Skip to main content
sharethis


วันที่ 13 กันยายน 2557 เวลา 13.00 น. Digital Culture และสยามอินเทลลิเจนซ์ยูนิต ร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ จัดงานเสวนาในหัวข้อ “The Digital Ethic and the Spirit of Public Sphere จริยศาสตร์บนโลกดิจิทัล และจิตวิญญาณของพื้นที่สาธารณะ” ภายในงานมีการบรรยายและร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยงานจัดขึ้น ณ ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน ซอยเกษมสันต์ 2 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

เกษมเริ่มต้นว่าชื่อหัวข้อสัมมนานี้ ล้อกับงานของ มักซ์ เวเบอร์ เล่ม The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism ส่วนที่เกี่ยวกับหนังสือคือเรื่องของ Ethic และ Spirit โดยคนมักเข้าใจว่าคำว่า “Ethic” หรือ “จริยศาสตร์” เป็นเรื่องศีลธรรมความดี อย่างไรก็ตาม แท้จริงคำนี้มีความหมายที่กว้างมาก เกี่ยวเนื่องกับแนวทางการดำเนินชีวิตด้วย โดยหัวข้อวันนี้จะมองในส่วนที่เกี่ยวกับโลกดิจิทัล ส่วนคำว่า “Spirit” คำนี้ ไม่ได้หมายถึงภูตผีปีศาจ แต่เราจะพูดถึง Mentality บางอย่างที่ทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปได้ ยกตัวอย่างเช่นในหนังสือที่มองว่า มนุษย์หลุดจากมนต์เสน่ห์ของโลกเพราะความมีเหตุมีผล วัฒนธรรมความบ่มเพาะของโปรเตสแตนต์ส่งผลต่อโลกทุนนิยมอย่างไร ฯลฯ

การบรรยายวันนี้มี 5 หัวข้อหลัก คือ หัวข้อที่หนึ่ง Freedom of Speech และ Freedom of Expression (เกษมยังไม่ขอใช้คำแปลภาษาไทย) ซึ่งทั้งสองคำนี้สามารถคู่ขนานไปด้วยกัน หัวข้อที่สอง ปริมณฑลสาธารณะ หรือ Public Sphere หัวข้อที่สาม Freedom of Speech และ Freedom of Expression กับ Public Sphere นั้นอยู่ด้วยกันอย่างไร โดยเฉพาะปริมณฑลสาธารณะที่ไปไกลกว่าโลกทางกายภาพ หัวข้อที่สี่ เรื่อง Hate Speech และหัวข้อที่ห้า เมื่อชีวิตเราถูกห้อมล้อมและถูกผนวกเข้าไปในโลกดิจิทัลอย่างแยกไม่ออก มันส่งผลกับวิถีชีวิตและวิธีคิดของเราอย่างไร

1. Freedom of Speech และ Freedom of Expression

ในสังคมไทย มีเหตุการณ์หลักๆ อยู่ 2 เหตุการณ์ที่ทำให้มิติเหล่านี้มีความสำคัญมากขึ้น คือ เหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่คนจำนวนมากมักบอกว่าเป็นบทบาทของชนชั้นกลางในเมืองมีส่วนร่วมทางการเมือง เกษมไม่ขอให้ความเห็นในเรื่องนี้ แต่เสนอว่าภายใต้การตื่นรู้ คนเริ่มจะมีบทบาทในการแสดงออกทางความคิดเห็นบนพื้นฐานแนวคิดเรื่องเสรีภาพ (ไม่ขอเทียบกับ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดท่ามกลางความแตกต่างของระบอบการเมือง)

อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ รัฐประหารกันยายน 2549 ทำให้เราได้เห็นการต่อสู้ที่ชัดเจนระหว่างแนวคิดสองกระแส คือกระแสที่สนับสนุนประชาธิปไตย เช่น สีเสื้อทางการเมืองต่างๆ ประชาธิปไตยต่างรูปแบบ ทั้งประชาธิปไตยเชิงสถาบัน ประชาธิปไตยถกแถลง ฯลฯ แม้อีกด้านหนึ่ง จะมีกระแสต้านประชาธิปไตยโดยเอาเรื่องการทำความดีต่างๆ มาเป็นแนวทางในการชี้แนะว่า แนวทางนี้ๆ ควรเป็นค่านิยมพื้นฐานของผู้คน อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ต้านประชาธิปไตยก็ยังยึดโยงกับรากฐานประชาธิปไตย ในด้าน Freedom of Speech คือมีเสรีภาพได้เต็มที่ แม้ว่าตนเองไม่ได้ปรารถนาให้ประชาธิปไตยดีขึ้น หรือศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่ทั้งสองกลุ่มนี้ก็ฟูมฟักแนวคิดประชาธิปไตยมากขึ้น และแสดง Freedom of Speech ให้เห็นเด่นชัดขึ้น

แต่ Freedom of Speech คืออะไร?

Freedom of Speech มีความหมาย คือ

1) เสรีภาพในการคิด เขียน สื่อสารต่อสาธารณะ ตลอดจนสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ และค้นหาข้อมูลข่าวสารในพื้นที่สาธารณะ เช่น ข้อมูลที่มาจากหน่วยงานราชการ ข้อมูลที่ทางราชการต้องเปิดเผยต่อให้สังคมรับรู้

2) Freedom of Speech ในฐานะสิทธิทางการเมืองที่ได้รับการคุ้มครองและรับประกันในเสรีภาพที่เราจะแสดงออก ทั้งการพูด การเขียน และการรับรู้ข่าวสาร เรากำลังโยงสิทธิทางการเมืองเข้ามาในส่วนนี้ด้วย ไม่ใช่แค่สิทธิในการเลือกตั้ง แค่ลงคะแนนเสียง แต่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มันรวมถึงสิทธิในสังคมการเมืองที่คุณต้องได้รับประกันตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น ด้านสาธารณสุขมูลฐาน ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สิทธิในการดำรงชีวิตที่คุณเลือกรูปแบบชีวิตตามที่คุณต้องการได้โดยที่ไม่รังแกคนอื่น ฯลฯ

3) Freedom of Speech ในฐานะหลักประกันความเสมอภาคของสมาชิกในสังคม ที่จะนำเสนอและรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกษมเสนอว่า หากจะมองว่าคนเท่ากันหรือไม่ ดูได้ที่แต่ละคนได้รับข้อนี้เท่ากันหรือเปล่า?

อย่างไรก็ตาม เวลาที่เราพูดถึง Freedom of Speech นั้น เราพูดถึงระดับไหน? เพราะเมื่อเรามีเสรีภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่า เสรีภาพนั้นไร้ขีดจำกัด กล่าวคือ เสรีภาพไม่เคยมีมากเกินไป ไม่มีสังคมไหนให้เสรีภาพมากเกินไป เช่น การมีอิสระทางความคิด ไม่ใช่การทำอะไรก็ได้ แต่มันอยู่ที่เราเข้าใจบรรทัดฐาน (normative) บางอย่างที่กำกับให้คนมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้

ทำไมต้องมีบรรทัดฐาน? ด้านหนึ่งคือมันช่วยคุ้มครองเสรีภาพเรา รูปแบบบรรทัดฐานต่างๆ เช่น กฎหมาย ขนบ ครรลอง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นแนวหลักปฏิบัติที่เราจะมีเสรีภาพพื้นฐาน โดยที่เราไม่ไปล่วงล้ำกติกาที่เป็นพื้นฐานของสังคม การกระทำที่มากกว่านี้จะเป็นเรื่องของ “การละเมิด” ไม่ใช่เรื่องเสรีภาพที่ควรจะเป็น เพราะชีวิตของเสรีภาพ เป็นชีวิตที่เราอยู่ร่วมโลกเดียวกันกับคนอื่น

สุดท้าย Freedom of Speech มันคือเสรีภาพทางการเมือง หมายความว่า ที่ใดก็ตามที่เรามี Freedom of Speech ได้ เราต้องอยู่ในสังคมการเมืองแบบเสรี เป็นสังคมที่เปิดอย่างสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่สังคมเผด็จการซึ่งการ “ห้าม” ไม่ใช่เรื่องแปลก ดังนั้น คุณค่าทางการเมืองของ Freedom of Speech จึงควรได้รับเป็นหลักประกันพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตย

ที่สำคัญ Freedom of Speech ไม่จำเป็นที่คนในสังคมต้องคิดเหมือนกัน แต่สามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันได้ เป็นการที่เรามีชีวิตร่วมกันในสังคมการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่โยง Freedom of Speech เข้ามาก็คือปริมณฑลสาธารณะ หรือ Public Sphere ซึ่งหมายถึง พื้นที่ที่เราแสดงออกหรือดำรงชีวิตทางสังคม

2. Public Sphere

ปริมณฑลสาธารณะ หรือ Public Sphere กำเนิดในสังคมยุโรปช่วงศตวรรษที่ 17-19 แม้วิธีคิดนี้เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 17 แต่มีบทบาทแผ่ซ่านจริงๆ ในศตวรรษที่ 18 เรารู้ว่ารัฐประชาชาติสมัยใหม่มีบทบาทชัดเจน ในเรื่องดินแดน (เกษมแนะให้ไปอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ Siam Mapped ของ ธงชัย วินิจกุล) และเรื่องการจัดการเรื่องประชากร คนในพื้นที่รัฐประชาชาติต้องถูกจัดวางตามที่รัฐกำหนด เช่น มีบัตรประชาชน มีสังกัดว่าคุณเป็นพลเมืองของที่ใดที่หนึ่ง มีสำมะโนประชากร เมื่อก่อนการโยกย้ายถิ่นฐานเป็นเรื่องปกติ ดูได้จากคนยิปซี คนจีน คนยิวที่กระจายอยู่ทั่วในปัจจุบัน และเรื่องการตั้งถิ่นฐาน (settlement) เกิดขึ้นเมื่อ 300 กว่าปีที่ผ่านมา

การเข้ามาของรัฐสมัยใหม่ทำให้ “รัฐ” กับ “สังคม” ถูกแบ่งแยกอย่างชัดเจนดังงานของเฮเกล แต่ประเด็นที่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ศตวรรษที่ 18 บทบาทของรัฐเข้าไปคลุมพื้นที่ของสังคมในแบบบนลงล่าง (ยกตัวอย่างเช่น ให้ดูหลังรัฐประหารจะเกิดการจัดการแบบบนลงล่าง เช่น อยากให้รัฐเข้าไปจัดการเองแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ทำให้คนเริ่มจะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นศตวรรษที่ 18 คนเริ่มจะหาพื้นที่เข้ามาพูดคุยสาระที่เกี่ยวเนื่องกันทางสังคม ตามร้านกาแฟ ผับ กลายเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนออกมาแสดงความคิดเห็น ก่อให้เกิด “High Society” หมายถึงสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่ไม่จำเป็นต้องมีฐานะมั่งคั่ง แต่แค่คุณมีเวลาว่างพอจะเข้าไปพบปะสังสรรค์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (ปัจจุบันสังคมไทย “สยามโซไซตี้” หรือสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังดำรงความหมายในแง่นี้อยู่)

สิ่งเหล่านี้ เป็นพื้นฐานที่ทำให้คนจำนวนมากแสดงความเห็นต่อมิติสังคมการเมือง ในพื้นที่ทางกายภาพ โดยปริมณฑลสาธารณะ หรือ Public Sphere นี้ทำให้คนมาแลกเปลี่ยนกัน อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนความเห็นใน Public Sphere นี้ มันไม่มี authority (ความเป็นเจ้า-อำนาจหน้าที่) เพราะถ้ามี authority แปลว่าคุณตั้งตนเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ยังได้เป็นบ่อเกิดความเข้าใจทิศทางในสังคม ที่เสียงเหล่านั้นปรากฏขึ้นมาและหากผู้ปกครองต้องการฟังเสียงเหล่านั้น

เกษมเสนอว่า ดังนั้น การทำประชาพิจารณ์สมัยปัจจุบันที่มีการรับฟังความเห็นจนตกผลึกไปสู่นโยบาย จึงไม่ใช่เรื่องของ Public Sphere ตามแนวคิดพื้นฐานที่เคยมีอยู่เดิม และ Public Sphere ตามความหมายเดิมหยุดอยู่แค่ทำให้คนที่แตกต่างหลากหลายพากันเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ในศตวรรษที่ 18 สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่ มีการที่เติบโตของ “สื่อเก่า” คือ สื่อสิ่งพิมพ์ มีบทบาททำตัวเป็นสื่อกลางที่จะขยายปริมณฑลสาธารณะส่วนนี้ออกมา ยกตัวอย่าง การมีส่วนที่โยนคำถามให้คนอ่านได้เข้ามาแสดงความคิดเห็น เช่น การรู้แจ้งคืออะไร ? โดยคำถามไม่ใช่มีแค่ด้านการเมืองเท่านั้น แต่รวมด้านสังคมด้วย

ภายใต้บทบาททรรศนะสาธารณะพวกนี้ ทำให้เห็นว่า Public Sphere จากพื้นที่กายภาพมาสู่พื้นที่สื่อเก่า ความเป็น Public Sphere จึงไม่ได้จำกัดอยู่แต่ตัวสถานที่ แต่มันเกิดขึ้นที่ต่างๆ ที่ Public Sphere ก่อตัวขึ้น และยังทำให้เกิดวัฒนธรรมการวิจารณ์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า วัฒนธรรมการวิจารณ์ก่อตัวมาพร้อม Public Sphere โดยวัฒนธรรมการวิจารณ์เป็นเรื่องของเหตุผลสาธารณะในการไตร่ตรอง อะไรที่ไม่เป็นเหตุผลก็ตกไป เช่น ข่าวรอยเท้าพญานาคที่เพิ่งเกิดขึ้นหน้าตึกอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และได้รับการพิสูจน์ว่าแท้จริงเป็นรอยจากเครื่องฉีดน้ำ

ปัจจุบันเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่ปริมณฑลสาธารณะทุกวันนี้ ไม่ได้มีแค่ในพื้นที่สื่อเก่า รวมถึงพื้นที่ ที่การจัดงานครั้งนี้ให้ความสนใจคือ สื่อใหม่ หรือ Cyberspace (พื้นที่ไซเบอร์)

การเกิดขึ้นมาของอินเทอร์เน็ต มันเกิดขึ้นมาพร้อมกับสังคมข้อมูลข่าวสาร จะมีการออกแบบลักษณะหรือรูปแบบสังคมอย่างไรที่จะลุกขึ้นมาท้าทายสังคมอำนาจนิยม และสังคมเผด็จการที่ควบคุมอำนาจไว้ที่ตนเอง ยกตัวอย่าง หนังสือ 1984 ที่มีการควบคุมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนในสังคม สังคมจะเป็นเช่นใด ก็เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจกำหนดให้รับรู้ ทีนี้แนวคิดเรื่องสังคมข้อมูลข่าวสารนี้มันคิดความคิดที่ว่า จะเป็นไปได้ไหมที่ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นจะลดทอนการกุมอำนาจของผู้มีอำนาจในรัฐ หรือกระจายการควบคุมอำนาจข้อมูลข่าวสาร ให้คนเข้าถึงได้

เกษมให้ข้อมูลว่า แรกๆ อินเทอร์เน็ตเป็นแพลตฟอร์ม การเกิดเว็บไซต์ทำให้ที่ทำงานและบริษัทต่างๆ มีสื่อระหว่างกันได้โดยไม่ต้องให้สื่อมวลชนทำหน้าที่เป็นตัวกลาง เปิดโอกาสให้องค์กรเหล่านั้นเป็นผู้ส่งสารเอง จนช่วงแรกๆ ในยุโรปสื่อท้องถิ่นต้องปิดตัวลง เพราะไม่ต้องมีการพึ่งพาหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเพื่อแพร่กระจายข่าวสารข้อมูล

อีกอย่าง ตัวของมันเองเป็นแพลตฟอร์มที่ใครก็ตาม สามารถนำเสนอข้อมูลข่าสารมาสู่พื้นที่สาธารณะได้ เช่น ทุกวันนี้ภายใต้การเมืองการปกครองแบบนี้ ไทยไม่มีทางมี 3G โดยสมบูรณ์ได้ เพราะอยู่ในสังคมที่ไม่อนุญาตให้คุณเป็นตัวเผยแพร่ข้อมูลได้ด้วยตนเองโดยที่ไม่ต้องผ่านกลไกกลางบางอย่าง เช่น กรณีความพยายามที่ คสช. อยากปิดไลน์หรือเฟซบุ๊ก

มันมีความสำคัญอย่างไร? นอกจาก Cyberspace เป็น Public Sphere อันใหม่ ไม่ใช่เพราะว่าเรา “เข้าไป” มีส่วนร่วมผูกพันกับพื้นที่เหล่านี้ แต่มัน “ห้อมล้อม” ตัวเราให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้น พัฒนาการสื่อใหม่ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นเครื่องมือบางอย่างให้เราเข้าไปสู่ในโลกข้อมูลข่าวสาร ในทางกลับกัน สื่อใหม่เหล่านี้ envelop (ห่อหุ้ม) ชีวิตเราเข้าไปอยู่ในโลกเหล่านี้ไม่ว่าเราจะตระหนักหรือไม่ มันรวมอยู่ในวิถีที่กำหนดแนวทางการใช้ชีวิตของคุณด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ ทักษะหนึ่งที่คนหายไปคือการจดจำเบอร์โทรศัพท์ บางคนจำไม่ได้แม้กระทั่งเบอร์ตนเอง

การใช้ชีวิตในโลกของสื่อพวกนี้ ชีวิตเราเข้าไปในพื้นที่ตรงนี้โดยตรง มีความสัมพันธ์ และซับซ้อนมากกว่าพื้นที่เชิงกายภาพ และพื้นที่สื่อเก่าที่เราเคยมีปฏิสัมพันธ์กับสารอย่างการเขียนจดหมาย แต่ในสื่อใหม่ Public Sphere ขยายตัวเข้ามาสู่ชีวิตส่วนบุคคลเรา และชีวิตส่วนบุคคลเราแทรกเข้าไปใน Public Sphere เช่น การโพสต์รูปอาหาร การถ่ายเซลฟี ที่ด้านหนึ่งคุณดำรงชีวิตส่วนตัว แต่กลับถูกทำให้เป็นสาธารณะผ่านโซเซียลมีเดีย ขณะเดียวใน Public Sphere เข้ามายุ่งในชีวิตส่วนตัวเรา กำกับ และทำให้เราตระหนัก เช่น เราต้องระมัดระวังจะโพสต์อะไร ยกตัวอย่าง สถานการณ์การถูกล่าแม่มด

แต่อย่างน้อย Public Sphere ทั้งจากสถานที่ สื่อเก่า และสื่อใหม่ มันยังทำหน้าที่เดิม คือเอาความคิดคนออกมาสู่พื้นที่สาธารณะ

3. Public Sphere กับ Freedom of Speech เชื่อมโยงกันอย่างไร

Freedom of Speech เป็นการแสดงออกสู่สาธารณะ ซึ่งมันต้องการพื้นที่รองรับ ได้แก่ Public Sphere ในสังคมที่มีอารยะ การให้ความสำคัญ Public Sphere กับ Freedom of Speech เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่แค่ช่องทางที่คนแสดงความเห็น แต่ว่าคนสามารถที่จะมีส่วนร่วมใน Public Matter (ความเป็นไปของสาธารณะ) ได้

ถ้าคุณมีโอกาสเดินทางไปเมืองในยุโรปหรือประเทศเพื่อนบ้าน โครงสร้างเมืองจะมีพื้นที่สาธารณะ เช่น จัตุรัสบางแห่ง เป็นพื้นที่ที่คนจะแสดงออกใน Public Matter

ประเด็นคือ เมืองที่มีพื้นที่สาธารณะให้คนแสดงออกซึ่ง Freedom of Speech ซึ่งถ้าเรามองต่อ ในสื่อใหม่ ความต้องการ Freedom of Speech มีมากขึ้น สื่อใหม่เป็นพื้นที่สาธารณะที่ต้องการันตี Freedom of Speech มากขึ้น ความพยายามที่จะปิดกั้นสื่อใหม่ ไปทำลายหลักการพื้นฐานในการแลกเปลี่ยนวิพากษ์วิจารณ์ของคน

การที่ Public Sphere มีส่วนทำให้ Freedom of Speech เข้มแข็งขึ้นนั้น ไม่ได้อยู่ที่เรื่องของกฎเกณฑ์ การจัดการการโพสต์ความคิดเห็น แต่อยู่ที่

1) บทบาทของ “normative” (บรรทัดฐาน) หมายถึงแนวทางปฏิบัติบางอย่างที่คุ้มครอง Freedom of Speech ของเรา สิ่งหนึ่งที่เราโต้ตอบเช่น สิ่งที่เราโพสต์ไป เราล้วนมี “ความรับผิดชอบ” กับมัน ซึ่งสัมพันธ์กับบรรทัดฐาน ไม่ใช่ความรับผิดชอบในฐานะที่เราเป็นเจ้าของความคิดเห็น แต่มันต้อง make sense กับคนอื่น พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ความคิดเห็นเราที่โพสต์ไปนั้น ต้องทำให้การแลกเปลี่ยนเติบโตไปด้วย หรือมีคุณค่าบางอย่างที่คนอื่นอาจจะไม่ได้แสดงความเห็นต่อ แต่ก็ได้ฉุกคิดขึ้นมาจากความเห็นเรา

2) ที่สำคัญ คือสื่งที่เราต้องให้ “คุณค่า” กับความเห็นคนอื่นที่เราสามารถจะแลกเปลี่ยนได้ ไม่ว่าความคิดเห็นนั้นเราจะเห็นด้วย หรือเห็นต่างก็ตาม ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง ต่างก็มีคุณค่าในตัวเอง และมันทำให้พื้นฐานในการโต้เถียงซึ่งกันและกัน มันทำให้ทั้ง Freedom of Speech และ Public Sphere อยู่ด้วยกัน การโต้เถียงสำคัญกว่าการเห็นด้วยหรือเห็นต่าง คนที่เห็นต่าง ไม่ใช่อาชญากร เขาแค่มีทรรศนะที่ต่างซึ่งเราก็ควรจะให้คุณค่า โดยให้เขามาร่วมโต้เถียงด้วย สิ่งนี้จะหล่อเลี้ยงชีวิตทางสังคมของประชาชนได้

สำหรับเกษม กฎข้อบังคับ (Regulation) เป็นตัวทำลาย เป็นการปิดกั้นช่องทางแสดงความเห็น ละเมิดสิทธิเสรีภาพของคน และเข้าไปทำลายปริมณฑลพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นปริมณฑลที่ให้ความเห็นด้วยหรือเห็นต่างมีพื้นที่ในสังคมการเมือง

4. Free Speech กับ Hate Speech

เกษมอธิบายว่า Hate Speech (คำพูดแสดงความเกลียดชัง) ไม่ได้เป็นด้านลบของ Free Speech แต่มันเกิดขึ้นเมื่อ Freedom of Speech มีอยู่ Hate Speech อาจเป็นด้านมืดที่เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ด้านตรงข้าม หากแต่ให้มองว่า ทั้งคู่เป็นสภาวะที่เกิดร่วมกันได้

ทำไม Hate Speech เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ?

เกษมยกบริบทความตื่นตัวต่อเรื่อง Hate Speech อย่างเหตุการณ์ 9/11 นอกจากความเสียหายโดยตัวมันเอง สังคมอเมริกาหลัง 9/11 ช่วงรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู. บุช มีข้อความ Hate Speech เกิดขึ้นเต็มไปหมด เช่น ถ้าคุณเป็นมุสลิมใบหน้าของคุณก็ไม่ต่างอะไรกับบินลาเดน สังคมอเมริกาช่วงนั้นเรียกร้อง Patriotism (ความรักในแผ่นดินเกิด) คนมุสลิมส่วนหนึ่งถูกส่งตัวออกจากอเมริกา คล้ายกับเป็นการพยายามทำความสะอาด

ปรากฏการณ์ Hate Speech จริงๆ เป็นปรากฏการณ์ธรรมดา ที่เกิดขึ้นบนความไม่รู้สึกรู้สาของสังคม เป็นด้านมืดที่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นและกระจายออกไปให้คนยึดและปฏิบัติ บางคนก็ผลิต Hate Speech แบบไม่รู้ตัว

Hate Speech คือสิ่งที่เราต้องอยู่กับมัน

อะไรบ้างที่เป็น Hate Speech ?

เราต้องดูว่า 1) มันทำร้ายผู้คนที่ได้รับผลกระทบออกมาจาก speech อันนั้นหรือไม่ 2) มันคุกคามในรูปแบบต่างๆ ต่อบุคคลอื่นหรือไม่

การคุกคามในรูปแบบต่างๆ ต่อบุคคลอื่น การคุกคามอาจไม่มีผลโดยตรงกับสภาพร่างกายแต่มีบางทรรศนะที่มีผลต่อเขา (ยกตัวอย่าง สถานการณ์การล่าแม่มด ที่เป็นทั้งสองข้อที่กล่าวมา) การคุกคามนั้น ยังก่อให้เกิดผลเสียสำคัญในด้าน “Privacy” (ซึ่งเติบโตขึ้นมาพร้อมกับเรื่องสื่อใหม่) Privacy ในที่นี้ไม่ใช่แค่ข้อมูลส่วนตัว แต่ยังรวมถึงสถานะบุคคลเหล่านั้น โดยเฉพาะความเป็นส่วนตัวที่เขาเคยใช้ชีวิต ด้าน Cultural Citizenship (ความเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรม) ซึ่งหมายถึง เสรีภาพทางวัฒนธรรมในการกำหนดรูปแบบวิถีชีวิตให้เป็นไปตามที่เราต้องการ แต่ Hate Speech เข้าไปคุกคามส่วนนี้ ความเป็นส่วนตัวส่วนนี้ยังรวมถึงการเผยผ่านอัตลักษณ์ที่อยู่ในสังคมและยึดโยงกับสภาพบุคคลที่เราเป็น หรือพูดได้ว่า คุกคามอัตลักษณ์ที่เราเป็นอยู่

Hate Speech ยังมีต่อสรีระร่างกาย ทั้งเชิงกายภาพ และศักยภาพร่างกายที่จะใช้ เช่น การพูดภาษาผิดถูก ถูกล้อเลียนตลกขบขันแต่รวมไปถึงการเหยียดเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา ทุกคนเลือกเกิดไม่ได้ แต่กลับถูกโจมตีเรื่องเหล่านี้ในพื้นที่สาธารณะ นี่ยังไม่รวมถึงลักษณะความประพฤติบางคนที่ถูกนำมาล้อเลียนตลกขบขัน ยกตัวอย่างในไทยที่มีการตัดต่อภาพโดยไม่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็ถือเป็น Hate Speech เช่นกัน

Hate Speech ยังเป็นความพยามที่จะ “ลดทอนคุณค่า” (de-value) สิ่งที่คนนั้นเป็นหรือทำ เช่น การเปรียบเทียบผู้ชุมนุมเสื้อแดงเป็นควายแดง ซึ่งผลการโจมตียังไปทำลายด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การทำลายการชุมนุมทางการเมืองว่าเป็นการ “ก่อความไม่สงบ” การทำเช่นนี้จึงเป็นการทำลายคุณค่าอื่นๆ ที่พึงจะเป็น พึงจะดำรงอยู่ในลักษณะสังคมการเมืองอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าทุกเหตุที่มาจาก Hate Speech จะทำให้เกิดความรุนแรง ต้องมองแยกให้ในการพิจารณาตัวการกระทำ อย่าเอาทั้งสองอย่างมารวมกัน แต่ที่สำคัญ คือก่อให้เกิดอคติทางการเมืองแน่ๆ แต่ไม่ใช่นำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองทุกครั้งไป

สุดท้าย Harm Speech (คำพูดทำร้าย) คือไปทำลายกฎระเบียบสังคม เช่น การล่าแม่มด การเสียบประจาน ทั้งทำลายและคุกคาม บางทีเราไปทำร้ายเขาโดยที่ไม่ตั้งใจ เช่น ทำให้เขาใช้ชีวิตเป็นปกติไม่ได้ แม้ว่าการล่าแม่มด จะมีไม่ความผิดอะไรในการจับ แต่มันไปทำลายระเบียบที่ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมร่วมกันในสังคม

เรื่อง Hate Speech ที่สำคัญที่สุดคือการ “ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์” ของอีกฝ่าย (ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่) การแสดง Hate Speech ใส่ผู้อื่น มี “คุณค่า” ที่เราต้องสงวนรักษาคือ 1) “เรื่องศักดิ์ศรี” ที่เขาเป็นคนเหมือนกันคุณ และโยงถึง “ความเสมอภาค” ร่วมกันในฐานะที่เราต่างก็เป็นคนเหมือนกัน ข้อ 2) การเข้าไปทำลายตัวตน แทนที่เขาจะมีที่ยืนอยู่ในสังคม เช่น การล่าแม่มด การถูกเสียบประจาน ทำให้เขาไม่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างที่เขาเคยเป็น ต้องถูกจับ เช่น กรณีก้านธูปที่ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้

สิ่งที่ Hate Speech ทำและโยงถึงการมีผลต่อวัฒนธรรมประชาธิปไตย นอกจากที่เราพูดถึงตัวบุคคล เรากำลังจะพูดถึงตัวประชาธิปไตย สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้ถูกเน้นในประวัติศาสตร์ คือเรื่อง “ภราดรภาพ” ความเป็นพี่น้องกัน ความไว้ใจกัน ความเป็นคนเหมือนกัน เนื้อในของประชาธิปไตยหล่อเลี้ยงเนื้อในทางสังคม ที่ช่วยให้คนมีชีวิตในแบบที่อยากจะเป็นได้มากที่สุด ความเสมอภาคไม่ได้อยู่ที่มีเหมือนกัน ความเสมอภาคคือเรามีสิทธิที่จะต่างจากกัน และความแตกต่างคือเงื่อนไขของความเสมอภาค เรามีสิทธิที่จะใช้ ที่ได้รับความคุ้มครองจากสังคมเอง มันสำคัญต่อการมีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น

5. สื่อดิจิทัล เชื่อมโยงกับ Ethics และ Spirit อย่างไร

เราจำเป็นต้องพูดถึง ลำดับแรก “สื่อดิจิทัล” ที่ต้องทำความเข้าใจ คือ เราล้วนต่างมีตัวตน ไม่ได้หมายถึงแค่ตัวเรากับ Digital Self (ตัวตนดิจิทัล) ของเรา ไม่ว่าคุณจะเป็นใครที่หลากหลาย แต่สำคัญว่า เมื่อชีวิตเราถูกห้อมล้อมและถูกผนวกเข้าไปในโลกดิจิทัลอย่างแยกไม่ออก ทำให้เราแยกสถานะบุคคลในโลกความเป็นจริงและโลกดิจิทัลไม่ออก ยกตัวอย่าง เราไม่เปิดเผยตัวตนในโลกจริง แต่เรื่องส่วนตัวในดิจิทัลเป็นสาธารณะ มัน intervention ระหว่างกัน สิ่งที่ต้องระวังอยู่ 2 อย่าง ภายใต้เงื่อนไขนี้ คือ

อย่างแรก สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ คือสภาวะ Sharing (การแบ่งปัน) และ Over Sharing (การแบ่งปันมากเกินไป) สิ่งหลังนี้หมายถึงข้อความเหล่านั้นอยู่ต่างสถานการณ์ หรือข้อความเหล่านั้นมีนัยยะหนึ่งๆ แต่ถูกเอาไปใช้อย่างอื่นๆ และกลายเป็น Hate Speech ไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อการแชร์เป็นเรื่องปกติ แต่เราต้องมีความระวัดระวังต่อ “คุณค่าต่างๆ” ที่เรามีต่อฝ่ายอื่นโดยที่เราไม่รู้ตัว และสุดท้ายมันกลับมาประหัตประหารเราเอง เช่น หากไปเรียกใครว่า “ไอ้มืด” ก็คือการไปลดทอนคุณค่าความเป็นของคนดำ สิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้ ไม่ได้ความว่าเราไม่ควรใช้คำไม่สุภาพ แต่บางทีการใช้คำไม่สุภาพก็ต้องระมัดระวังมากกว่าคำสุภาพ เพราะในพื้นที่เหล่านี้ มีผลต่อทั้งจรรโลงและทำลายคุณค่าต่างๆ อย่างควบคู่ขนานไปด้วยกันกับ sharing

อีกเรื่องบนพื้นฐานของ Matter คือ seriousness (ความจริงจัง) ของทรรศนะหรือข้อความต่างๆ ที่เราสร้างหรือแสดงในพื้นที่สื่อดิจิทัล สิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยระมัดระวังคือ กระบวนการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารโดยตัวมันเอง ยกตัวอย่าง เทียบกับสื่อเก่ามีบรรณาธิการ แต่ในสื่อใหม่ ทุกคนสามารถสร้างและเป็นหอกระจายข่าวสารได้ด้วยตนเอง ซึ่งไม่ได้มีกลไกการตรวจสอบ ทำให้เราหลายคนหยิบมาเป็นทรรศนะ เป็นข่าวสารที่ต้องส่งต่อให้คนรับรู้ เช่น การใช้ข้อความเฟซบุ๊กของผู้อื่นมาเป็นข่าวสารในสื่อสิ่งพิมพ์ สิ่งนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งมันทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อและสถานะความเป็นสื่อใหม่ โดยจรรยาบรรณ มันต้องมีการตรวจสอบ

ดังนั้นข้อความต่างๆ ข้อมูลเป็นอุปสรรคต่อสื่อใหม่โดยรวม อย่างเช่น หนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อที่มีสถาบันการตรวจสอบโดยตัวมันเอง แต่บางทีสื่อเก่าดันไปทำให้บางข้อความจากโพสต์กลายเป็นสิ่งถูกต้อง (legitimate) ส่งผลให้ไปทำลาย Freedom of Speech และ Freedom of Press เมื่อตัวสื่อเองดันละเมิดสื่อเสียเอง และทำลายคุณค่าของ Public Sphere ด้วย

 



ชมภาพบรรยากาศงาน คลิปการเสวนา และติดตามกิจกรรมโดยกลุ่ม Digital Culture ได้ทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/digitalculturethailand

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net