เสียงเรียกร้องของคนหาปลาไทย-กัมพูชา 'หยุดเขื่อนแม่น้ำโขง'

 

17 ก.ย.2557 เครือข่ายชุมชนคนหาปลาจัดงานแถลงข่าว “หยุดเขื่อนแม่น้ำโขง” ที่ห้องประชุม Dipak C.Jain อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยมี ลอง โสแจด (Long Sohet) ผู้นำเครือข่ายชาวประมงทะเลสาบเขมร  แม่สมปอง  เวียงจันทร์ ชาวประมงนักสู้แห่งเขื่อนปากมูน และชาวประมงจากชุมชนริมน้ำโขงและทะเลสาบจากทั้งสองประเทศ โดยในงานเครือข่ายชุมชนคนหาปลาได้แสดงถึงความกังวลว่าวิถีชีวิต อาชีพ และวัฒนธรรมจะล่มสลายไปพร้อมกับการพัฒนาจากภาครัฐ รวมทั้งได้ร่วมกันแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า “เราไม่ต้องการเขื่อน ไม่ใช่เพราะเราไม่ต้องการการพัฒนา แต่เราต้องการชีวิตและอาหารของเรามากกว่า”

แม่น้ำโขงไม่ใช่ของใครเพียงคนเดียว

“…ก็ขอเว้าหน่อยนึงนะว่า เป็นหยั่งพี่น้องปากมูนถึงได้มีการต่อสู้แล้วก็เรียกร้อง เพื่อเปิดให้สังคมได้ศึกษาและเรียนรู้ไปพร้อมกัน…เพราะว่าในโครงการต่างๆที่ผ่านมาของรัฐ บ่ได้เว้าถึงความเสียหายทรัพยากรเรื่องป่า เรื่องน้ำ เรื่องนิเวศ เฮาก็เลยพยายามต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองในพื้นที่นี่แหละค่ะ…”

นั่นเป็นจุดมุ่งหมายของแม่สมปอง เวียงจันทร์ และพี่น้องชาวประมงจากทั้งสองพรมแดนที่ออกมาแถลงข่าวในวันนี้ เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง หลังจากมีการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ต่อความเป็นไปในเรื่องการสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่ง ณ เวลานี้พบว่า มีโครงการสร้างเขื่อนทั้งสิ้น 28 โครงการ ทั้งตอนบน บริเวณมณฑลยูนาน ประเทศจีน และในตอนล่าง ในช่วงพรมแดนระหว่างไทย ลาว และกัมพูชา

เหตุใดการสร้างเขื่อนจึงส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของกลุ่มคนหาปลาลุ่มน้ำโขง แม่สมปอง เวียงจันทร์ ได้พูดถึงความสัมพันธ์ที่เป็นไปตามวิถีธรรมชาติของคนหาปลาในชุมชนชาวประมงริมแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนลาว และคนกัมพูชา แม่น้ำโขงจึงไม่ใช่สายน้ำของใครเพียงคนเดียว อิสระของสายน้ำก็ไม่ควรถูกใครปิดกั้น ปลานานาพันธุ์ก็ล้วนแต่มีธรรมชาติและวิถีชีวิตของมันตลอดลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีความสัมพันธ์ไปตลอดจนถึงแม่น้ำสาขา และทะเลสาบเขมร ปลาจากทะเลสาบเขมร อพยพมาที่แม่น้ำโขง แล้วเข้าไปที่แม่น้ำมูน แล้วก็เดินทางย้อนกลับไป นี่เป็นการเดินทางที่เป็นไปตามธรรมชาติของปลา ซึ่งปลาแต่ล่ะพันธุ์ก็มีช่วงเวลาในการอพยพที่แตกต่างกัน นั่นหมายความว่า หากมีการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขงตามโครงการที่แต่ละประเทศได้วางแผนไว้  ไม่ว่าจะตอนบน หรือตอนล่างก็ตามยอมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ระบบการสืบพันธุ์ของปลา และสุดท้ายผลกระทบทั้งหมดก็จะพุ่งตรงมาที่พี่น้องคนหาปลาที่พึงพิงอยู่กับแม่น้ำโขง จนท้ายที่สุดอาจจะนำพาไปสู่ความล่มสลายของวิถีชีวิต อาชีพ และวัฒนธรรมของชุมชนคนหาปลา อย่างกรณีเขื่อนปากมูนกลุ่มคนหาปลาก็เคยมีเรียกร้องให้รัฐเปิดเขื่อนตลอดปี เพราะการที่รัฐปิดเขื่อนเป็นการปิดกั้นเส้นทางการเดินทางปกติของปลา  โดยขอให้เป็นเอางานวิจัยที่มีการศึกษาวิจัยอย่างรอบด้านมาพิจารณา แต่ท้ายที่สุดรัฐกลับมีคำสั่งให้เปิดเขื่อน 4 เดือน ต่อหนึ่งปีเท่านั้น

“คนชอบคิดแทนปลา ปลามันมีธรรมชาติ มีฤดูกาลของมัน”  หญิงชาวประมงนักสู้แห่งเขื่อนปากมูนกล่าว

ด้านลอง โสแจด เสนอว่า โดยลักษณะของทะเลสาบเขมร หรือโตนเลสาบ ถือได้ว่าเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ปัจจุบันประมาณน้ำในทะเลสาบ 62 เปอร์เซ็นต์เป็นมวลน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำโขง ในส่วนที่เหลือมาจากแหล่งน้ำอื่นๆ ในแต่ละปีทะเลสาบเขมรสามารถผลิตปลาเลี้ยงผู้คนบริเวณรอบทะเลสาบ ได้ปีละ 368,000 ตันโดยประมาณ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่า และมีความหมายต่อวิถีชีวิตของชาวประมงบริเวณทะเลสาบเขมรอย่างมหาศาล หากมีการดำเนินการสร้างเขื่อนต่อไป จากปัจจุบันที่สร้างเสร็จแล้ว 6 เขื่อน ในประเทศจีน และกำลังโครงการต่อไปเรื่อย อาจจะไม่ได้เป็นเพียงการพรากน้ำ พรากปลาไปจากพวกเขา แต่อาจจะพรากชีวิตไปจากพวกเขาด้วย

“นอกจากจับปลา ผมไม่รู้จักวิธีหากินอื่นใดในชีวิต ถ้าไม่มีปลาแล้ว ชีวิตของเราก็จบสิ้น”  ลอง โสแจด กล่าวในงานแถลงข่าววันนี้

5 ข้อเรียกร้อง ค้านอำนาจรัฐและทุน

นอกจากนี้ทางเครือข่ายชุมชนคนหาปลาได้ ประกาศข้อเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจและสาธารณชนไว้ดังนี้

1.เรียกร้องต่อรัฐบาลลาว ให้ทบทวนการตัดสินใจเรื่องการสร้างเขื่อนไชยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง และต้องอำนวยให้มีการจัดทำการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างชัดเจนโดยทัน และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการทำการศึกษาผลกระทบทุกขั้นตอน และต้องระงับกระบวนการสร้างเขื่อนขณะรอผลการศึกษา

2.เรียกร้องต่อรัฐบาลประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ให้รัฐบาลของทุกประเทศรับฟังเสียง “ไม่เอาเขื่อน” ของประชาชน และต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ และโดยทันที เพื่อหยุดเขื่อน ทั้งหมดบนลุ่มแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะก่อสร้างเสร็จแล้ว หรือกำลังมีแผนจะก่อสร้าง

3.เรียกร้องต่อนักลงทุนและนักสร้างเขื่อน ให้ภาคธุรกิจหยุดการลงทุนใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนบนลุ่มแม่น้ำโขง ข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลกับบริษัท    ไม่อาจนำมาใช้เป็นเหตุผลในการลงทุนสร้างเขื่อนบนแม่น้ำของพวกเรา

4.เรียกร้องต่อสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารพาณิชย์  ให้หยุดและล้มเลิกการให้กู้เงินแก่บริษัทสร้างเขื่อน ประสบการณ์ที่ผ่าน รวมทั้งกรณีเขื่อนปากมูนที่ได้รับเงินทุนจากธนาคารโลกควรนำมาใช้เป็นบทเรียน

5.เรียกร้องต่อภาคประชาชน และสาธารณชน เครือข่ายชุมชนคนหาปลาแม่น้ำโขงหวังให้ท่านตระหนักถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง นอกเหนือไปจากฟังการชวนเชื่อว่าเขื่อนคือแหล่งพลังงาน เราขอให้ท่านเข้ารวม และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนในการหยุดยั้งเขื่อนทุกเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขง

“เราอยากจะบอกกับนายทุนสร้างเขื่อนทั้งหลายว่า   พวกคุณกำลังสร้างเขื่อนบนคราบน้ำตาของพวกเรา” สมอาดชาวประมงจากทะเลสาบเขมร เล่าถึงความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบ

“เราเชื่อว่าชาวประมงลุ่มแม่น้ำโขง และทะเลสาบ บัดนี้ได้รวมตัวกันแล้ว และเรามีสัญญาต่อกันว่าจะไม่หยุดสู้จนกว่าจะเห็นผล” ลอง โสดแจด กล่าวยืนยันในท้ายที่สุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท