Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากข่าวการจับกุมผู้ต้องหา 5 คน (จาก 7 คน) ในคดีสังหารเจ้าหน้าที่ทหารและประชาชน (เข้าใจว่าประชาชนจะโดนทหารยิงทั้งหมด) ที่ถนนดินสอ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 อ่านเผินๆ จะไม่ได้รู้สึกว่ามันผิดแผกแตกต่างกับข่าวการแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาของตำรวจที่เห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คือมีการดำเนินการจับกุม ผู้ต้องหารับสารภาพว่าตนได้กระทำความผิดจริง และกล่าวว่าจะมีการดำเนินการต่อไปเพื่อขยายผล จากนั้นก็นำตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพในที่เกิดเหตุ

ซึ่งจากที่กล่าวมามันคงไม่แปลกอะไร แต่ขั้นตอนทั้งหมดนี้กลับไม่เหมือนในสถานการณ์ปกติคือ เป็นคดีที่ไม่ได้จับกุมจากการกระทำความผิดซึ่งหน้า แต่เป็นการตามจับกุมจากบ้านหรือสถานที่ทำงานก่อนโดยอ้างว่าได้อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกเข้าจับกุมโดยใช้เจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ แล้วจึงมีการออกหมายจับตามมาในภายหลังการจับกุมเป็นเวลาอย่างน้อย 2 วัน  เช่น

นายกิตติศักดิ์ หรืออ้วน สุ่มศรี ถูกจับกุม เวลา 19.00 น. ของวันที่ 5 กันยายน ที่ผ่านมาจากสถานที่ทำงานคือสำนักงานพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษาเขตบางเขน ซึ่งวันต่อมาครอบครัวได้แจ้งความกับตำรวจ เมื่อตำรวจไปถึงที่ทำงานของนายกิตติศักดิ์พบว่าทหารได้ลบภาพเหตุการณ์จากบันทึกของกล้องวงจรปิดไปแล้ว [1]

นายปรีชา หรือไก่ อยู่เย็น พี่เขยของนายปรีชา เล่าว่าเมื่อวันที่ 8 กันยายน ช่วงก่อนเที่ยง ตอนปรีชากำลังทำงานทาสีสะพานข้ามวัดเกาะกลาง แถวป่าแดด กับลูกจ้างอีก 4 คน (ปรีชาทำงานอยู่กองช่างที่เทศบาลตำบลป่าแดด) มีเจ้าหน้าที่หลายสิบคน แต่งนอกเครื่องแบบ นั่งทั้งรถตู้ กระบะ และจักรยานยนต์มาจอด บางคนพกปืนรูปร่างคล้ายเอ็ม 16 เข้าใจว่าเป็นการสนธิกำลังระหว่างตำรวจกับทหาร แล้วก็มีการถามคนที่ทาสีอยู่ว่าใครคือคนที่ชื่อไก่ พอเจ้าหน้าที่ทราบว่าเป็นคนใด ก็เข้าล็อกตัวนายปรีชาขึ้นรถตู้ไป โดยเพื่อนพยายามถามว่าจะเอาไปไหน เรื่องอะไร เขาก็บอกว่า “มึงไม่ต้องมายุ่ง ทำงานของตัวเองไป”  ญาติทางเชียงใหม่พยายามออกตามหาตามโรงพักหลายที่ พอไปที่ภาค 5 เจ้าหน้าที่เช็คเรื่องให้ บอกว่าตอนนี้ถูกนำตัวเข้ากทม. ให้ญาติรออยู่บ้าน ถ้าสอบเรียบร้อยแล้ว คงจะมีการแถลงข่าว

และภายหลังจากจับกุมมาได้แล้ว ในวันที่ 10 กันยายน ทางตำรวจโดย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วงได้แถลงข่าวการจับกุมทั้ง 5 คน  ซึ่งได้อธิบายว่าทางเจ้าหน้าที่ได้มีการเสนอหลักฐานข้อมูลต่อศาลเพื่อให้ออกหมายจับก่อนทำการจับกุม และผู้ถูกจับกุมที่มาร่วมแถลงข่าวทั้ง 4 คน (โดยคุณปุณิกา ชูศรี เพียงคนเดียวที่ไม่ได้ร่วมแถลงข่าวโดยทางสมยศชี้แจงว่าไม่สะดวกใจที่จะมา)

แต่ดูเหมือนว่าคำกล่าวอ้างของท่านสมยศดูจะขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องจากในเอกสารประชาสัมพันธ์ สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ได้ลงวันที่ของหมายจับศาลอาญาเอาไว้เป็นวันที่ 10 ก.ย. 57 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการแถลงข่าวการจับกุม แต่ผู้ถูกจับกุมบางคนกลับถูกจับมาก่อนวันที่ออกหมายศาลเสียด้วยซ้ำ รวมถึงมีการทำลายหลักฐานการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ซึ่งในเรื่องนี้ท่านสมยศก็บ่ายเบี่ยงถึงเรื่องขั้นตอน ข้อมูลที่ใช้ในการจับกุมอย่างเห็นได้ชัด เช่น ขอนักข่าวอย่าถามเรื่องรายละเอียดเพราะจะส่งผลต่อการขยายผลคดี มีการห้ามตำรวจชั้นผู้น้อยให้ข้อมูลกับนักข่าวเกี่ยวกับขั้นตอนการจับกุมไม่เช่นนั้นจะมีการลงโทษ [2]

ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาหมายถึงอะไร แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการบังคับให้สารภาพหรือซ้อมทรมาณเกิดขึ้นกับกรณีนี้หรือไม่ แต่พวกเขาเหล่านี้ซึ่งถูกจับมาโดยมีเพียงเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปคุมตัวมา โดยไม่ให้ผู้ถูกจับกุมติดต่อ หรือเจ้าหน้าที่ได้แจ้งการต่อญาติทันที นำตัวผู้ถูกจับกุมไปไว้ในที่ปิดลับ ขณะจับกุมไม่แจ้งสิทธิต่างๆ ที่ผู้ถูกจับกุมพึงมี เช่น การมีทนายระหว่างการสอบสวนผู้ถูกจับกุม ซึ่งรูปแบบการจับกุมลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นกับอีกหลายกรณี [3]

อีกเรื่องที่ท่านสมยศกล่าวถึงคือการที่รถตู้ขาวที่มีคนกลุ่มนี้ขับเข้าไปในถนนดินสอ ท่ามกลางวงล้อมทหารมีลดกระจกลงมาด่าทหาร เรื่องนี้ทหารที่มาให้การในศาลกรณีการเสียชีวิตของฮิโรยูกิ (น่าจะคนเดียวกับที่สมยศกล่าวอ้าง) ได้เล่าเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งการจอดรถด่าทอนี้ใช้เวลาอยู่เป็นนาทีตามคำให้การของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจากคำให้การของเขาไม่พบว่ามีการกล่าวถึงการดำเนินการจับกุมแต่อย่างใด (เจ้าหน้าที่ทหารนายนี้เป็นระดับผู้บังคับบัญชากองพันแต่ไม่ทราบชื่อเจ้าหน้าที่เพราะ ตอนบอกชื่อตัวเองเสียงเบามาก และวันนั้นศาลขอให้งดจดชื่อเพราะเกรงว่าเจ้าหน้าที่จะถูกข่มขู่คุกคามจึงไม่มีสื่อใดที่เข้าทำข่าวในวันนั้นระบุชื่อนายทหารคนดังกล่าว [4])

เรื่องคุณกริชสุดา คุณะเสน ที่ท่านสมยศอ้างว่าพบสลิปโอนเงินให้ผู้ถูกจับกุมทั้ง 5 คน ถ้าสมมติว่าการโอนเงินเกิดขึ้นจริง แต่แค่หลักฐานโอนเงินก็ไม่สามารถบอกได้ว่าคนที่โอนเงินให้จะรู้ว่าคนรับเป็นชายชุดดำหรือไม่ ในช่วงเวลาที่คุณกริชสุดาเข้ามาช่วยงานเรื่องนักโทษการเมืองจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 ก็น่าจะต้องโอนเงินช่วยเหลือใครต่อใครเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว คนที่มาขอความช่วยเหลือคงไม่บอกว่าตัวเองเป็นชายชุดดำหรือคนที่ได้แจ้งเรื่องให้คุณกริชสุดาทำการโอนเงินให้กลุ่มคนเหล่านี้ก็คงไม่จำเป็นต้องบอกคุณกริชสุดาว่าเป็นชายชุดดำหรือไม่ เพียงแค่หลักฐานโอนเงินนั้นไม่เพียงพอต่อการกล่าวหาว่าผู้โอนเงินมีเจตนาโอนเงินให้ชายชุดดำหรือไม่ ทำได้เพียงแค่บอกว่าการโอนเงินนั้นเกิดขึ้นจริง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต่อให้มีการโอนเงินจริงก็มีปัญหาว่าคนที่ถูกจับมาทั้ง 5 คนนั้นเป็นชุดดำจริงหรือไม่ ถ้ากระบวนการในชั้นศาลถึงที่สุดปรากฏว่าทั้ง 5 คนนี้พิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นชายชุดดำ การโอนเงินนี้ก็ไม่ใช่ค่าจ้างต่อชายชุดดำ (แต่นี่คือคิดบนฐานว่าถ้าไม่มีการพิสูจน์จนถึงที่สุด 5 คนนี้ก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์และกระบวนการในศาลไม่ผิดเพี้ยน) แต่เป็นแค่เงินที่จ่ายสำหรับเรื่องอื่นๆ ที่มีการโอนอยู่จริง นอกจากนี้ถ้าสลิปโอนเงินดังกล่าวมีอยู่จริงตอนแถลงท่านสมยศก็น่าจะนำมาแสดงต่อสาธารณะได้ ซึ่งท่านได้มาแถลงข่าวถึงเช่นนี้แล้วคงไม่เสียรูปคดีกระมัง

 


หมายเหตุ บทความนี้เขียนจากข้อมูลแถลงข่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจวันที่ 10 ก.ย.2557


 
[1] http://www.hrw.org/news/2014/09/09/thailand-opposition-supporter-disappeared
[2]  “"สมยศ" รวบ5ชายชุดดำก่อเหตุใช้อาวุธสงครามช่วงชุมนุมนปช.ปี53 เชื่อมโยง"เปิ้ล กริชสุดา",” มติชนออนไลน์, 11 ก.ย.2557 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1410419979
[3]  รายงาน “สถานการณ์สิทธิมนุษยชน 100 วัน หลังรัฐประหาร,” หน้า 2-4, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, เผยแพร่เมื่อ 8 ก.ย.2557 http://prachatai.com/journal/2014/09/55544
[4]  “‘ผบ.พัน’ เบิกคดีฮิโรยูกิ ระบุถูกกองกำลังไม่ทราบฝ่ายโจมตี พบชุดดำในรถตู้ขาว,” ประชาไท, 19ก.ค.2556 http://www.prachatai.com/journal/2013/07/47777

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net