Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

การที่บุคคลบางกลุ่มและรัฐไทยกำลังดำเนินการสร้างพุทธศาสนาแห่งรัฐในขณะนี้ เพื่อนำไปสู่พุทธศาสนาแบบทางการนั้น หากเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็น่าจะพอเปรียบเทียบกับยุคศาสนาล่าแม่มดในยุโรปยุคกลางได้แทบไม่ต่างกัน คือ ใครตีความหรือคิดต่างจากการตีความคำสอนของศาสนาโดยรัฐ (ที่ประสานงานกับศูนย์บัญชาการศาสนา) ก็จะถูกลงโทษอย่างรุนแรง

หากเป็นสถานการณ์ในเมืองไทยปัจจุบัน ต้องแปลว่า ใครเห็นต่างจากพระไตรปิฎกล่ะก็... ถือเป็นมารพระศาสนาตัวร้ายที่จะต้องถูกลงโทษทางอาญากันเลยทีเดียว

อาจารย์ สมภาร พรมทา เคยบอกผมว่า กว่าจะมาถึงพระไตรปิฎกที่เราอ่านกันอยู่ในปัจจุบัน ต้องผ่านบรรณาธิการผู้อยู่เบื้องหลังมาหลายชุดในหลายยุคหลายสมัย ดังนั้นถ้าคิดระยะเวลาประมาณ 2,600 ปี ย่อมนานไม่ใช่เล่น ซึ่งแน่นอนว่าพระไตรปิฎกก็ย่อมมีพัฒนาการในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เช่น มีการเพิ่มเติมเนื้อหาโดยพระสังคีติกาจารย์ในช่วงหลัง เป็นต้น 

และอาจารย์สมภารบอกด้วยว่า เนื้อหาในพระไตรปิฎกบางส่วนไม่เนียน คือ ไม่สอดคล้องซึ่งกันและกันและควรมีการศึกษาเรื่องราวในเอกสารพระไตรปิฎกอย่างจริงจังตามหลักวิชาการ ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุนำมาซึ่งการศึกษาด้านตรรกศาสตร์หรือศาสตร์ว่าด้วยเรื่องของการใช้เหตุผล (ความสมเหตุสมผล)ที่โยงเข้ากับเรื่องทางด้านพุทธศาสนา รวมถึงการศึกษาวิชาพระไตรปิฎกวิเคราะห์

ขณะที่สถานการณ์ในต่างประเทศนั้นมีการศึกษาพระไตรปิฎกเชิงวิชาการอย่างจริงจังไม่ว่าในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ยิ่งพัฒนาการและแนวโน้มของพุทธศาสนาแล้วมีคนให้ความสนใจศึกษาเรื่องนี้ไว้มาก  เพราะกระแสเสรีนิยมและทุนนิยม ส่งผลต่อความเป็นไปเชิงการเปลี่ยนแปลงของพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งและอย่างรวดเร็ว

เมื่อโลกเปลี่ยน ทั้งพระสงฆ์และชาวพุทธฝ่ายอื่นๆ ก็เปลี่ยนไปด้วย ที่สำคัญ คือ การตีความคำสอนก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน การที่พุทธศาสนาสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันก็ด้วยการตีความคำสอนบางส่วนให้สอดคล้องกับยุคสมัย นอกเหนือไปจากวัฒนธรรมของชาวพุทธเองก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น อเมริกาเป็นประเทศตัวอย่างที่พุทธศาสนามีการขยายตัวขอชาวพุทธในฝ่ายคฤหัสถ์อย่างมีนัยสำคัญ เป็นไปตามที่ นิกเกียว นิวาโนะ (Nikkyo Nivano)  ได้เคยวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า พุทธศาสนาในยุคร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนาฝ่ายมหายานหรือเถรวาท จะมีการประยุกต์หลักธรรมมาใช้กับชีวิตประจำวันมากขึ้น  นิวาโนะเองได้ศึกษาวิเคราะห์สัทธรรมปุณฑริกสูตรใหม่ โดยตีความให้เป็นคำสอนสำหรับมนุษย์ที่สมบูรณ์ในตัวเอง และนำไปสู่สันติสุขอย่างแท้จริง บทวิเคราะห์ของนิวาโนะ เป็นการตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ที่จะสร้างมหายานใหม่ที่จะเคารพวิถีที่แท้จริงแห่งการออกบวช (True way of homelessness) และสร้างพุทธศาสนาแห่งคฤหัสถ์ขึ้นมาในคริสตสหัสวรรษหน้า

อเมริกา แคนาดา เม็กซิโก และอีกหลายประเทศในยุโรป เป็นตัวอย่างของรัฐที่แยกกิจการของรัฐออกจากศาสนา (secular state) ซึ่งการแยกดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเป็นคนไม่มีศาสนา หรือจะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อหรือศาสนาก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเปรียบเทียบกับพุทธศาสนาตามรูปแบบของรัฐไทยคงไม่ได้ เพราะสำหรับรัฐไทยแล้ว รัฐ เป็นฝ่ายออกแบบลักษณะวิธีการศาสนาเอง ผ่านระบบกฎหมายพุทธศาสนา หรือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์(พ.ร.บ. สงฆ์) พ.ศ.2505 แก้ไข พ.ศ. 2535 ซึ่งการออกกฎหมายดังกล่าว เท่ากับรัฐไทยได้ถูกทำให้เป็นรัฐศาสนา (state religion) กลายๆ ทั้งศาสนาถูกทำให้กลายเป็นสถาบัน ซึ่งผลของการทำให้เป็นสถาบันนี้ มีทั้งดีและเสีย

ผลดี คือ การสร้างอุดมการณ์เชิงคุณค่าของรัฐ ในเรื่องของศีลธรรม และจริยธรรม  รวมถึงการปกป้องศาสนาในขอบวงของอุดมการณ์เชิงคุณค่าของรัฐ  ส่วนผลเสีย ได้แก่ การที่พุทธศาสนา ถูกจำกัดอาณาบริเวณการนิยามและการตีความ โดยรัฐและองค์กร โดยที่การนิยามและการตีความดังกล่าว ก่อให้เกิดการผูกขาดแบบแช่แข็งพุทธศาสนาขึ้นในประเทศไทย นอกเหนือไปจากผลเสียด้านการศึกษาพุทธศาสนาที่ถูกล้อมกรอบให้แคบลงอย่างแทบกระดิกไปไหนไม่ได้

การที่พุทธศาสนาถูกจำกัดอาณาบริเวณโดยรัฐ ยังเป็นเหตุให้เกิดความไม่เสมอภาคในแง่ของการปฏิบัติต่อศาสนิกในศาสนาเดียว กันและศาสนิกของศาสนาอื่น เกิดการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์มากบ้างน้อยบ้าง โดยการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยรัฐ ยิ่งในสังคมอุปถัมภ์ด้วยแล้ว ศาสนาที่อยู่ในสังคมอุปถัมภ์มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อกระแสชาตินิยมและจริยธรรมแบบผูกขาด ซึ่งขัดกับหลักจริยธรรมสากล คือ สิทธิมนุษยชน

กรณีของอเมริกา รัฐอเมริกันไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในเชิงการอุปถัมภ์ เกื้อกูลศาสนาใดโดยตรง เพียงแต่มีการอำนวยความสะดวกให้ศาสนิกและที่ไม่เป็นศาสนิกใด ในแง่ของสิทธิเสรีภาพของการนับถือ หรือไม่นับถือศาสนาเท่านั้น แนวทางในการเข้าไปจัดการหรือเกี่ยวข้องกับศาสนาของรัฐอเมริกัน จึงมีลักษณะดังนี้
           

1. ให้สิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือไม่นับถือศาสนา

2. สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาของศาสนิก ต้องไปละเมิดสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือความของศาสนิกอื่น หรือความเชื่อของคนที่ไม่มีศาสนา

3. อาศัยหลักพื้นฐานด้านความเชื่อ “เชิงหลักการสิทธิมนุษยชน”ของปัจเจกบุคคล
 
4. องค์กรศาสนาได้รับการยอมรับในบริบทกฎหมาย( เช่น นิติบุคคล) ซึ่งอาจเป็นองค์กรมุ่งผลกำไร (profit organization) หรือองค์กรไม่หวังผลกำไร (nonprofit organization)ก็ได้

5. เมื่อองค์กรศาสนาถูกยอมรับในบริบทกฎหมาย ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

6. เมื่อรัฐให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาและแยกศาสนาออกจากรัฐ ว่ากันว่ามีผลเชิงบวกต่อความมั่นคงของรัฐ ในทางที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับรัฐ เพราะอย่างน้อยความขัดแย้งในเรื่องความเชื่อด้านศาสนาจะลดลง


วิลเลียม ไอโบเดน ( Dr. William Inboden) แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส (เมืองออสติน) ซึ่งศึกษาเรื่องผลกระทบต่อความมั่นคงระหว่างรัฐศาสนากับรัฐโลกีย์ (รัฐฆราวาส- Secular State) พบว่ารัฐศาสนา (Religious Persecution) มีแนวโน้มการเกิดขึ้นของความขัดแย้งในประเทศและความขัดแย้งระหว่างประเทศสูงกว่ารัฐโลกีย์ โดยเฉพาะกรณีศึกษาความมั่นคงของอเมริกาเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเข้าไปยึดศาสนามาเป็นของรัฐแล้วออกกฎหมายคุ้มครองศาสนาของรัฐนั้น เป็นการขัดกับเจตจำนงความมีเสรีภาพของมนุษย์ เมื่อไหร่รัฐเข้าไปกำกับความเชื่อของคนเมื่อนั้นก็จะเกิดปัญหา

ดังสถานการณ์การควบคุมการวิเคราะห์หรือตีความพระไตรปิฎกในเมืองไทย (ในนามการคุ้มครองพุทธศาสนา) ที่ระบุว่า หากใครตีความแล้วนำเสนอประเด็นการตีความต่างจากรัฐก็จะมีโทษทางอาญา เรื่องดังกล่าวนอกจากขัดเจตจำนงของความมีเสรีภาพของมนุษย์แล้ว ในอีกแง่หนึ่งยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการล่าพ่อมด แม่มดกันอย่างกว้างขวาง ในข้อ “บ่อนทำลายศาสนา” ซึ่งลักษณะเป็น “ภัยร้ายแรง”

ปิดโอกาสในการศึกษาและตีความคำสอนในพุทธศาสนาให้ก้าวหน้าออกไป รวมถึงปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็นภายหลังการตีความ เพราะถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง.

 


 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net