่านี้ไม่เพียงแต่ได้แรงบันดาลใจจากศาสนา แต่ยังใช้ภาษาศาสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อผลักดันวาระสาธารณะ

นี่คือปัญหาว่าในสังคมเสรีประชาธิปไตย เราควรอ้างศีลธรรมทางศาสนาในเรื่องสาธารณะที่อาจนำไปสู่การบัญญัติกฎหมายได้หรือไม่? ในประเด็นนี้ศาสตราจารย์ฮาร์ท (H.L.A Hart) แห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดเสนอว่า เราควรแบ่งศีลธรรมทางศาสนาออกเป็นสองประเภทคือ “ศีลธรรมแบบศรัทธา” (positive morality) กับ “ศีลธรรมเชิงวิพากษ์” (critical morality) อย่างแรกเป็นศีลธรรมตามความเชื่อเฉพาะที่แต่ละศาสนาอาจมีแตกต่างกันไป แต่อย่างหลังเป็นศีลธรรมซึ่งมี “เนื้อหา” ปกป้อง “ความเป็นมนุษย์” ที่อธิบายได้หรือโน้มน้าวให้คนเห็นด้วยได้ด้วยการใช้เหตุผล ศีลธรรมแบบศรัทธาควรเป็นความเชื่อส่วนตัวของปัจเจกบุคคล ส่วนศีลธรรมเชิงวิพากษ์มีเนื้อหาที่ใช้สนับสนุนหลักการสากลที่แม้แต่คนต่างศาสนากัน หรือคนไม่มีศาสนาก็สามารถเห็นร่วมกันได้

ตัวอย่างของศีลธรรมเชิงวิพากษ์ก็เช่น ความคิดหลักที่ว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์มาให้มีเจตจำนงเสรีและเท่าเทียมกัน จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวคุณเอง หรือศีลธรรมของพุทธศาสนาที่ยืนยันความเสมอภาคของมนุษย์ในฐานะที่ทุกคนมีศักยภาพความเป็นพุทธะเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการใช้ปัญหาของตนเองแสวงหาความจริง และตัดสินความถูกต้องทางศีลธรรมเท่าเทียมกัน เป็นต้น นี่คือศีลธรรมที่มีเนื้อหามุ่งปกป้องความเป็นมนุษย์ของทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด หรือไม่มีศาสนาก็ตาม

ความเป็นมนุษย์ในความหมายของศีลธรรมเชิงวิพากษ์ดังกล่าว ย่อมมีนัยสำคัญสนับสนุนประชาธิปไตย การอ้างพลังทางศาสนาสนับสนุนการต่อสู้ทางการเมืองของบรรดานักปฏิรูปชาวอเมริกัน (ดังกล่าวข้างต้น) และการอ้างหลักการพุทธศาสนาสนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของ ดร.อัมเบ็ดการ์ในอินเดียเป็นต้น จึงเป็นสิ่งที่มีเหตุผลที่อธิบายให้คนต่างศาสนาเข้าใจได้ เพราะไม่ใช่การอ้างความเชื่อทางศาสนาเพื่อโน้มน้าวให้คนอื่นมานับถือศาสนาของตัวเอง หรือเพื่อยกศาสนาของตัวเองให้เหนือกว่าศาสนาอื่นๆ

ข้อสังเกตคือ เวลาชาวพุทธไทย(ฝ่ายที่พยายามต่อสู้ให้บัญญัติในรัฐธรรมนูญให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ หรือผลักดันให้มีกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนา) อ้างแบบอย่างของอังกฤษว่าเขาก็มีศาสนาทางการที่กษัตริย์หรือพระราชินีเป็นประมุขของศาสนจักรและได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ทำไมศาสนาทางการของไทยจะเป็นแบบนั้นไม่ได้

แต่ที่จริงแล้วทั้งสถาบันกษัตริย์และศาสนาทางการของอังกฤษถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เป็น “เสรีประชาธิปไตย” จึงชัดเจนว่ารัฐกับศาสนาไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกัน ไม่มีการอ้างความเชื่อของศาสนาในทางที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์และหลักการเสรีประชาธิปไตย ส่วนสังคมไทยยังไม่สามารถสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นเสรีประชาธิปไตยได้ และบทบาททางการเมืองของพุทธศาสนาไทยก็มักขัดแย้งกับอุดมการณ์และหลักการเสรีประชาธิปไตย

ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า ศาสนาทางการของไทยไม่ควรจะเป็นแบบอังกฤษ แต่อยู่ที่ว่าทำอย่างไรจะทำให้ศาสนาทางการของไทยอยู่ภายใต้กติกาเสรีประชาธิปไตยแบบอังกฤษ

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (13-19 กันยายน 2557)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท